เหมืองฝาย มรดกภูมิปัญญาจัดการน้ำของคนเหนือ

เหมืองฝาย มรดกภูมิปัญญาจัดการน้ำของคนเหนือ

ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย 

โดย  : ชัชวาล ทองดีเลิศ

            เหมืองฝาย เป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำสำหรับการเกษตรของชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่เรียกว่ากลุ่มวัฒนธรรมล้านนา อันเนื่องด้วยสภาพทางภูมิประเทศเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่ประกอบด้วยพื้นที่ภูเขาสูง ที่ดอนเชิงเขามากถึงสามส่วนของพื้นที่ มีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาเพียงหนึ่งส่วนของพื้นที่ การบุกเบิกพื้นที่สำหรับทำนาทำได้ในพื้นที่ราบในหุบเขา ที่นาจึงมีสภาพลดหลั่นเป็นชั้นๆ มิได้เรียบเสมอกัน ดังนั้นในการดึงน้ำเข้าสู่ที่นาจึงมีการคิดค้นการสร้างฝายกั้นลำน้ำในตำแหน่งที่สูงกว่าแปลงนา แล้วขุดลำเหมืองจากหน้าฝายให้น้ำไหลเข้าสู่ที่นา เพื่อให้ทุกคนมีน้ำสำหรับทำนาเพียงพออย่างเป็นธรรม   เสมอกัน โดยมีองค์กรเหมืองฝายที่มีบทบาทในการจัดการ ตามข้อตกลงเหมืองฝายที่สมาชิกผู้ใช้น้ำได้กำหนดร่วมกัน

ประวัติความเป็นมา 

เหมืองฝายในพื้นที่ราบภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก เท่าที่ปรากฏพบเป็นหลักฐานนั้น มีการกล่าวถึงเรื่องเหมืองฝายในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ระหว่างปี พ.ศ.๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐  และในสมัยราชวงศ์เม็งรายปกครองอาณาจักรล้านนาระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๒๑๐๑   ได้มีการตรากฎหมายมังรายศาสตร์ ที่มีการบัญญัติเรื่องระบบเหมืองฝายไว้เป็นการป้องกันและบริหารระบบเหมืองฝายให้เป็นประโยชน์ ต่อประชาชนของพระองค์ เช่น “ผู้ใดใสแพล่องถิ้มถูกฝายหลุ (พัง) หื้อมันแปลง แทนหรือมันแปลงบ่ได้ ฝายใหญ่เอาค่า ๑๑๐ เงิน ฝายน้อยเอา ๓๒ เงิน เพราะว่าเหลือกำลังมันนา” เป็นต้น

นอกจากกฎหมายพญามังรายจะรักษาฝายแล้ว ยังมีระบบความเชื่อเกี่ยวกับผีฝาย ผู้คนจะสร้างหอผีฝายใกล้ๆ กับปากลำเหมืองใหญ่ เพื่อให้เจ้าที่เจ้าทางผีฝายรักษาฝายมิให้คนไปทำลาย เมื่อถึงเวลาที่จะร่วมกันทำนา ผู้คนที่ใช้สายน้ำร่วมกันนับเป็นร้อยเป็นพันคนจะมาร่วมเลี้ยงผีฝายเป็นประเพณีใหญ่ มีหมอหรือปู่จารย์เป็นผู้กระทำพิธี  การเลี้ยงผีฝายบางแห่งจะล้ม ควาย วัว เลี้ยงกัน ผู้คนจะซ่อมแซมฝายให้ดีกั้นน้ำได้มาก    ตามต้องการ   การป้องกันหอผีฝายในกฎหมายพญามังรายเขียนไว้ว่า  “ผู้ใดสะหาวตีหอบูชาผีฝายท่านเสีย ต้องถือว่าผิดผีฝาย หื้อมันแปลง (สร้าง) หอบูชาดั่งเก่า แล้วหื้อ มันแต่งเครื่องบูชาบริกรรมหื้อชอบ แล้วหื้อมันแปลงฝายไว้ดั่งเก่า”

ในภาคเหนือตอนบนมีเหมืองฝายจำนวนถึง ๔,๐๐๐ กว่าแห่ง ซึ่งมีการสืบสานภูมิปัญญามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชุมชน ที่ยังคงยึดถือและปฏิบัติสืบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น ฝายพญาคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  ฝายวังไฮ  อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

ลักษณะเฉพาะที่แสดงอัตลักษณ์

เหมืองฝายเป็นเทคโนโลยีพื้นบ้าน ประกอบด้วย ตัวฝายกับ ลำเหมือง

การสร้างตัวฝายใช้วัสดุอุปกรณ์พื้นบ้าน ใช้ไม้ไผ่ ไม้จริง หิน วางไม้คร่าววางขวางลำน้ำแล้วตอกยึดด้วยไม้หลัก   สร้างเป็นฐานกว้างในลำน้ำ แล้วค่อยๆวางไม้คร่าวซ้อนและตอกตรึงด้วยไม้หลักหรือใช้ก้อนหินวางขึ้นเป็นชั้นๆอย่างแข็งแรงมั่นคงพอที่จะไม่ถูกกระแสน้ำพัดพัง ก่อขึ้นจนได้ความสูงในระดับที่สามารถทดน้ำเข้าลำเหมืองแล้วไหลลงสู่ที่นาได้

ลำเหมืองแต่เดิมใช้แรงชาวบ้านที่เป็นสมาชิกผู้ใช้น้ำช่วยกันขุดจากหน้าฝาย ตามแนวของสภาพพื้นที่ค่อยๆลาดลงไปสู่ที่นา โดยแบ่งกันเป็นช่วงๆ พื้นที่ลำบากก็ใช้จำนวนคนมากหน่อย พื้นที่ง่ายๆก็ใช้จำนวนคนน้อยลง เมื่อถึงที่นาก็มีการขุดลำเหมืองซอยเรียกว่า “เหมืองไส้ไก่” กระจายให้น้ำเข้าถึงที่นาทุกแปลง ตรงปากเหมืองไส้ไก่จะมี  “แต” แนวไม้หลักปักขวางลำเหมืองเพื่อทดน้ำเข้าสู่เหมืองไส่ไก่ ตรงปากเหมืองไส้ไก่แต่ละเส้นจะมีการกำหนดขนาดช่องน้ำไหลให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้น้ำเรียกว่า”ต้าง” ที่พอดีกับจำนวนพื้นที่นาที่รับน้ำในแต่ละสาย เพื่อให้ที่นาทุกแปลงได้รับการแบ่งน้ำอย่างเหมาะสมกับขนาดพื้นที่

เพื่อให้การจัดการบริหารแบ่งน้ำอย่างเป็นธรรม  จึงมีการจัดตั้ง “องค์กรเหมืองฝาย”ขึ้นเพื่อควบคุมดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง   รูปแบบองค์กรจะมีขนาดและความซับซ้อนแตกต่างกันตามขนาดจำนวนสมาชิกผู้ใช้น้ำ ขนาดพื้นที่นา จำนวนสาขาของลำเหมืองว่ามีมากน้อยเพียงใด ขนาดเล็กมากก็จะมี “แก่ฝาย”คนเดียว  แก่ฝายเป็นผู้นำ  เป็นประธานในการควบคุมการทำงานขององค์กรเหมืองฝาย หากใหญ่ขึ้นก็มี “แก่ฝายกับล่ามน้ำ”  ที่มีบทบาทการสื่อสารกับสมาชิกผู้ใช้น้ำ บางแห่งก็มี “ผู้ช่วยแก่ฝาย” ในระบบที่ใหญ่ขึ้น ก็จะมี “แก่เหมือง” เป็นผู้นำที่ดูแลจัดการลำเหมืองแต่ละเส้น

ในการจัดการบริหารและแบ่งน้ำนั้นต้องดำเนินตาม “ข้อตกลงเหมืองฝาย” ที่สมาชิกทุกคนได้ร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นสัญญาประชาคม ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งมีบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม ข้อตกลง    เหมืองฝาย ยึดหลักความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน ใครมีที่นามาก ใช้น้ำมากต้องทำงานมาก จัดหาอุปกรณ์มาก เช่น  หากมีที่นาไม่เกิน ๑๐ ไร่ ส่งคนมาตีฝาย ขุดลอกลำเหมือง ๑ คน หากมีที่นาเกิน ๑๐ ไร่ ต้องส่งคนมา ๒ คน การเตรียมอุปกรณ์มาซ่อมแซมฝายก็เช่นกัน เช่น กำหนดไว้ให้นำไม้หลักมา ๑๐๐ อัน ต่อการมีที่นา ๑ ไร่ หากมีที่นา ๑๐ ไร่ ก็ต้องเตรียมมา ๑,๐๐๐ อัน เป็นต้น เมื่อช่วยกันดูแลระบบเหมืองฝายแล้ว  ทุกคนไม่ว่าจะมีที่นา ๑ ไร่หรือ ๑๐ ไร่ ๒๐ ไร่ ก็จะได้รับการแบ่งน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลผลิต หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจะถูกปรับไหม ตามที่ตกลงกัน หากไม่มาทำงานเกิน ๓ ครั้งโดยไม่มีเหตุจำเป็น  จะให้ออกจากสมาชิก ไม่สามารถใช้น้ำได้ต่อไป เป็นต้น

ทุกๆปีเมื่อมีการซ่อมแซมฝายและขุดลอกลำเหมืองแล้วจะมี  “พิธีกรรมเลี้ยงผีฝายร่วมกันเป็น    จิตวิญญาณแห่งการเคารพธรรมชาติ   และเป็นพิธีกรรมที่สร้างความสามัคคีในสมาชิกผู้ใช้น้ำในองค์กรเหมืองฝายลูกเดียวกัน ทำพิธีกรรมเสร็จก็กินข้าวร่วมกัน พูดคุยปัญหาและการแก้ไขข้อตกลงและการทำงานร่วมกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

คุณค่าและบทบาทของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีต่อวิถีชีวิต

การเคารพธรรมชาติและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญของเหมืองฝาย      เป็นการทดน้ำเข้าสู่ที่นา แค่เพียงพอสำหรับการทำนา น้ำสามารถไหลล้นผ่ายฝายไปยังฝายลูกถัดๆไป และน้ำที่เข้าสู่ที่นาแล้วหากมีส่วนเกินก็จะมีการขุดลำเหมืองให้น้ำไหลกลับสู่ลำน้ำเดิม ไม่ได้กักเก็บไว้ใช้เองทั้งหมด มีการดูแลป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอยในการซ่อมแซมฝายควบคู่กันไปด้วย บริเวณตัวฝาย ตลอดลำเหมืองเป็นแหล่งสัตว์น้ำ พืชน้ำที่ชาวบ้านมาหากินเป็นอาหาร

เหมืองฝายทำให้ทุกคนมีหลักประกันว่าจะมีน้ำใช้ในการผลิตอย่างยั่งยืน เมื่อมีน้ำก็จะเกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิต มีข้าวกิน มีอาหาร มีรายได้ที่จะดูแลครอบครัว

เหมืองฝาย เป็นประชาธิปไตยชุมชนเพราะในองค์กรเหมืองฝาย มีการเลือกผู้นำที่มีความยุติธรรม มีความสามารถในการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำได้อย่างเป็นธรรม ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงเหมืองฝาย แม้จะมีที่นาไม่เท่ากันแต่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งของชุมชน

 

สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

ปัจจุบันพื้นที่นาถูกเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ที่ดินหลุดมือจากชาวนาไปสู่คนภายนอกที่ไม่รับรู้ และเข้าใจในเรื่องเหมืองฝาย  มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสวน เป็นรีสอร์ท สนามกอล์ฟ    บ้านจัดสรร โรงงาน หรือซื้อที่ดินทิ้งร้างไว้รอขายเก็งกำไร จนทำให้ปริมาณผู้ที่ทำนาลดลง การบริหารจัดการเหมืองฝายยากลำบากขึ้น เกิดความขัดแย้งแย่งชิงการใช้น้ำระหว่างกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น

คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำนาและไม่มีการเรียนรู้ในเรื่องภูมิปัญญาการจัดการน้ำแบบเหมืองฝายก็ลดน้อย ลงไป ในสถาบันการศึกษาการไม่มีการจัดการเรียนการสอน คนที่เข้าใจเรื่องเหมืองฝายมีอยู่ในผู้สูงอายุที่มีจำนวนลดลงโดยลำดับ

โครงการพัฒนาขนาดใหญ่อาทิเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ หากสร้างขึ้นที่ลำน้ำใด ก็จะกระทบกับเหมืองฝายตลอดลำน้ำ เพราะอำนาจในการปิดเปิดน้ำจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ  ไม่ได้อยู่ในมือของชาวนา จึงทำให้การบริหารจัดการเหมืองฝายไม่เป็นอิสระและมีความยากลำบากมากขึ้น

กฎหมายคุ้มครองเหมืองฝาย ที่ผ่านมี พรบ. ชลประทานราษฎ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ แม้จะทำให้เหมืองฝายมีสถานภาพได้รับการยอมรับอย่างชัดเจน แต่ระบบการสนับสนุน ทั้งด้านการศึกษาวิจัย การส่งเสริมความเข้มแข็ง การสร้างนวัตกรรมนั้น ไม่มีหน่วยงาน กลไก ที่เข้ามาดูแลแต่อย่างใด จึงทำให้องค์กรเหมืองฝายที่มีอยู่ทั่วภาคเหนือตอนบนดำเนินงานไปตามศักยภาพของแต่ละแห่งตามลำพัง

กรณีตัวอย่าง  :ฝายพญาคำ  อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ฝายพญาคำเป็นเหมืองฝายดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่   เป็นฝายทดน้ำที่สร้างปิดกั้นน้ำและยกระดับน้ำจากแม่น้ำปิง เพื่อทดน้ำเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ๑๖,๗๒๑ ไร่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ ๒ จังหวัดคือ เชียงใหม่และลำพูน

ฝายพญาคำเกิดขึ้นจากชาวบ้านที่เดือดร้อนขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก โดยมีนายพญาคำ เรืองฤทธิ์ กำนันตำบลสารภีในขณะนั้น เป็นผู้รวบรวมชาวบ้านที่เดือดร้อนมาช่วยกันขุดและสร้างฝายทดน้ำ เพื่อปิดกั้นลำน้ำปิง   ฝายที่สร้างขึ้นเป็นฝายไม้รวก ซึ่งตัวฝายนี้มักจะถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกัดเซาะทำลายแตกทุกปีต้องซ่อมแซมอยู่เสมอ   ในการบริหารจัดการน้ำจากเหมืองฝาย ทางล้านนา จะมีการทำ “สัญญาเหมืองฝาย” ซึ่งเข้าใจกันดีว่า เป็นกฎข้อบังคับ ที่สมาชิกผู้ใช้น้ำและหัวหน้าเหมืองฝาย ช่วยกันตั้งขึ้นไว้ใช้ในระบบชลประทานของตนเอง

การร่วมกันสร้างเหมืองฝาย การซ่อมแซมฝาย การขุดลอกเหมือง การเรียกเก็บและการยินยอมจ่ายเงินค่าน้ำข้างต้นนี้ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่แสดงให้เห็นว่า การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย        เป็นโครงการน้ำที่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และดำรงอยู่ได้ด้วยการบริหารจัดการจากชุมชนท้องถิ่นโดยแท้

ฝายวังไฮ อ. เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ฝายวังไฮ  เป็นฝายที่กั้นลำน้ำปิง มีลักษณะตอกหลักด้วยไม้เนื้อแข็ง มีลูกฝายประมาณ ๒๐๐ ลูก ความสูง ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ความยาว ๖ กิโลเมตร วัสดุที่ใช้มีอยู่ในชุมชนไม่ว่าจะเป็น หิน ทราย ไม้ นำมาตอกหลักเสาเพื่อกั้นลำน้ำปิง ยกระดับให้สูงขึ้นแล้วส่งน้ำเข้าสู่เหมือง รวมทั้งคันคลองที่ไหลผ่าน ๓ หมู่บ้าน โดยทำลำเหมืองเล็ก  แต่ในการบังคับน้ำเข้านา ชาวบ้านจะบังคับทิศทางตามที่แก่ฝายและสมาชิกกำหนดขึ้นมา  ฝายวังไฮจะมีการซ่อมแซม ประมาณเดือน เมษายนของทุกปี  ส่วนการกระจายน้ำหรือการจัดสรรน้ำ รวมทั้งการซ่อมแซมเหมืองฝายในแต่ละปีก็ มีข้อตกลงสัญญาร่วมกัน และมีบทลงโทษสำหรับคนที่ทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎ

ฝายวังไฮ เป็นการจัดการทรัพยากรน้ำของชาวบ้านที่เป็นรูปธรรม ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งกฎเกณฑ์ จารีตประเพณี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพซึ่งกันและกันของคนและธรรมชาติ ฯลฯ ชาวเชียงดาวมีการจัดการระบบฝายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ มีการจัดระบบเหมืองในพื้นที่รองรับน้ำหล่อเลี้ยงชาวบ้าน ๓ หมู่บ้าน คือบ้านม่วงฆ้อง บ้านดง และบ้านทุ่งหลุก ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร จึงมีความต้องการและให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำเพื่อทำการเกษตรโดยเฉพาะการทำนา ซึ่ง แก่ฝายจะต้องมีความยุติธรรมในการจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพื้นที่

ปัจจุบันได้มีการบรรจุเรื่องการจัดการเหมืองฝายของชาวบ้านเข้ากับนโยบายของ อบต.เชียงดาวแล้ว โรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่นก็บรรจุเรื่องการจัดการเหมืองฝายเข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน โดยให้เด็กนักเรียนลงมาเรียนเรื่องการทำเหมืองฝายและการจัดการน้ำในที่นากับบิดาด้วย

นอกจากนี้กลุ่มเหมืองฝายยังได้ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มรักษ์น้ำปิง นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ในการจัดการทรัพยากรน้ำ  ทั้งน้ำที่นำมาใช้เพื่อเพาะปลูกและแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและดูแลระบบนิเวศวิทยาของสายน้ำปิง เพื่อให้ลำน้ำปิงคงอยู่คู่ชาวเชียงดาวตลอดไป

เอกสารอ้างอิง

ประเสริฐ ณ นคร, มังรายศาสตร์ ๒๕๑๔

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ .ระบบเหมืองฝาย ภูมิปัญญาการจัดการน้ำพื้นบ้าน, สืบสานล้านนา.๒๕๔๓

เอกวิทย์ ณ ถลาง.  ภาพรวมภูมิปัญญาไทย ๒๕๕๔, เหมืองฝาย บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ