Talk of the Town หรือเรื่องเด่นประเด็นร้อน ของเมืองเชียงใหม่ในยามนี้ มี 2 เรื่อง ก็คือ ตึกสูงสีเขียวอมฟ้าริมแม่น้ำปิง และโครงการโรงแรมสูง 13 ชั้นที่จะสร้างขึ้นบนถนนท่าแพ
เรื่องแรก ตึกสูงสีเขียวอมฟ้าที่หลายคนขับรถผ่านบริเวณเชิงสะพานนวรัฐ ริมเเม่น้ำปิง อ.เมืองเชียงใหม่ แล้วสะดุดตา ผู้คนมีมุมมองและความคิดเห็นต่างกัน บ้างก็ว่ามองแล้วขัดตา บ้างก็ว่าสวยสดใส เด่นดี เเต่ภาคประชาชนรวมถึงเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ มองว่าสีเขียวอมฟ้าที่สดและแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมโดยรวมเช่นนี้ จะทำให้สูญเสียภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมืองเก่าเชียงใหม่
ตึกสีเขียวอมฟ้า เป็นโรงแรมเก่าแก่ของเชียงใหม่ตั้งอยู่ในย่านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่สำคัญของเมือง คือ ไนท์บาร์ซ่า ไม่ไกลจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ โรงแรมเป็นสีขาวครีม และเพิ่งมีการรีโนเวทด้วยการทาสีภายนอกอาคารเป็นสีเขียวอมฟ้า
อย่างไรก็ตาม 19 มิถุนายน 2563 เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ คณะกรรมการอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่และปริมณฑลภาคประชาชน จะประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบวิธีการเคลื่อนไหวผลักดันให้เทศบาลนครเชียงใหม่ ทำการปรับปรุงเทศบัญญัติและขยายเขตพื้นที่ให้ครอบคลุมบริเวณย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ทั้งที่อยู่ในกำแพงเมืองและขยายตัวออกมานอกกำแพงเมือง เพื่อให้เมืองเชียงใหม่มีความสวยงาม สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตเมืองแห่งวัฒนธรรม
ยังไม่ทันที่จะมีทางออกร่วมกันถึงเรื่องโทนสีอาคารที่ควรจะเป็นในเมืองย่านเมืองเก่าเชียงใหม่และพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อเนื่องก็มีเรื่องที่ 2 เป็นข่าวใหม่ว่ากำลังจะมีโครงการก่อสร้างโรงแรมสูง 13 ชั้น บริเวณห้างตันตราภัณฑ์ท่าแพ (เดิม) ให้เป็นโรงแรมกลางเมือง ทางโครงการยื่นขอประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ผ่านรอบที่ 1 แล้ว กำลังรอผลการพิจารณาในรอบที่ 2 เพื่อขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
กรณีนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านศิลปกรรมของเมืองเชียงใหม่อย่างรุนแรง และมากกว่าโรงแรมที่ทาสีเขียวอมฟ้าทั้งหลัง เพราะที่ตั้งของโครงการอยู่บนถนนท่าแพ ที่เป็นถนนหน้าเมืองและเป็นแนวแกนหลักของเมืองเก่าเชียงใหม่ ดังนั้นเมื่อเรามองเมืองจากแม่น้ำปิง ผ่านย่านกาดหลวง ช้างม่อย และท่าแพที่มีความสูงอาคารเฉลี่ย 14 เมตร ผ่านย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ในกำแพงเมืองชั้นใน กำแพงเมืองชั้นนอกที่มีเทศบัญญัติควบคุมความสูงอาคารอยู่ที่ 12 เมตร ก็จะได้ภาพเมืองเก่าที่งดงามโดยมีดอยสุเทพเป็นฉากหลัง มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพที่เลื่อมใสศรัทธาได้จากทุกมุมเมือง…
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีอาคารสูง13 ชั้น ที่สร้างได้สูงสุด 40 เมตร ก่อสร้างขึ้นบนแนวแกนหลักของเมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน 700 กว่าปี..ลองช่วยกันจินตนาการดู
ภาคประชาชนรวมถึงเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ มองว่าสีเขียวอมฟ้าของโรงแรมริมแม่น้ำปิง ที่สดและแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมโดยรวม และโครงการก่อสร้างโรงแรมที่เป็นอาคารสูงบริเวณถนนท่าแพ จะทำให้เสียภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมืองเก่าเชียงใหม่ และอาจมีผลต่อการพิจารณาขอขึ้นทะเบียนให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก ที่ทุกภาคส่วนกำลังช่วยกันขับเคลื่อนอยู่ โดยนำเสนอคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามเกณฑ์ด้านวัฒนธรรม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผังเมือง ด้านวัฒนธรรมประเพณี และด้านสถาปัตยกรรมล้านนา กำหนดพื้นที่มรดก (Property Zone)ใน 2 แหล่ง คือ พื้นที่เขตเมืองเก่าเชียงใหม่และพื้นที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ กำหนดพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ตามแนวเขตถนนซุปเปอร์ไฮเวย์-วงแหวนรอบที่ 1 ต่อกับพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งที่ตั้งของโรงแรมริมแม่น้ำปิงและโครงการโรงแรมสูง 13 ชั้นที่ถนนท่าแพ อยู่ในเขตพื้นที่กันชน
ภายใต้ความกังวลของคนเชียงใหม่มีการพูดถึงกฎกระทรวงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ และเทศบัญญัติเทศบาลนครเชียงใหม่ ปี 2557 ว่า มีมาตรการในการปกปักรักษาเมืองเชียงใหม่แค่ไหน อย่างไร? ก็พบว่าผังเมืองรวมฯฉบับปัจจุบันปี 2555 ไม่ได้ห้ามการก่อสร้างอาคารสูง หรือระบุให้ต้องมีการอนุรักษ์พื้นที่แต่ในการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ของบริษัทที่ปรึกษาได้มีการเสนอความคิดเห็นเรื่อง การปกปักรักษาย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ และการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก โดยจะมีการควบคุมความสูงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เพิ่มมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์เมือง และชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองไปยังพื้นที่แห่งใหม่ ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง หรือในพื้นที่บริเวณวงแหวนรอบที่ 2
ส่วนเทศบัญญัติเทศบาลนครเชียงใหม่ ปี 2557 นั้นควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารในย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ ให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา โดยมีการกำหนดสีอาคารด้วย แต่ปรากฏว่าเทศบัญญัติฉบับนี้ควบคุมเฉพาะในเขตกำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอกเท่านั้น “ตึกเขียวอมฟ้า” จึงอยู่นอกเขตการควบคุม
อาจารย์อิศรา กันแตง นักวิจัยด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อธิบายว่า หากมองในมุมของกฎหมาย และเทศบัญญัติของเทศบาลนครเชียงใหม่ปี 2557 ที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนสีโรงแรม หรือก่อสร้างโครงการโรงแรมบนถนนท่าแพได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายใด ๆ แต่อาจขัดใจและขัดตา ขอให้มองว่าทั้ง 2 กรณีนี้เป็นครูของเรา ที่จะทำให้ภาคประชาสังคม ประชาชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นบทเรียนในการกำหนดทิศทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเเบบมีพลวัตให้เป็น “เมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” ที่ไม่ทิ้งรากเหง้าและตัวตน
แล้วอะไร? คือทางออกของการแก้ปัญหานี้ เมื่อมาตรการทางกฎหมายตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่มีพลวัตของการพัฒนาทางเศรษฐกิจรวดเร็วอย่างเมืองเชียงใหม่ ที่จะไม่ทำลายต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
คำตอบแรก คือ EIA หรือ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่โครงการขนาดใหญ่ต้องยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จุดประสงค์ของการทำ EIA ก็เพื่อสอบถามผู้มีส่วนได้เสียว่า โครงการส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร? ซึ่งโครงการโรงแรมสูง 13 ชั้นนี้ มิใช่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านข้างเคียง แต่ส่งผลกระทบต่อคนเชียงใหม่ทั้งเมือง EIA จึงมีไว้เพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมายท้องถิ่น ที่ยังจัดทำไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของเมือง หรือยังไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ จึงร่วมกันยื่นคำร้องไปยังเลขาธิการ สผ.เพื่อขอให้คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ร่วมด้วย
คำตอบที่ 2 เมืองเชียงใหม่ ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงเทศบัญญัติฯ โดยขยายขอบเขตพื้นที่ความเป็นย่านเมืองเก่า มากกว่าฉบับเดิม หรือตามประกาศเมืองเก่าเชียงใหม่ของ สผ. ที่ถือเอาเขตกำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอกเป็นเกณฑ์ และอาจรวมถึง การประสานงานกับสผ. เพื่อขอขยายเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ให้ครอบคลุมความเป็นเมืองเก่าในอดีต
คำตอบที่ 3 ฝากความหวังไว้กับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ที่กำลังปรับปรุงว่าจะให้ความสำคัญทุนทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ มีมาตรการในการควบคุมที่ละเอียดรอบคอบเพื่อรักษาพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแหล่งใหม่ที่เหมาะสมเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ที่ทันสมัยและตอบโจทย์กับวิถีของคนเชียงใหม่ในอนาคต
คำตอบที่ 4 ฝากความหวังไว้กับแผนการจัดการ (Management Plan) และการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ที่คนเชียงใหม่หวังจะใช้เครื่องมือสากล ในการปกปักรักษาเมืองไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน
และอีกคำตอบสำคัญ ที่อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คือ การมีส่วนรวมอีกลักษณะที่ไม่ได้มีตัวบทกฎหมายเป็นตัวตั้ง แต่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนในพื้นที่ เช่น โมเดลของ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่ทำให้การฟื้นฟูย่านเก่าในเมืองเกียวโตประสบผลสำเร็จนั้นเป็นเพราะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายบ้านเก่าแห่งเกียวโต (Kyo Machiya Net) ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วย 4 องค์กร คือ คณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและการดูแลเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ กลุ่มช่างไม้บ้านเก่าซึ่งเป็นกลุ่มด้านเทคนิคการซ่อมปรับปรุงบ้านเก่า กลุ่มเผยแพร่การดำเนินชีวิตแบบเดิมในบ้านเก่าที่ทำหน้าที่รณรงค์เผยแพร่สร้างความเข้าใจให้กับสาธารณะให้เห็นถึงความสำคัญ และกลุ่มดูแลด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นนายหน้าประสานกับคนที่อยากเข้ามาอยู่ในบ้านเก่า
พลังของประชาชนและชุมชนมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะฟื้นฟูเมืองเก่า โดยในปี พ.ศ. 2441 ได้มีการสำรวจบ้านในเขตเมืองเกียวโตจำนวน 28,000 หลัง ด้วยอาสาสมัครจากนักเรียนและผู้ปกครองที่มีความคิดต้องการจะอนุรักษ์บ้านเก่าซึ่งทำมาจากไม้มาช่วยกันสำรวจ ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อบ้านเก่าโดยพบว่าประชาชนกว่า 80% อยากให้ลดความสูงของอาคารเพราะไปบดบังบ้านเก่า จึงได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูบ้านเก่าโดยจัดเป็นห้องพักแบบญี่ปุ่นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเท่ากับว่าบ้านเก่าเหล่านี้ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจให้กับชุมชม
โดยได้นำเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวมาใช้ในการอนุรักษ์บ้านเก่าแทนที่จะเอาไปใช้ในการขยายถนน ทั้งนี้การท่องเที่ยวจะต้องให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการวางศิลปวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางและนำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมาล้อมรอบ ซึ่งเงินจากการท่องเที่ยวจะช่วยเลี้ยงดูชุมชน เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์แล้วยังเป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนาเมือง ทั้งแสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์นั้นทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตทางวัฒนธรรมได้
แม้การอนุรักษ์อาคารเก่าในเมืองใหญ่นั้นทำได้ยาก เพราะมีตึกสูงจำนวนมาก ส่งผลให้ย่านบ้านเก่าถูกเงาตึกสูงบัง ฉะนั้นการสร้างตึกสูงจึงเป็นการทำลายเมืองและเป็นมลภาวะของเมือง ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการสร้างอาคารให้มีการควบคุมความสูงอาคารที่เข้มงวดขึ้น จากเดิมที่เคยกำหนดความสูงอาคารไม่ให้เกิน 31 เมตร ก็ได้กำหนดใหม่ให้อาคารมีความสูงได้ไม่เกิน 15 เมตร เพื่อที่จะได้มองเห็นภูเขาได้ชัดเจนและสวยงาม ตึกไหนที่บังภูเขาจะต้องมีการแก้ไข
การดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่ทำได้ในขณะนี้ คือ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ตัวเเทนเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างโรงแรมสูงย่านเมืองเก่า ต่อเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ทบทวนผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ มีรายงานว่าทางสผ.จะพิจารณา EIA เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเกรงว่าโรงแรมดังกล่าวอาจได้รับการอนุมัติ และร้องขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ร่วมทั้งจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสมของความสูงอาคาร ขนาด และรูปแบบอาคารร่วมกัน
หรืออีกกรณี คือ การออกมามีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านวัดเกต ซึ่งเป็นย่านที่ยังเหลือความเป็นถนนสายศิลปวัฒนธรรม มีตึกอาคารที่ยังคงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยก่อน และยังมีวัด มัสยิด ศาสนสถานอยู่ด้วยแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ และตัวอาคารไปสู่การเป็นถนนสายท่องเที่ยว และคลับบาร์ยามค่ำคืน แต่ครั้งหนึ่งมีกรณีที่บริษัทเอกชน มีแผนดำเนินการโครงการอาคารชุดพักอาศัย 8 ชั้น 6 อาคาร จำนวน 384 ห้อง วัดความสูงถึงยอดหลังคาสูง 30 เมตร บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ บริเวณถนนบำรุงราษฎร์ ต.วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก่อให้เกิดความกังวลใจอย่างมากแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยเดิม ทำให้เกิดขบวนการภาคประชาชนในการออกมามีส่วนร่วมในการกำหนดและพัฒนาย่าน ทั้งการขอกำหนดขอบเขตและคุณสมบัติของผังเมืองรวมและการมีส่วนร่วมในการการทำ EIA ฉบับประชาชน โดยให้คนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นและร่วมกันออกแบบ จนบริษัทได้ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานจากคอนโดมีเนียมเป็นบ้านเดี่ยวสูง 3 ชั้นความสูงประมาณ 15 เมตร จำนวน 33 หลังแทน ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนลดลงเหลือ 2 ชั้นเป็นคฤหาสน์หรูใจกลางเมือง และมียอดการจองเกินกว่าจำนวนบ้านที่จะสร้าง ทั้งผู้จองยังไม่เกี่ยงเรื่องราคาว่าจะเป็นเท่าไรอีกด้วย นั้นสะท้อนให้เห็นสองมิติ คือ บริษัทเอกชน ฟังเสียงและความต้องการของคนในพื้นที่มากกว่าธุรกิจเพื่อให้ได้กำไรมาก ๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันและการเป็นส่วนหนึ่งที่ดีของสังคม ทั้งยังต้องการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทฯ
อ้างอิง
–บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โยชิฟูมิ มูเนตะ (Prof. Yoshifumi Muneta) อาจารย์ประจำสาขาวิชาสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย ภาควิชาการออกแบบสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้ซึ่งทำงานด้านการฟื้นฟูเมืองในเมืองเกียวโต โดยรณวัฒน์จันทร์จารุวงศ์สำนักข่าวประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2009/03/20335
– บทสัมภาษณ์อาจารย์อิศรา กันแตง นักวิจัยด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา