รู้จัก “ตู้ความดันบวก-ลบ” กับห้องเรียนในสถานการณ์จริงจากโควิด-19

รู้จัก “ตู้ความดันบวก-ลบ” กับห้องเรียนในสถานการณ์จริงจากโควิด-19

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา นอกจากวิถีชีวิตของปุถุชนทั่วไปที่ต้องตั้งรับปรับเปลี่ยน ทั้ง เรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพแล้ว นักเรียน นักศึกษา คุณครู และบุคลากรในสถาบันการศึกษาเป็นอีกกลุ่มคนที่โควิด-19 ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดจังหวะชีวิตของพวกเขาเช่นกัน

อังคณา​ พลครบุรี นักข่าวพลเมือง สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  บอกว่า เพื่อน ๆ และอาจารย์ของเธอจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ใช้โอกาสช่วงนี้เรียนรู้สิ่งใหม่ ทดลองทำหลายสิ่งอย่าง รวมถึงประดิษฐ์ “ตู้ความดันบวก” (Positive pressure)  และ “ตู้ความดันลบ” (Negative Pressure) ส่งมอบให้กับทีมแพทย์โรงพยาบาลสุทธาเวช ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทดแทนชุด PPE ที่กำลังขาดแคลนและมีราคาที่สูงในขณะนี้

“ระยะเวลาในการทำตัวนี้มันน้อย ก็เลยต้องมีการทำงานให้รวบรัด มีการวางแผนที่ดีครับ โอกาสผิดพลาดก็พยายามให้มันน้อยที่สุดครับ”  วัฒนา เชื้อลิ้นฟ้า นิสิตปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงข้อท้าทายในการร่วมประดิษฐ์ตู้ความดันบวก และตู้ความดันลบนี้ให้กับทีมข่าวพลเมืองฟัง ก่อนอธิบายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน 

“ระหว่างการทำงานบางทีก็มีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ก็มีการแก้ไขปัญหาโดยการปรึกษากัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นครับ แล้วก็ศึกษาพวกเชื้อ อายุของเชื้อที่มันอยู่ได้ ทำยังไงมันถึงจะตายได้ จึงได้มีการคิดค้นพวก UVC  ที่จะเอามาใช้ตรงนี้ครับ ก็เลยมีการเพิ่มปริมาณเพื่อลดเวลาในการฆ่าเชื้อมันด้วยครับ ได้เรียนรู้เยอะเลยครับ พอได้มาทำ มันก็เลยมีการฝึกฝีมือตัวเองแล้วก็พัฒนาไปในตัวด้วยครับ เพราะการมีส่วนร่วมที่วิศวกรมจะช่วยได้ ก็คือ การออกแบบแล้วก็จัดสร้างมันขึ้นมา ภายใต้ระยะเวลาที่สั้น เพื่อช่วยลดปัญหาสังคมที่มันเกิดขึ้น ช่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่โรคระบาดตัวนี้มันยังแพร่กระจายเรื่อย ๆ”

เช่นเดียวกับ อภิสิทธิ์ เนาวะโรจน์ นิสิตปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ บอกว่าการมีส่วนร่วมในสถานการณ์พิเศษนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้การเป็นจิตอาสาไปพร้อมกัน

อย่างแรกนะครับก็ได้ฝึกความเป็นจิตอาสานะครับที่จะช่วยเหลือสังคม ได้เรียนรู้หลายอย่างที่นอกเหนือจากวิชาเรียนครับ อย่างเช่น การปฏิบัติ ในตอนเรียนเราเรียนทฤษฎีอย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหมครับ แต่พอเจองานจริง ๆ เราได้รู้การแก้ปัญหาหน้างานว่าต้องทำยังไง ว่าเกิดปัญหายังไง การบริหารเวลายังให้เสร็จตามที่กำหนดครับ ค่อนข้างที่จะแตกต่างกันพอสมควร เพราะว่าในการทำงานจริง ๆ นั้น ได้พบปัญหาหลายอย่าง เช่น การทำออกมาแล้วไม่ตรงกับแบบที่ต้องการ แล้วก็ต้องแก้ปัญหาหน้างานกันไปนะครับ อย่างบางงานบางชิ้นนะครับ เราไม่เคยได้เรียนรู้ เพราะว่าอย่างผมเรียนวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง ก็จะมีงานตัดกระจก ตัดอะคลิลิก เชื่อมเหล็กนะครับ  ก็จะเป็นงานที่นอกเหนือจากวิชาที่ได้เรียนมานะครับ ก็จะมาเรียนรู้กับอาจารย์ที่หน้างาน”

“จริง ๆ แล้วการสร้างนวัตกรรมมันเกิดขึ้นได้ทุกสถานการณ์นะครับในความคิดของผม แต่ว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ ผมคิดว่ามันก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ ก็เป็นโอกาสครับ”  รศ.ชลธี โพธิ์ทอง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ย้ำถึงโอกาสในการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง

“เป็นโอกาสของเด็ก ๆ มาก เพราะว่าเราใช้เวลา 10 กว่าวันเองครับในการสร้างอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นเราจะแสดงความคิดเห็นกันหนักมากครับ เพราะในหลายส่วน ผมให้ผู้เรียนเริ่มตั้งแต่การออกแบบเลยนะครับ แล้วก็มีการดัดแปลงต่าง ๆ ร่วมกันมีการดีไซน์ว่าจะใช้วัสดุอะไรที่เราจะพยายามให้มันมีราคาถูก แล้วก็สามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่นของอีสานได้ง่าย ประมาณนี้ครับ ผู้เรียนมีส่วนร่วมอยางมากครับ

ตู้ที่เราผลิตจะมีทั้งหมดอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ นะครับ ประเภทแรก คือ เป็นตู้สำหรับคุณหมอแล้วก็ผู้ป่วยในการป้องกันเชื้อระหว่างกัน ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของอุปกรณ์ทีใช้ในการฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรงครับ 

ส่วนแรกก่อนนะครับ ตู้ก็จะมีอย่างที่เห็นนะครับ มี 3 ตู้  เป็นตู้เขาเรียกว่าตู้ความดันบวก (Positive pressure)   เป็นตู้ที่คุณหมอจะนั่งอยู่ด้านในแล้วก็จะมีอากาศบริสุทธิ์ ที่ผ่านการกรอง ฟอกเรียบร้อยนะครับให้คุณหมอ ส่วนผู้ที่มาตรวจหรืออาจเป็นผู้ป่วยหรือว่าผู้ที่มีความสงสัยก็อยู่ด้านนอกนะครับ ก็จะช่วยให้คุณหมอ หรือ บุคลากรที่อยู่ด้านในตู้ มีความปลอดภัยนะครับ

ส่วนตู้นี้  “ตู้ความดันลบ” (Negative Pressure)  นะครับ จะเป็นตู้สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยหรือทราบว่าติดเชื้อแล้วนะครับ จะอยู่ในการตรวจในตู้นี้ เพื่อที่จะเก็บพวกสารคัดหลั่ง เพื่อการตรวจต่าง ๆ เพิ่มเติม  ก็จะสังเกตว่าตู้นี้จะทำงานหนักหน่วงขึ้น ก็จะมีชุดด้านบนนะครับเป็นชุดฆ่าเชื้อ ซึ่งประกอบไปด้วย UVC ซึ่งเป็นอัลตราไวโอเลตที่สามารถทำลายเชื้อ DNA ของไวรัสได้นะครับ แล้วก็จะมีในส่วนของตัว Filter ตัวกรองอากาศก่อนที่จะระบายออกด้านนอกทั้งหมด แล้วก็จะมีการให้ความร้อนด้วย ก็จะมีอยู่  3 ส่วนที่จะช่วยให้อากาศนี้ บริสุทธิ์ก่อนที่จะปล่อยออกด้านนอกนั่นเองครับ”

การมีส่วนร่วมไม่ว่าจะกี่มากน้อย ทั้งการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อดูแลตัวเองและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ หรือการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ต่างล้วนมีส่วนสำคัญในการเรียนรู้และสู้โควิด-19 ไปด้วยกัน

 “อันดับแรกต้องดูชนิดของแต่ละตู้ก่อนนะครับ ว่าแต่ละตู้ใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งตู้เหล่านี้ที่ได้รับการอนุเคราะห์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามนะครับ ก็จะมีอยู่ 2 แบบนะครับ คือ 1 เป็น “ตู้ความดันบวก” (Positive pressure)  นะครับ คือเป็นการอัดอากาศเข้าไปภายในตู้นะครับผม ซึ่งอากาศที่จะเข้าไปในตู้จะผ่านการกรองก่อนนะครับผม ประโยชน์ก็คือจะให้คุณหมอที่ต้องการทำเชื้อโควิด-19 หรือว่าเชื้ออื่น ๆ ที่มันสามารถมีการแพร่ผ่านทางอากาศได้เนี่ย ไม่เข้าไปสู่ตัวผู้ปฏิบัติงานนะครับผม

แล้วตัวที่  2 คือเป็นตัว “ตู้ความดันลบ” (Negative Pressure) นะครับ ก็จะเป็นตัวที่ถ้าสมมุติว่าเรารู้ว่าคนไข้คนนี้มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้ออยู่แล้ว เราก็จะเอาคนไข้ไปอยู่ข้างในเพื่อกักโรค แล้วก็ดูดอากาศจากข้างในออกมา ก่อนที่จะปล่อยออกก็จะมีการกรองและการฆ่าเชื้อด้วย UVC อีกทีหนึ่งครับผม” นพ.พงษ์วริษฐ์ จันทรัตน์ วิสัญญีแพทย์ รพ.สุทธาเวช ยังคงอธิบายถึงความสำคัญและหลักการทำงานของ “ตู้ความดันบวก” (Positive pressure)  และ“ตู้ความดันลบ” (Negative Pressure)

“ต้นแบบที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้นี้ ต่อไปเราก็อาจจะมีการประยุกต์ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยการผสมผสานของทั้งสองตู้ แล้วก็จะมีตู้ที่เป็นตู้ฆ่าเชื้อที่จะทำให้เราสามารถฆ่าเชื้อในอุปกรณ์ที่ใช้ในทั่วไป ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ได้หลาย ๆ อย่าง เพิ่มความมั่นใจมากขึ้นว่าเราจะไม่เอาเชื้อโรคกลับไปสู่คนที่บ้าน

เราไม่ได้ป้องกันแค่คุณหมอคนเดียว เราป้องกันทุกคนที่มีโอกาสได้รับการกระจายเชื้อของเขา ซึ่ง “ตู้ความดันลบ” (Negative Pressure) จะถูกดีไซน์ให้ผู้ป่วยอยู่ในตู้ เวลามีการตรวจสอบตัวป้ายเชื้อหรือว่ากระตุ้นแล้วเกิดการไอเกิดขึ้น การกระจายของละอองฝอยก็จะอยู่ภายในตู้ แล้วก็ได้รับการกรองอีกครั้งหนึ่ง และฆ่าเชื้อการจะปล่อยอากาศตรงนั้นสู่คนอื่น ซึ่งตัวนั้นมันก็จะเพิ่มความปลอดภัยสำหรับทุกคน”  ” พญ.สุกัญญา ชูคันหอม  โรงพยาบาลสุทธาเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ย้ำถึงความสำคัญในการใช้อุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่

มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างไม่มีข้อยกเว้น “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากาก” เป็นเหมือนคาถาในการลดความเสี่ยงร่วมกันของคนทั้งประเทศที่ทุกคนละเลยไม่ได้

ห้องเรียนในหลายสถาบันถูกสั่งปิดเพื่อลดการรวมกลุ่มของผู้คน หลายมหาวิทยาลัยยกเลิกการเรียนแบบเจอหน้า เป็นห้องเรียนออนไลน์ เป็นช่องทางหลักที่นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ศตวรรษที่ 21 ต้องทำความ “เข้าใจ”และทำความ “เข้าเรียน”  เพื่อให้สามารถปรับตัวและผ่านสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 นี้ ไปด้วยกัน

พุฒิสรรค์ กันยาพันธ์ : เรียบเรียง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ