“แล้วผมจะช่วยอะหยังได้พ่องครับ”
คำถามแรกจากคุณโสภณ ศุภมั่งมี เจ้าของ “Busy Rabbit” สตาร์ทอัพเมสเซนเจอร์รับ – ส่งของทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลังได้รับการติดต่อจากทีมงานใน “โครงการพัฒนาแนวทางการบรรเทาความเสี่ยงและฟื้นฟู ความเสียหายจากไวรัส Covid-19 เพื่อคนขับรถตุ๊กตุ๊ก จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต
ก่อนหน้านี้ทางทีมงานเคยเล็งเห็นถึงการเติบโตของยอดสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และการขนส่งของพัสดุที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างพากันกักตัวอยู่บ้านหลบเลี่ยงเชื้อไวรัส Covid-19 จึงพยายามติดต่อขอความร่วมมือจากบริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่ระดับประเทศหลายแห่งซึ่งมีสาขาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ให้มาเข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนขับรถตุ๊กตุ๊กในเชียงใหม่ในช่วงที่ขาดไร้ผู้โดยสารจากวิกฤต Covid-19 แต่ก็ได้รับการปฏิเสธหรือไม่มีการตอบรับกลับมา ความหวังที่จะให้บริษัทขนาดใหญ่กระจายงานลงมายังคนขับรถตุ๊กตุ๊กในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้จึงพังทลายลง
เมื่อไม่อาจฝากชีวิตคนท้องถิ่นไว้กับบริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศได้ ทางโครงการจึงเปลี่ยนเป้าหมายมาที่ธุรกิจขนส่งภายในจังหวัดเชียงใหม่แทน และคำถามง่ายๆ จากคุณโสภณที่ว่าแล้วผมจะช่วยอะไรได้บ้างตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดต่อกันทางโทรศัพท์ทำให้เราเห็นถึงพลังของท้องถิ่น คุณโสภณเป็นคนเชียงใหม่ เขาอยู่อาศัยในเชียงใหม่ และรับรู้ถึงความตายอย่างเฉียบพลันของเชียงใหม่หลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 เมืองที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนค่อยๆ ไร้ชีวิตชีวาลงทีละน้อย ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ต้องสูญเสียนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คุณโสภณแห่ง Busy Rabbit จึงไม่ลังเลที่จะให้โอกาสลุงๆ น้าๆ คนขับรถตุ๊กตุ๊กทั้ง 10 คันของโครงการเข้าร่วมขับรถรับ – ส่งของกับ Busy Rabbit ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้
คนขับรถตุ๊กตุ๊กหลายคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ต่างเป็นคนหาเช้ากินค่ำและมีครอบครัวที่ต้องดูแล หลายคนประกอบอาชีพนี้มากว่าครึ่งชีวิตและไม่สามารถปรับตัวหรือตั้งรับได้ทันกับการหายไปของผู้โดยสารหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 เริ่มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นในทุกพื้นที่ รายได้จากผู้โดยสารที่เคยมีเข้ามาทุกวันกลายเป็นศูนย์ติดต่อกันนานนับเดือน บางคนยังต้องเผชิญกับการเป็นหนี้ค่าเช่ารถกับทางอู่อีก แม้ว่าเชื้อไวรัส Covid-19 จะยังไม่ได้ทำให้คนขับรถตุ๊กตุ๊กทั้ง 10 คันติดเชื้อหรือป่วย แต่มันกำลังทำให้ลุงๆ น้าๆ คนขับรถตุ๊กตุ๊กเหล่านี้และครอบครัวอดมื้อกินมื้อเข้าไปทุกวัน
ลุงมา (นามสมมติ) คนขับรถตุ๊กตุ๊กย่านกาดหลวงที่เข้าร่วมโครงการเป็นอีกคนหนึ่งที่ขาดไร้ผู้โดยสารและไม่มีรายได้เข้าเกือบเดือนหลังจากมีการประกาศให้ปิดตลาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 ทุกวันนี้ลุงมาไม่มีหนทางที่จะไปหารายได้จากไหน แกต้องเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กที่เคยใช้วิ่งรับผู้โดยสารของตัวเองเป็นยานพาหนะในการตระเวนรับแจกข้าวกล่องและข้าวสารอาหารแห้งเลี้ยงดูคนในครอบครัวอีก 5 ชีวิต อย่างในวันที่นัดประชุมกันเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการทำงานกับบริษัท Busy Rabbit ลุงมาก็เพิ่งไปต่อแถวรับหมายเลขคิวจากโรงแรมแห่งหนึ่งตั้งแต่ 05.00 น. เพื่อให้ได้สิทธิรับแจกข้าวสารอาหารแห้งในเวลา 11.00 น. ต่อให้ตื่นไปรับคิวตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางลุงมาก็ยังได้คิวที่ 289 ตามตัวเลขที่ถูกประทับตราไว้บนแขน เหตุผลที่ลุงมาเลือกมาเข้าร่วมโครงการนี้จึงเป็นเพียงคำตอบสั้นๆ ของคนยังหวังจะอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเอง “ใครมันจะอยากไปขอข้าวเขากินทุกวัน”
ไม่ต่างจากลุงรุจ (นามสมมติ) คนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ยังต้องพยายามหาเงินมาส่งค่างวดรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่เพิ่งตัดสินใจออกมาได้เมื่อปลายปีที่แล้ว การขาดรายได้เป็นเวลานานของลุงรุจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาของลูกสาวที่กำลังจะเข้าชั้นม. 1 รายจ่ายที่มากจนจ่ายไม่ไหวทำให้ลุงรุจจำเป็นต้องยกเลิกการเข้าเรียนต่อชั้นม. 1 ของลูกสาวกับทางโรงเรียนเดิมที่ลูกสาวแกเคยเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถม เพื่อขอคืนเงินค่าเทอมจำนวน 17,500 บาทที่จ่ายไปล่วงหน้า “ไม่ไหวล่ะ ข้างหน้าเรายังไม่รู้เลยว่าจะเป็นอย่างใด มันจะยาวไปอีกกี่เดือนกี่ปี” และพาลูกสาวย้ายไปเรียนต่อในโรงเรียนที่ค่าเทอมถูกกว่านี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของพ่อส่งผลโดยตรงต่ออนาคตทางการศึกษาของลูก เงินที่เคยเป็นเงินค่าเทอมต้องกลายมาเป็นเงินหมุนในครอบครัว เพื่อประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้
ด้วยความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่ถูกทำลายลงไปจากเชื้อไวรัส Covid-19 เช่นนี้ จึงทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของคนตัวเล็กๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส และนำไปสู่การสร้างเสริมความรู้เกี่ยวกับ Covid-19 ให้แก่คนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ร่วมโครงการได้รู้จักวิธีป้องกันตัวจากเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพของตนเอง รวมไปถึงเร่งผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้เฉพาะหน้าให้แก่คนขับรถตุ๊กตุ๊ก เพื่อให้แต่ละคนสามารถมีชีวิตต่อไปได้ในช่วงเวลานี้ จนทำให้เกิดรูปแบบการช่วยเหลือกันของคนในท้องถิ่น
“Busy Rabbit X ตุ๊กตุ๊ก” ธุรกิจท้องถิ่นและคนท้องถิ่น
บริษัท Busy Rabbit เป็นบริษัทเมสเซนเจอร์ที่ก่อตั้งมาได้ 3 ปี โดยคุณโสภณ ศุภมั่งมี อดีตโปรแกรมเมอร์จาก Microsoft ด้วยความต้องการที่จะสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้แก่ตัวเอง “พออยู่จุดหนึ่งแล้วผมรู้สึกว่ามันต้องสร้างอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเอง เพื่อที่จะรู้ว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหนแล้ว ก็เลยคิดอยากทำธุรกิจขึ้นมา และตอนนั้นเชียงใหม่ยังไม่มีธุรกิจเมสเซนเจอร์ก็เลยอยากจะลองทำดู”
จากคนที่เคยอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก มีเพื่อนร่วมงานกว่า 80,000 คน วันนี้คุณโสภณกำลังมุ่งมั่นพากระต่ายน้อยจอมยุ่ง Busy Rabbit เติบโตไปเรื่อยๆ ด้วยแนวคิดการทำธุรกิจที่ว่า “ถ้าคุณ Busy ให้เรามายุ่งแทนคุณสิ” บริษัท Busy Rabbit จึงเป็นเมสเซนเจอร์ที่ทำทุกอย่างได้หมดตามความต้องการของลูกค้า ขอแค่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กระต่ายน้อยจอมยุ่งก็สามารถทำแทนลูกค้าได้หมด ทั้งส่งอาหาร ส่งเอกสาร ไปจ่ายตลาด ต่อภาษีรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เดินเรื่องประกันสังคม วางเช็ค เอาเช็คไปเข้าธนาคาร ขนของย้ายบ้าน ย้ายหอ หรือกระทั่งให้ไปง้อแฟนแทนกระต่ายตัวนี้ก็ทำได้ (ส่งดอกไม้)
โดยที่ราคาค่าใช้บริการของบริษัท Busy Rabbit อาจดูสูงกว่าเมสเซนเจอร์เจ้าอื่นในท้องตลาด แต่คุณโสภณก็มีวิธีคิดในเรื่องเรทราคาและการกระจายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่เมสเซนเจอร์ของ Busy Rabbit ที่ค่อนข้างน่าสนใจและเป็นธรรม โดยบริษัทจะเก็บค่าใช้บริการจากลูกค้าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถือว่างานไปทำเป็นการทำธุระแทนลูกค้า Busy Rabbit ไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากทางร้านค้า หรือหักค่าคอมมิชชั่นในการรับงานจากส่วนแบ่งรายได้ของคนขับ และถ้าในงานไหนที่เมสเซนเจอร์ต้องไปนั่งรอรับสินค้าให้กับลูกค้าบริษัทก็จะมีการคำนวณค่าเสียเวลานั่งรอให้เมสเซนเจอร์อีกด้วย
บริษัท Busy Rabbit จะแบ่งรายได้จากค่าบริการในแต่ละครั้งให้คนขับถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และอีก 40 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะถูกหักเข้าบริษัทเป็นค่าจ้างแอดมินในการติดต่องานกับลูกค้า “เราอยากจะให้เมสเซนเจอร์หรือพนักงานของเราอยู่ได้ทุกคน เราสร้างธุรกิจขึ้นมาเพื่อจะให้ทุกคนมีรายได้ที่มั่นคง”
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นแล้วว่า Busy Rabbit เป็นบริษัทที่คำนึงคุณค่าของน้ำพักน้ำแรงในการทำงานของพนักงานทุกคนมากกว่ามุ่งกอบโกยผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อของคนขับที่ต้องออกไปตากแดดตากลมทั้งวัน และในช่วงเวลาที่เชื้อไวรัส Covid-19 ฆ่าเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้ตายอย่างเฉียบพลันแม้ Busy Rabbit เองจะได้รับผลกระทบจากการหายไปของลูกค้าในภาคธุรกิจและภาคท่องเที่ยวที่ลดลงไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ในเชียงใหม่ แต่คุณโสภณก็ยังมองเห็นถึงความเดือดร้อนของคนในท้องถิ่นด้วยกัน และตอบรับให้รถตุ๊กตุ๊กในโครงการเข้ามาเป็นหนึ่งในคนขับของ Busy Rabbit เพื่อช่วยพยุงให้คนขับรถตุ๊กตุ๊กในเชียงใหม่พอมีงานและรายได้
“ในมุมมองของคนท้องถิ่นเอง เราก็อยากจะช่วย ผมเชื่อเลยว่าลุงรถตุ๊กตุ๊กตอนนี้เองก็เหนื่อยเหลือเกิน การได้ช่วยชุมชนมันก็ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราทำได้ ถ้าสมมติไม่ลงมือทำอะไรเลย นั่งดูเฉยๆ เพื่อที่จะให้มันตายลงไป ชุมชนก็ไม่รอด”
ตอนนี้รถตุ๊กตุ๊กในโครงการได้เริ่มให้บริการร่วมกับบริษัท Busy Rabbit แล้วในฐานะ “รถน้อยขนครัว” เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ลูกค้าในการรับส่งของ การรวมตัวกันของธุรกิจเล็กๆ และคนตัวเล็กๆ ในเชียงใหม่อย่างบริษัท Busy Rabbit และรถตุ๊กตุ๊กขณะนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือกันของคนในท้องถิ่นที่ต่างมองเห็นปัญหาซึ่งกันและกัน และปรับตัวเข้าหากัน เพื่อหาทางรอดและนำพาให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง Covid-19 ไปได้ด้วยกัน