ปักหมุดธรรมนูญสุขภาพชุมชน-ตำบล เครื่องมือสร้างกติกาสังคมรับโควิด

ปักหมุดธรรมนูญสุขภาพชุมชน-ตำบล เครื่องมือสร้างกติกาสังคมรับโควิด

เมื่อโลกทั้งใบ คือ พื้นที่ของการแพร่ระบาด
ทว่าพื้นที่ของการรับมือภาคปฏิบัติ คือ ชุมชน 

การรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดทั่วโลกอยู่ภายหลักคิดของการเว้นระยะห่างทางสังคม อาทิ หยุดกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้คนรวมตัวเป็นจำนวนมาก ทำงานที่บ้าน กลับทำให้แต่การกระชับระยะห่างทางกายภาพมีความต้องแนบชิดกัน ผ่านการเกาะเกี่ยวกันผ่านกติกา ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของชุมชน หนึ่งในเครื่องเหล่านั้น คือ “ธรรมนูญชุมชน”

สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส รวมพลังกับ 11 องค์กรภาคี ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สภาองค์กรชุมชน และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชวนเครือข่ายประชาชนที่มีรูปธรรม ชุมชนสู้โควิด เปิดพื้นที่ปักหมุด C-site ทั่วประเทศไทย

หมุดในหมวดหมู่ชุมชนสู้โควิดจำนวน 88 รายการที่ปักระหว่างวันที่ 2-25 เม.ย. 63

หมุดเหล่านี้มีความหลากหลาย มีเรื่องราวการรับมือของชุมชนในหลายลักษณะ ซึ่งที่จับตามองความเคลื่อนไหว คือ ธรรมนูญสุขภาพ ธรรมนูญชุมชน 

ค้นความหมาย ธรรมนูญสุขภาพ หัวใจสำคัญคือการยกระดับความเป็นพลเมือง

ธรรมนูญสุขภาพ หมายถึง “กฎกติกา ข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชนโดยชุมชนกำหนดขึ้นเอง ประเมินกันเองในชุมชน แล้วนำมาใช้เพื่อให้เกิดความสุขของคนในชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องการเจ็บป่วยทางร่างกาย แต่หมายรวมถึงความสุขในทุก ๆ ด้านทั้งร่างกาย จิตใจ จิตสังคมและจิตวิญญาณ”

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 25 เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศที่ครอบคลุมองค์ประกอบของสุขภาพทั้งระบบ โดยมี กระบวนการที่เน้นเรื่องการทำงานด้านวิชาการและการสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมทุกภาคส่วน ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการนำแนวคิดของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาตินี้ ไปส่งเสริมให้เกิดการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาสุขภาวะในระดับชุมชน ตามบริบทและความต้องการของชุมชน อย่างมีส่วนร่วม โดยชุมชน เพื่อชุมชนเอง

“หัวใจสำคัญของธรรมนูญสุขภาพคือการยกระดับความเป็นพลเมือง ถ้ามีประชาชนมีสำนึกเกิดขึ้น เขาจะอยากแก้ปัญหาชุมชน เมื่อมีฉันทามติร่วมกัน จะนำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ จากสิทธิสุขภาพไปสู่สิทธิพื้นฐานทุกเรื่อง อีกทั้งยังช่วยให้การใช้เงินของกองทุนสุขภาพตำบลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชน” นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น เคยกล่าวในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2562

เมื่อโควิดส่งผลกระทบชุมชน ภาพที่เริ่มปรากฏตัวออกมาชัดมากขึ้น คือ การตั้งหลักรับมือโดยตัวของชุมชนเอง ควบคู่ไปกับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ

กล่าวโดยสรุป ธรรมนูญสุขภาพ 

กรอบข้อตกลงของชุมชนที่ใช้ได้จริงตามบริบทของชุมชน และเครื่องมือในการหารือและสร้างมาตรการทางสังคมร่วมกันในท้องถิ่น แล้วยกร่างขึ้นเป็นสัญญาประชาคมในทางปฏิบัติมากกว่าเป็นลายลักษณ์อักษร 

แบ่งได้เป็น 8 ด้านหลัก 

  1. แนวทางการปฏิบัติตนของบุคคลและครอบครัว 

  2. การเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง และประสานสนับสนุนข้อมูลกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคระดับต่าง ๆ

  3. การช่วยเหลือดูและกันของคนในชุมชน ท้องถิ่น สังคม การดูแลกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม

  4. การจัดการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้รองรับคนในชุมชน ท้องถิ่น สังคมได้

  5. การจัดการขยะ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะติดเชื้อ

  6. การจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อาสาสมัครต่าง ๆ

  7. การจัดกิจกรรมทางสังคม ประเพณี

  8. การสื่อสาร รณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจสู่ประชาชน และสาธารณะ

รูปธรรมธรรมนูญสุขภาพชุมชนตำบลที่กำลังก่อร่าง

[Live] 13.30 น. #โควิด19สู้ไปด้วยกัน : บทบาทวัดในวันที่เผชิญโควิด-19 (16 เม.ย. 63)

[Live] 13.30 น. #โควิด19สู้ไปด้วยกัน : บทบาทวัดในวันที่เผชิญโควิด-19 (16 เม.ย. 63)…การปรับบทบาทของวัดและกิจกรรมทางพุทธศาสนาในเวลาที่ต้องเผชิญกับวิกฤต #COVID19 ในเชียงใหม่ ร้อยเอ็ด และนครศรีธรรมราช 📌 รับชมได้ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 หรือรับชมทางออนไลน์• Website : www.thaipbs.or.th/live • ชมอีกครั้งทาง : www.thaipbs.or.th/WeFightCovid19

โพสต์โดย Thai PBS เมื่อ วันพุธที่ 15 เมษายน 2020

ทุนชุมชนหนุนอสม.ชุมชนรับมือโควิด

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าผาประชุมวิสามัญครั้งที2/63 https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000011497

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่าน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าผาประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/63 เพื่อหารือในการมีส่วนร่วมป้องกันโรคระบาดโควิด19 ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องนั้น คณะกรรมการจึงมีมติเห็นชอบอนุมัติสนับสนุนเงินจำนวน 20,000บาท ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ต.ท่าผา อ. แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ทั้ง 10 หมู่บ้าน เพื่อไปดำเนินการจัดชื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด -19 

คนทั้งตำบลโยธะกา จ.ฉะเชิงเทรา

ต.โยธะกา ออก “ธรรมนูญสุขภาพ” ปลุกชาวบ้านร่วมสกัดโควิด https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000011637

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโยธะกา ประชาชนในต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมด้วยผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอบต.โยธะกา สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโยธะกา อสม. และผู้นำศาสนา ได้ประชุมพิจารณาจัดทำ “ประกาศธรรมนูญสุขภาพตำบลโยธะกา” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยสร้างความร่วมมือในด้านต่าง โดยเฉพาะทำให้กิจกรรมที่หลีกเลี่ยงการจัดไม่ได้ในต.โยธะกามีการเว้นระยะห่าง คือ งานศพ ซึ่งมีการจัดพื้นที่ เก้าอี้ โต๊ะ เว้นระยะห่าง รวมใช้มาตรการควบคุมโรค ทั้งการวัดไข้ ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันในสถานการณ์ดังกล่าว

จากโควิดถึงผลกระทบคนจนเมืองแดนใต้ ประชุมออนไลน์เชื่อมพื้นที่หาทางรับมือ

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 ศูนย์ประสานงานการพัฒนาสังคมจังหวัด กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพ้ืนฐานทางปัญญา (4PW) จังหวัด สงขลา ยะลา ปัตตานี เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตำบลบ่อยาง ทีมงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)สมาคมอาสาสร้างสุข ชุมชนเทศบาลเมืองยะลา จัดประชุมออนไลน์ผ่านทางโปรแกรมซูม ในประเด็น ชุมชนเขตเมืองและคนจนเมืองจะรับมือโควิดได้อย่างไร  

เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่นี่เป็นชุมชนแออัด ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว รวมตัวในนามเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์บ่อยาง 7 ชุมชนมีกลุ่มเปราะบางที่ผ่านการสำรวจมาก่อนหน้าแล้วในนามศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง (ร่วมกับกลุ่มออมทรัพย์ในโครงการบ้านมั่นคง) จำนวน 230 คน ไม่นับคนตกงานและสมาชิกใหม่ที่ยากลำบากเพิ่มเติมจากปัญหาโควิด ปัจจุบันต้องการช่วยเหลือเร่งด่วน คือ อาหาร 2 มื้อ หลายคนเริ่มทานอาหารไม่ครบมื้อและว่างงาน 

ธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๔ ชุมชนเขตเมืองและคนจนเมืองจะรับมือโควิด๑๙ได้อย่างไร https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000011689

นอกจากนั้นแล้วการทำงานร่วมกันในชุมชนระหว่างกลุ่มกับท้องถิ่นยังมีช่องว่าง สมาชิกจำนวนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน และไม่ได้อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของทน.สงขลา ความช่วยเหลือในเรื่องอาหารไม่ลงถึง การเป็นชุมชนแออัดแม้จะมีอสม.เข้าไปคัดกรอง แต่ผู้ที่ป่วยไข้ไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อโควิดหรือไม่ การคัดกรองพบปัญหาชุมชนไม่ให้ความร่วมมือไปตรวจที่รพ. และไม่เชื่อแกนนำ  

แนวทางรับมือ 1.  ใช้กลไกศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงาน เช่น กาชาด สมาคมอาสาสร้างสุข ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พอช. ฯลฯ ที่ผ่านมาในการช่วยเหลือด้านการทำหน้ากากได้รับบริจาคจากเอกชน ร่วมกับกาชาดรับงานทำหน้ากากมาสร้างรายได้ ในอนาคตอันใกล้จะได้เงินช่วยเหลือโดยจะได้รับจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 30 ราย รายละ 3,000 บาท เน้นในกลุ่มคนทำงาน พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยทางศูนย์บ่อยางจะมีการคัดกรองอีกครั้ง นอกจากนี้สำนักงานพัฒนาการจังหวัด จะมาหาแนวทางการช่วยเหลือร่วมกับชุมชน โดยใช้องค์กรสตรีเขียนโครงการผ่านกองทุนหมุนเวียนจำนวน 50,000 บาท และเข้าร่วมกับโครงการบูรณาการสร้างสุขภาพอนามัยนำเงินมาสร้างรายได้เสริมอาชีพให้กับกลุ่มสมาชิก(ข้าวถ้วย ฯลฯ) เป็นช่องทางหนึ่งในการนำเงินมาช่วยเหลือกันในชุมชน 

2. จัดทำครัวกลางชุมชน รวมถึงการจัดทำแผนที่กลุ่มเปราะบางรายชุมชน ด้วยการปักหมุดหรือระบายสีครัวเรือนในแต่ละชุมชน เพื่อให้รู้ว่าคนเปราะบาง จำนวน 230 คน อยู่โซนไหนบ้าง และนำมาประกอบในการทำแผนการช่วยเหลือ เช่น โรงทานอยู่ตรงไหน จุดรับอาหารอยู่ตรงไหน เพื่อจะได้รู้ว่าช่วยใครไปแล้วบ้าง กี่คน ขาดเหลืออะไรวางแผนสื่อสารกับคนภายนอกเพื่อระดมความช่วยเหลือ  

3. จัดระบบทีมในการทำงานแบบบูรณาการงบประมาณจากหน่วยงานเครือข่าย แยกกิจกรรมการทำงานของโครงการบ้านมั่นคงและศูนย์บ่อยางสงขลาพึ่งพาตนเอง เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น โดยใช้ระบบทีมในการปรึกษาหารือและการทำงานร่วมกัน แต่ใช้งบประมาณบูรณาการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจาก พอช. มูลนิธิชุมชนสงขลา/อบจ.สงขลา กองทุนตำบล กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ และอื่นๆ ที่จะเข้ามาเสริมในอนาคต  นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อมูลสถานการณ์ทั่วไปที่สำคัญ

คนอุบลเชื่อมโยงเครือข่ายบูรณาการแผนและงบประมาณสู้โควิด19

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ณ ห้องประชุมวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กปข.) เขตพื้นที่ 10 ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 10 อุบลราชธานี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เครือข่ายขบวนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประชุมปรึกษาหารือ วางแผนบูรณาการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด 19 ในเขตสุขภาพที่ 10 โดยใช้ธรรมนูญตำบลเป็นเครื่องมือในการสร้างมาตรการทางสังคม กล่าวคือ วางแผน กำหนดเป้าหมายร่วม บูรณาการงบประมาณและแผนงานดำเนินงานเพื่อให้แต่ละหน่วยงานให้มีการปรับแผนการดำเนินงานมีความสอดคล้องกัน

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 10 เป็นประธานในการประชุมร่วมกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วย นายอำเภอในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) สาธารณสุขอำเภอ ในฐานะเป็นเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอหรือ พชอ. ใน 10 อำเภอ อปท. 136 แห่ง เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 

ทั้งนี้ ขั้นตอนเริ่มต้นจะมีการให้ข้อมูลการดำเนินงานธรรมนูญตำบลที่ผ่านมา ความสำคัญของธรรมนูญตำบล การนำเสนอบทเรียนการดำเนินงานของพื้นที่ดำเนินงานมาแล้ว 2 อำเภอ ได้แก่ อ.พิบูลมังสาหาร และอ.โขงเจียม ส่วนอีก 8 อ.อยังไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใด หลังจากนี้จะมีขั้นตอนการนัดหมายดำเนินงานในการสร้างความเข้าใจธรรมนูญตำบล การรับร่างธรรมนูญระดับอำเภอ การวางแผนขับเคลื่อนระดับตำบล และคณะทำงานแต่ละตำบลจะนำร่างธรรมนูญที่มีการยกร่างระดับอำเภอนั้นไปดำเนินการประชาพิจารณ์ เพิ่มเติมข้อมูลให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละตำบล แล้วจะมีการประกาศใช้ธรรมนูญตำบลต่อไป 

ส่วนงบประมาณที่จะมีการบูรณาการระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ผ่านมายังเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 10 เพื่อใช้ในการประชุมวางแผนและบูรณาการเครือข่ายระดับเขต-จังหวัด ส่วนงบประมาณระดับอำเภอจะมีการขอใช้เงินอุดหนุนแต่ละ อปท.เป็นผู้สนับสนุนหรือการนำงบประมาณส่วนของสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีไปใช้ด้วย และในส่วนของตำบลจะมีการใช้งบประมาณจาก กองทุนตำบลของสปสช. ระดับตำบล และสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีมีการดำเนินงานในระดับตำบล/ท้องถิ่น ในท้ายนี้ทางสปสช.ยังมีการเตรียมความพร้อมให้เครือข่าย/กลุ่มต่าง ๆ /หน่วยงาน พัฒนาโครงการของงบประมาณจากสปสช.มาดำเนินงานได้เลยไม่ต้องผ่านการประชุมคณะกรรมการกองทุนตำบลอีกขั้น เพียงการอนุมัติของท่านนายกท้องถิ่นแต่ละแห่งก็สามารถนำเงินมาดำเนินงานในช่วงของภัยโควิดนี้ได้แล้ว

กขป.10 เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายพื้นที่อุบลฯบูรณาการแผนและงบประมาณต่อสู้โควิด19 https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000011592

ภาพตัวอย่างที่กองบรรณาธิการเบื้องต้น เป็นกิจกรรมและเนื้อหาการตั้งหลัก รับมือระดับชุมชน ซึ่งถูกปักหมุดและรวบรวมไว้ในแอปพลิเคชัน Csite พื้นที่การสื่อสารภาคพลเมือง ไทยพีบีเอส ด้วยความร่วมมือกันองค์กรภาคีทั้งหมด 12 หน่วยงาน ‘ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้  ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคพลเมืองในการสร้างและขับเคลื่อนมาตรการชุมชน เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด 19 โดยหน่วยงานภาคีส่วนกลางจะปรับแผนงานและกำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานในพื้นที่ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานมี สช.และพอช. เป็นหน่วยประสานงานกลาง

ประเทศไทยมีตำบลกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ทุกพื้นที่มีกลไกการทำงานระดับพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการ และเครือข่ายประชาชนในด้านต่าง ๆ แม้โรคติดเชื้อโควิด-19 ยังระบาดต่อไป ทว่า กลไกของชุมชนก็กำลังเติบโต ปรึกษาหารือ จัดรูปทุนในชุมชน เพื่อสอดประสานสร้างข้อตกลงอันเป็นฉันทามติในระดับชุมชนเพื่อรับมือในทุกมิติของชีวิตในระยะยาวเช่นกัน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งหลักรับมือ ปักหมุดแบ่งปันกิจกรรม เล่าเรื่องราวของ #ชุมชนสู้โควิด #พลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัย เพราะเราต้องรอดไปด้วยกัน.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ