วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ
นักวิชาการ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ระยะที่ผ่านมาคนไทยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนระอุกันถ้วนหน้า ดังจะเห็นได้จากการที่ยอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยพุ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปี และความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจนกระทรวงพลังงานต้องออกมารณรงค์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด การตกอยู่สภาพเช่นนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดคุยถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น และคงไม่ต่างกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีข่าวว่าได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศอันเลวร้ายอยู่เป็นระยะ ๆ
เมื่อวันคุ้มครองโลก หรือ earth day ที่เพิ่งผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือ สองชาติมหาอำนาจที่ติดอันดับก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน ได้ร่วมกับอีกกว่า 170 ชาติ ลงนามในข้อตกลงแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับปารีส (Paris Climate Accord) กันที่สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐ
การร่วมลงนามครั้งนี้ เท่ากับเป็นการแสดงจุดยืนให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า ทุกประเทศจะยึดมั่นตามพันธสัญญาข้อตกลงที่แต่ละประเทศได้ให้ไว้ หรือเรียกว่า Individual Nationally Determined Contribution (INDC) ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผล โดยจะร่วมกันหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1900)
กลไกหลักในการป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ คือ ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ทุกประเทศจะเริ่มดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงหลักที่แต่ละประเทศได้ให้ไว้ อีกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว จะระดมทุนอย่างน้อย 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นเชื้อเพลิงสะอาด และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ทำความตกลงลดก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะลดลงให้ได้ 20-25% ภายในปี 2030 ด้วยกระบวนการซึ่งต้องดำเนินการอยู่แล้ว ตามแผนแม่บทฉบับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีมาก่อนหน้านี้
แต่เมื่อประเมินแล้ว ข้อตกลง INDC ของไทยเรา ถือว่าไม่ได้ระบุเป้าหมายที่สูงพอที่จะช่วยป้องกันวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ความเข้าใจและความตื่นตัวในการช่วยกันป้องกันผลกระทบของปัญหานี้ยังมีอยู่น้อยมาก
อาจมีคนตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แล้วเราจะต้องกระตือรือร้นในการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าคนอื่นทำไม?
คำตอบก็คือ เพราะความมุ่งมั่นตื่นตัวของประเทศไทย จะเป็นกลไกชักจูง กดดัน และเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 4% ของการปล่อยทั่วโลก หันมาร่วมมือร่วมใจกันลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นกว่าเดิม
เพราะผลกระทบในระยะหน้าที่จะเกิดขึ้นหากเราปล่อยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสนั้น อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงจนถึงขั้นที่แก้ไขไม่ได้อีก
มีงานวิจัยยืนยันว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างน้อยได้ 3 ด้านคือ 1) มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกภาค 2) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น และ 3) ฤดูร้อนในประเทศไทยจะยาวนานขึ้นถึง 2-3 เดือน และมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น
ผลที่ตามมาคือ เกิดความสูญเสียมหาศาลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่เพาะปลูกคิดเป็น 47% ของเนื้อที่ทั้งหมด
หากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นจริง เราก็จะอาจต้องประสบปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัยดังเช่นในปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น
ปัญหาการจัดการน้ำที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้น การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งและการแทรกตัวของน้ำเค็ม ความแปรปรวนของผลิตผลทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น นี่ยังไม่นับผลกระทบของโรคระบาดเขตร้อนที่มีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก
ดังนั้น ข้อตกลงปารีสที่ไทยมีส่วนร่วม จึงถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ที่ทั่วโลกมาเจรจาตกลงกันเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่หนทางข้างหน้ายังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย จากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ
1.จวบจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เราได้ช่วยกันทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไปแล้ว 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
2.ความตกลงเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (INDC) เป็นข้อตกลงตามความสมัครใจเท่านั้น และมิได้มีข้อผูกมัดทางกฎหมายใด ๆ
3.ถึงแม้ทุกประเทศจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามตามข้อตกลง INDC ได้ ก็จะยังทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 หรืออีกนัยหนึ่ง หากเราต้องการจะคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ทุก ๆ ประเทศ จะต้องพยายามปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าข้อตกลง INDC ถึง 60%
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เราเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย 2 องศาฯ เพื่อป้องกันวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราทุกคนจะต้องร่วมมือกันสร้างเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ เริ่มที่ตนเองโดยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
การร่วมมือกันสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้ ดังเช่นการรณรงค์ Earth Hour ให้ทุกภาคส่วนปิดไฟพร้อมกัน 1 ชั่วโมง ในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยในปี 2557 โครงการนี้ทำให้ประเทศไทยสามารถลดการใช้ไฟฟ้าไปได้ 5,841 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 947 ตัน ซึ่งคิดเป็น 3% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในแต่ละชั่วโมง
ในส่วนของรัฐบาลไทย จะต้องกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เข้มข้นขึ้นกว่าในแผนปัจจุบัน โดยจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มาสู่พลังงานคาร์บอนต่ำให้เร็วที่สุด ทั้งในภาคขนส่งและภาคการผลิตไฟฟ้า โดยอาจใช้กลไกสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ภาษีคาร์บอน มากระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้รัฐยังควรเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า และภาคขนส่งมวลชนอีกด้วย
หากย้อนกลับไปตอบคำถามว่า… อีกไกลแค่ไหนจนกว่าเราจะเข้าใกล้เป้าหมาย 2 องศาเซลเซียส ขอตอบตรง ๆ ว่า “อีกไกล” แต่ก็อย่าเพิ่งได้หมดสิ้นกำลังใจ เพราะเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับปารีสแล้ว อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกอาจพุ่งขึ้นไปถึง 3-5+ องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเลยทีเดียว
อย่างน้อยที่สุด ตอนนี้เราก็ได้เริ่มเดินก้าวแรกไปในหนทางที่ถูกต้องเพื่อหลีกพ้นหายนะแล้ว