หรือนี่คือการร่วมมือกับรัฐบาล! เปิด 12 ญัตติ “พรรคเพื่อไทย” นำสู่การผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล

หรือนี่คือการร่วมมือกับรัฐบาล! เปิด 12 ญัตติ “พรรคเพื่อไทย” นำสู่การผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล

ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสงคราม

16 กรกฎาคม 2563

เปิด 12 ญัตติพรรคเพื่อไทย ที่นำมาซึ่งการแต่งตั้ง ‘กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ’ ที่กำลังผลักดันโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำเลย ชี มูล สงคราม อยู่ในขณะนี้…

หลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย​ คือ​ (1) อำนาจฝ่ายบริหาร​โดยการทำหน้าที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี (2) อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ​โดยการทำหน้าที่ของ​ ส.ส.​ และ​ ส.ว.​ ในระบบรัฐสภา และ (3) อำนาจฝ่ายตุลาการโดยการทำหน้าที่ของศาลต่าง​ ๆ​ เป็นหลักที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการบริหารและปกครองบ้านเมืองเรามายาวนาน

ในส่วนของอำนาจฝ่ายนิติบัญญัตินั้น​ นอกจากการประชุมสภาของ​ ส.ส.​ และ​ ส.ว.​ เพื่อพิจารณากฎหมาย​ ตั้งกระทู้ เสนอญัตติ และเรื่องราวต่าง​ ๆ​ ของบ้านเมืองแล้ว​ ก็ยังมีอีกเครื่องมือและกลไกหนึ่ง​ นอกเหนือจากการประชุมสภา​ นั่นคือ​ การตั้ง​ ‘กรรมาธิการ’​,​ ‘กรรมาธิการวิสามัญ’ และ ‘อนุกรรมาธิการ’, ‘อนุกรรมาธิการวิสามัญ’, ฯลฯ ภายใต้กรรมาธิการชุดต่าง​ ๆ​ เพื่อหนุนเสริมให้อำนาจนิติบัญญัติปฏิบัติหน้าที่ให้กับพลเมืองและประชาชนของตนเพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น​ 

ปัจจุบัน​ รัฐสภาในยุคของรัฐบาลประยุทธ 2​ ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลประยุทธ​ 1​ ซึ่งปกครองประเทศด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์​ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย​ เมื่อปี 2557 ได้แต่งตั้งกรรมาธิการและกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหลายคณะ โดยมีกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง คือ ‘กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ’​ ที่เกิดจากการผลักดันของ​ ส.ส.​ พรรคเพื่อไทยเป็นหลัก​ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ประกาศตัวเองว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย​ อยู่ขั้วตรงข้ามกับพรรคฝ่ายรัฐบาลที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมนำโดยพรรคพลังประชารัฐ​ ที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร​ คสช.​ จนกลายมาเป็นรัฐบาลประยุทธ​ 2​ อยู่ในขณะนี้

เหตุที่บอกว่ากรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เกิดขึ้นโดย​ ส.ส.​พรรคเพื่อไทยเป็นหลัก​ ก็เพราะ​ ส.ส.​พรรคเพื่อไทยเป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นญัตติคล้าย ๆ กันถึง​ 12​ ญัตติ จากทั้งหมด​ 19​ ญัตติ

และญัตติปฐมบทซึ่งเป็นที่มาของการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ก็เป็นของ​ ส.ส.​พรรคเพื่อไทย​ จ.ลพบุรี โดยนายอุบลศักดิ์​ บัวหลวงงาม​​ ที่ยื่นญัตติปฐมบทขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ป่าสัก จนนำมาซึ่งการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เมื่อคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562


อีก 11​ ญัตติที่เหลือของพรรคเพื่อไทย​ มีดังนี้

1. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำ โขง กก อิง น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน แม่กลอง ซึ่งนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ลพบุรี เป็นผู้เสนอ

2. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำโขง ชี มูล สงคราม แม่น้ำลำพะยัง และลำน้ำปาว เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุบลราชธานี กับคณะ เป็นผู้เสนอ

3. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มน้ำชีและลำน้ำสาขาแบบบูรณาการ ซึ่งนายฉลาด ขามช่วง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ร้อยเอ็ด กับคณะ เป็นผู้เสนอ

4. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาและบูรณาการลุ่มแม่น้ำสงครามอย่างเป็นระบบ ซึ่งนายเกษม อุประ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.สกลนคร เป็นผู้เสนอ

5. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและหาแนวทางในการจัดทำโครงการก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำในแม่น้ำลำพะยัง ตั้งแต่บริเวณ ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ จนถึงบริเวณ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้เสนอ

6. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการสร้างฝายกักเก็บน้ำลำเซบายและลำห้วยโพง ซึ่งนายธนกร ไชยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ยโสธร เป็นผู้เสนอ

7. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ป่าสัก กก อิง น่าน เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง ซึ่งนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ และนายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ศรีสะเกษ และ จ.มหาสารคาม ตามลำดับ เป็นผู้เสนอ

8. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ และนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ศรีสะเกษ และ จ.ลพบุรี ตามลำดับ เป็นผู้เสนอ

9. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม ซึ่งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.นครราชสีมา เป็นผู้เสนอ

10. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบของลุ่มน้ำโขง เลย ลำพะเนียง ห้วยหลวง ชี และมูล ซึ่งนายขจิตร ชัยนิคม และนางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี เป็นผู้เสนอ

11. ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในบริเวณแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำเสียว ทั้งระบบ ซึ่งนางผ่องศรี แซ่จึง และนางสาวสกุณา สาระนันท์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ศรีสะเกษ และ จ.สกลนคร ตามลำดับ เป็นผู้เสนอ

นี่คือทั้งหมดทั้งมวลของญัตติพรรคเพื่อไทยที่นำมาซึ่งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ จนนำมาซึ่งการผลักดัน ‘โครงการผันน้ำโขง​ เลย​ ชี​ มูล’​​ (รวมแม่น้ำสงครามด้วย) อยู่ในขณะนี้ ซึ่ง ‘อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม’

ภายใต้กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ได้ลงมาศึกษาดูงานที่บ้านท่าก้อน หมู่ 8 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสงครามในเขต ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำสงครามที่ปากแม่น้ำ และที่บริเวณบ้านท่าก้อน และบริเวณอื่น ๆ ของแม่น้ำสงครามและลำน้ำสาขาด้วย

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในระบบราชการภายใต้การกำกับดูแลของอำนาจฝ่ายบริหารโดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนิน ‘โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม’ โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับชุมชนในลุ่มน้ำสงครามไปแล้วหลายเวทีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำสงครามเช่นเดียวกันกับอนุกรรมาธิการฯ ภายใต้กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้

เป็นการทำงานที่หนุนเสริมกันระหว่างอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐที่ซ้อนทับเพื่อหนุนเสริมและสร้างความชอบธรรมให้แก่กันและกันมากเกินไปในการผลักดันนโยบายและโครงการพัฒนา

ทั้ง ๆ ที่การทำงานของอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในชั้นกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ควรเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญที่ควรตระหนักถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจให้เด็ดขาดชัดเจน เพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบนโยบายและโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เพื่อที่จะให้รัฐและเอกชนเกิดธรรมาภิบาลในการพัฒนามากยิ่ง ๆ ขึ้น

ไม่ควรที่กรรมาธิการชุดต่าง ๆ ของอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นผู้เล่นที่ผลักดันนโยบายและโครงการพัฒนาต่าง ๆ เสียเอง

จึงไม่แปลกที่มีผู้สังเกตการณ์ทางสังคมและการเมืองมักกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านที่เราเห็นกันในสื่อต่าง ๆ ว่ามีอุดมการณ์ทางสังคมและการเมืองคนละขั้ว เป็นความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง​ฝ่ายประชาธิปไตยที่สังกัดพรรคฝ่ายค้าน​ กับนักการเมืองฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยมที่สังกัดพรรคฝ่ายรัฐบาล ไม่มีอยู่จริง​

เมื่อมองผ่านการทำงานของ ‘กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ’ ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อ้างตัวว่าเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยสังกัดพรรคฝ่ายค้าน แท้จริงแล้ว ทำตัวเหมือน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่หนุนเผด็จการอำนาจนิยม เพราะแทนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน เช่น โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล (รวมแม่น้ำสงครามด้วย) กลับทำหน้าที่หนุนเสริมอำนาจฝ่ายบริหาร หันเหตนเองออกจากประชาชน เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำสงครามเสียเอง

และนี่คือการเปิด​ 12 ญัตติ​ พรรคเพื่อไทย​ ที่นำมาซึ่ง​การแต่งตั้ง ‘กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ’ ซึ่งเป็นเครื่องมือและกลไกของอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่หนุนเสริมและสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจฝ่ายบริหารเพื่อร่วมกันผลักดันโครงการผันน้ำโขง​ เลย​ ชี​ มูล​ (รวมแม่น้ำสงครามด้วย)​ อยู่ในขณะนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ