14 ก.ค. 2563 เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ มาตามนัดหมาย หลังเดินทางทั่วประเทศเพื่อจัดเวทีถกแถลง CPTPP กับอนาคตประเทศไทย โดยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 จ.พัทลุง และกลับมาปิดท้ายที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยการรวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ถึงนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และประชาชนจากกาญจนบุรี, พัทลุง, นครนายก, ปทุมธานี ฯลฯ ยื่นหนังสือผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมอ่านแถลงการณ์และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงจุดยืนให้รัฐบาลยกเลิกการพิจารณาให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ที่บริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กพร.
ทั้งนี้ รายละเอียดของแถลงการณ์ระบุ ดังนี้
แถลงการณ์
ยกเลิกการเข้าร่วมภาคี CPTPP เพื่ออธิปไตยของประเทศ
1.การเข้าร่วม CPTPP คือการเสียอธิปไตยของประเทศ
ความมีอธิปไตยโดยเฉพาะในปัจจัยพื้นฐานนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้ง เมล็ดพันธุ์ ยา นโยบายสาธารณะ หากสิ่งเหล่านี้ถูกอิทธิพลจากต่างชาติเป็นผู้กำหนดเราจะสูญเสียอิสรภาพของประเทศ ทั้งยาและเมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาชนทุกคนต้องพึ่งพายาและความมั่นคงทางอาหาร การสูญเสียสิ่งเหล่านี้ให้ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะอันตราย
2.การคุ้มครองนักลงทุนไทยหรือนักประดิษฐ์ไทยไม่สามารถกระทำได้
หากรัฐบาลพาประเทศเข้าสู่ CPTPP เพราะจะต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนไทยและต่างชาติอย่างเสมอกัน ประเทศไทยจะต้องคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ขั้น portfolio นอกจากนี้ยังห้ามรัฐบาลไทยให้สิทธิพิเศษกับรัฐวิสาหกิจไทยในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความอ่อนแอของประเทศในระยะยาว ความสามารถของคนไทยจะลดลงและท้ายที่สุดเราจะอยู่ในภาวะไม่แตกต่างจาก ‘เมืองขึ้นในทางเศรษฐกิจ’
3.การออกนโยบายสาธารณะจะไม่สามารถกระทำได้อย่างอิสระอีกต่อไป
การออกนโยบายสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนแต่หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะกระทำได้อย่างมีข้อจำกัดและถูกแทรกแซงจากรัฐภาคีหรือบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย 50 ฉบับเพื่อให้สอดรับกับกฎของ CPTPP การที่ประเทศจะต้องสูญเสียอธิปไตยในการกำหนดนโยบายและต้องกำหนดนโยบายตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่บรรษัทต่างชาติจะได้ประโยชน์เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียอำนาจอธิปไตย
4.หากรัฐบาลต้องการตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นสามารถดำเนินการด้วยวิธีอื่น
หากรัฐบาลอ้างว่าต้องการตลาดส่งออกในบรรดาสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีแล้วกับ ๙ ประเทศ เหลือเพียงประเทศแคนาดากับแมกซิโก เท่านั้นที่ยังไม่มีข้อตกลง หากว่าทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวเป็นตลาดสำคัญอย่างยิ่งจนสามารถเพิ่มจีดีพีได้ หนึ่งหมื่นสามพันล้าน ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง รัฐบาลสามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอีก 2 ประเทศไทย โดยไม่ต้องนำพาประเทศเข้าสู่ข้อตกลงที่ทำให้ประเทศสูญเสียอธิปไตย
5.หากรัฐบาลยืนอยู่ข้างกลุ่มทุนประชาชนจะปกป้องประเทศเอง
การที่รัฐบาลมีความพยายามหลายรอบในการนำเข้าวาระสู่การพิจารณาของ ครม. อีกทั้งยังมีมติจากคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงคำแถลงของโฆษกรัฐบาลถึงข้อความของนายกรัฐมนตรีว่าให้ศึกษาถ้าอยากเข้าสู่การเจรจา ความพยายามดังกล่าวถือเป็นการแสดงเจตนาของรัฐบาลในการเข้าร่วม นั่นหมายถึงรัฐบาลกำลังพาประเทศเข้าสู่การสูญเสียอธิปไตย ในปัจจัยพื้นฐานและการกำหนดนโยบายสาธารณะซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน เช่นนั้นพวกเราในฐานะประชาชนขอปกป้องประเทศนี้จากการที่รัฐบาลผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ CPTPP จนถึงที่สุด โดยมิต้องให้รัฐบาลเดินหน้าด้วยประการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกต่อไป
หากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป ประชาชนจะมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกการเข้าสู่ CPTPP
ประกาศ ณ ทำเนียบรัฐบาล
14 ก.ค.2563
เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ