การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโมงยามนี้ที่ผ่านมาเกือบครึ่งปีแต่ยังไม่มีทีท่าจะหยุดลง นับเป็นภัยคุกคามของมนุษยชาติทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ในทางปฏิบัติรายวัน หน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข และเอกชน ต่างระดมความร่วมมือกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งอีกหนึ่งมาตรการที่ได้ยินกันจนเป็นคำสามัญ คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และภาพรวมทั้งประเทศ
นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพ เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลทันทีต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในวันที่จำเป็นต้อง “ ห่ า ง ” จากกัน ทั้งในเมืองใหญ่ที่ผู้คนแออัด ชุกชุม และพื้นที่ห่างไกลในชุมชนท้องถิ่น
แต่ความกังวลใจจากไวรัสตัวร้ายนี้ ด้านหนึ่งกลับเป็นเสมือนบททดสอบถึงความพร้อมของผู้คน เมื่อต้องร่วมหาแนวทางรับมืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นที่ถูกคาดหวังถึงความเข้มแข็งและความสามารถในการจัดการ การเฝ้าระวังป้องกัน และดูแลช่วยเหลือกันเองเบื้องต้นในชุมชน
THE CITIZEN.PLUS โดย วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง ชวนสนทนากับ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในฐานะผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนถึงความพร้อมในการรับมือโรคระบาดแห่งยุคสมัยที่หลายคนบอกว่าเป็น “เรื่องใหม่” และ “เรื่องใหญ่” อย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน แล้วชุมชนท้องถิ่นจะรับมือเรื่องนี้อย่างไร ทั้งในภาวะ “คุมเข้ม” หรือ “ผ่อนคลาย”
วันนี้ประเทศไทยจะหยุดการแพร่ระบาดเชื้อได้ ชุมชนต้องจัดการ
โควิด-19 เหมือนจงใจท้าทาย “จุดแข็ง” แต่ละชุมชน
“วันนี้ประเทศไทยจะหยุดการแพร่ระบาดเชื้อได้ ชุมชนต้องจัดการ” ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยย้ำถึงความสำคัญของ “ชุมชน” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยในแต่ละท้องถิ่นที่กำลังจัดการรับมือโควิด-19 ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นวิกฤตโรคระบาดยังคงฟุ้งกระจาย
“เรามีอยู่ 3 ตัว ที่เป็นจุดแข็ง อันที่ 1 คือ “มีผู้นำ” บทบาทหลักก็คือ ถ้ามีเรื่องอะไรดี ๆ หรือมีเรื่องอะไรร้าย ๆ เขาจะลุกขึ้นมาชวนชุมชนช่วยกันจัดการ ในหนึ่งตำบล เราก็จะมีผู้นำอยู่ 1 ต่อ 30 และท้ายที่สุดในกลุ่มผู้นำก็จะมีสุดยอดผู้นำ บางคนก็เป็นกำนัน บางทีก็เป็นนายก บางทีก็เป็นปราชญ์แล้วแต่พื้นที่นะคะ
อันที่ 2 ผู้นำเขาไป “สร้างกลไกลการทำงานร่วมกัน” อันนี้บางพื้นที่ก็จะมีชื่อเรียกต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีเหตุ ไม่ว่าเหตุดีหรือเหตุร้ายเขาจะรวมตัวกันภายใต้กลไกลนั้น อันที่ 3 ที่สำคัญมากก็คือว่าเขา “มีข้อมูล”ของทุกหลังคาเรือนทุกครอบครัว อันนี้คือเป็นจุดแข็งสามที่สุดที่ตำบลสุขภาพวะมีอยู่แล้ว มีอยู่ทุกตำบลที่ทำงานร่วมกับ สสส. ”
“พลังจากชุมชน” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยมีความสำคัญ
“พลังจากชุมชน” เขาเป็นนักปฏิบัติ เช่น นโยบายบอกว่าต้องคัดกรอง ต้องวัดอุณหภูมิ ใครจะวัดถ้าไม่ใช่ชุมชนไปจัดการให้เขาวัดได้ เพราะฉะนั้นก็คือในเมื่อวิกฤตโควิด-19 ต้องการให้มีพฤติกรรมตามที่รัฐกำหนด มีชุมชนเท่านั้นที่จะคอยเฝ้าและคอยให้กำลังใจกับคนที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือคนที่ต้องกักตัวเพราะฉะนั้นไม่มีคนเข้าไปคุยกับเขาได้หรอก คนที่เขาไม่คุ้นเขาก็รู้สึกว่าเขาไม่ไว้ใจ แล้วเขาไม่รู้สึกว่าถ้าเกิดเขาถูกกักตัวแล้วเขาก็จะรู้สึกว่าเขาจะถูกรักเกียจไหม เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่บอกความจริง แต่ถ้ากับชุมชนเขาจะบอกความจริงเพราะเขามั่นใจว่าเขาคงไม่ถูกรังเกียจจากชุมชน เพราะฉะนั้นก็คือว่านโยบายทุกนโยบายที่ต้องการให้เขาเปลี่ยน ต้องชุมชนเท่านั้นเพราะว่าชุมชนคือสิ่งที่เขาไว้ใจที่สุด
การสร้างสุขภาวะ สร้างความเข้มแข็งทั้งสุขภาพกายและใจคือสิ่งจำเป็น
“ รัฐมีหน้าที่ออกนโยบายแล้วให้ประชาชนหรือบอกให้คนที่เป็นคนของรัฐไปชวนประชาชนปฏิบัติตาม ในทางปฏิบัติจริง ๆ นั่นคือชุมชน ชุมชนคือตัวจริงของผู้ปฏิบัติเพราะฉะนั้น สสส.เอง เน้นเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะฉะนั้นการเน้นเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมเราเลยจำเป็นต้องมั่นใจให้ได้ว่าชุมชนปฏิบัติได้ ปฏิบัติแล้วเกิดผลดีต่อชุมชนเองต่อคนในชุมชนต่อกลุ่มเป้าหมาย เพราะฉะนั้นในส่วนของงานที่ทำร่วมกับชุมชนกว่า 2,500 ตำบล เราก็จะเป็นพลังของรัฐ ของชาติ ของประเทศ ที่อย่างน้อยใน 2,000 กว่าตำบลก็เป็นตำบลที่มีคน มีกลไก และมีข้อมูลพอที่จะทำให้นโยบายได้ถูกนำสู่การปฏิบัติ อย่างเรื่องโควิด-19 นี้ก็เหมือนกันพอเรื่องร้ายมาเขาก็จะรวมตัวกันได้ง่าย ”
วิกฤตโควิด-19 เน้นย้ำว่าชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการตัวเองโดยเฉพาะเรื่องสุขภาวะ
“ทั่วโลกวิกฤตครั้งนี้ เราต้องส่งเสริมให้ชุมชนจัดการตัวเองให้มากที่สุด ให้รัฐเข้าไปทำให้น้อยที่สุด เพราะไม่ได้ผลและขอวิกฤตมาปุ๊บรัฐไม่มีแรงพอจริง ๆ ถ้าเรามองกันตรงไปตรงมารัฐก็คือ ประชาชนก็คือรัฐนั้นแหละ คือคนในประเทศของเราแต่วิกฤตมันก็เป็นตัวยืนยันว่ารัฐต้องส่งเสริมให้ชุมชนจัดการตัวเองให้มาก ไม่งั้นเราคุมเชื้อโควิดไม่อยู่
วันนี้ประเทศไทยถามว่าคุมอยู่ไหมในแง่ชุมชนเครือข่าย เราคิดว่าชุมชนเครือข่ายเราคุมอยู่ แต่ว่าชุมชนอื่น ๆ ที่ ที่เป็นชุมชนของประเทศไทยเค้าอาจจะไม่ได้คิดว่าเขาคุมไม่อยู่แต่เค้าไม่ดีเค้าอาจจะไม่มีเพื่อนมากกว่า ชุมชนเรามีเพื่อนมาก คนนี้ทำอันนี้ได้ ก็บอกไปว่าทำไมไม่ทำอันนี้ ไม่ได้ถามว่าทำยังไงเพราะฉะนั้นชุมชนเองอยู่ด้วยโดดเดี่ยวไม่ได้ชุ มชนต้องอยู่อย่างเครือข่าย เพราะว่าการอยู่อย่างเครือข่ายความรู้มันจะไหล เทคนิคมันจะไหล สุดท้ายคือทรัพยากรไหล เช่น สมมุติว่า เรา สสส.งานชุมชนเราบอกว่าเครือข่ายที่รับทุนจากเราปรับงบประมาณไป 50,000 บาท ใช้สำหรับเรื่องโควิด-19 ในเบื้องต้นให้ใช้ 50,000 บาทต่อตำบล อุดช่องว่างที่รัฐบาล หรือว่าจังหวัด หรือว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่พอต้องไปอุดไปทำให้สำเร็จ เราก็พบว่าชุมชนหลายชุมชนคิดว่าตัวเองจะทำอะไรดี เพราะเป็นเครือข่ายเขาก็คิดออกเลย ของหลายอย่างที่ขาดก็กลายเป็นว่าขาดน้อยลง เช่น หาที่วัดอุณหภูมิหาไม่ได้ บางโซนหาไม่ได้เลยแต่โซนโน้นหาได้ก็ซื้อส่งมา ทำส่งมา เพราะฉะนั้นครั้งนี้พิสูจน์ว่าชุมชนเป็นฐานของประเทศอย่างชัดเจน
เครือข่ายเราเห็นว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสเหมือนกัน โอกาสที่ชุมชนจะแสดงให้รัฐมั่นใจว่าชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ ชุมชนจะเห็นถึงโอกาสในการที่จะเพิ่มขีดความสามารถตัวเอง ชุมชนจะมารู้เรื่องสร้างถนนอย่างเดียวไม่ได้ ตอนนี้ตัวสร้างถนนมันทำให้เราสุขสบาย แต่ตัวเชื้อโรคมันจะทำให้เราตาย ตายในวัยอันไม่เหมาะเพราะฉะนั้นชุมชนต้องเพิ่มขีดความสามารถตัวเองในการที่จะเรียนรู้กับวิกฤตที่จะมาถึงตัวเราเพราะฉะนั้น คิดว่าชุมชนต้องวางแผนใหม่หมดเลย
โควิด-19 ครั้งนี้มันทำให้เขามีโอกาสทบทวนตัวเองเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่าเราเคยไปซื้อของเราเคยไม่ผลิตเองทั้งที่มีอยู่แล้ว แต่วิกฤตมาแล้วเราพึ่งภายนอกไม่ได้ แล้วก็มีไม่พอให้เราพึ่งพา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราคิดว่าเป็นโอกาสที่เราเองจะได้เดินตามศาสตร์พระราชาแล้วเรามั่นใจว่าและชุมชนเองก็มั่นใจว่าสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของเราได้มอบองค์ความรู้ให้คนไทยมันมีประโยชน์จริง ๆ และเราควรจะเดินตามเส้นทางนั้น คิดว่ามันเป็นโอกาสมากกว่าเป็นวิกฤตนะ ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าเดี๋ยวติดเชื้อเดี๋ยวต้องใส่หน้ากาก (mask) จะเห็นนะ วันนี้ถ้าชุมชนไม่ทำหน้ากากผ้าอะไรจะเกิดขึ้น อันนี้ต้องชมกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เร็วมาก พอมันเกิดระบาดทำหน้ากาก (mask) ทันทีตามมาตรการของการควบคุมโรค คนในชุมชนประมาณ 60-70% บางตำบลก็ 100% มีหน้ากาก (mask) ประจำตัว ซึ่งอันนี้เป็นเครื่องมือเป็นอุปกรณ์สำคัญกับชีวิตเขา เพื่อให้เขาปกป้องตัวเองปกป้องคนอื่นด้วย อันนี้ตัวอย่างว่าชุมชนมีความพร้อมที่จะจัดการกับวิกฤตได้จริงว่าเราเองไม่อยากให้เกิดนะแบบนี้ ”
การรับมือโควิด-19 ของชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ -อีสาน-ใต้ แตกต่างหลากหลาย
“เครือข่ายชุมชนที่เราทำงานด้วยกันมีอยู่ทุกภาค อาจจะต้องขอตอบว่าชุมชนทุกชุมชนพร้อม เพราะว่าเขาต้องรักษาชีวิต ดูแลครอบครัว ต้องดูแลพี่น้อง ต้องดูแลให้คนในชุมชนมีอยู่มีกิน อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะทำให้ได้สำเร็จ แต่ชุมชนที่บอกว่ามีความพร้อมเยอะๆ แค่พร้อมไม่พอนะ ต้องพร้อมที่จะช่วยเพื่อนด้วย
ยกตัวอย่างที่วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นเขตเทศบาลที่ส่วนหนึ่งก็เป็นเมืองส่วนหนึ่งก็เป็นชนบท แต่เขตชุมชนนี้เป็นเขตที่รถ บ.ข.ส. รถโดยสารไปจอด และเป็นพื้นที่ ๆ เป็นตลาดกลาง ตลาดที่คนในอำเภอมาใช้สอย ที่เทศบาลตำบลวาปีปทุมก็ทำตามาตรการของรัฐบาลอย่างเช่น การคัดกรอง แต่พื้นที่เขามีความเฉพาะก็คือมีคนข้างนอกเข้าออกเยอะ ชุมชนก็ไปคิดนวัตรกรรม โดยเทศบาลมีกองช่างไปออกแบบตู้พ่นสารเพื่อที่จะฆ่าเชื้อไวรัส ทำตู้นี้ขึ้นมาไปวางที่ บ.ข.ส. ใครผ่านก็จะต้องผ่านตู้นี้ ไปตลาดก็ต้องผ่านตู้นี้ ใครจะเข้าจะออกก็ต้องผ่านตู้นี้ เข้าทางเดียวออกทางเดียว ถ้าจะเรียกว่านวัตกรรมก็ใช่นะ แต่คิดว่ามันเป็นวิธีคิดหาทางออกของชุมชนที่ใช้ความรู้ของคนในพื้นที่ตัวเองมาจัดการ
ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ ต.แว้ง จ.นราธิวาส คนในชุมชนเป็นพี่น้องเป็นมุสลิม 99 % เพราะฉะนั้นในแง่ของการปฏิบัติศาสนกิจเขาไม่มีปัญหาเพราะท่านจุฬาราชมนตรีออกประกาศมา เขาก็สามารถที่จะทำได้ แต่ที่แว้งที่องค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง เขาจะใช้วิธีเชิงรุก เขาจัดทีมลงไปเยี่ยมรายหมู่บ้านโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุและเด็กซึ่งมีจำนวนเยอะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาก็จะจัดทีม อสม. แล้วก็สมาชิก แล้วก็อาสาสมัครที่เป็นเยาวชนลงไปคัดกรองระดับครอบครัว เพราะฉะนั้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันเพราะว่าตำบลอาจจะเป็นตำบลที่ไม่พลุกพล่านมาก
ถ้าทางเหนือ เขาก็จะมีวิถีอีกวิถีหนึ่ง ก็คือเขาจะค่อนข้างที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของนโยบายรัฐบาลค่อนข้างดี ดีและได้ผล แล้วก็ทางเหนือจำนวนหนึ่งก็มีคนที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ โดยวิถีของคนเหนือล้านนานะคะ เป็นคนที่ฟังผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ออกมาบอกว่าไม่ให้ทำอันนี้ ต้องอยู่บ้าน เขาจะไม่ค่อยมีปัญหา หมายความว่าทางพื้นที่ทางเหนือค่อนข้างปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลได้ค่อนข้างดีนะคะ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่า ความเป็นเฉพาะของพื้นที่นอกจากเขายึดตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เขาจะต้องไปประยุกต์วิธีด้วยนะ เช่น เครือข่ายเรา เรารู้แล้วแอลกอฮอล์แพง แพงไม่พอหาซื้อไม่ได้ เราก็เลยตกลงกันในเครือข่ายว่าเราจะรณรงค์ให้ทุกบ้านมีที่ล้างมืออยู่หน้าบ้าน แต่โดยปกติเนี่ยเราเดินเข้าบ้านและอ่างล้างมือจะอยู่ในห้องน้ำอยู่ในหลังบ้าน แต่ตอนนี้เรารณรงค์ให้มีที่ล้างมืออยู่หน้าบ้านแล้วให้ใช้สบู่อันนี้ค่อนข้างได้ผลนะคะ หลายตำบลก็ทำกัน แล้วก็ที่ อบต.ก็ทำที่ล้างมือไว้หน้าบ้าน ซึ่งแต่ละพื้นที่มันก็มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันบางพื้นที่ก็ทำงานแบบแพงหน่อย1,000 บาท บางพื้นที่ก็ซื้อแต่สะดืออ่างแล้วก็ไปจัดการทำง่ายๆ เพื่อให้สถานการณ์มันถูกจัดการไปพลางๆก่อน แต่ว่าท้ายที่สุดเรื่องที่ล้างมือต้องไปอยู่ที่ลับแล้ว ที่ล้างมือต้องอยู่ในที่แจ้งแล้วใคร ๆไปก็ถือว่าการล้างมือเป็นวิถีของชาวบ้าน ”
วิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดเครื่องมือใหม่เข้ามาเติมให้กับชุมชนในการรับมือ
“ชุมชนเองขณะนี้กำลังเจอกับภาวะแรงกระแทก เพราะฉะนั้นการคิดเครื่องมือใหม่ เขาจะมีข้อจำกัดแต่เขาก็คิดนะ เช่น เหมือนกับ ต.แว้ง จ.นราธิวาส ทางจังหวัดเขาบอกว่า ในบ้านมันไม่เหมาะสำหรับการกักตัว จะต้องมีที่สำหรับกักตัวที่ปัตตานี ทางใต้คนจะเยอะในครอบครัวมีหลายคน คนนี้กักตัวมันไม่มีที่อยู่มันต้องมีสถานที่พักพิง เขาก็คิดว่าจะไปเอาที่ไหน ของเขาที่มัสยิด มันไม่เหมือนกับที่บ้านของเราที่วัดมันมีลาน แต่ของเขาไม่มี เขาก็เอาไปไว้สนามกีฬาซึ่งมันมีห้องสำหรับการทำสันทนาการ คือ ชุมชนทุกชุมชนอาจจะไม่ได้เรียกนวัตกรรม เขาเรียกหาทางออกได้เมื่อมีข้อจำกัด เช่น เขาจะลดการติดเชื้อยังไง การรับเชื้อจากคนอื่นยังไง เขาจะทำการกักกันตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน หรือนโยบายรัฐบาล หรือนโยบายจังหวัดสั่งการยังไง เขาจะหาทางออก ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นชุมชนนะคะ ว่า “วันนี้ประเทศไทยจะหยุดการแพร่ระบาดเชื้อได้ ชุมชนต้องจัดการ”
เมื่อชีวิตเราถูกกระแทกแรง ๆ บ้านเกิด คือที่อยู่ที่อบอุ่นที่สุด
ไม่ใช่การรับมือแค่ภายนอก โควิด-19 ได้กระชับความสัมพันธ์ของชุมชนให้เข้มแข็ง
“ คือ มันเป็นการกระชับความสัมพันธ์หรือเปล่า อันนี้ก็ต้องพิสูจน์ไปอีกสักระยะ แต่มันทำให้คนในชุมชนที่อยู่ภายนอกชุมชนเห็นคุณค่าของบ้านเกิดแบบที่เราเคย “รณรงค์รักบ้านเกิด” มันจะเห็นจริงในครั้งนี้ ว่าท้ายที่สุด เมื่อชีวิตเราถูกกระแทกแรง ๆ บ้านเกิดคือที่อยู่ที่อบอุ่นที่สุด แม้ว่าเราไปอยู่ในบ้านเกิดเราในภาวะที่เราต้องถูกกักตัว แต่ก็ไม่มีที่ไหนที่ดีกว่าบ้านเกิด เพราะฉะนั้นการรณรงค์ให้บัณฑิตหรือคนกลับบ้านเกิดแล้วเอาความรู้ไปพัฒนาบ้านเกิด จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 ดีขึ้น ”