“รายได้ลด…” ปัญหาร่วมของทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างและร้านอาหาร ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นที่มาของการรวมตัว เพื่อร่วมกันออกแบบแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “ตามสั่ง – ตามส่ง” ของกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในซอยลาดพร้าว 101 ที่มีสมาชิกกว่า 300 คน และร้านอาหารภายในชุมชน โดยมีนักวิชาการเป็นตัวเชื่อม
ณ จุดเริ่มต้น ตามสั่ง ตามส่ง
เฉลิม ชั่งทองมะดัน หรือ “ลุงเฉลิม” วินมอเตอร์ไซค์ซอยลาดพร้าว 101 ลูกอีสานบุรีรัมย์ ที่มีประสบการณ์ช่ำชองในการขับวินมามากกว่า 30 ปี เล่าว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด รายได้ลดต่ำลงจนน่าใจหาย จากเดิมจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 700-1000 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้เหลืออยู่แค่ประมาณ 100-200 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในครอบครัว
ปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลงนี้เกิดขึ้นกับร้านอาหารเล็ก ๆ ในชุมชนด้วยเช่นกัน ทั้งด้วยปัญหาเรื่องข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ทั้งความไม่คุ้นเคย การไม่มีอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการที่ไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มธุรกิจรับส่งอาหารรายใหญ่ที่จะเก็บส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้ามากถึง 30-35 เปอร์เซ็นต์ได้
ลุงเฉลิมยังเล่าถึงความฝันที่อยากให้มีแพลตฟอร์มเฉพาะของวินมอเตอร์ไซค์ เพื่อจะมาแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการหักค่าคอมมิชชั่น 10 หรือ 15 เปอร์เซ็นต์เหมือนกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ตามท้องตลาด
“ผมพยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเรื่องนี้ แต่หลายคนเขาก็ไม่ได้มา ทุกคนเข้ามาจะมองเรื่องผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับมากกว่าที่จะมาช่วยให้พวกเราสามารถเดินไปได้ พอเขามองตรงนั้น มันก็ไปด้วยกันไม่ได้ เราไม่ได้มองผลประโยชน์ที่มันจะเกิดขึ้น แต่เรามองว่าเราจะอยู่ได้ยังไง” ลุงเฉลิมกล่าว
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ หรือ “อาจารย์โบ้” ซึ่งเคยทำงานศึกษา เรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการในประเทศไทยกับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ นำทีมนักวิจัยและอาสาสมัครจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยต่อเติมความคิดของลุงเฉลิมให้เป็นรูปธรรม
แพลตฟอร์ม “ตามสั่ง ตามส่ง” จึงเริ่มต้นจากเป้าหมายการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของร้านอาหารที่ต้องโดนหักส่วนแบ่งรายได้หากต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มเจ้าใหญ่ และยังต้องการสร้างความมั่นคงทางอาชีพ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ อีกทั้งยังต้องการเชื่อมกับกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบในภาวะโควิด-19 ด้วย
ตามสั่ง ตามส่ง บริการเพื่อชาวชุมชน
อรรคณัฐ อธิบายว่า หลักการของ “ตามสั่ง ตามส่ง” จะใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นศูนย์กลางในการรับส่งอาหารและผู้โดยสาร ผ่านแพลตฟอร์มง่าย ๆ ที่มีอยู่แล้ว อย่าง LINE iSharing และ Zello มาเป็นตัวกลางในการเชื่อมมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้านอาหาร และ ผู้บริโภค โดยไม่มีใครต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
“ตามสั่ง ตามส่ง นอกจากเสริมรายได้แล้วยังสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคนในชุมชนด้วย” ลุงเฉลิมกล่าว
ทางทีมนักวิจัยและกลุ่มอาสาสมัครได้ลงพื้นที่สำรวจ สอบถามและพูดคุยทั้งกับวินมอเตอร์ไซค์ ร้านอาหาร และประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในชุมชนซอยลาดพร้าว 101 ซึ่งทางทีมวิจัยได้นำทักษะทางวิชาการมาสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับคนในชุมชนเกิดเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านตัวกลางที่เรียกว่า แพลตฟอร์ม
สุริยาพร เอี่ยมวิจิตร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยเล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ตนได้ใช้ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และเปลี่ยนรูปแบบการทำวิจัยที่เดิมจะออกมาเป็นรูปเล่มตีพิมพ์มาสู่พื้นที่ปฏิบัติการจริง ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ทำให้ได้สัมผัส ได้พูดคุย ได้สอบถาม ได้ร่วมมือกับคนรุ่นใหม่
“เราพยายามที่จะใช้ความเป็นชุมชนลาดพร้าว 101 ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการร้านค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้อยู่อาศัยในชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน” สุริยาพรกล่าว
ความท้าทายในอนาคต
อรรคณัฐ กล่าวว่า “ตามสั่ง ตามส่ง” เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับชุมชนได้หลายชุมชน แต่ความท้าทายจะอยู่ตรงที่ ชุมชนจะสามารถนำไปทำต่อยอดในระยะยาวได้มากน้อยเพียงใด
“มันต้องเกิดจากชุมชน แต่เวลาที่เราพูดถึงชุมชนในที่นี้มันอาจจะไม่ได้หมายถึงชุมชนที่เป็นชุมชนเชิงกายภาพ ไม่ได้หมายถึงชุมชนที่เป็นย่านอย่างเดียว แต่อาจจะหมายถึงชุมชนในลักษณะที่ประกอบอาชีพเดียวกันอย่างเช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็ถือว่าเป็นชุมชนอย่างหนึ่งถูกมั้ยครับ สำคัญก็คือว่าจะต้องมีความเข้มแข็งของสิ่งที่เรียกว่าชุมชน อาจจะเป็นชุมชนจริง ๆ หรือว่าอาจจะเป็นกลุ่มอาชีพ” อรรคณัฐให้ความเห็น
แพลตฟอร์มตามสั่ง ตามส่ง คือโมเดลเล็ก ๆ ที่เปิดให้บริการในชุมชนลาดพร้าว101แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่าในอนาคตจะสามารถขยายออกไป สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น รวมถึงเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในชุมชนได้