เรื่อง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
เป็นที่รู้กันดีว่าปราการด่านแรกของการเป็นนักพ่นกราฟฟิติ คือความสามารถในการสร้างสรรค์งานแบบหลบๆ ซ่อนๆ แต่แค่หาช่องหลบตำรวจก็ถือเป็นงานหินแล้ว ยิ่งตื่นเช้ามาแล้วพบว่าผลงานของตัวเองถูกบอมบ์ (พ่นทับ) ก็ยิ่งหัวเสียเข้าไปใหญ่
แต่ถ้าเป็นศิลปินกราฟฟิติที่อาศัยอยู่ในแถบกีโตหรือเอกวาดอร์ พวกเขาต้องหูตาไวและใส่ใจในงานศิลปะมากกว่านั้น เมื่อมีกลุ่ม Acción Ortográfica Quito มาคอยเป็นแกรมมานาซี แก้ตัวสะกดผิดถูกให้ในงานกราฟฟิติทุกครั้งไป
“หลายคนไม่ค่อยตระหนักว่าการใช้คอมมาหรือภาษาผิดเล็กๆ น้อยๆ มันทำให้ประโยคทั้งประโยคเปลี่ยนความหมายไปโดยสิ้นเชิง”
หนึ่งในสมาชิกของ Acción Ortográfica Quito ลองยกตัวอย่าง
“อย่าง 2 ประโยคนี้ ‘No quiero verte’ (ฉันไม่อยากเจอคุณ) กับ ‘No, quiero verte’ (ไม่ ฉันอยากเจอคุณ) แค่มีกับไม่มีคอมมา แต่ความหมายก็ต่างกันเยอะแล้วครับ” เขาว่าต่อ
“มันเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันนะ แต่หลายคนก็ไม่ค่อยคิดหรอกว่าการใช้คอมมาหรือแกรมมาผิดมันจะเปลี่ยนความหมายของทั้งประโยค ถ้าใช้ผิดบางทีมันเปลี่ยนชีวิตคุณได้เลยนะ”
Acción Ortográfica Quito เป็นกลุ่มอิสระที่ตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2556 ประกอบไปด้วยสมาชิกหนุ่มวัย 30 จำนวน 3 คน ดูแลในหน้าที่แตกต่างกันไป หนึ่งในนั้นคอยขับเคลื่อนเพจ Acción Ortográfica โพสต์ผลงานที่สมาชิกจัดการแก้รูปประโยคในแต่ละพื้นที่ รวมถึงรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับการเขียนไว้ในเพจ ส่วนอีก 2 คนทำหน้าที่ลงสนามจริง บอมบ์แกรมมาแบบผิดๆ จากนักพ่นที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศิลปะในการเขียน
พวกเขาเริ่มทำงานกันง่ายๆ โดยการขับรถไปเรื่อยเปื่อยเพื่อสำรวจว่า พื้นที่ไหนบ้างมีตัวอักษรกราฟฟิติที่ใช้ภาษาแบบมั่วๆ ถ่ายรูปมา แล้วหาร้านดื่มแถวนั้นนั่งก่อน ระหว่างจิบเบียร์ก็ถกกันไปว่าจะต้องปรับแก้ตรงไหนบ้าง
เบียร์หมดแก้วถึงได้วนรถกลับไปเพื่อจัดการแก้รูปประโยคที่ถูกต้องในพื้นที่นั้นๆ บางงานแค่ต้องเพิ่มจุดฟูลสต็อปหรือเครื่องหมาย แต่กราฟฟิติบางชิ้นก็เกินเยียวยา ภาษาผิดแถมยังไม่สื่อสารอะไรเลย งานชิ้นแรกที่พวกเขามีโอกาสแก้นั้นน่ากุมขมับ เพราะมีจุดผิดถึง 13 จุดจากบรรทัดแค่ 2 บรรทัดเท่านั้น
“บางครั้งการแก้คำที่สะกดผิดๆ ในกราฟฟิติก็ไม่ต่างอะไรกับการบอมบ์ซ้ำหรอก มันก็คือการทำลายทรัพย์สินในทางหนึ่ง แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อยการแหกกฏแบบนี้ก็ทำให้การใช้ภาษาเข้ารูปเข้ารอย และเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น งานของเรายังอยู่ในพื้นที่สีเทา ยังต้องถกเถียงกันอีกว่าถูกหรือผิดกันแน่” พวกเขาตอกย้ำเจตนารมณ์
การมานั่งอธิบายเหตุผลให้ตำรวจฟังทุกครั้งเป็นงานยากและเสี่ยงอันตรายมาก เพราะกฎหมายกีโตระบุอยู่ว่า ถ้านักพ่นคนใดถูกจับได้ พวกเขาอาจเสี่ยงจำคุก 3 วันและโดนปรับเพิ่มด้วย
ดังนั้น Acción Ortográfica จะไม่อ้างว่าการใช้ภาษาให้ถูกต้องควรอยู่เหนือเทศบัญญัติ พวกเขาตัดสินใจจู่โจมในยามวิกาลแทนด้วยเหตุผลที่ว่า มันคืองานเพื่อสังคมและเป็นพันธะจากจริยธรรม
“เราต่อต้านพวกมือบอนที่พ่นเพื่อทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชนอย่างไร้เหตุผล และเราจะไม่มีวันยอมแพ้ ตราบใดที่คนในสังคมยังใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ อยู่อย่างนี้”
ชื่อ Acción Ortográfica ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Acción Poetica กลุ่มกวีท้องถิ่นที่เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2539 ที่เมืองมอนเทอร์เรย์ ประเทศเม็กซิโก ก่อนค่อยๆ ร่ายกลอนรัก โควตเนื้อหาเกี่ยวกับมิตรภาพและแง่งามในการใช้ชีวิตตามกำแพงสาธารณะในแถบละตินอเมริกาและที่อื่นๆ
การเลือกใช้ชื่อ Acción Ortográfica โดยเจตนาก็เหมือนเป็นมุกตลกที่เอาไว้ล้อเลียนพวกที่ชอบแก้คำผิดในกราฟฟิติและในขณะเดียวกันก็เสียดเย้ย Acción Ortográfica กลุ่มกวีผู้ที่ร่ายกลอนเมื่อไหร่ ก็มักจะโดนตามไปตรวจแกรมมาอยู่เรื่อยไปนั่นเอง
“จุดประสงค์ของเราคืออยากให้ท้องถนนคึกคักขึ้นด้วย” เขากล่าว “งานของเราทำให้บรรยากาศดูซีเรียสน้อยลง แถมมีสีสันและดูเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น เพราะมันแสดงให้ถึงความหลากหลายในพื้นที่”
แผนในอนาคตของพวกเขาคือการขยายขอบเขตการทำงาน โดยเป้าหมายหลักคือเมืองลา ฟลอเรสตาใกล้ๆ กับกีโต และยังวางแผนที่จะเปิดรับสายด่วนจากประชาชนเพื่อรับแจ้งพื้นที่ที่มีการใช้ภาษาผิดๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่
“เพิ่งมีคนมาร้องทุกข์กับเราว่าเจอกราฟฟิติที่เล่าเรื่องความรักอันน่าเหลือเชื่อของคนเป็นแม่ แต่สื่อสารแบบผิดๆ อยู่ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่กราฟฟิติสวยๆ พวกนี้ต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ”
ปัจจุบัน มีกลุ่ม Acción Ortográfica เกิดขึ้นอีก 2 กลุ่มในเมืองมาดริด ประเทศสเปนและในประเทศโคลอมเบีย
ที่มา: http://www.colorsmagazine.com/blog/article/quito-graffiti-professors