คุยกับชุมชนเกื้อวิทยา : สู้โควิดกลางกรุงด้วยการเชื่อมเพื่อน

คุยกับชุมชนเกื้อวิทยา : สู้โควิดกลางกรุงด้วยการเชื่อมเพื่อน

ณ เวลานี้ โควิด-19 ไม่ใช่แค่เรื่องของเชื้อโรค การแพร่ระบาด

แต่หากเป็นการควบคุม หากเป็นการปรับตัว ตั้งหลัก และรับมือแสวงหาการอยู่ร่วมแบบใหม่ หรือการทำงานเพื่อสร้างปัจจัยและเงื่อนไขให้คนในชุมชนอยู่รอด ทั้งจากเชื้อโควิดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม จิตใจที่เป็นลูกโซ่ตามมา

คำถามมีอยู่ว่าแล้วเรามีเลือก มีทางรอด มีประสบการณ์อย่างไรบ้าง? 

ทีม Thecitizen.plus อาสาผู้อ่านลงสำรวจชุมชนเกื้อวิทยา ซึ่งเป็นชุมชนเมือง หรือชุมชนแออัดในเขตเมือง ย่านฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่ขยับตัวจัดการกันภายในชุมชนของตัวเอง ตั้งเป็นศูนย์ประสานงานชุมชนต่อสู้ป้องกันโควิด-19 แล้วเชื่อมประสาน 2 ชุมชนรอบข้างเกื้อวิทยา “รอดไปด้วยกัน” ชวนกันเชื่อมงาน จาก 1 ชุมชนกลายเป็น 3 และยังต่อยอดข้ามฝั่งถนน เชื่อมการเรียนรู้กับอีก 3 ชุมชนจนกลายเป็น 6 ชุมชนในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นคณะทำงานแกนนำยังเดินสายเป็นวิทยากรอบรม แบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ชุมชนที่สนใจหลายที่จาก 50 เขตของกรุงเทพฯ

ชุมชนเกื้อวิทยา แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี เป็นชุมชนประเภทแออัด หรือชุมชนเมือง ซึ่งประกาศเป็นชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2535 ชุมชนนี้ตั้งอยู่ ณ ซอยเจริญนคร ถนนเจริญนคร เป็นหนึ่งใน 43 ชุมชนของเขตธนบุรี ชุมชนเกื้อวิทยามีประชากรราว 69,000 คน จาก 12,598 หลังคาเรือน (ข้อมูลจากสถิติชุมชนของกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงล่าสุด 14 มกราคม 2562)

ทุนต่อทุน ชุมชนมีกลไกเครื่องมือ

พี่ณัฐวดี มิ่งชัย แกนนำชุมชนเกื้อวิทยา ผู้หญิงทำงานสายพัฒนาชุมชน ผ่านมิติสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค เล่าความเคลื่อนไหวในพื้นที่ว่า พอมีข่าวเรื่องการระบาดเรื่องโคโรนาในช่วงต้นปี ตอนนั้นในกรุงเทพฯ ก็เจอมีเรื่องฝุ่นพอดี ก็เลยทำเรื่องฝุ่น pm 2.5 ก่อน พอโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ถูกย่อชื่อให้สั้นเป็นโควิด-19 และพบการระบาดเข้ามาในประเทศไทย ก็เริ่มคิดวางแผนป้องกันชุมชน โดยการให้ความรู้เรื่องการป้องกันโควิด ซึ่งก็มีข้อมูลต่าง ๆ จากหน่วยงานไหลเข้ามา เช่น การทำเรื่องเจลล้างมือ

เกื้อวิทยาก็เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทย ที่กลไกสายงานอนามัยมีการส่งเสริมเรื่องการเจลล้างมือ ตัดเย็บหน้ากากอนามัย แต่ชุมชนนี้ไปได้ไว คล่องตัวเพราะต่อยอดจากฐานงานเดิมของชุมชน

“ชุมชนเราก็พยายามมองหามาตรการป้องกันไม่ให้มีการระบาดในชุมชน หรือป้องกันไม่ให้คนในชุมชนไปรับเชื้อและนำเข้ามาในแพร่ในชุมชน ใหม่ ๆ ก็ทำในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพราะตัวสภาองค์กรชุมชนก็มีประสบการณ์ทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่าง ๆ จึงสามารถทำสเปรย์ เจล แอลกอฮอล์ แจกให้กับคนนำไปใช้ที่บ้านหรือพกพาระหว่างทำงานอยู่นอกชุมชน”

แผนงาน “ธรรมนูญชุมชน” สู้โควิดของชุมชนเกื้อวิทยา

ใช้เฟซบุ๊ก/ไลน์ สื่อสารภายนอก ประกาศเสียงตามสายสื่อสารภายในชุมชน

พี่ณัฐวดี เล่าอีกว่า เกื้อวิทยาเริ่มจากตรงนี้ ทำเรื่อยแล้วโพสลงเฟซบุ๊ก ส่งไลน์จนชุมชนอื่น เห็นว่าพี่ทำตรงนี้ก็อยู่เลยประสานให้ไปช่วยสาธิตกับชุมชนในหลายเขตของกรุงเทพฯ

“เมื่อกลับมายังชุมชนเกื้อวิทยา เราก็ยังไม่ทิ้งชุมชนของเราก็ ก็ทำเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนในชุมชนของเราโดยมาตลอด จนเกิดความคิดที่ตั้งศูนย์ประสานงานชุมชนต่อสู้ป้องกันโควิด-19 ขึ้นมา เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการให้ความรู้ ออกเสียงตามเสียงตามสาย ประชาสัมพันธ์” 

จากสุขอนามัยขยับสู่ปากท้อง สำรวจทำข้อมูลความเดือดร้อนคนในชุมชน

ในส่วนปัญหาเรื่องโควิด ซึ่งแทบจะทุกครัวเรือนต้องหยุดงานและมาอยู่ที่บ้าน แกนนำชุมชนก็มานั่งคิดกันว่าจะดูแลเขาอย่างไร เลยคิดเรื่องการทำข้อมูลแต่ละหลังคาเรือน ว่ามีสมาชิกกี่คน มีผู้ป่วย หรือมีผู้สูงอายุหรือไม่ มีคนทำงานกี่คน แล้วมีผลกระทบหรือไม่ และลงไปเก็บข้อมูลอยู่เป็นระยะ ไม่ใช่การสำรวจครั้งเดียวจบ 

ทำเรื่องนี้จนคนเริ่มรับรู้ หน่วยงานในพื้นที่ เช่น สถานีตำรวจนครบาลก็เข้ามาทำงานร่วม รวมถึงสำนักงานเขตธนบุรี สิ่งแวดล้อม ฝ่ายรักษาความสะอาด ศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งทำหน้าที่กับเรื่องนี้โดยตรงก็มาเชื่อมกับเรา พอสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เห็น เขาก็เลยประสานงานในการเข้ามาดูและชวนพัฒนาเป็นโมเดลการจัดการของชุมชน และมาหนุนเสริมให้เป็นตัวอย่างของการลุกขึ้นมาป้องกันและดูแลตัวเองในชุมชน

ศูนย์ประสานงานฯ ในปัจจุบันจึงมีโครงสร้าง ประกอบด้วย คณะทำงาน ประธาน หน่วยงานในพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขและสำนักงานเขตธนบุรีที่ดูแลโดยตรง รวมถึงหน่วยงานภายนอก อาทิ สช. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. ร่วมกันทำแผนงานเชื่อมประสานกัน

ชุมชนเดียวรอดไม่ได้ ต้องชวนชุมชนรอบข้างรอดไปด้วยกัน

พี่ณัฐวดี ขยายความว่า ชุมชนเกื้อวิทยา เป็นชุมชนเปิดสามารถเข้าจากต้นซอยไปทะลุได้อีก 2 ชุมชน หรือทะลุได้อีก 2 ถนน ชุมชนเกื้อวิทยาจึงมีคนสัญจรผ่านไปมา ซึ่งถ้าควบคุมให้อยู่มือก็จะจัดการเรื่องคนออกคนเข้า และเชื่อมกับอีก 2 ชุมชน นั่นคือ ชุมชนเกื้อวิทยา ชุมชนวัดราชวรินทร์วัดราช ชุมชนสุทธาราม เพื่อดูแลร่วมกันประมาณ 1,200 หลังคาเรือน

“ถ้าชุมชนพี่ทำอยู่ชุมชนเดียวจนไม่มีการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อในชุมชนนี้ แต่ชุมชนค้างเคียงพี่มีกลุ่มเสี่ยง ต้องเฝ้าระวัง พี่คิดว่าชุมชนเกื้อวิทยาก็ไม่น่าจะรอด ดังนั้นจึงไปประสานในการทำงานร่วม จนตอนนี้กลายเป็นว่าทั้ง 3 ชุมชนได้ทำเรื่องการเฝ้าระวังป้องกัน ก็หมายความตอนนี้ทั้ง 3 ชุมชนจึงเป็นพื้นที่ปิด ใครเข้ามาในบริเวณ 3 ชุมชนนี้เราก็ตรวจด้วยเครื่องวัด มีการแจ้งเตือนให้สวมหน้ากากอนามัย และแจกหน้ากากผ้าให้ เนื่องจากเราก็มีกิจกรรมทำหน้ากากผ้าด้วย เพราะหน้ากากอนามัย n95 ชาวบ้านเราคงไม่มีความสามารถในการเข้าถึง”

นอกจากนี้ ทั้ง 3 ชุมชนยังมีตลาดสดที่คนจากทั้ง 3 ชุมชน เข้ามาใช้พื้นที่ มาขาย มาซื้อของร่วมกัน จึงเข้าไปทำงานกับตลาดด้วย โดยใช้มาตรการของชุมชนกับเจ้าของตลาดในการทำงานป้องกันร่วมกัน

ภาพจากหมุดในแอปพลิเคชัน C-site ที่มา https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000011687

สำรวจข้อมูลให้ถุงยังชีพดูแลชีวิต ปูพรมอสส.ดูแลความเครียดจิตใจ

ระยะสั้นก็คือที่ทำอยู่ในปัจจุบันอย่างการให้ความรู้ ออกเสียงตามสาย ให้ทุกคนเฝ้าระวังกัน ระยะกลางและระยะยาว วางเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าสถานการณ์มันยืดออกไปยาวนานแค่ไหน สถานที่ทำงาน บริษัทห้างร้านต่าง ๆ อาจยังไม่เปิด คนที่หาเช้ากินค่ำในชุมชนก็มีแล้วเศรษฐกิจในครัวเรือนของเขาจะเป็นอย่างไร เงินออมก็คงหร่อยหรอย เราก็เลยจัดทำข้อมูลพวกนี้ขึ้นมา ลงไปเก็บข้อมูลแต่ละหลังคาเรือนว่ามีผลกระทบหรือเดือดร้อนอย่างไร และทำเป็นครัวชุมชนขึ้นมา แต่ไม่ใช่การทำกับข้าวให้เขามารับเช้ากลางวันเย็น แต่จัดเป็นของใช้ที่จำเป็นต่อการประทังชีวิต เช่น ข้าวสาร ของแห้ง และของใช้ในครัวเรือนที่เขาสามารถเอาไปทำอาหาร ดำรงชีวิตกันเองได้ ที่เพียงพอสำหรับการอยู่ 4-5 วัน และก็จะมีการสำรวจความเดือดร้อนของคนในชุมชนเป็นระยะ ถ้าเขายังเดือดร้อนเราก็ช่วย หรืออาจมีคนต้องการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นมา

“3 ชุมชนเรามีอสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข) เยอะ เราก็ดูแลเรื่องการจัดการกับความวิตกกังวล ความเครียด และปัญหาสุขภาพจิต ที่อาจสะสมและเพิ่ม ก็ใช้วิธีการลงไปพูดคุยทุกวัน สังเกตกัน ใช้ระบบบ้านช่วยบ้าน ให้เพื่อนบ้านช่วยดูแลกัน หากพบว่ามีสัญญาณที่น่าห่วงกังวลก็ให้แจ้งเข้ามาที่ศูนย์ฯ”

ผู้นำชุมชนคือสารตั้งต้น รวมพลังชุมชนพากันรอด 

การทำงานด้านนี้มันเกิดจากใจผู้นำก่อน ผู้นำมีความคิดที่จะต้องดูแลคนในชุมชนของตัวเอง มันก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของงานในพื้นที่ได้

“โรคระบาดไม่เหมือนน้ำท่วมซึ่งบางแห่งบางคนไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่โรคระบาดเจอกันทั้งประเทศ ไม่มีใครเจอประสบปัญหาเพียงลำพัง ถ้าพี่สนใจเฉพาะแค่บ้านพี่หรือชุมชนพี่เพียงแห่งหนึ่ง ไม่สนใจบ้านอื่นหรือชุมชนรอบข้าง ท้ายสุดยังไงพี่ก็ไม่รอด ต้องเอาบ้านซ้าย บ้านขวามาคุยกันว่าเราจะทำอย่างไร”

หลักคิดในการทำงานเราไม่ทำคนเดียวก็พยายามจะชวนคนในชุมชนอื่นมาดูด้วย เขาก็สนใจแต่ศักยภาพของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน บางชุมชนผู้นำยังไม่เข้มแข็ง หรือชุมชนยังไม่มีความพร้อมในการลุกขึ้นมาทำด้วยตัวชุมชนได้ ก็อาจต้องให้หน่วยงานเข้ามาหนุนเสริม หรือไปริเริ่มให้

ชุมชนเกื้อวิทยาก็อยากจะเป็นชุมชนตัวอย่างให้ชุมชนอื่นได้เห็น และลุกขึ้นมาทำเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกถ้าชุมชนพี่รอดแต่ชุมชนอื่น ๆ ในเขตธนบุรีไม่รอด มันก็จะไม่รอดเหมือนกัน ก็พยายามจะสื่อสารบอกเขาว่าเราทำอะไรอยู่ หรือต้องการคำแนะนำช่วยเหลืออะไรหรือไม่

“เราใช้เสียงตามสายเป็นสื่อกระจายข่าวสารกับคนในชุมชนให้รู้กิจกรรมต่าง ๆ และใช้พื้นที่การสื่อสารต่าง ๆ บอกกล่าวสิ่งที่พวกเราทำ ถ้าชุมชนเกื้อวิทยารอดได้ ชุมชนอื่นก็ต้องรอดและดูแลคนในชุมชนได้เช่นกัน

6 ชุมชนนำร่องความร่วมมือชุมชนสู้โควิดเขตธนบุรี

อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธบุรี พิจารณาวาระเร่งด่วนเพื่อขอมติที่ประชุมปรับแผนงานโครงการฯ บางส่วนเพื่อนำงบประมาณมาดำเนินการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบและให้การรับรอง และได้มอบงบประมาณให้กับผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังโควิด19 จำนวน 6 ชุมชนนำร่อง เพื่อนำไปดำเนินการเฝ้าระวังและดำเนินการในระยะกลาง คือการติดตามเก็บรวบข้อมูลชุมชนสอบถามความเป็นอยู่และผลกกระทบที่ประชาชนได้รับช่วงวิฤกติโควิดนี้

ชุมชนเกื้อวิทยาเป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างที่มีปฏิบัติการ #ชุมชนสู้โควิด สามารถดูความเคลื่อนไหวชุมชนสู้โควิดในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทยผ่านทางเว็บไซต์แอปพลิเคชัน C-site ของไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคี 12 หน่วยงาน ‘ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคพลเมืองในการสร้างและขับเคลื่อนมาตรการชุมชน เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด 19  

ภาพประกอบ: เฟซบุ๊กส่วนตัว ณัฐวดี มิ่งชัย

“6 ชุมชน” สานพลังสู้ภัยโควิด (17 เม.ย. 63)

อีกกำลังสำคัญในการควบคุมและป้องกันโควิด 19 คือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนกับหน่วยงานในพื้นที่ หมุดนี้ คุณณัฐวดี มิ่งชัย ประธานชุมชนเกื้อวิทยา เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ปักหมุดเล่าถึงการจัดการในชุมชนที่มีการประชุมปรึกษาหารือ ของตัวแทนและผู้นำชุมชนใกล้เคียง 6 ชุมชน เพื่อรับมือโควิด-19 ร่วมกัน เพราะสมาชิกชาวชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างต่างได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ (17 เม.ย. 63)#กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ