4 ทศวรรษของความทุกข์: ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ถูกลืม

4 ทศวรรษของความทุกข์: ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ถูกลืม

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

20151907142444.jpg

ภาพ: โรงไฟฟ้ากระบี่ที่จะมีการขยายเป็น 800 เมกกะวัตต์และใช้ถ่านหินเป็นเชื่อเพลิง

บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อมูลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยนำข้อมูลมาจากรายงานความก้าวหน้างานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.กระบี่ หรือ “งานมหาลัยเล” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยนักวิจัยชาวบ้าน 8 หมู่บ้านบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.กระบี่ ซึ่งรวมถึงหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่กำลังเกิดกระแสการต่อต้านในขณะนี้ เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เร่งรีบเปิดประมูลในวันที่ 22 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

00000

ผู้อ่านหลายท่านคงไม่ทราบมาก่อนว่าบริเวณที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังเกิดกระแสต่อต้านในขณะนี้ ในอดีตเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก่อน และโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 4 ทศวรรษ 

โรงไฟฟ้ากระบี่โรงเก่าที่ใช้ถ่านหินเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2504 และเดินเครื่องเมื่อปี พ.ศ.2507 โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งแรกเริ่ม 20 เมกกะวัตต์ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 60 เมกกะวัตต์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2538 จึงยกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน และหันมาใช้น้ำมันเตาแทน

ในช่วงที่มีการเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้า งานวิจัยนี้พบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 60 เมกกะวัตต์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง ชาวบ้านซึ่งตั้งชุมชนอยู่รอบโรงไฟฟ้าได้ระบุว่า ช่วงที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินได้เกิดขี้เถ้าถ่านหินจากการเผาไหม้ฟุ้งกระจาย และชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ต.ปกาสัย ได้รับผลกระทบ โดยที่หมู่ 4 หรือบ้านทุ่งสาครได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากอยู่ใต้ลมของโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 7-8 เดือนต่อปี (เดือน 6 – เดือน 12 หรือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน) และขี้เถ้าถ่านหินทำให้ชาวบ้านจำนวนมากป่วย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด

ในช่วงปี พ.ศ. 2520-2530 เป็นช่วงที่ขี้เถ้าถ่านหินฟุ้งกระจายมากที่สุด ชาวบ้านเคยนำผักกาดชนิดที่ใช้สำหรับดองมาปลูก ในตอนเช้าจะพบขี้เถ้าถ่านหินละเอียดผสมกับน้ำค้างเกาะตามผิวใบ หากจะนำไปดอง ต้องราดน้ำล้างออกก่อนถอนและนำไปดอง หากไม่ล้างก่อนถอนจะล้างขี้เถ้าถ่านหินไม่ออก และเมื่อดองจะมีน้ำสีดำ แม้แต่บ่อกุ้ง บางครั้งขี้เถ้าถ่านหินฟุ้งกระจายและตกลงไป ยังทำให้กุ้งตายทั้งบ่อ

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านบางคนคิดว่าขี้เถ้าถ่านเป็นปุ๋ยอย่างดี นำเอาขี้เถ้าที่สะสมในโอ่งน้ำฝนไปใส่ปุ๋ยให้กับพืชผัก ขณะที่ กฟผ. ไม่เคยบอกว่าอันตราย มารู้ว่ามีโลหะหนักและสารพิษหลังจากชาวบ้านเจ็บป่วย เช่น เด็กในครอบครัวที่ป่วย จึงค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง 

งานวิจัยมหาลัยเลยังพบว่า ในช่วงดังกล่าว การตระหนักถึงผลกระทบจากถ่านหินยังมีน้อยมาก เพราะแม้แต่แพทย์เองที่ทำการรักษาก็ไม่ทราบว่าการเจ็บป่วยของชาวบ้านมาจากอะไร จนชาวบ้านต้องบอกแพทย์ว่าแพ้น้ำที่ปนเปื้อนขี้เถ้าถ่านหิน 

ชาวบ้านทุ่งสาครยังระบุว่า โอ่งที่รองรับน้ำฝนจากหลังคา จะมีเถ้าถ่านหิน หากเก็บไว้เกิน 10 วัน น้ำจะออกมีสีขุ่นดำ ทำให้ต้องล้างโอ่งน้ำทุก 10 วัน ช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ยังทำให้ชาวบ้านทุ่งสาครไม่สามารถใช้น้ำฝนอุปโภคบริโภคได้ หากนำไปอาบจะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนและคัน ในช่วงนั้น ชาวบ้านจะต้องเลิกใช้น้ำฝนแตกต่างจากหมู่บ้านอื่น เช่น ที่บางผึ้ง ชาวบ้านทุ่งสาครทุกหลังคาเรือนต้องลงทุนขุดบ่อน้ำตื้นเพื่อนำน้ำมาใช้แทน 

นอกจากสุขภาพของชาวบ้านแล้ว ความไม่รู้เท่าทันพิษภัยของขี้เถ้าถ่านหินยังทำให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศน์รอบโรงไฟฟ้า โดย กฟผ. จะกองขี้เถ้าถ่านหินไว้ริมกลอง สนามกอล์ฟของ กฟผ.ก็ถมด้วยขี้เถ้าถ่านหิน ขณะที่ในปี พ.ศ.2514-18 ชาวบ้านบางหมู่บ้านนำขี้เถ้าถ่านหินไปถมเพื่อสร้างถนน เช่น ถนนทางเข้าบ้านหมู่ 8 และหมู่ 9 ต.ปกาสัย หลังจากถมไปนานๆ จะมีน้ำสีดำออกมา เมื่อฝนตกก็ถูกชะล้างลงไปตามลำคลอง และทำให้เกิดปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร

ช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ยังได้มีการนำขี้เถ้ามากองข้างคลองปกาสัย ทำให้ขี้เถ้าถ่านหินถูกชะล้างลงน้ำ และเกิดผลกระทบต่อแหล่งอาหารของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านทุ่งสาครหมู่ที่ 4 ไม่ได้ซื้อกับข้าว แต่บริโภคอาหารจากธรรมชาติโดยเฉพาะตามคลองปกาสัย ชาวบ้านระบุว่าช่วงดังกล่าว สัตว์น้ำบางชนิดมีลักษณะผิดปกติจนไม่สามารถนำไปปรุงอาหารได้ ตัวอย่างเช่น หอยหวานในคลองปกาสัย บริเวณหาดย่านยาวหลังโรงไฟฟ้า แม้ว่าหอยลูกใหญ่และอ้วน แต่หากนำมาต้มจะมีน้ำสีดำ ชาวบ้านไม่กล้ารับประทาน ซึ่งหากเทียบหอยหวานจากที่อื่น เช่น หาดหอย หากต้มน้ำจะสีขาว 

นอกจากนั้น ปูดำที่จับได้จากบริเวณหลังโรงไฟฟ้า มันปูจะเป็นสีเขียวคล้ำ แตกต่างจากปูดำที่อื่นที่จะมีสีเหลืองอมแดง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องเลิกจับปูบริเวณดังกล่าว

ชาวบ้านระบุว่า การที่หอยและปูเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพราะสัตว์น้ำทั้ง 2 ชนิดกินของเสียที่ปล่อยมาจากโรงไฟฟ้า

นอกจากขี้เถ้าถ่านหินแล้ว ชาวบ้านยังระบุว่า น้ำร้อนจากการผลิตกระแสไฟฟ้ายังถูกปล่อยลงลำคลองปกาสัย บางครั้งน้ำร้อนจนเห็นไอน้ำเป็นควัน ซึ่งในช่วงเวลานั้น ชาวบ้านไม่ได้สังเกตถึงผลกระทบ แต่หลีกเลี่ยงที่จะไปหาปลาบริเวณนั้น

แม้ว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตและหันมาใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลงแทน แต่ผลกระทบดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ยังเกิดต่อเนื่องมานานถึง 10 ปี จนกระทั่งปัจจุบัน ชาวบ้านยังไม่ไว้ใจที่จะใช้น้ำฝน ชาวบ้านบางคนระบุว่า ทุกวันนี้ เด็กบางคนที่เคยแพ้น้ำฝน ตอนนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังกลัวฝน

ขณะที่ผลกระทบจากการเกษตร งานวิจัยมหาลัยเลพบว่าในช่วงการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินได้ทำให้ต้นไม้โดยเฉพาะยางพาราขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่น ใบเขียวสดของยางพาราปลิดขั้วทำให้ไม่มีใบ คล้ายกับผลัดใบ ซึ่งปกติจะผลัดใบเพียงปีละครั้งคือในเดือนสาม แต่ยางพาราที่บ้านทุ่งสาครจะผลัดใบเพิ่มเป็นปีละ 3 ครั้ง ช่วงที่ยางผลิขั้วเหมือนผลัดใบอีก 2 ครั้ง คือ เดือน 7 และเดือน 11

ในช่วงที่ยางพาราผลัดใบนี้ ชาวบ้านไม่สามารถกรีดยางได้ ต้องรอเวลานานนับเดือนจนกว่าจะมีใบใหม่ ขณะที่ยางบางต้นยืนต้นตาย 

หลังจากเปลี่ยนจากถ่านหินมาเป็นน้ำมัน ชาวบ้านระบุว่า ยางพาราผลัดใบน้อยลง แต่ก็ยังไม่เหมือนกับยางพาราที่อื่นๆ เพราะ ผลัดใบตามธรรมชาติ 1 ครั้ง และผลัดใบผิดธรรมชาติในเดือน 9 อีก 1 ครั้ง และช่วงดังกล่าว ชาวบ้านจะกรีดยางไม่ได้ ทำให้รายได้ลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงที่มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลงแล้ว ชาวบ้านสามารถกรีดยางได้มากขึ้น

ในช่วงที่มีเดินเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ชาวบ้านยังระบุว่า แม้แต่การเพาะกล้ายางก็ไม่สามารถทำได้ เช่น ในปี พ.ศ.2523 ชาวบ้านทุ่งสาครบางรายเพาะกล้ายางเพื่อขาย แต่ปรากฏว่าเถ้าถ่านหินมาเกาะใบในตอนกลางคืน หลังจากนั้นได้เกิดฝนตก ทำให้ใบของกล้ายางไหม้และร่วงหล่น กล้ายางบางต้นแตกใบใหม่ได้ แต่บางต้นแห้งตาย

ส่วนผลกระทบต่อปาล์มน้ำมัน ซึ่งชาวบ้านเริ่มนำมาปลูกในช่วงปี พ.ศ.2520-2511 ชาวบ้านระบุว่า ได้ผลผลิตได้น้อย และคาดว่าเกิดจากกรดเถ้าถ่านหินที่ส่งกระทบต่อดอกปาล์ม จากประสบการณ์ของชาวบ้านพบว่า สวนปาล์มที่อื่น เช่น ที่ อ.คลองท่อม จะให้ผลผลิตไร่ละ 4 ตัน แต่ปาล์มน้ำมันบริเวณปกาสัยให้ผลผลิตเพียงไร่ละ 2.5 ตัน และหลังจากเลิกใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้าในปี พ.ศ.2538 ชาวบ้านพบว่าผลผลิตปาล์มที่ปกาสัยได้เพิ่มขึ้นและใกล้เคียงกับพื้นที่คลองท่อม

งานวิจัยมหาลัยเลที่ได้บันทึกได้ชี้ให้เห็นถึงหายนะของถ่านหินที่ชาวบ้านต้องทนทุกข์มากว่า 40 ปี ประสบการณ์ของความทุกข์นี้ทำให้ทุกวันนี้พวกเขาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่จะมีการสร้างใหม่และ กฟผ.กำลังจะเปิดประมูลในวันที่ 22 ที่จะถึงนี้

ชาวบ้านระบุว่า ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้ามีขนาด 60 เมกกะวัตต์ พวกเรายังทุกข์ขนาดนี้โดยไม่มีใครเหลียวแล และมีคำถามว่า 

“หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกกะวัตต์ พวกเราและลูกหลานของพวกเราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ?”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ