การระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นก่อให้เกิดสถานการณ์วิกฤตไปทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 หลายประเทศต้องปิดโรงเรียนและศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ยกเลิกงานกิจกรรมต่างๆ และปิดพรมแดน ภายใต้สภาวะเช่นนี้ เด็กๆ จำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้านและพึ่งพาสื่อเพื่อการศึกษา เพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความบันเทิง ในสถานการณ์ที่มีความเฉพาะตัวนี้ หน่วยงาน International Central Institute for Youth and Educational Television (IZI) ได้ทำการวิจัยในระดับนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ทำงานวิจัยในลักษณะนี้ขึ้นมา (ผู้ทำแบบสำรวจจำนวน 4,422 คน จาก 43 ประเทศ) เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ จะเด็กๆ ต้องประสบในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ รวมไปถึงวิธีการที่พวกเขาใช้รับมือกับความท้าทายเหล่านั้น
สถาบันเกอเธ่ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับผู้ผลิตอิสระทำการเก็บข้อมูลผลสำรวจในประเทศไทย เชิญชวนเด็ก ๆ ที่มีอายุระหว่าง 9-13 ปี มาร่วมแบ่งปันและสะท้อนการรับมือของพวกเขาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในประเทศไทยมีเด็ก ๆ ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 115 คน โดยมีรายละเอียด
ความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ในขณะที่ประชาชนบางส่วนในกรุงเทพมหานครสามารถกักตัวเองอยู่บ้านได้อย่างปลอดภัย แต่ยังคงมีอีกหลายครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและมีรายได้น้อย โดยค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัวของพวกเขาขึ้นอยู่กับค่าจ้างรายวัน ดังนั้นสำหรับพวกเขาการปฏิบัติตัวเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ จึงเป็นไปได้ว่าไวรัสโควิด-19 อาจแพร่ระบาดมากที่สุดในชุมชนของผู้ที่มีรายได้น้อย เกิดการคุกคามของโรคอย่างมากกับหลายๆ ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่ได้รับความลำบากจากมาตรการการบังคับที่กำหนดขึ้นก่อนหน้านี้ ในระยะสั้นการแพร่ระบาดของโรคจำเป็นต้องถูกยับยั้งเพื่อลดภาระของระบบสาธารณสุขของประเทศที่ถูกใช้ไปแล้วอย่างมหาศาล ในระยะยาวคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยจะบอบชํ้าอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่ทำอาชีพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
ในการวิจัยหัวข้อ “เด็ก ไวรัสโควิด-19 และสื่อ” ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกและความรู้เรื่องไวรัสโควิด-19 ของเด็ก รวมถึงการใช้สื่อ วิธีการจัดการความเครียด และวิธีการในการควบคุมในการบริโภคสื่อของพวกเขา ระยะเวลาการเก็บข้อมูลอยู่ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 26 เมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการยกระดับมาตรการสั่งปิดเมืองมากที่สุดในหลายประเทศ
ทั้งนี้ ตัวอย่างข้อมูลไม่สามารถนำมาอ้างอิงแทนข้อมูลในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงการค้นพบและแนวโน้มที่น่าสนใจที่ว่าเด็กๆ มีความรับรู้และเข้าใจกับสถานการณ์พิเศษเช่นนี้อย่างไร
เด็กเกือบทุกคนจากทั่วโลกที่ทำการสำรวจนี้ตอบว่า การดำเนินชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ พ่อแม่ของพวกเขาทำงานจากที่บ้านมากขึ้นไม่สามารถเล่นกีฬาและกิจกรรมยามว่างได้ เด็กจำนวน 1 ใน 2 คน จากทั่วโลกมีความรู้สึกกังวลกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และจำนวนร้อยละของเด็กที่ตอบแบบสำรวจว่ามีความรู้สึก “กังวลมาก” มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
เด็กจำนวนร้อยละ 25 ที่ทำแบบสำรวจในประเทศไทยมีความรู้สึกกังวลมาก ในขณะที่อีกร้อยละ 30 รู้สึกเฉยๆ สิ่งที่เด็กรู้สึกกลัวมากที่สุดคือสมาชิกในครอบครัวจะมีอาการป่วย ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่สามารถไปเยี่ยมปู่ย่า/ตายายและและญาติได้อีกเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าข้อมูลที่เด็กได้รับมาและความกังวลที่พวกเขามีต่อไวรัสโควิด-19 จะความสัมพันธ์กันอยู่ กล่าวคือ ยิ่งเด็กรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้และวิธีการป้องกันตัวจากการติดเชื้อน้อยเท่าไหร่ อัตราส่วนของผู้ที่ตอบแบบสำรวจว่า “กังวลมาก” ยิ่งมีเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น นอกจากนี้เด็กๆ ยิ่งรู้สึก “กังวลมาก” หากพวกเขาเสพข่าวปลอมที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง เช่น “ไวรัสโควิด-19 ถูกใช้เป็นอาวุธของรัฐบาลต่างประเทศ” หรือ “กระเทียมช่วยป้องกันไม่ให้ติดไวรัสโควิดได้”
จากที่กล่าวข้างต้นจึงมีข้อสรุปดังนี้ ความรู้ความเข้าใจมีความเชื่อมโยงกับการลดลงของความรู้สึกไม่มั่นคงรวมถึงการลดลงของความรู้สึกกังวล
“เด็กๆ ต้องการข้อมูลและสื่อที่เหมาะสมตามอายุ ที่ผลิตขึ้นสำหรับพวกเขาเพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการสร้างความหวาดกลัวหรือปลูกฝังความวิตกกังวล” Dr. Maya Götz หัวหน้าคณะนักวิจัยในเยอรมนีที่ทำการศึกษา กล่าว
ทั้งนี้ วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นแตกต่างออกไป เพราะมันได้แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง เด็กๆ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ “เฝ้าดู” มันเพียงเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แม้เด็กจำนวนมากอาจไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องรับผลกระทบโดยตรงจากไวรัสดังกล่าวมากนัก แต่พวกเขาก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ ว่าเหตุใดพวกเขาจึงต้องเลิกทำกิจวัตรเดิมๆ ไป ทำไมจึงไม่สามารถไปพบเจอเพื่อนๆ หรือไม่สามารถทำกิจกรรมยามว่างที่ชื่นชอบได้ เป็นต้น งานกิจกรรมหรือการเที่ยววันหยุดที่พวกเขาเฝ้ารอต่างต้องถูกยกเลิกไปหมด หลายสิ่งหลายอย่างที่จะช่วยทำให้พวกเขามีโอกาสได้เติบโตและใช้ในการต่อสู้กับปัญหาส่วนตัวต่างๆ ที่ทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างต้องพบเจอนั้นจำเป็นต้องงดเว้นเอาไว้ก่อนในช่วงเวลาเหล่านี้
ในสถานการณ์เช่นนี้ สื่อถือได้ว่ามีหน้าที่สำคัญถึงสองข้อ นอกจากจะเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังต้องช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ทางไกลแก่เด็กๆ สื่อเป็นสิ่งที่ทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างก็ต้องใช้ในการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีสื่อสังคมออนไลน์ที่ช่วยให้การสื่อสารกับมิตรสหายและเพื่อนร่วมชั้นเรียนยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัดและเป็นวิธีการที่ช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ได้ ทั้งยังมีสื่อทางโทรทัศน์ สตรีมมิ่งและเกมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยสร้างความบันเทิงและเยียวยาจิตใจจากความเบื่อหน่าย วิตกกังวลและความเหงาได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่าสื่อนั้นอาจทำให้เกิดผลในเชิงลบได้เช่นกัน อาทิ ก่อให้เกิดความเครียดสะสมเมื่อได้รับข้อมูลต่างๆ จากสื่อมากจนเกินไปและอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอารมณ์ขึ้นได้ หรือเมื่อดูสื่อที่เป็นภาพมากจนเกิดไป (เช่น ในอิสตาแกรม เป็นต้น) ก็อาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองและรูปร่างหน้าตาของตนเองได้ นอกจากนั้น ในบางครั้งสื่อก็เป็นตัวการที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในครอบครัวที่มีความตึงเครียด อันเนื่องมาจากสถานการณ์พิเศษนี้ที่ทำให้ทุกคนต้องกักตัวอยู่ด้วยกันตลอดเวลา
อนึ่ง คำกล่าวนี้แท้จริงหมายความว่าอย่างไรและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทั่วโลกจะนำเสนออะไรให้แก่ผู้ชมวัยเด็ก สิ่งนี้คือหัวข้อของงาน PRIX JEUNESSE INTERNATIONAL 2020 แบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นในเมืองมิวนิค และถ่ายทอดสดให้รับชมทั่วโลกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 5-11 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยการนำเสนอการศึกษาเรื่อง “เด็ก ไวรัสโควิด-19 และสื่อ” และการศึกษาเชิงคุณภาพอื่นๆ ที่ทำการสำรวจกับเด็กๆ จะจัดขึ้นแบบถ่ายทอดสดในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ในกิจกรรม the international Info Night ของงาน PRIX JEUNESSE INTERNATIONAL ที่เปิดให้รับชมพร้อมกันทั่วโลก.