ชีวิตนอกกรุง : น้ำผึ้งไทย โอกาสที่หอมหวาน

ชีวิตนอกกรุง : น้ำผึ้งไทย โอกาสที่หอมหวาน

รวงผึ้งพร้อมน้ำผึ้งสดจากธรรมชาติ เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการความร้อนใด ๆ จึงมีสารอาหารครบถ้วน

คนไทยเรารู้จักน้ำผึ้งกันมานานครับ แม้จะคุ้นชินกับรสชาติความหวานจากน้ำตาลหลากหลายประเภทมากกว่า แต่ในต่างประเทศนั้นเป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการบริโภคเพื่อสุขภาพ กำลังเป็น ที่นิยมไปทั่วโลก เพราะน้ำผึ้งเองมีคุณสมบัติที่ทดสอบทดลองกันมาแต่โบราณ ว่ามีผลดีต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น ชะลอวัย ลดการอักเสบของแผล ช่วยให้นอนหลับง่าย และเป็นส่วนผสม ในยาต่าง ๆ มาช้านาน

จากมุมมองของคนภายนอกอย่างพวกเรา ซึ่งเป็นผู้ผลิตสื่อ รับจ้างทั่วไป ไม่ได้คลุกคลีกับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งแต่อย่างใด ก็เข้าใจกันมาตลอดว่าการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยนั้น น่าจะไม่ได้เป็นอาชีพที่แพร่หลายนัก จนเมื่อมีโอกาสได้สัมภาษณ์ รศ. ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านผึ้ง อาจารย์ประจำภาค วิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับน้ำผึ้งครับ

การได้พูดคุยกับอาจารย์ภาณุวรรณทำให้พวกเราได้ทราบว่าประเทศไทยนั้นถือเป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งที่มี ศักยภาพอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ด้วยเอกลักษณ์ของน้ำผึ้งดอกลำไยของไทยที่มีความหวานและหอม เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในต่างประเทศ

รศ. ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ขณะกำลังพูดคุยถึงน้ำผึ้งไทยอย่างเป็นกันเอง

จริง ๆ น้ำผึ้งไทยเนี่ยมีคุณภาพที่ดีมาก ๆ นะคะ เพราะว่าเคยตรวจทดสอบเองในห้องแล็ป แล้วก็เอาไปตรวจเทียบกับห้องปฎิบัติการที่เป็นมาตรฐานของโลกเลยนะคะ คุณภาพเราก็ผ่านมาตรฐานโลก แล้วก็เรื่องคุณภาพในชีวภาพ เราก็ไม่ได้น้อยไปกว่าคนอื่น อย่าง Manuka Honey ของเขาจะมีการต้านจุลินทรีย์ดี แต่ว่าไม่อร่อย ผงสีดำเนี่ยกินเยอะก็ไม่ดีค่ะ มันทำให้ตับทำงานหนักมากขึ้น เพราะมันมีสารต้านจุลินทรีย์เยอะ ส่วนน้ำผึ้งดอกลำไยก็มีสารต้านอนุมูลอิสระเหมือนกัน แล้วก็ทำให้เราแก่ช้า สารต้านจุลินทรีย์ก็มีพอประมาณ แต่ไม่ถึงกับ Manuka แต่ก็ถือว่าดีมาก แล้วก็สามารถกินได้ทุกวัน วันละ1-2 ช้อนโต้ะ และมีความหอม คือฝรั่งทุกคนที่มาบ้านเราเนี่ย ก็บอกว่าน้ำผึ้งลำไยมีความหอมมาก ถ้ายิ่งทำดีโดยไม่ผ่านความร้อนก็ยิ่งหอมมาก ถ้าความชื้น ต่ำกว่า18% ถือว่าเป็น premium honey สามารถเป็น Flagship หรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประจำประเทศเราได้เลยค่ะ”

รศ. ดร.ภาณุวรรณ ขณะกำลังให้คำปรึกษาพูดคุยกับเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ในสวนลำไย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

อาจารย์ได้พูดคุยกับเราในขณะที่ชี้ชวนให้ดูวิธีทำงานของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ที่พวกเราได้รับเชิญให้เข้าชมและเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ที่สวนลำไยแห่งหนึ่งใน อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่นี่เองครับ ระหว่างที่กำลังเดินชมการเลี้ยงผึ้งนั้น อาจารย์ภาณุวรรณได้เล่าว่า ประเทศไทยเพิ่งจัดการประชุมระดับโลกไปหมาดๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นงานประชุมของ “ สมาคมนักวิจัยและผู้เลี้ยงผึ้ง COLOSS” เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ม ีสมาชิกกว่า 90 ประเทศทั่วโลก และอาจารย์ภาณุวรรณเองก็เป็นรองประธานสมาคมนักวิจัยผึ้งแห่งนี้ด้วย

รังผึ้งที่ถูกยกออกมา เพื่อตรวจสุขภาพผึ้งเป็นประจำของเกษตรกร

คือในโครงการการทำงานที่ปัจจุบันนี้กำลังทำ คือต้องการที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์ผึ้ง โดยเฉพาะน้ำผึ้งดอกลำไยของบ้านเรา ให้เป็นที่รู้จักกับอ่าประชาชาคมชาวโลก ก็เลยจัดงานประชุม COLOSS Asia เพื่อที่จะ รวบรวมนักวิชาการ เข้ามาประชุมเพื่อถ่ายทอดความรู้ส่วนหนึ่ง และพาเขามาดูเชียงใหม่ว่า บ้านเรามีการ เลี้ยงผึ้งอย่างไร เขาก็เกิดความชื่นชมนะคะ โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้งพันธุ์แล้วก็ผึ้งโพรงบ้านเรา ให้เขาชิมน้ำผึ้งดอกลำไยบ้านเราบางคนก็ชอบมากค่ะ

“ข้อเสนอแนะของนักวิชาการต่างประเทศและในโครงการเราก็คือว่า เราอยากจะทำน้ำผึ้งของเรา ให้ได้คุณภาพ การเลี้ยงผึ้งปัจจุบัน ในเชิงปริมาณ ใคร ๆ ก็ผลิตได้ ประเทศที่ผลิตได้เยอะตอนนี้คือประเทศจีน เพราะว่าประชากรเยอะก็ผลิตได้เยอะ แต่ในเชิงคุณภาพก็จะมีไม่กี่ประเทศที่สามารถที่จะทำ branding ว่า เราเป็นน้ำผึ้งมีคุณภาพ”

ในด้านโอกาสของน้ำผึ้งไทยนั้น อาจารย์เสริมขึ้นมาด้วยว่า เกิดขึ้นมาจากความต้องการบริโภคน้ำผึ้ง ของจีนแผ่นดินใหญ่มีปริมาณเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คือในส่วนแบ่งตลาดโลกเนี่ย เกษตรกรไทยสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดในเชิงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ นะคะ น้ำผึ้งดอกลำไยเนี่ย คนจีนนิยมมากเพราะถือว่าเป็นยาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราสร้างน้ำผึ้งดอกลำไยคุณภาพเกรดสูงมากขึ้น รับรองว่าเราจะได้รับการตอบรับที่ดี เพื่อยืนยันว่าคนไทยมีคุณภาพ และก็สร้างสินค้าคุณภาพเข้าสู่ตลาดโลกค่ะ“

น้ำผึ้งสดที่ผ่านการสลัดออกจากรวงผึ้ง ด้วยเครื่องสลัดน้ำผึ้งแบบมือหมุน

แต่ปัญหาซ้ำซากที่เกิดกับเกษตรกรผู้ผลิตก็ยังคงอยู่คู่สังคมไทยมานาน คือเรื่องของราคาผลผลิตที่ตกต่ำ สืบเนื่องจากปริมาณการผลิตในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมามีสูงขึ้น สวนทางกับคุณภาพและปริมาณการส่งออก จากราคาผลผลิตที่กิโลกรัมละ 150 บาท เหลือเพียง 70 บาท เท่านั้นในเวลานี้ เกิดอะไรขึ้นกับวงการน้ำผึ้งไทยกันแน่และจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร

จริงๆมันอยู่ที่ attitude หรือมุมมอง คือถ้าเรามองว่า เราแข่งขันกันภายในประเทศ เราก็จะแข่งขันกันภายในประเทศ แต่ถ้าเราบอกว่าเราคิดจะแข่งขันกับต่างประเทศ เราต้องร่วมมือกัน เพราะแรงเราไม่พอ กองทัพมันมีทหารอยู่ไม่กี่คนจะสู้ชาวบ้านไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมมือกัน ทุกภาคส่วนเลยนะ แล้วคิดเสียว่าเราไปเอารายได้จากต่างประเทศ ไม่ใช่มาแย่งกัน บางทีเราอาจจะคิดว่า ถ้าคนนี้ขายได้ เราจะขายไม่ได้ เดี๋ยวคนนี้มาติดต่อเราจะไม่ถูกติดต่อ มันจะเหมือนดูแย่งกัน แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเรารวมกันแล้วเราไปขายต่างประเทศ รายได้จากต่างประเทศก็จะย้อนกลับมาให้กับกลุ่มของเราในประเทศไทย คือต้องมองแบบนี้ ซึ่งในต่างประเทศหลาย ๆ ที่ เขาก็รวมกลุ่มกันนะคะ อย่างนิวซีแลนด์ คือตั้งสมาคมผู้เลี้ยงผึ้ง โดยใช้เงินของการจัดตั้งจากตัวเกษตรกรเองหมดเลย จ้างนักวิชาการมาช่วย แล้วจัดตั้งเป็นสมาคมดูแลทั้งระบ ยกตัวอย่างเช่น manuka honey เมื่อก่อน เป็นน้ำผึ้งที่ไม่อร่อยนะคะ จนกระทั่งทางสมาคมปรึกษากับนักวิชาการว่า เราต้องขายน้ำผึ้งอันนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นต้องหาจุดเด่น พอหาจุดเด่นเสร็จแล้วก็ทำ branding ว่า น้ำผึ้ง manuka เนี่ยเป็นยานะ ซึ่งจริง ๆ แล้ว น้ำผึ้งทุกชนิดในโลกมีความเป็นยาอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นยารักษาโรคในเชิงสมุนไพร น้ำผึ้ง manuka ก็ตีตลาด แล้วก็ทำ Quality ออกมาว่าเป็น Manuka Factor 1 2 คือเขาพยายามหาจุดเด่นของน้ำผึ้งของเขาจนเจอ

น้ำผึ้งของเราเองก็มีจุดเด่นนะคะ เช่น น้ำผึ้งดอกลำไยของเรา เราได้ศึกษามาแล้วว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่สูง คุณภาพของน้ำผึ้งที่ได้ก็ออกมาดีมาก ๆ จากการที่เรานำมาทดลองในห้องแลปมาตรฐาน พบว่าสามารถที่จะลดการอักเสบได้ดีมาก และยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับdegenerative deceaseอีกด้วย เป็นการทดลองที่กำลังตีพิมพ์บางส่วนก็ตีพิมพ์ไปแล้วค่ะ

ผึ้งที่กำลังเก็บน้ำหวานเข้าสู่รัง

ประตูโอกาสของน้ำผึ้งไทยถูกเปิดออกแล้วด้วยความต้องการน้ำผึ้งคุณภาพที่มีปริมาณสูงขึ้นทุกปี ผู้บริโภคพร้อมที่จะรอรับผลผลิตคุณภาพจากประเทศไทย จึงนับว่าเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทย ในฐานะผู้ผลิตลำดับแรก จะสามารถใช้โอกาสนี้ เพื่อยกระดับทั้งคุณภาพน้ำผึ้งของตน ทั้งยกระดับความร่วมมือ ของเกษตรกรไทยด้วยกันเอง เพื่อต่อรองราคากับตลาดโลกได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด ไม่แพ้สินค้าส่งออกประเภทอื่นเช่นกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ