ปรากฏการณ์ “ข้าวแลกปลา” ความช่วยเหลือกันท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 จากบนดอยสูงสู่ผืนทะเลในภาคใต้ ที่ได้รับความสนใจในขณะนี้ สามารถพัฒนาวิธีคิด ต่อยอดกระบวนการเพื่อเป็นทางออกของระบบเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับพื้นที่และฐานทรัพยากรได้หรือไม่? และจะต้องกลไกการจัดการอย่างไรให้สมจริง?
ไทยพีบีเอส โดยสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ จัดวงสนทนาออนไลน์ “วงแชร์: ต่อยอดข้าวแลกปลา สู่ทางรอดยุค Covid-19 ” ผ่านระบบ Zoom เมื่อวันเสาร์ที่ 25 เม.ย. 2563 ชวนคนทำงานในพื้นที่และผู้สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเดินหน้าขยายวงการพูดคุย สู่รูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้ตั้งต้นสนทนา
1.ไมตรี จงไกรจักร ผจก.มูลนิธิชุมชนไท ตัวแทนเครือข่ายภาคใต้ Maitree Jongkraijug
2.วารินทร์ ทวีกันย์ กรรมการสมาคมชาวยโสธร ตัวแทนเครือข่ายภาคอีสาน
3.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ตัวแทนเครือข่ายปกาเกอะญอจากภาคเหนือ Chi Suwichan
ผู้ชวนมาแชร์
4.จิตรา ผดุงศักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มผลิตภาชนะกาบหมากบ้านท่าดีหมี
5 กิตติ ทิศสกุล ผู้จัดการโครงการอาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข
6.ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ นักวิชาการ ม.แม่โจ้ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ISAC
7.ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ ม.แม่โจ้
8.ลี-อายุ จือปา ผู้ประกอบการ SE อาข่า อาม่า
9.ประพนธ์ อุดมทอง อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครสวรรค์
ดำเนินวง: วิภาพร วัฒนวิทย์ ทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส
วิภาพร : ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ Thai PBS รายงานเรื่องของกิจกรรมข้าวแลกปลา ทั้งคลิปสั้น ประเด็นข่าว สกู๊ปข่าวต่าง ๆ ก็มีพี่ ๆ หลาย ๆ ท่านเข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านโพส บอกว่าสนใจกิจกรรมแบบนี้ และอยากจะฟังต่อว่าหลังจากนี้มันจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร วันนี้เป็นโอกาสดี ที่เราจะคุยกันเพื่อให้โครงการนี้ไปต่อนะคะ ขอตั้งต้นจาก พี่ริน พี่ชิ พี่ไมตรี เพราะว่าถ้าพูดถึง ข้าวแลกปลา 3 ท่านนี้ถือว่าเป็นสารตั้งต้นในการประสาน เชื่อมโยง และทำงานร่วมกันมาเป็นตัวแทนของแต่ละเครือข่าย
ขออัพเดตหน่อยแล้วกันค่ะ คุณวารินทร์ก่อนแล้วกันนะคะ เป็นยังไงบ้างสำหรับกิจกรรมที่เพิ่งผ่านไป ปลาแลกข้าว รอบแรกระหว่างยโสธร กับภูเก็ตชาวเล และภูเก็ตพังงาด้วยค่ะ
วารินทร์ : หลังจากความสำเร็จในรอบแรก ตอนนี้จะเห็นภาพทั้งส่วนที่เป็นพี่น้องชาวเล ตามที่พี่ไมตรี พี่สนิท แล้วก็หลาย ๆ เครือข่ายได้รับข้าวเรียบร้อย แล้วก็ได้มีการส่งมอบกันไปทางหมู่เกาะสุรินทร์ ทางพังงาด้วยนะครับ
ก็ได้เห็นภาพหลากหลาย และ ในขณะเดียวกันทางฝั่งยโสธรก็จะเห็นพี่น้องที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้รับปลามีการเอาไปทำอาหาร มีความหลากหลายทางเมนู ทั้งปิ้งทั้งย่างทั้งป่นใส่มะม่วง บ้านผมเรียกมะม่วงน้อยครับ แต่ภาพที่มันออกมามันแสดงถึงความสุข ตอนนี้ภาพเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง ส่วนหนึ่งเราก็ได้รับคำถามจากพี่น้องถามยโสธรทางภาคอีสานว่า เฟส 2 จะเริ่มขึ้นเมื่อไร ตอนนี้ทางผมแล้วก็พี่ไมตรีและคณะทำงานก็มีการพูดคุยกันส่วนหนึ่ง พี่น้องชาวเลก็จะส่งปลาส่วนที่ยังเหลืออยู่ขึ้นมาเนื่องจากปลายังไม่แห้ง ทางพี่ไมตรีก็แจ้งว่าฝนมันตก แต่ว่าทางพี่น้องยโสธรไม่ซีเรียสครับ แจ้งว่าให้สบายสบายชิล ๆ เพราะเข้าใจเรื่องของฝนทางภาคใต้ชุกกว่าอีสานแน่นอน
วิภาพร : ตอนนี้พี่ไมตรีตากปลาเตรียมอยู่นะคะ ที่อีสานก็บอกว่าเตรียมแดดรอนับอยู่นะคะ อีกคนหนึ่งไปที่พี่ชิ เห็นว่าพี่ชิกำลังจะส่งข้าวจากพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ไปให้พี่ไมตรีกับเครือข่าย
สุวิชาน : ผมส่งไปแล้วนะครับ ส่งไปเมื่อเช้า เราไม่ใช่คนปลูกข้าวเป็นอาชีพแต่ว่าเราปลูกข้าวเป็นวิถี ซึ่งมันต่างจากคนที่ทำนาเป็นอาชีพ เพราะฉะนั้นการปลูกข้าวเป็นวิถี หมายความว่าข้าวปลูกเพื่อที่จะกิน เรามีคนเฒ่าคนแก่ปะกาเกอะญอ สอนเราว่า เราปลูกข้าวเราต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เก็บไว้ให้กับเรากับสัตว์เลี้ยงของเราแล้วก็ลูกเมียพ่อแม่พี่น้องญาติพี่น้อง ส่วนที่ 2 เราต้องให้กับสิ่งเหนือธรรมชาติเวลาเราทำพิธีกรรมเราทำอะไรต่าง ๆ เวลาเราปลูกข้าวเสร็จเราต้องหว่าน อย่างน้อย 3 กำมือ หว่านให้กับนก หนู มด อะไรต่าง ๆ ส่วนที่ 3 เราต้องเก็บให้กับแขกผู้มาเยือนกับแม่หม้ายและเด็กกำพร้า เพราะฉะนั้นเราจะแบ่งเป็น 3 ส่วนแบบนี้ เป็นปกติอยู่แล้ว มันจะไม่มีส่วนไหนที่เราเก็บไว้ขายอันนี้ที่ผมบอกว่าเป็นวิถี
การรวบรวมข้าวที่จะไปแลกปลากับพี่น้องชาวเล เราทราบมาว่าพี่น้องชาวเล โดยเฉพาะพี่น้องที่ราไวย์ ปลาสดที่หามา ขายไม่ได้ ข้าวก็เริ่มหมดแล้วไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ เราต้องแข่งกับเวลา 2 สัปดาห์ เราต้องรวบรวมให้ได้ เราคำนวณกันอย่างน้อยต้องได้ 7 ตัน ประมาณ 2 สัปดาห์ เรารวบรวมข้าวจาก 3 จังหวัด มากกว่า 70 ดอย อันนี้คือความยากลำบากแต่มันก็ได้สนุกสนาน ได้สื่อสารเรื่องราวของพี่น้องชาวเล พี่น้องชาวดอยร่วมกัน 2 สัปดาห์ เราได้มาเกือบ 8 ตัน ที่เราส่งไปเมื่อเช้าประมาณ 7.9 ตัน มากกว่า 70 ดอย
พี่น้องทุกคนรวบรวมข้าว บางคนให้มาไม่ถึง 1 ถาด บางคนให้ 2-3 กิโลกรัม เขาบอกว่า มันเหมือนไผ่ลำเดียวไม่เป็นแพ ข้าวเปลือกเมล็ดเดียวเอาไปต้มเหล้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นการระดมข้าวที่จะไปแลกกับปลาครั้งนี้ มันเหมือนกับการเอาข้าวหลายหลายเม็ดมารวมกันกลายเป็นข้าวหนึ่งลำรถไป
7.9 ตันที่เราเอาให้พี่น้องครั้งนี้ เราก็เห็นความตั้งใจ เราเห็นน้ำใจ ปกาเกอะญอบอกว่าสิ่งที่อร่อยที่สุดในโลกคือข้าว และสิ่งที่ดีงามที่สุดก็คือน้ำใจคน ครั้งนี้ที่เราส่งไปทั้งสิ่งที่อร่อยที่สุดและเราแลกน้ำใจด้วยนะครับ สำหรับผมก็ซาบซึ้งในน้ำใจพี่น้องชนเผ่าเดียวกันเอง คนบนดอยด้วยกันเอง และ เรารู้สึกภูมิใจที่เราได้ส่งสิ่งที่อร่อยที่สุดไปให้กับพี่น้องทางใต้ พี่น้องชาวเลด้วยครับ
วิภาพร : คนรับ เชื่อว่าอิ่มใจไม่แพ้กัน
ไมตรี : พี่น้องในพื้นที่ดีใจมาก เพราะเขารู้สึกมีคุณค่า ไม่ว่าที่ผ่านมาจะร้อนหรือเกิดภัยพิบัติ เราก็จะระดมบริจาคแต่รู้สึกการรับบริจาคมันก็มีคุณค่า แต่พอการแลกเปลี่ยนแบบนี้มันมีคุณค่าทางใจมากกว่า เพราะว่าไม่ใช่แค่ข้าวที่เราแลกกัน ไม่ใช่ข้าวกับปลา แต่มันเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมากกว่า แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนทางสังคมใหม่ อย่างเช่นเราคุยกับทางพี่น้องกะเหรี่ยงบนดอย พี่น้องบนดอยจะรู้เลยว่าได้กินข้าวจากพี่น้องชาวเล ภูเก็ตพังงา หรือชาวเลราไวย์ พี่น้องชาวเล รู้สึกว่าโหฉันไปกินข้าวดอย พี่น้องพังงารู้สึกว่าฉันจะได้กินข้าวดอยด้วยหรือเปล่า ก็ตั้งคำถามกันเหมือนกันนะ มีคำถามเยอะมากนะครับ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่ง
ประเด็นที่สองผมคิดว่า พี่น้องทางอีสานที่เราแลกเปลี่ยนกันก่อนหน้านี้ เราไม่เคยรู้จักพี่น้องสมาคมชาวยโสธร เมื่อก่อนไม่เคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลย เพราะทำโครงการข้าวแลกปลา มันกลายเป็นพี่น้องกันโดยที่ยังไม่เคยเจอหน้ากัน ผมกับพี่รินก็ได้เจอหน้ากันในจอ แต่ว่าตัวจริง ๆ ก็ยังไม่เคยรู้จักกัน ความหมายก็คือว่าพี่น้องชาวนาที่ทำนาเอง ก็เอื้ออาทรให้กับพี่น้องชาวเลที่ทำประมง พี่น้องชาวเลเองก็เอื้ออาทรให้กับพี่น้องชาวนา
ผมคิดว่าไม่ใช่แลกข้าวแล้วได้ข้าวมา แลกปลาก็ได้ปลาไป แต่มันเป็นการสานสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้น แต่หัวใจมันอยู่ที่จริง ๆ แล้วเราต้องการอยากให้เห็นวิถีวัฒนธรรมที่มันหลากหลายของสังคมไทยว่า พี่น้องภาคเหนือมีวิถีชีวิตอย่างไร ทำไร่หมุนเวียนอย่างไร พี่น้องอิสานทำนาอย่างไร พี่น้องชาวเลหาปลาอย่างไร
แล้วพอเจอวิกฤติแค่นี้พี่น้องชาวเลถึงได้พบกับปัญหา เพราะนโยบายเรื่องการท่องเที่ยว เราพึ่งการท่องเที่ยว แต่เราลืมเรื่องในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่วันหนึ่งเราเจอวิกฤติร่วมกัน เราพบว่าเราต้องกลับไปรื้อฟื้นว่าเรามีข้าวและมีปลาเราแลกกันก็ได้ แม้เราจะไม่ได้พึ่งการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวมันซื้อขายปลาเราได้ แล้วพอวันนี้เราไม่มีการท่องเที่ยวปลาเราก็ไม่รู้จะขายให้ใคร แต่พอเราเจอช่องทางแนวทางที่เราคุยกันจนเข้าใจ แล้วทำให้เราเกิดการแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ ตอนนี้มีคนแสดงตัวที่อยากจะมาแลกเปลี่ยนกันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นข้าวแลกกับปลา หรือปลาแลกกันข้าว ตอนนี้พี่น้องยังทำปลาไม่ทันเลย แต่คนจองคิวเต็มเลยครับ
วิภาพร : สารตั้งต้นที่เราชวนคุยกันวันนี้ เป็นความคืบหน้าของกิจกรรมข้าวแลกปลาด้วย พอมองแบบนี้หลายคนมองว่ามันดีแล้วอยากให้ทำต่อ แต่ก็มีคำถามว่าถ้าจะไปต่อยาว ๆ ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ต้องมีอะไรที่เราต้องทำต่อบ้าง
ลี : ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ดีงามอยู่แล้ว แล้วก็การที่ช่วยเหลือกันในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น แล้วก็ระดับภาคที่เราทำกัน เป็นภาพที่สวยงามมาก เพราะฉะนั้นการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยในการแลกเปลี่ยน และก่อให้เกิดการทำงานที่ไม่ซับซ้อนเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็น แล้วก็ข้อแรกเลยผมต้องใช้คำว่า เครื่องมือที่สำคัญมาก ๆ ในการที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็คือ การสื่อสาร เพราะฉะนั้นการสื่อสาร มันเป็นการสื่อสารที่สามารถทำได้โดยที่เราพูดคุยผ่านทางเพื่อน ๆ หรือว่าคนที่รู้จักกันก่อนเริ่มต้น ผมว่าเราได้เริ่มต้นแล้ว
เครื่องมือเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เราใช้มาตลอด เพราะฉะนั้นในยุคสมัยนี้ เราเองไม่ได้อยู่ในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีเครื่องมือในการสื่อสาร เพราะฉะนั้นเราทำให้กระบวนการมันไวขึ้น ทำให้พี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้รับอาหาร ได้รับความช่วยเหลือที่รวดเร็ว ผมมองว่าการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกระบวนการนี้
ข้อที่สอง ก็คือการออกแบบเรื่องของบริบทความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ สิ่งที่ต้องชื่นชมในเรื่องของการที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์ของ ข้าวแลกปลา ก็ต้องผ่านกระบวนการคิดของพี่น้องหลายท่าน ผู้ใหญ่หลายคนแล้วว่า เราสามารถทำได้ โดยที่เราเอาวัตถุดิบที่เรามี อย่างสิ่งที่เราสามารถแลกเปลี่ยนโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียหายง่ายไหม เช่น ข้าวสาร ปลาแห้ง พริก เกลือ สิ่งเหล่านี้มันคือสิ่งที่เราสามารถประกอบอาหารได้อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องมีเครื่องปรุงอะไรมากมาย เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคิดในวิกฤติแบบนี้ นอกจากการที่เราจะได้มีอาหารซึ่งเป็นปัจจัย 4 ผมว่านวัตกรรมอย่างหนึ่งที่เราต้องคิดคือ วิธีการปรุงหรือว่าทรัพยากรที่เราสามารถแลกเปลี่ยนโดยที่ไม่ต้องกังวลว่ามันจะต้องใช้ทรัพยากรที่ต้องดูแลเยอะ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ผมมองว่าอันนี้เป็นเรื่องที่พวกเราทำได้ดีอยู่แล้ว แล้วก็ควรจะทำต่อไป
ข้อที่สาม ในการสื่อสารหรือว่าการขนส่ง เราอาจจะมีปัญหาว่าเราจะส่งยังไงล่ะ ในเมื่อเราไปมาหาสู่เพื่อน ๆ พี่น้องเราไม่ได้ ผมว่าเบื้องต้นเราควรที่จะสื่อสารกับความเป็นเพื่อนความเป็นสหายกันก่อนว่าเราจะจัดการยังไง โดยที่ไม่ต้องไปค้นหาว่าเราจะมีวิธีการแบบไหน ผมคิดว่าวิธีการปัจจุบันมันอาจจะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมองว่า เราจะทำยังไงให้ สินค้า อาหารของเรา ของขวัญของเราไปถึงเพื่อนของเราให้ไวที่สุด แล้วก็มีคุณค่าที่สุด โดยที่เราต้องคิดถึงเรื่องของทรัพยากรที่เราใช้ไป เช่นเรื่องของค่าขนส่ง เรื่องของการใช้แก๊สซูริน หรือว่าค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายในการขนส่งอื่น ๆ
บางที่เราก็จะต้องคิดถึงเรื่องการใช้การขนส่งแบบระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องคุยกันในความร่วมมือ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเยอะแยะมากมายเลยที่เราสามารถใช้ได้ ถ้าเกิดใครที่อยากจะแลกเปลี่ยน อยากทำให้พี่น้องที่อื่นได้มีอาหารกิน และอยู่รอดในวิกฤติปัญหาเหล่านี้ ผมคิดว่ามีหลายทางนะที่ติดต่อมาหาพวกเรา หรือว่าติดต่อไปหากลุ่มที่มีแพลตฟอร์มเรียบร้อยอยู่แล้ว มันก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ง่ายอยู่แล้วครับ ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ในวิกฤติตอนนี้นะครับ
วิภาพร : เท่าที่ทราบ มีการรวมกลุ่มที่นครสวรรค์แล้วกระจายสินค้าภายในจังหวัดกันเอง ซึ่งเมื่อสักครู่พี่รินทร์ก็สะกิดกันมาเรื่องการขนส่ง มันต้องไว ต้องมีโครงข่ายเริ่มจากญาติสนิท มิตรสหายกันก่อน พี่ประพนธ์มองยังไงสำหรับเรื่องนี้ แล้วข้าวแลกปลาถ้าจะไปต่อ อะไรสำคัญที่จะทำต่อ
ประพนธ์ : ที่นครสวรรค์ มันเกิดจากภาวะวิกฤติครั้งนี้ มันก็จะได้เห็นเรื่องของวิธีคิดแล้วก็แนวทางการทำงานร่วมกัน แต่ว่าโดยวิธีคิดเหล่านี้มันก็อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานเดิมเป็นหลัก อย่างเช่น เราเป็นศูนย์กลางของประเทศ กระบวนการโลจิสติกส์ในนครสวรรค์จะเป็นศูนย์กลาง จะไปเหนือ ใต้ ออก ตก อีสาน ก็ไปได้หมด โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ระบบของการขนส่งมันก็ต้องผ่านนครสวรรค์เป็นหลัก เพียงแต่ว่ามันมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นมาก็คือ เรื่องของการปิดเมือง แม้กระทั่งการปิดชุมชนท้องถิ่น ที่เราจะเห็นได้ว่ามีทั้งระดับอำเภอ ระดับพื้นที่ บางพื้นที่ถนนบางเส้นไม่ให้วิ่ง
มันก็จะเป็นอุปสรรคที่เข้ามาทำให้การขนส่งมีปัญหาอยู่พอสมควร ข้อจำกัดของการขนส่ง ทำให้สินค้าไม่สามารถจะไปถึงเป้าหมายได้ มันก็เลยเกิดการขนส่งเล็ก ๆ ภายในนครสวรรค์กันเอง ทำกันเอง แล้วก็ทำเท่าที่ทำได้ ซึ่งอันนี้ก็คิดอยู่ว่าถ้ามันมีการเชื่อมโครงข่ายกันระหว่างจังหวัด อาจจะมีตัวกลางเป็นฝ่ายรัฐก็ได้ แล้วก็ให้มีเอกชนเข้าไปช่วยขับเคลื่อน เพื่อที่จะทลายข้อจำกัดเหล่านั้น มันจะได้มีการขนส่งร่วมกันได้ ในความต้องการของสินค้าที่มีอยู่ของประชาชนที่อยู่ในจังหวัดรอบข้าง หรือทั้งประเทศก็แล้วแต่มันอยู่ที่การสร้างโครงข่ายร่วมกัน เพราะว่าขนส่งมีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเราจะเชื่อมโยงเรื่องของความต้องการของผู้บริโภคกับผู้ผลิตได้อย่างไร
ปัจจุบันมันมีปัญหาอย่างที่นครสวรรค์ ตอนนี้เรามีการผลิตปลากะพง ปลาแรด ที่นี้เป็นแหล่งเลี้ยงปลา เรามีบ่อเลี้ยงปลา 3,000 กว่าบ่อ ส่วนหนึ่งก็ส่งออก ส่วนหนึ่งก็ส่งไปต่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็ภัตตาคาร ร้านค้า โรงแรม การเลี้ยงพอวงรอบมันได้มันก็ต้องจับเพื่อส่ง คราวนี้ โรงแรมก็ปิด ร้านอาหารก็ปิด พวกภัตตาคารที่ต้องมีโต๊ะเลี้ยงจัดงานใหญ่ ๆ ก็ไม่สามารถที่จะมีออเดอร์เหล่านี้ไปถึงเขาได้ มันก็จำเป็นต้องดิ้นรน ก็คือ ไปหาราชการให้ช่วย ก็ไปกันที่หน้าศาลากลางบ้าง ไปที่พาณิชย์จังหวัดบ้าง ตั้งที่ขายกันแล้วก็ส่งในโซเซียลมีเดียบ้าง เพื่อที่จะช่วยกันซื้อ แต่มันมีปริมาณเยอะ
ถ้าผลผลิตเหล่านี้ มีกระบวนการของการขนส่งเข้ามาช่วยทั่วประเทศ เอาความต้องการจากทั่วประเทศเข้ามาร้อยเรียงเข้าหากัน จะทำให้การกระจายสินค้าเหล่านี้ไปได้ ไม่ต้องได้มาขายกันเองภายในจังหวัด ซึ่งปริมาณที่ผลิตก็เยอะอาจจะทำให้เหลือ ทำให้เสียหาย
สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือว่า เราจะจัดการเรื่องระบบการขนส่งอย่างไร ที่มีอยู่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งของบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีอยู่ ขนไก่ ขนหมู อันนี้เป็นบริษัทใหญ่ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว เขามีรถของเขา ผมจำได้ว่ามีบริษัทเล็ก ๆ คล้าย ๆ เคอรี่ หลาย ๆ บริษัทที่เกิดขึ้นเพื่อจะทำเป็นห้องเย็นเล็ก ๆ เพื่อขนส่ง อันนี้ผมนึกไปถึงเรื่องลำไย จะต้องออกในไม่กี่เดือนข้างหน้าของทางภาคเหนือด้วย เพราะว่าจะต้องไปทางใต้ ไปทางอีสาน เพื่อให้ผลผลิตไปถึงผู้บริโภคที่ยังสด ยังใหม่ ฉะนั้นการรวมตัวกันของนครสวรรค์ช่วงนี้ทำกันเองง่าย ๆ แต่พอดีเราคิดถึงโครงข่ายที่มันจะก้าวไปข้างหน้าต้องมีระบบอย่างที่ว่านี้ เราก็เลยเอารถที่เป็นห้องเย็นเคลื่อนที่ได้ เข้ามาเชื่อมเพื่อให้เกิดการกระจายสินค้า อันนี้สำคัญมาก
จุดที่เราคุยกันถึงการแลกปลาแลกข้าว กระบวนการขนส่งเหล่านี้มันจะสามารถเชื่อมโยงได้ โดยเฉพาะระบบการขนส่งที่เป็นห้องเย็นเข้ามาช่วยได้ด้วย เพราะต่อได้มันอาจจะไม่ได้มีแค่นี้ มันอาจจะมากกว่านี้ มันอาจจะมีปัญหาและข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องของความสด เลยคิดว่ากระบวนการขนส่ง ระบบที่จะเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคกับผู้ผลิตให้เข้ามาหากัน และเข้าไปสู้กระบวนการขนส่ง ก็จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่มันเบาบางลงไป อันนี้เป็นแนวคิดที่นครสวรรค์ แล้วเราก็ทำกันบางส่วน
แล้วก็เห็นปัญหาที่อยู่ข้างหน้า เพราะนครสวรรค์เรามีไข่ที่ผลิตอยู่ค่อนข้างเยอะ อย่างไก่เนื้อเราผลิตตกปีละประมาณ 40 กว่าล้านตัว ก็เป็นระดับต้น ๆ ในการผลิตทั้งไข่และไก่ เราก็เจอปัญหาอยู่ แล้วก็เรื่องของหมูเราก็ผลิตเยอะ ซึ่งการบริโภคภายในจังหวัดเราประมาณ 1,500 ตันต่อวัน โดยเฉลี่ย แล้วเราก็ส่งออกไปด้วย แต่ว่าเหล่านี้ก็กระทบหมดในนครสวรรค์นะครับ ของเราเป็นจุดศูนย์กลางและเป็นแหล่งผลิตด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องการขนส่ง การจัดการเรื่องโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญมาก ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อันนี้คือสิ่งที่เราเจอปัญหาอยู่ แล้วเราก็กำลังร่วมกันหาทางออกอยู่ แต่มันก็ต้องร่วมมือกันจากหลาย ๆ ฝ่ายครับ
วิภาพร : คุณผู้ชมจะเห็น keyword หลัก ๆ อยู่หลายคำว่ามันต้องเชื่อมโยงความต้องการซื้อและความต้องการขายด้วย ไม่ใช่ความต้องการซื้ออย่างเดียว การเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ ต้องมีสินค้าอย่างที่เราคุยกัน และก็ต้องมีเครือข่ายในการส่ง ถ้ามองจากตรงนี้ต่อยอดไป ยังมีอะไรที่ต้องทำเพื่อที่จะขยายกิจกรรมจากข้าวแลกปลาให้มันกว้างขวางมากขึ้น เข้าถึงมากขึ้น
จิตรา : อันนี้เป็นมุมมองนะคะ เพราะว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในกิจกรรมในส่วนของข้าวแลกปลา แต่ในฐานะเป็นผู้ที่ทำงานด้านเครือข่าย ก็คือเครือข่ายผลิตภาชนะจากกาบหมากท่าดีหมี ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เราพยายามสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ในส่วนของโครงการข้าวแลกปลา จริง ๆ แล้วในมุมมองคิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ตอนที่ได้ข่าวก็รู้สึกว่าไอเดียดีมากเลย แต่ที่อยากจะมีข้อเสนอแนะนิดหนึ่ง ก็คือโครงการนี้อยากให้กระจายให้มากขึ้นกว่านี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราเชื่อว่าแต่ละจังหวัด มีชุมชนที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องของทรัพยากร ในเรื่องของการบริโภคค่อนข้างเยอะ ตอนนี้มันอาจจะยังค่อนข้างแคบไปนิดนึงก็มีอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด
ถ้าเราสามารถทำได้ อย่างน้อยที่สุดภาคหนึ่งสัก 5 จังหวัด หรือ 10 จังหวัด ในแต่ละภูมิภาค อันนี้จะเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ ก็คิดว่าโครงการเรื่องข้าวแลกปลาเป็นโครงการที่ไม่ควรจะหยุดเพียงแค่นี้ หลังโควิดไปแล้วก็ควรจะดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ
กิตติ : ส่วนที่ จ.เชียงราย เรามีโครงการอาหารปลอดภัยเชียงราย แนวคิดก็คือเราต้องการสร้างเครือข่ายของ green tourism ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็เป็น อดีตนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ และเป็นอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผมเห็นว่าเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการตลาด ผมเห็นจุดบอดในเรื่องนี้ เลยมีการสร้างเครือข่ายการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ผลิตสินค้า เปลี่ยนจากเกษตรเคมีไปเป็นเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ แล้วก็มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นเกษตรจังหวัด หรือแม้กระทั่งโครงการของพระอาจารย์ ว. เพื่อมาสร้างช่องทางตลาด แล้วก็พัฒนาเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรที่จะทำเรื่องของเกษตรปลอดภัย แล้วก็สร้างผู้รับซื้อที่เป็นเครือข่ายโรงแรม ร้านอาหาร แล้วก็จับมือกับทางโรงพยาบาล โรงเรียน มาเป็นหน่วยรับซื้อสินค้าเกษตรโดยตรง แล้วก็มีการสร้างเครือข่ายของผู้บริโภค
ที่เชียงรายมีนักท่องเที่ยว มีประชาชนที่ต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย แล้วเราก็ขับเคลื่อนโมเดลนี้ไปเป็นวาระจังหวัด ว่าเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แล้วก็การเป็นเมืองเกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัย วิถีไทยล้านนา แล้วก็ให้กลุ่มเกษตรกรที่เขาทำปรับเปลี่ยนในเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย ให้เขามีรายได้ในช่วงการปรับเปลี่ยนก็คือทำเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชน ก็เอากิจกรรมที่เขาทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และเรื่องของวิถีวัฒนธรรมเป็นโปรแกรมขาย ที่ผมพูดมาทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพว่าการแก้ไขปัญหา มันต้องเห็นภาพตั้งแต่ ต้น กลาง ปลาย เห็นโลจิสติกส์ในเรื่องของ Value chain เรื่องของห่วงโซ่อาหาร
การแก้ไขปัญหาทุกอย่างมันหนีไม่พ้นเรื่องของกลไกเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลไกของผู้รับซื้อ กลไกในการยกระดับในเรื่องของสินค้าเกษตร ถ้าลำพังสินค้าเกษตรอย่างเดียวมันไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้เพิ่มขึ้นได้ ถ้าไม่มีการจับคู่หรือไม่มีช่องทางในการให้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าในธุรกิจบริการหรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าเกษตร
ในบทบาทหนึ่งผมก็เป็นคณะกรรมการบริษัทประชารัฐของจังหวัดเชียงรายเพราะเราได้โมเดลแบบนี้ เราก็เห็นว่า ดีมานด์ในการบริโภคในจังหวัดมีเท่าไหร่และซัพพลายในเรื่องของการผลิตสินค้าเกษตรมีเท่าไหร่ แล้วถ้าหากมีปัญหาเราจะกระจายสินค้าพวกนี้ได้อย่างไร ช่องทางตัวหนึ่งที่เคยทำ ตอนนั้นสับปะรดภูแล-นางแล ปรากฏว่าล้นตลาดตอนนั้นเหลือประมาณกิโลละ 1 บาท ถือว่าถูกมาก ๆ สาเหตุก็คือจีนดัดหลังพวกเราคือไม่มารับซื้อ เขาเปิดโรงรับซื้ออยู่ที่เชียงราย แต่เขาไม่รับซื้อทำให้ราคาสินค้าเกษตรมันเกิดล้นตลาด
ผมก็ใช้เครือข่ายของบริษัทประชารัฐกระจายข้อมูลไปให้เอ็มบีของแต่ละจังหวัด ถามว่าที่ไหนต้องการสับปะรดภูแลบ้าง แล้วก็ใช้เครือข่ายของผู้ขนส่งโดยประกาศผ่านทางเฟซบุ๊ก แล้วก็มีเครือข่ายพวกเราเป็นเจ้าของธุรกิจกระโดดเข้ามาช่วยก็กระจาย แล้วเราก็ช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรสับปะรดภูแลที่ราคากิโลละ 5 บาท เพื่อพยุงราคาให้ออกมา และจำหน่ายให้กับเครือข่ายของประชารัฐ โดยใช้บริษัท เขารู้เรื่องเขาก็รับที่จะส่งสับปะรดทันที ตอนนั้นเรียกว่าส่งให้ฟรีเลย ไปที่อีสาน กรุงเทพ ชลบุรี ผมก็ส่งขึ้นเครื่องบินด้วยไปส่งขายที่ภูเก็ต ทำให้สับปะรดที่อยู่ในตลาดหายไปเกือบ 10 ตันและผมก็ใช้กลไกของประชารัฐใช้เงินของประชารัฐในการซับพอร์ท ก็คือใช้เงินช่วยจ่ายสำรองให้กับกลุ่มเกษตรกร
ที่เล่ามาทั้งหมดให้เห็นภาพว่าถึงอย่างไรมันก็ต้องขึ้นกลไกทางการตลาด และอีกอย่างหนึ่งเรื่องของข้าวและปลาผมเห็นว่าเป็นกระบวนการที่เหมือนกับว่า บางทีในเมื่อกลไกตลาดปกติมันทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นเครือข่ายที่เป็นผู้ผลิตด้วยกันมันสามารถใช้กลไกในช่องทางที่เรารู้กันก็คือใช้ช่องทางในเรื่อง 4.0 ข้อมูลผ่าน LINE ผ่านเฟซบุ๊ก ที่ทำให้เห็นได้เจอผู้บริโภคด้วยกันแล้วเกิดการแลกเปลี่ยนกัน
อย่างเช่นที่เชียงรายเหมือนกัน ตอนนี้ที่เราเจอปัญหาโดนประกาศปิดนักท่องเที่ยวไม่เข้าจังหวัดเชียงรายสินค้าเกษตรที่ผลิตไว้ วางแผนปลูกไว้ก็ล้นตลาด ทำให้เครือข่ายโรงแรมร้านอาหารต้องช่วยกันจัดพื้นที่หน้าโรงแรมร้านอาหารให้กลุ่มของเกษตรกรเอาสินค้ามาขาย อย่างเช่นตอนนี้ที่หน้าร้านสะบันงาที่เชียงรายผมก็ให้กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจที่ขายกุ้งขายปลา แล้วก็ทำในเรื่องเกษตรอินทรีย์เข้ามาขายที่หน้าบ้าน แล้วเราก็ประชาสัมพันธ์ให้กับผู้บริโภคที่เป็นคนเชียงราย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงในเรื่องของแหล่งสินค้าเกษตรปลอดภัยด้วย เขามารับซื้อแล้วก็ขายในราคาถูกให้กับลูกค้า
อันนี้เป็นการใช้ประโยชน์ของเครือข่ายที่มีในท้องถิ่นแล้วก็ให้เกิดการบริโภคในการพึ่งพาตนเองในจังหวัด แต่ถ้าหากว่าเราใช้ช่องทางนี้ เครือข่ายทั้งใต้อีสานกลาง ถ้าเราสามารถประสานงานกันได้ ตรงนี้เป็นการกระจายสินค้าไปให้ทุกเครือข่ายด้วยกัน อาจจะใช้กลไกช่องทางของประชารัฐหรือช่องทางต่าง ๆ
วิภาพร : เครือข่ายที่พี่กิตติพูดถึงมีหลายรูปแบบเลย ทั้งเครือข่ายด้านการควานหาความต้องการ เครือข่ายการขนส่งเครือข่ายผู้ผลิตสุดท้ายต้องมองกลไกลการตลาดด้วย อ.สมคิดมองว่าอย่างไรคะ
สมคิด : ถ้าจะไปข้างหน้า ผมคิดว่าย้อนหลังก่อนก็ได้ ถ้าย้อนหลังแล้วมันอาจจะมีแรงไปข้างหน้าเยอะหน่อย ระบบนี้จริง ๆ เราก็เคยเอามาใช้อย่างกว้างขวางตอนที่วิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลกประมาณเกือบ 100 ปีที่ผ่านมามันมีวิกฤตใหญ่ในปี 1930 ระบบแลกของก็เลยนำมาใช้ ไกลไปกว่านั้นก็คืออาจจะย้อนกลับไปครั้งพุทธกาลมันก็มีระบบการแลกของแต่ทีนี้ มันก็จะมีโจทย์ว่าทำไมระบบใหญ่ไม่ไปต่อ แล้วระบบนี้มันมีข้อจำกัดอะไร เบื้องต้นถ้าจะไปต่อคิดว่าอยู่ที่ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันมันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราเห็นอะไร โดยเฉพาะเห็นคุณค่าความหมายของการแลกข้าวแลกปลาอย่างไร
ผมคิดว่าการเห็นคุณค่าที่มีอยู่ตอบโจทย์เยอะมาก เศรษฐกิจมันไม่ใช่เป็นเรื่องของเงินทอง เศรษฐกิจเป็นเรื่องของการผลิตการแลกเปลี่ยนการบริโภค แต่ว่าแก่นของคำมันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจแปลว่าประเสริฐ แล้วกิจเป็นกิจที่ประเสริฐแล้ว ที่สำคัญก็คือว่าถ้าเราให้คุณค่าในภาวะแบบนี้ สำหรับผมให้คุณค่ากับเรื่องข้าวและปลา
ผมมองว่ามันเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของพระศรีอริยะเมตรไตร อริยะแปลว่าการพ้นจากการเป็นคู่อริ หรือคู่ตรงข้าม เมตตาก็คือความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นได้ดีเป็นสุขแล้วก็บวกกับสุดท้าย อาลัยแปลว่าที่ใจ เราอยู่ยุคของศรีอาริยะเมตรไตร ใจของเราอยู่ที่การอยากจะเห็นคนอื่นได้ดีและพ้นทุกข์ เราก็ไม่มีเป็นคู่อริ ผมคิดว่าคนที่แลกปลาเอาปลามาแลกข้าว ฝั่งปลาก็ไม่ได้มองคนที่จะเอาเปรียบหรือเป็นคู่ตรงข้ามเป็นคู่อริกับคนที่ให้ข้าว เพราะฉะนั้น ผมจะขอใช้ VIRUS เป็นเครื่องมือในการอธิบาย ตัว V Vision และ Value
ตัว I คือการใช้ความไม่เป็นทางการ Informal เป็นเรื่องใหญ่มากในการทำงานรอบนี้ ถ้าเป็นภาษาแขกนิ ก็คงจะเป็นเรื่องของวิสาสะ ถ้าภาษาพระก็คือวิสาสะปรมญาตินั้นเอง ก็คือว่าความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นสัมพันธภาพวิถีของการใช้ความเป็น informal วิสาสะ เป็นทางที่จะไปสู่สัมพันธภาพใหม่ก็คือความเป็นญาติมิตร
ความเป็นพี่เป็นน้องหรือภาษาทางวิชาการก็คงเรียกว่าภราดรภาพ เป็นแก่นสาร เป็นสิ่งสูงสุดในแง่ของมิติความสัมพันธ์ เพราะกระทำจะทำให้ สัมพันธภาพที่ดีมีการต่อยอดว่าต่อไปคนใต้มาเที่ยวเหนือก็ไม่ต้องไปเข้าพักโรงแรมมาพักบ้านเพื่อนในที่นี้ก็เรียกว่าบ้านสหาย แปลว่าการร่วมกันในเชิงแนวคิดและอุดมการณ์ มันอาจจะมีนอกจากอาหารกายอาหารใจก็อาจจะแลกกันได้ อาหารสมองก็อาจจะแลกกันได้ อันนี้มันเปิดพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนให้มันกว้างขวางกว่านี้ได้ แต่ว่าอย่างไรก็ตามบนฐานความเข้าอกเข้าใจงานนี้มันเคยมีการทำมาก่อน แล้วมันก็มีปัญหาในตัวความไม่เข้าใจถึงการไม่ให้คุณค่า มองเป็นฝั่งตรงข้ามกันแล้วจะเอาเปรียบกัน ก็มักจะไปดูถูกของที่คู่สหายส่งมาให้
สมมุติว่าถ้ายังติดวิธีคิดเดิมเอาปลาตัวเล็กมาหรือปลาไม่ดีหรือเอาข้าวไม่ดีไปมองในเชิงการที่จะได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ว่ายังไงก็ตามระบบนี้สำหรับคนทั่วไปมันก็ไม่ใช่ว่าจะมันจะอยู่บนฐานความสัมพันธ์หรือความเข้าใจที่ดีทั้งหมด เนื่องจากว่าคนเรามีความหลากหลาย ถ้าจะทำให้ตรงนี้มันต่อเนื่อง ไปต่อ และกว้างขวางมากขึ้นระบบที่อาจจะต้องนอกจากจับคู่ระหว่างคนที่ขาดกับคนที่มีตัวสื่อกลางที่เหมาะสม อย่างเช่นการค้นหากันการใช้วิธีการเทียบราคาที่ต่างก็พอใจ การพัฒนาระบบมันต้องการสร้างเพิ่มมากขึ้น
ต่อมา ตัว R สัมพันธภาพก็คือ Relationship ส่วน U ก็ เป็นเรื่องของ Understanding ตัว S ตัวสุดท้ายก็คงเป็น System ถ้ามันจะไปได้จริง ๆ มันต้องการการออกแบบระบบที่ก้าวหน้ามากกว่าการแลกพื้นฐาน อย่างไรก็ตามทำใกล้ไปหาไกลก็ได้ ไกลมาหาใกล้ก็ได้
อย่างไรก็ตามการแบ่งปันที่ลงตัวเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายกลับไปหาเป้าหมายเดิมสิ่งที่เป็นพร เป็นสิ่งสูงสุดที่พูดถึงว่าอโรคยา ปรมาลาภา ความไม่เป็นโรคเป็นลาภอันประเสริฐตั้งไว้ อันที่สองคือ สันตุฏฐี ปะระมัง ธะนัง ก็คือการพอใจยินดีในสิ่งที่ตนมีเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง แล้วก็ วิสาสา ปรมาญาติ การไปมาหาสู่ดูแลกันอย่างไม่เป็นทางการเป็นญาติอย่างยิ่ง สุดท้ายถ้าสงบเย็นและก็เป็นสุขอย่างยิ่ง โดยรวมก็คือ อโรคยา ปรมาลาภา สันตุฏฐี ปะระมัง ธะนัง วิสาสา ปรมาญาติ นิพพานัง ปรมัง สุขัง
ดร.ชมชวน : รูปแบบข้าวแลกปลามันเป็นกิจกรรม เป็นการสะท้อนระบบตลาด 2 ตลาด คือ 1.ตลาดทั่วไปซึ่งทำแบบนี้เพราะไม่พอใจต่อรูปแบบ และ 2. ระบบตลาดที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การที่เอาข้าวและปลาหรือมีกิจกรรมอีกหลายรูปแบบที่ทำแล้วให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ถ้าเราลองไปดูพัฒนาการของด้านระบบตลาดที่เป็นธรรม โดยเฉพาะด้านการเกษตร มีรูปแบบทางการตลาดหลายรูปแบบ อาจจะเริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อนก็จะมีรูปแบบอย่างเช่นรูปแบบเป็นศูนย์รวบรวม เป็นร้านจำหน่าย หรือเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต แบบนี้เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อนเกิดขึ้นเยอะ เกิดขึ้นเกือบทุกจังหวัด แต่ว่าก็ไปไม่ค่อยรอด หลังจากนั้นก็มีรูปแบบเป็นแบบตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ รูปแบบนี้ค่อนข้างจะไปได้ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาไปทำตลาดในห้าง หรือตลาดสดจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เราจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาเป็นตลาดแบบออนไลน์
ขณะเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราพยายามพูดถึงการผลิตอาหารที่ดีและควรจะให้คนไทยได้กิน การผลักดันเรื่องระบบตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมากขึ้น จนถึงขั้นมีการกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องให้ผลิตผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ 40% แนวคิดเรื่องการจำหน่ายผลผลิตให้โรงเรียน โรงพยาบาลชุมชนโดยให้กลุ่มเกษตรกรผลิตผ่านหน่วยจัดการกลางเราก็จะเห็นภาพบางทีบางแห่งอาจจะใช้เป็นบริษัทประชารัฐ บางแห่งก็เป็นกลุ่มพี่น้องเกษตรกร บางส่วนก็เป็นภาคประชาสังคม เราจะเห็นพัฒนาการเรื่องพวกนี้ หมายถึงเป็นรูปแบบของตลาดภายใต้ระบบตลาดที่เป็นธรรม คือไม่พอใจต่อตลาดทั่วไปที่มันไม่เป็นธรรมตั้งแต่เรื่องผลผลิตที่มีการปนเปื้อน ราคาที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งรูปแบบต่าง ๆ ก็เลยทำให้เกิดพวกนี้
อย่างกรณีแลกข้าวแลกปลาจริง ๆ แล้วหลายกลุ่มพยายามคิดจะทำกัน แต่ค่อนข้างจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมาก็เห็นหลายกลุ่ม เวลามีกิจกรรมก็เอาข้าวเอาอะไรมาแลกกันการทำแบบนี้ คำถามว่าถ้าจะให้ไปต่อได้อย่างไร ผมคิดว่า 1.อาจจะมีการใช้ทุนเดิมที่มีอยู่ ความหมายทุนเดิมก็คือว่าตอนนี้เกือบทุกจังหวัดจะมีหน่วยที่ทำตลาดในระบบที่เป็นธรรมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยที่เป็นตลาดนัดหรือเป็นศูนย์รวบรวม หรือตลาดสดอะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ มีกลุ่มนี้อยู่ รวมทั้งเราจะเห็นหน่วยจัดการกลางที่เริ่มเกิดขึ้น ถ้าเราสามารถให้หน่วยเหล่านี้มาเชื่อมร้อยกัน ทำงานร่วมกันน่าจะดี
2.ก็คือเป็นการสร้างระบบการจัดการก็จะมีหลายเรื่อง ตั้งแต่การมีหน่วยประสานงานกลาง มีคณะกรรมการดำเนินงาน มีข้อตกลงมีระเบียบ มีการมาทำแผนอะไรที่หลากหลาย รวมทั้งการร่วมกันลงทุนต่าง ๆ ซึ่งผมว่าถ้าจะให้ไปได้ระยะยาวหรือเกิดการทำพวกนี้อย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องมีการสร้างคณะทำงานขึ้นมาที่ร่วมกันมีหน่วยหน่วยหนึ่ง มีคณะชุดหนึ่งที่คิดเรื่องนี้ทำเรื่องนี้และพยายามหนุนเสริมสนับสนุน ช่วงหลังเองทางประธานอนุฯ ก็พยายามจะเชื่อมร้อยผลกระทบจากโควิด อยากจะเชื่อมร้อยสหกรณ์ต่าง ๆ ให้มาทำหน้าที่เรื่องพวกนี้ แต่ว่าอย่างที่ว่าเวลาพูดถึงตลาดเราจะต้องยึดในหลักการว่า เราจะต้องเป็นระบบตลาดที่เป็นธรรม รูปแบบข้าวแลกปลาเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะต้องมีการทำต่อซึ่งอาจจะต้องมีหลากหลายรูปแบบ
วิภาพร : ฟังจากเมื่อสักครู่ ถ้าจะตั้งต้นไปต่อ มันมีหลายสิ่งที่เราต้องทำ อย่างแรกคือ ระบบ เราจะรวมคนเข้ามาเยอะขึ้นอย่างไร คนอยากซื้อก็ต้องมีของขายเยอะขึ้น แล้วระบบจะรวมจากไหน ต้องเป็นเครือข่ายแบบไหน แล้วถ้าจะแลกเปลี่ยนหลังจากนี้ มันคงจะไม่ใช่การแลกเปลี่ยนลักษณะเหมือนวันนี้ในช่วงที่มีวิกฤติ เรากำลังจะสร้างระบบตลาดที่แลกเปลี่ยนซื้อขายอย่างเป็นธรรม แล้วจะต้องมีแพลตฟอร์มอะไรมารองรับสิ่งนี้ไหม เพื่อให้สามารถจัดการได้ ระบบการขนส่งจะเป็นอย่างไร มันมีหลายโจทย์มากเลย เริ่มจากสารตั้งต้นก่อนไหมว่าเราจะรวมสินค้าต่าง ๆ จากเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยอย่างไรให้ใหญ่ขึ้น
วารินทร์: จากที่ฟังจากทุกท่าน ต้องขอบคุณมาก ได้ความรู้ได้ไอเดียที่จะทำต่อ ณ ปัจจุบันทางกลุ่มที่ทำงานมีการพัฒนาไปอีกขั้น ในการที่จะทำ ก้าวไปสู่การสร้างแพตฟอร์มต่าง ๆ แต่ที่สรุปจากที่ทุกท่านเสนอมา มองเห็นอยู่ 3 ส่วน ฝ่ายผู้ผลิตทั้ง 2 ฝั่ง และกระบวนการตรงกลางเรียกว่า ระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ สองฝั่งที่มีการแลกเปลี่ยนกันจะทำยังไง ถึงจะรับรู้เรื่องผลผลิตของกันและกัน มันจะตอบโจทย์ที่ว่าเราต้องมีแพตฟอร์มอันใดอันหนึ่ง เหมือนโครงการข้าวแลกปลาครั้งนี้ เกิดจากการพอใจของทั้งสองฝ่ายก่อน เอาความพอใจแลกกันก่อนแล้วค่อยหาความสมดุล
ตอนแรกที่ประสานงานกับพี่ไมตรี ตอนแรกขนส่งกันเองก่อนไม่มีความอนุเคราะจากใครทั้งสิ้น ด้วยความที่ผมอยู่ระบบโลจิสติกส์ ได้สัก 2-3 เดือน เราคิดว่าเราทำได้ แต่พอทราบว่ามีวิกฤตพี่น้องชาวเลบางส่วน มองว่าตรงนั้นไวแล้ว แต่ถ้ามีอะไรไวกว่านั้น เราเลยคิดว่าครั้งนี้เป็นทางลัด ซึ่งใช้ทุกครั้งไม่ได้ที่จะใช้ C130 ของกองทัพอากาศ มันจะต้องใช้การจัดการขนส่งที่ปกติ อย่างยโสธรถามว่าชาวนาเดือดร้อนไหม เดือดร้อนนะครับ แต่ผลผลิตของชาวนาคือข้าวเปลือก ไม่เสียหายง่ายไม่เหมือนปลา และเกษตรกรภาคอีสานจะมีระบบยุ้งฉางมีการรวมกลุ่มโดยเฉพาะ
ที่ยโสธร ได้รับคำถามเยอะมากว่าทำไมทำได้เร็ว เราไม่ได้รวมกันครั้งนี้แต่รวมกันมานาน เครือข่ายเกษตรกรแต่ละกลุ่ม มีการรวมกลุ่มกันและพัฒนากันมานานจนได้เป็นเมืองเกษตรอินทรีต้นแบบ ทำไมถึงติดต่อกันได้เร็ว เพราะความเข้มแข็งในการเรียนรู้ระบบการติดต่อสื่อสารในช่วงวิกฤติราคาข้าวปี 2559 ตอนทับฟ้าช่วยชาวนา มองตาก็รู้ใจโทรไปหากันไม่มีการเคลือบแคลงสงสัยในการช่วยเหลือ ทำให้เกิดความรวดเร็ว ยโสธธรไม่ได้มีแค่ข้าว มีปลาน้ำจืด ปลาน้ำชี เราสามารถทำให้ผลผลิตสินค้าออกมาอยู่ในแพตฟอร์มที่พี่น้องจังหวัดอื่นเข้ามาดูได้ว่าเรามีอะไร แต่ละที่มีแคตตาล็อก มีรูปให้ดู
เมื่อ 2 ฝ่ายเกิดความพอใจจะแลกเปลี่ยนกันแบบไหน มาดูเรื่องระบบขนส่ง ผมจะรู้แล้วว่าจะมีการรวมจากรายย่อยมาหา center อำเภอมาที่จังหวัด จังหวัดไปที่ภาค ภาคกระจายไปสู่จังหวัด อำเภอ ผู้บริโภค ระบบนี้บางพื้นที่ทำไม่ได้ มีการผูก แต่ถ้าจะเรียนแบบแพตฟอร์มแบบนั้น เกษตรกรเราจะทำได้ไหม ในกรณีที่สินค้ามาก ๆ ใช้รถขนส่งคันเดียวรอบเดียวโดยเหมา ตรงนี้ทำได้ เช่นผมจะส่งข้าวไปที่กรุงเทพฯ ผมก็เหมารถขนส่ง แต่ถ้าเป็นสินค้ามาจากอำเภอนี้มีความพอใจกันตกลงแลกกัน เราจะอาศัยระบบการขนส่งในปัจจุบัน คือเราก็ไปเจรจากับเขาให้เขามา แต่ในบริษัทขนส่งต้องมาคุยอีก เพราะครั้งนี้มีเรื่องความล่าช้าทุกขนส่ง เพราะเหตุการณ์ไม่ปกติ เราอาจจะต้องเป็นสินค้าที่ไม่เสียหายง่าย ส่วนสินค้าที่เสียหายง่ายเช่นลำใย อาจจะต้องเป็นรถห้องเย็นส่ง
ตรงนี้ผมคิดว่าคิดง่าย ๆ คือ 2 ส่วนพอใจ ส่วนระบบตรงกลางต้องมีแพตฟอร์มมาบริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ใช้ทรัพยากรที่มีตรงนี้มาแชร์กับระบบตรงกลางขนส่งจะได้ไหม ตอนนี้ทางเรากับทางพี่ไมตรีกับคณะทำงานได้มีการจัดตั้ง และก็ไปต่อกันเรียบร้อย แต่รายละเอียดต่าง ๆ อยู่ระหว่างการเตรียมการ ล่าสุดทำแฟนเพจคือ แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน แฟนเพจเป็นทางการ
กิตติ : ผมคิดว่าวัตถุประสงค์ที่เราจะทำทั้งหมด เราต้องการการอยู่รอด และปัจจัยในเรื่องสินค้าเกษตรมีเงื่อนไขหลายตัว เช่น สินค้าเกษตรส่วนใหญ่เสียหายง่าย ผลไม้ ปลา ต้องการแปรรูป มีปัญหาเรื่องการขนส่ง ปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวเร่ง ทุกคนส่วนใหญ่มีหนี้สิน มีปัญหาเรื่องที่ดินเช่าที่ทำกิน วิธีการจัดการ เพราะฉะนั้น หน่วยงานของเกษตรที่จะแก้ปัญหา จะใส่องค์ความรู้ สอนเกษตรกรเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ขายเรื่องการตลอด ผมถามว่าเกษตรกรจะทำได้ทั้ง 3 อย่างหรือเปล่า ต้องมีเครือข่ายเข้ามาช่วย เพราะเราไม่สามารถทำได้หมด ทำอย่างไรให้เครือข่ายในท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ผมทำงานกับหน่วยราชการส่วนใหญ่มีขอบมีกฎเยอะ ยุ่งยาก ทำไม่ได้จริง ให้เอกชนประชาชนค้าเลย ส่งเลย อย่าคิดมาก ถ้าคิดมากไม่เกิด ใครมีรถมาช่วยกันทางโน้นมีอะไรมีปลามาแลกกับทางเหนือไหม แล้วพวกผมส่งข้าวส่งผักปลอดสาร อันนี้คือโมเดลปกติ เราทำยังไงให้เศรษฐกิจฐานราก เครือข่ายพวกเราสร้างสมดุลได้ ผมเชื่อมั่นว่าทุกวันนี้ระบบราชการ ข้อมูลการผลิตประเทศไทยมีเท่าไร ไม่รู้เลยว่าผลิตแล้วจะไปขายให้ใคร ผมคิดว่าเราอย่าไปหวังพึ่งพารัฐ เรารวมกลุ่มเล็ก ๆ ของเราก่อน ให้รู้ว่ากลุ่มเรามีปริมาณการผลิตเท่าไร หาช่องทางกันปันส่งสินค้าไปหากัน มันจะยั่งยืนมากกว่า
วิธีการคิด 1.พึ่งพาตนเอง ในเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นแต่ละจังหวัดแล้วค่อยสร้างเครือข่ายข้ามจังหวัด 2.พึ่งพากลไกลสร้างมูลค่าเพิ่ม กลไกลของธุรกิจบริการ หรือการแปรรูปอุตสาหกรรมเข้ามาแล้วให้เครือข่ายในจังหวัดช่วยกัน หมายความมว่า เครือข่ายเกษตรกรจับมือเครือข่ายแปรรูป แล้วเกิดนวัตกรรมใหม่ ครั้งนี้เห็นว่าพอเกิดวิกฤตมันเห็นว่าพวกที่อยู่ได้เค้าพึ่งพาตนเองในแต่ละจังหวัด และค่อยไปหาเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินค้า
ประพนธ์: ย้อนกลับไปเรื่องข้าวแลกปลา ถ้าแบ่งเป็นลักษณะกลไกทุนนิยม กลไกธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเกร็งกำไรกัน ยอมรับเชิงการค้าธุรกิจ แต่ที่เราคุยเรื่องข้าวแลกปลากัน เป็นกลไกในเชิงลักษณะเกษตรพึ่งพาตนเอง กลุ่มต่อกลุ่ม โดยใช้สื่อกลางโซเชียลเป็นตัวเคลื่อน อาจจะเกิดจากเครือข่ายเชิงเกษตรกรเชิงชุมชน ปัญหาของการส่งเสริมมักมีปัญหาเช่นพรมทอผ้า ชาวบ้านขายในตลาดไม่ได้ แต่วันหนึ่งขายที่แม่สอด จ.ตากขายดีมาก กลายเป็นของถูกสำหรับพวกเขา เราทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าความต้องการของสินค้าเหล่านี้อยู่ที่ไหน ทำอย่างไรถึงจะมีการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ เป็นกลไกที่จะรู้ว่าตรงไหนมีแหล่งผลิตที่เป็นโซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องสำคัญของการจัดกลุ่มข้อมูล คุณภาพปริมาณการผลิตถ้ามีการจัดการข้อมูลจะช่วยได้
นครสวรรค์ผมไปส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ มีกลุ่ม 50 กว่ากลุ่ม เราทำไลน์ขึ้นมาให้คำปรึกษาหาตลาด มีลูกค้าผู้บริโภคเข้ามา 400 กว่าคน ใน 50 กว่ารายที่เป็นเกษตรอินทรีย์ จะสร้างความเชื่อมั่นโดยให้ผู้ที่เป็นผู้บริโภคไปเที่ยวที่ฟาร์มที่สวนของเขา เพื่อเกิดความเชื่อมั่น พอลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น พอโยนสินค้าเข้าไปในกลุ่มคนจะซื้อหมด แต่สินค้าที่ผลิตยอมรับว่าจะไม่หลากหลาย การผลิตไม่มากสินค้าจึงไม่พอขาย
ถ้าเรามองสเกลใหญ่อาจจะเป็นเครือข่ายทุกภาคได้ รวมไปถึงการแลกข้าวแลกปลาต่าง ๆ ถ้าเกิดความพอใจ ถ้าเรามีความร่วมมือ ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องเริ่มจากเล็กและขยับขึ้นไป ถ้ามองย้อนก่อนเกิดโควิดเปรียบเทียบกันไม่ได้พฤติกรรมของทุกคนจะเปลี่ยนไป ระบบธุรกิจจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือความเอื้ออาทรช่วยเหลือกัน น่าภูมิใจมากครับ นครสวรรค์ทำข้าวแจกกันเยอะมากเห็นแบบนี้แทบทุกจังหวัด
วิภาพร : เรื่อง BIGDATA ถ้ามีแพตฟอร์มอะไรที่มีข้อมูลเรียลไทม์เช็คสต็อคกันว่าที่ไหนมีอะไร ThaiPBS ก็มีเครื่องมือแต่ไม่แน่ใจว่าจะใช้ต่อยอดได้ไหม จะลองแชร์กับทุกท่านดู C-site อยากให้พี่ไมตรีแชร์หน่อยว่ามันจะช่วยได้ไหม
ไมตรี: หลาย ๆ แพตฟอร์มข้อมูลต่าง ๆ ถ้าไม่ลงมือทำ ทำไม่ได้ครับ หรือถ้ายึดกลไกการตลาดเป็นตัวตั้งก็ทำไม่ได้ครับ เพราะว่าถ้าเกิดไม่คิดว่าจะแลกกันเพื่ออาทรแบ่งปันกัน ทำไม่ได้ เพราะจะคิดว่าสมมุติปลาผม ผมจะส่งไปบางส่วนเสียเพราะฝนตก ถูกฝน เป็นหนอน แต่ถ้าบอกว่าปลาพี่ไมตรีเน่าแบบนี้เลิกเถอะ ผมก็เลิก ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าบอกปลาไม่เป็นไรนะได้ยังไม่ครบ แต่ถ้าพี่น้องบอกว่าอีก 3 วันต้องเสร็จ แต่ปลาในทะเลกับแดดที่ต้องรอเราอาจจะทำไม่ได้ 3 วันตามนั้น ผมคิดว่าถ้ากำหนดเช่นปลา 1 กิโลกรัม ข้าวสาร 5 กิโลกรัม ถ้าเกิดปลาขาดไปมีปัญหารอบเดียวจบหมด
เรารีบไม่ได้ ถึงจะมีแพตฟอร์มข้อมูลเยอะ เราจะมีข้อมูลกับชุมชนที่พร้อม ที่มีใจ เราต้องหาชุมชนที่มีใจก่อนแล้วค่อยทำข้อมูล ถ้าได้ข้อมูลแต่ไม่มีใจทำไปก็เหนื่อย ข้อมูลเต็มไปหมด แต่ถามว่ามีการซื้อขายไหม ไม่มีนะครับ ยกเว้นชุมชนที่ไปซื้อกิน แต่จะเกิดการแลกเปลี่ยนเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีคนกลางที่สร้างหัวใจให้มาเจอกัน นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม ไปหาใจของชุมชนหรือเครือข่ายที่จะเพิ่มขึ้นก่อน
ทุกคนพูดตรงกันว่าในอนาคตวิถีสังคมไทยใหม่จะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ตั้งต้นตั้งแต่วันนี้เราจะรับไม่ได้ในอนาคต ผมคิดว่าผมเข้าใจ เอาวัฒนธรรมชุมชนไปพบกับเอกชนที่มีใจ แบบเราก็แลกเปลี่ยนได้ เพราะเราไม่ได้กินแต่ข้าว ปลา ผลไม้ มันต้องมีอย่างอื่น เช่นอุปกรณ์เครื่องในครัวเรือน ถ้ามีเอกชนที่สนใจมาแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ต้องคุยแบบเอื้ออาทร ตอนนี้มีหลายบริษัทติดต่อเข้ามาว่าพร้อมแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน ถ้าเรามองอีกมิติบางคนใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อมีวิถีชีวิตของเขา อยู่กับงานประจำรับเงินเดือน ถ้าในระยะยาวเราบอกว่าวิถีชีวิตคุณแลกกับวัฒนธรรมชุมชนเราก็ได้ หมายถึงเขาหาเงินเดือน เราหาปลาหาข้าวแล้วเขามาซื้อเรา โดยไม่ต้องไปเข้าห้างใหญ่ ๆ อาจจะมีคนกลางที่เข้าใจเรื่องวิถีชีวิตกับวัฒนธรรมมาแลกกัน
หัวใจสำคัญเราต้องไม่รีบ ต้องหาองค์กรชุมชนเครือข่ายที่มีใจก่อนแล้วทำข้อมูล ถึงมีข้อมูลมากแค่ไหนถ้าไม่มีใจไม่มีทางแลกได้ ยกเว้นซื้อขายกันเท่านั้น ผมอยากเสนอว่าไม่รีบเราจะทำไปเรื่อย ๆ และคิดว่าเดือนหน้าได้ แต่ต้องใจเย็น หลายอย่างเรากำหนดหามันไม่ได้ ต้องรอข้าวรอน้ำรอแล้ง เราอาจจะแลกข้าวกับปลาไปเรื่อย ๆ เรื่องอื่นค่อยพัฒนาไปเรื่อย ๆ
วิภาพร : พี่ไมตรีมองว่ามันต้องจับเป็นเครือข่ายเล็ก ๆ ในระดับท้องถิ่น
ไมตรี: คิดว่าเครือข่ายเล็กใหญ่ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่มีใจตรงกันไหม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่บอกว่าต้องการแลกเพื่อได้ปลา แสดงว่าไม่ได้หรอกจะมีปัญหา แต่ถ้าแลกเพื่อความสัมพันธ์ ปลาก็ได้ ข้าวก็ได้ ผมว่าสำคัญ ถ้าข้าว 5 ตันได้ปลาไป 450 กิโล แล้วสุดท้ายมาโวยวายว่าได้ปลาไม่ครบ อย่างนี้ไม่ได้แล้ว พี่น้องกะเหรี่ยง พี่น้องยโสธรคุยกันไม่ได้บอกเลยว่าอยากได้กี่กิโล แต่เราเองคนหาปลาบอกเองยังหาปลาให้ไม่ครบ วิถีนี้ใช้ได้ยาว เราหาปลาได้ตลอด พี่น้องทำนาก็ทำได้ ยังแลกได้แน่นอน
จิตรา : โครงการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนในลักษณะที่ไม่ได้ต้องการเป็นตัวเงิน เป็นการแลกเปลี่ยนกันถึงแม้ว่ามูลค่าไม่เท่ากัน แต่ถือว่ามีใจแลกเปลี่ยนกัน ตรงนี้ที่ระยะยาวมันจะเดินต่อไป ต้องใช้เวลา ต้องควบคู่ไปกับการสร้างสำนึกของคนให้ตระหนักถึงความยั่งยืนของการมีผลิตผลการแลกกัน การสร้างเครือข่ายไม่ใช่เรื่องง่าย
การสร้างเครือข่ายคือการสร้างคน ถ้าเราไม่มีคนที่เข้าใจในเป้าหมายมันจะเฉออกนอกทาง กว่าเราจะสร้างเครือข่ายมา เราต้องสร้างจิตสำนึกเป้าหมายตรงนี้ทำเพื่ออะไร เรานั่งมองว่าการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ในอนาคตอาจจะเหนื่อยนิดนึง เพราะมันจะต้องพัฒนาไปพร้อมกับคนแล้วก็กับกลุ่มที่จะเข้าใจในเจตจำนงนี้ คิดว่าให้กำลังใจไม่ใช่เรื่องง่าย ฝากค่ะถ้าเราจะพัฒนาเครือข่าย ถ้าจะรวมแพตฟอร์ม ข้อมูล แต่เป้าหมายเป็นเป้าหมายเดียวกันหรือเปล่า เป็นการแลกเปลี่ยนหรือสร้างแพตฟอร์มเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดอย่างไร ส่วนการก้าวเข้าไปสู่ในระบบราชการ จริง ๆระบบการแลกเปลี่ยนแบบนี้ไม่จำเป็นในความคิดส่วนตัวค่ะ แต่อยากให้กำลังใจกับโครงการนี้ให้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
ไมตรี: ถ้าเมื่อไหร่ผลิตพืชผล ถ้ายังไม่เข้าสู่กลไกทางตลาด ก็แลกโดยไม่ฟิกราคาแต่ต้องมีใจให้กัน แต่ถ้าเข้าสู่กลไกการตลาด จะแลกแบบนี้ไม่ได้ เราหาวิธีขยายจาก 1 เป็น 2 ทำไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่าผู้ผลิตที่แท้จริงในชุมชนไม่คิดมากในเรื่องแบบนี้ ผมเชื่อแบบนั้น
สมคิด : การสร้างอารยะธรรมสร้างสำนึกของยุคสมัยที่ไม่เหมือนเดิม การออกแบบระบบผมคิดว่าทำได้หลายแบบ จากพื้นฐาน อาศัยใจแลกกัน แต่ถ้าจะให้ตอบโจทย์ขยายวงเร็วขึ้นจะเป็นคำถามนิดเดียว ถ้าไม่ใช่ basic แต่เป็น advance สร้างระบบใหม่เพื่อตอบโจทย์อารยะธรรม
สุวิชาน : ผมเห็นด้วยกับหลายท่านที่พูดผมคิดว่าสินค้าบางชนิดแลกได้ สินค้าบางชนิดแลกไม่ได้ วัฒนธรรมหรือกลุ่มองกรวิถีอาชีพของคน บางอาชีพมันสามารถเอาผลผลิตไปแลกกันได้ แต่วิถีวัฒนธรรมอาชีพบางอย่างไม่สามารถเอาไปแลกกันได้ต้องยอมรับบนฐานความจริง
ผมคิดว่าตอนเริ่มต้นทำข้าวแลกปลา ระบบเศรษฐกิจที่จะไปรอด อาศัยผู้ผลิตกับผู้ผลิตอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีเรื่องกลไกที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้ ต้องมีเรื่องการตีตรามูลค่าเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นแบบไหนได้หมด แต่วัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนสำคัญกว่า มีคุณธรรม วัฒนธรรม ธรรมชาติ เมตตาธรรม ถ้าไม่มีธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ได้ ถ้าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้มันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราจะแลกข้าว แลกเพื่อการอยู่รอดไม่ได้แลกเพื่อกำไร สะสม อันนี้คือจุดหนึ่งที่สำคัญ
เราต้องแลกสิ่งที่เรามีแต่คนอื่นขาด ถ้าจะไปต่อได้ผลิตภัณฑ์ต้องมีความหลากหลาย กลุ่มเพื่อนที่คุยแลกกันได้ต้องหลากหลายตามความต้องการ ความขาด หรือการมีของแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นจะทำให้การแลกของเราเกิดขึ้นจริงได้
ส่วนระบบโลจิสติกที่คุยกัน พี่น้องหลายคนบอกว่าแลกเปลี่ยนไม่คุ้ม ถ้าแลกบนดอยอาจจะคุ้ม แต่ถ้าแลกพี่น้องบนดอยกับชาวเลไม่คุ้ม เพราะการขนส่ง ทางพี่น้องเกษตรคิดกันว่าตั้งกองทุนขนส่งขึ้นมาสำหรับการแลกเปลี่ยนเพื่อทางรอด จุดที่เรากำลังจะเริ่มต้นการขนส่งขึ้นมา ส่วนการและจะแลกยังไงค่อย ๆ เรียนรู้ได้ แต่ตอนนี้อยากให้เป็นเชิงวิถีวัฒนธรรม
วิภาพร: เรากำลังจะไปสู่สิ่งใหม่เศรษฐวัฒนธรรม สร้างอารยะธรรมใหม่ อย่างที่พี่ไมตรีบอกต้องมาด้วยใจกันก่อน ขอเรื่องระบบโลจิสติกส์อีกนิดนึงว่าจะไปต่อยังไง
สุวิชาน : ตอนแรกมองว่าถ้าไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยว เรามีข้าวฝั่งนู้นมีปลา คนตกงานที่มีกระบะมาร่วมโครงการกับเรา ปกติต้องตีมูลค่าว่าค่ารถวิ่งไปเท่าไร แต่มาตีว่าเอาข้าวกี่กิโลแทน มาแลกเปลี่ยน ถ้าเราขนของที่จัดระบบให้เป็นชุดใหญ่ ๆ ขนลงไปหากัน กระจายกัน ใช้รถเหมาจ้างได้ แต่ถ้าในอนาคตพี่น้องตำบลนี้พี่น้องต้องการแค่ 10 กิโลกรัม 5 กิโลกรัม มันต้องอาศัยวิธีระบบเอกชนที่มีการวางแผนที่ดีอยู่แล้ว เราอาจจะต้องเจรจากับเขาราคาเท่านี้ได้ไหม ความพอใจทั้งสองฝ่าย ตรงกลางต้องยอมรับได้ เหมือนที่อาจารย์ชิบอก ถ้าเรารอดเขารอดตรงกลางไม่รอด
หรือระบบโลจิสติกเสนอมาว่าช่วงนี้เกิดวิกฤต รับส่งให้ฟรีนะ แต่พอพ้นวิกฤตเขาจะต้องไม่ขาดทุนกับต้นทุนที่มี อาจจะเป็นบริษัทที่ต้องการตอบแทนสังคม แต่ว่าคุณต้องไม่ขาดทุนนะ แต่การไม่ขาดทุนคุณได้ภาพลักษณ์ไปด้วย คุณต้องวิ่งไปพังงาอยู่แล้ว คุณก็เอาตรงนี้ไปด้วย เพียงแต่ว่าเราจะร่วมกับใครอย่างไรเท่านั้น ผมมองว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่างตอนนี้ไปรษณีไทย รับส่งผลผลิตผลไม้ให้เกษตรกร เราอาจจะร่วมกับเขาหรือ บริษัทเอกชนมาร่วมกับเราไหม
ไมตรี: ยกตัวอย่างวันนี้ ผมให้รถขนส่งส่งข้าวสารประมาณ 15 ตัน จ้างปกติไม่ต่อรองราคา 11,000 ขนข้าวสารจากสุพรรณบุรีมาพังงาพรุ่งนี้ ราคาปกติแสดงว่า 15 ตัน เราเพิ่มกิโลกรัมละ 1 บาทจากโรงสี โลจิสติกส์ไม่แพง แต่ประเด็นคือเราเพิ่งเริ่มต้น ถ้าขยายได้ เมื่อไหร่ที่เราตกลงกันได้ เติบโตได้ ในทุกกลุ่ม เป็นกำลังใจช่วยกันพัฒนาแก้มันไปด้วยกัน
วิภาพร: คิดว่าเป็นวงแชร์ ประสบการที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย เป็นมุมมองใหม่ในการทำงาน ขอสักหนึ่งท่านอัพเดตที่เดินหน้าเฟส 2 แล้ว ทำอะไรอยู่คะ
วารินทร์: ตอนนี้สร้างแพตฟอร์ม เพจ แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน คนที่ต้องการเข้ามาร่วมกับเราอาจจะเข้ามาช่วยเราก็ได้ หลังจากนี้เราจะขยายออกไปทางภาคอีสาน พูดคุย 4-5 จังหวัดใกล้ ๆ ในภาคใต้อาจจะเป็นเครือข่ายอันดามันว่ามีกลุ่มไหนบ้าง เข้าไปติดตามได้ที่แฟนเพจ แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน
สุวิชาน : หลังจากที่ระดมข้าวแลกเปลี่ยน เราไม่คาดหวังจะได้ผลิตภัณฑ์เขาคืนแต่แลกเปลี่ยนการอยู่รอดซึ่งกันและกัน เราทำงานแข่งกับเวลา 1 อาทิตย์ จะอัพเดตสถานการณ์มาเรื่อยๆนะครับ ถ้าส่งข้าวใช้คำว่าจากพี่น้องปกาเกอะญอต้นน้ำปิงสู่ปกาเกอะญอต้นน้ำเพชร อีกสเต็ปหนึ่งของเราในช่วงนี้
วิภาพร: วันนี้มีคุณผู้ชมหลายท่านมาแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่มาสนับสนุนเดินหน้ากันต่อ อยากให้คุณผู้ชมติดตามกันต่อ Thaipbs จะร่วมแลกเปลี่ยนร่วมขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง เราจะก้าวอย่างไรให้มั่นคงต่อไป