เปิดไอเดียโรแมนติก ปลาแลกข้าวสู่ความจริงของทางรอดเศรษฐกิจ Post Covid-19

เปิดไอเดียโรแมนติก ปลาแลกข้าวสู่ความจริงของทางรอดเศรษฐกิจ Post Covid-19

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ..สังคมไทยได้ชุ่มชื่นใจตื่นเต้นกับปรากฏการณ์แสนโรแมนติก นั่นคือภาพการแบ่งปัน “ข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าว” ระหว่างชาวเลแห่งท้องทะเลอันดามัน ชนเผ่าบนดอยสูงของภาคเหนือ และชาวนาแห่งทุ่งข้าวแดนอีสาน

เงินทองสิมายา ข้าวปลาสิของจริง ”  เกิดขึ้นให้เห็น !!  

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นี้เมืองชาวเลมอแกนกว่า 300 ชีวิตขาดข้าว ทำไมพวกเขาขาดข้าว ถ้าจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว เกิดไฟไหม้หมู่บ้าน ซึ่งยังฟื้นฟูไม่แล้วเสร็จเกิดโรคระบาดโควิดมาซ้ำเติม รายได้จากการทำของที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยวของอุทยานฯหมู่เกาะสุรินทร์ก็หายไปเมื่อเกาะต้องปิด และการเดินทางออกนอกพื้นที่ยากลำบาก  ชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต และจากชุมชนชาวเลทับตะวัน บ้านน้ำเค็ม จ.พังงาที่ชำนาญการออกทะเลหาปลา จึงแปรรูปปลาทำปลาแห้ง กว่า 1,500 กิโลกรัม เพื่อแลกข้าวสารกับเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดยโสธรเป็นการเริ่มต้น  ขณะที่ข้าวหอมมะลิ 9 ตันจากภาคอีสาน โดยเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดยโสธรก็รวบรวมกัน เพื่อส่งมายังจังหวัดภูเก็ตและพังงา ต่อมาข้าวดอยจากชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอภาคเหนือจากจังหวัดตาก เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน  เป็นผลผลิตจากการทำไร่หมุนเวียนในช่วงปลายปีที่ผ่านรวบรวมกันได้กว่า 6,000 กิโลกรัมทยอยส่งมายังริมทะเลและหมู่เกาะที่อาศัยของชาวเล   

การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องกำไร-ขาดทุน ไม่ได้แลกกันด้วยเงิน แต่แลกกันบนพื้นฐานของการแบ่งปันความเป็นธรรม

ธรรมในที่นี้หมายถึงวัฒนธรรมซึ่งเคยเป็นวิถีปกติมานานของสังคมไทยยุคสมัยหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เงิน แลกเปลี่ยนกันด้วยข้าวของที่มีได้ แต่การจะทำแบบนี้ได้ พื้นที่ต้องมีต้นทุนทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เป็นหนึ่งเดียวกับวิถี นำมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้การให้ชุมชนเหล่านี้สามารถพึ่งตนเองได้ แม้เหมือนจะเป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เป็นระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ไม่ได้เป็นเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่มีกลไกห่วงโซ่ของการผลิตสู่การบริโภคมากมายซึ่งมีผลต่อราคาและแสนจะไม่โรแมนติก แต่หากจะพัฒนาให้รูปแบบการแลกเปลี่ยนแบ่งปันที่อิ่มท้อง อิ่มใจ เกิดคุณค่าและมูลค่าได้ในความเป็นจริง พวกเขามองเห็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาไปหรือไม่ 

ทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส  โดย ฟักแฟง วิภาพร วัฒนวิทย์ เปิดวงคุยกันผ่านออนไลน์ในรายการ โควิด -19 สู้ไปด้วยกันกับตัวแทนเครือข่ายภาคเหนือ อีสาน และใต้ พบซึ่งเป็นแกนหลักในการแสวงหาทางรอดจากวิกฤตและมองไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

ไมตรี จงไกรจักร ผจก.มูลนิธิชุมชนไท ตัวแทนเครือข่ายภาคใต้ / วารินทร์ ทวีกันย์ กรรมการสมาคมชาวยโสธร ตัวแทนเครือข่ายภาคอีสาน / สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์  ตัวแทนเครือข่ายภาคเหนือ

Q : สถานการณ์ล่าสุด การเดินทางของข้าวและปลา ถึงไหนกันแล้วคะ

พี่วารินทร์   : เครือข่ายยโสธรทางภาคอีสานส่งข้าวไปยังภาคใต้ จำนวน 9 ตัน และปลาชาวเครือข่ายชาวเลอันดามัน ก็ส่งไปถึงยังเครือข่ายภาคอีสาน และทำการแจกจ่ายส่งมอบให้พี่น้องเกษตรกร ให้ตัวแทนตลาดและมีการแจกจ่ายอย่างต่อเนื่องไปสู่กลุ่มเกษตรกร

พี่ไมตรี   :  ตอนนี้ข้าวออกจากสนามบินถึงชุมชนและจะทำการแจกจ่ายในชุมชนราไวย์ และแบ่งไปยังพี่น้องเกาะหมู่เกาะพีพี การแจกข้าวหลังจากนี้จะแบ่งเป็น 2 กอง ส่วนที่ 1 มาที่จังหวัดพังงา 4,000 กิโลกรัม ก้อนแรกไปยังผู้คนที่ไม่สามารถออกมาทำมาหากินได้เลย และอยู่ห่างไกลทะเล แจกจ่ายไปประมาณ 40 กิโลกรัม และต้องใช้เรือสปีดโบ๊ทวิ่งไปประมาณเวลา 1 ชั่วโมง เพราะหัวใจสำคัญที่เกาะสุรินทร์เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในชาวเล เพราะว่าห่างไกลอยู่ในเขตอุทยานออกไปทำมาหากินไม่ได้ เราจึงส่งก้อนแรกไปให้ยังพี่น้องหมู่เกาะสุรินทร์

ส่วนที่ 2 จำนวน 25,000 กิโลกรัมในจังหวัดพังงานำมาแจกจ่ายให้กับคนที่ทำปลาก่อน ส่วนที่เหลือพี่น้องที่ทำการระดมปลานำไปแบ่งปันให้พี่น้องที่อื่น ๆ และทำเป็นกองทุนข้าวสารด้วยเพื่อคนในชุมชนบ้านทับตะวัน และบ้านน้ำเค็ม 2 พื้นที่นำร่อง ในส่วนของภูเก็ตส่งลงไปที่เกาะชุมชนราไวย์ ภูเก็ต ชุมชนราไวย์ก็แบ่งเป็นสองก้อน ก้อนที่หนึ่งแบ่งแจกจ่ายให้พี่น้องในชุมชน แจกทุกคนไม่ว่าคนทำปลาหรือไม่ทำปลาหรือไม่ ก้อนที่ 2 คือให้กับคนที่ทำปลาเพิ่มขึ้น ก็จะแบ่งเป็นกองทุนไว้สำหรับคนในชุมชนที่นำมาร่วมกันเอาข้าวสารไปและเอามาคืนในตอนหลัง หรือใช้วิธีอื่น ๆ ก็ตาม และในการหารือกันอีกครั้งพี่น้องที่หมู่เกาะพีพีหลายครอบครัวก็อาศัยอยู่ในเกาะ เป็นพื้นที่อุทยานและออกมาทำมาหากินยากลำบากในช่วงนี้พี่น้องราไวย์จึงแบ่งข้าวสารไปให้ส่วนหนึ่ง ส่งไปแบ่งปันให้พี่น้องกลุ่มเกาะพีพีด้วย สิ่งนี้เป็นน้ำใจที่เห็นภาพชัดขึ้น

Q : ย้อนถามพี่รินทร์ เรื่องของการขนส่งเพราะเส้นทางการเดินทางจากอีสานสู่ใต้ มันต้องทลายอุปสรรคอะไรบ้าง เชื่อว่าเป็นสิ่งไม่ง่าย

พี่วารินทร์ : เราต้องใช้คำว่าเบื้องหลังเยอะมากในการขนส่งครั้งนี้ แต่เราก็มีความสุขที่ได้ทำ ภาพในวันนี้ที่ออกมานั้นเหมือนเป็นการจบภารกิจของในส่วนแรก ก่อนที่จะมีวันนี้ทางยโสธรที่ไปที่มาพี่ไมตรี และชุมชนชาวเล ไม่มีข้าวสารจะรับประทานแล้วหรือในส่วนของทางพี่ไมตรีบอกมีกลุ่มเปราะบางที่สุดคือที่สุรินทร์ ซึ่งเราเพิ่มทราบที่หลังว่าจะเข้าช่วงฤดูมรสุม เพราะฉะนั้นเรามาคิดกันว่าทางยโสธรมีความพร้อมอยู่แล้วเพราะว่าทางกลุ่มพี่น้องชาวยโสธร เครือข่ายของเราโดยร่วมกิจกรรมในกิจกรรมที่เป็นส่วนใหญ่กันอยู่หลายรอบ โดยเฉพาะงานครั้งนี้เริ่มต้นมาจากชาวนาช่วยชาวนาเมื่อตอนที่ราคาข้าวตกต่ำจริง ๆ ในตอนนั้นมีการประสานกับกลุ่มเครือข่ายทั้งภาคอีสานในการแปรรูปนำเอาข้าวไปขายเอง ทำให้กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายเรามีความเชี่ยวชาญที่จะรู้จักในเรื่องของการแปรรูป การรวมกลุ่มรู้จักรวบรวมผลผลิต รู้จักการประสานงานทางออนไลน์ ขั้นตอนตรงนี้จึงทำให้ทางยโสธรเรามีความพร้อม และทางชาวเลก็มีความพร้อมแต่มีอุปสรรคจริง ๆ เรื่องการขนส่ง ซึ่งก็คิดแผน 1 2 3

ในใจลึก ๆ เรารู้เลยว่าเราจะต้องหาใคร เราประสานไปหาใคร เราแค่รอคำตอบ พอเราได้รับคำตอบจากทางกองทัพอากาศว่าเขายินดีที่จะช่วยสนับสนุนเพราะว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องปากท้องของประชาชนและรอไม่ได้ พอเราทราบแค่นั้นทางพี่ไมตรี และตัวเราเอง ทางเครือข่ายทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังในการประสานงาน รู้เลยว่าโครงการนี้เราทำสำเร็จอย่างแน่นอน

Q : การมองไปข้างหน้าหลังจากนี้ถ้าหมดโควิด-19 ทั้งพี่รินทร์ และพี่ไมตรีมองว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่สิ่งใดต่อ เราวาดฝันอะไรจากโครงการหลังจากนี้ที่ปลาแลกข้าว ข้าวแลกปลาแล้ว  

พี่ไมตรี : ทางเราอยากจะเพิ่มเติมตรงที่เราอยากจะทำแผนแลกปลากับพี่น้องชาวดอย พี่น้องกะเหรี่ยง พี่น้องกะเหรี่ยงข้าวไร่หมุนเวียนที่จะส่งมาในวันที่ 23 เมษายนนี้ จะส่งมาโดยรถ 10 ล้อ และพี่น้องกลุ่มภาคอีสานอีกกลุ่มหนึ่ง ก็นำรวมข้าวสารเพื่อมาแลกได้จำนวน 7 ตันมาสนับสนุนเรา และพี่น้องภาคเหนือประมาณ 6 ตันพี่น้องกลุ่มกะเหรี่ยงอาจารย์ ‘ชิ’ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ สนับสนุนแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม สิ่งนี้ถือว่าเป็นแผนที่  2 ที่เกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ส่วนที่ 3 ระยะยาวในตอนนี้เราคุยกันหลายฝ่ายว่าจะทำระบบคู่เศรษฐกิจร่วมกัน เช่น ที่ไหนมีปลา ข้าว ผลไม้ เราจะดูว่าใครมีอะไรเท่าไหร่แล้วนำมาใส่ไว้ตรงกลางและใครต้องการอะไรมากเท่าไหร่ ซึ่งในขณะนี้คิดว่าในสังคมและภาคเอกชนหลายฝ่าย รถบรรทุก หรือรถขนส่งแสดงความจำนงมาเยอะมาก ที่ยินดีจะขนส่งของเหล่านี้ให้

ในช่วงนี้ที่เป็นภาวะวิกฤตเขาจะส่งให้ฟรีก่อนแต่ว่าในระยะการปรับตัว ถ้าเกิดว่าทำได้และดี ในอนาคตอาจมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มันก็จะทำให้ต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ว่าเราได้ของที่มีคนกลางมีค่าขนส่งเพิ่มมาเราจะดูราคาการแลกเปลี่ยนให้มันเหมาะสมกับการตลาดเพิ่มมากขึ้น เรามาคิดทางด้านทรัพยากร เราไม่ต้องมาคิดว่าใครจะได้ปลาเท่าไหร่ ใครจะได้ข้าวเท่าไหร่ อันนี้เพราะเราจะต้องอยู่ให้ได้ก่อน แล้วถ้าทำได้แล้วมีการจัดการที่ดีแล้วละจะเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตสิ่งนี้ก็เป็นแผนในอนาคต

พี่รินทร์ : พอโครงการตรงนี้ได้รับการรับรู้และสื่อสารออกไปในวงกว้าง ได้รับการประสานจากหลาย ๆ จังหวัด และมีการสอบถามในเบื้องต้นมาว่าถ้าจะทำแบบนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง ทางทีมก็แจ้งไปในทุกจังหวัดและทุกกลุ่มที่ประสานงานมาการแลกเปลี่ยนครั้งนี้มันเริ่มต้นที่ความพอใจของทั้งสองฝ่าย ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

สินค้าที่เราจะมาแลกเปลี่ยนกันเราจะมีการส่งไปให้ดูก่อน ทางฝั่งนั้นอยากได้อะไร ทางฝั่งเราอยากได้อะไรไหม เช่นตอนนี้ก็มีจังหวัดภาคตะวันออกติดต่อเข้ามา และส่วนที่ใกล้เคียงกับภาคอีสานของจังหวัดยโสธร และจะมีกลุ่มทางศรีสะเกษ อำนาญเจริญ ได้มาพูดคุยกันผลผลิตเรานอกจากข้าวสารแล้วมันจะมีอะไรอีกบ้าง

ส่วนหนึ่งเราคุยกันในเรื่องของกลุ่มร่วมประสานงานในโครงการครั้งนี้ว่า ในอนาคตในช่วงที่ยังมีวิกฤตของของโควิดอยู่ตรงนี้ เราจะเดินหน้ากันต่ออย่างไร เพื่อให้โครงการเดินต่อไปและเรามองไปในจุดแรกว่าถ้าเราตั้งโจทย์ว่าถ้าไม่มีการสนับสนุน หรือความอนุเคราะห์จากหน่วยงานใดเราจะเดินไปโดยคู่เดินไปได้ด้วยตัวเองก่อน ให้สองส่วนของทั้งจังหวัดฝั่งนู้นและฝั่งนี้มีค่าขนส่งเหมือนดังที่พี่ไมตรีกล่าว ว่าช่วงที่เป็นโควิด-19 เราจะได้รับการอนุเคราะห์แต่ถ้าผ่านพ้นช่วงนี้ไปแล้ว เราจะทำอย่างไรให้โครงการเหล่านี้มันเดินต่อได้ ทำในลักษณะคล้าย ๆ เดิมแต่ถ้าเราไม่ได้ความอนุเคราะห์จากภาคส่วนใด ๆ เราจะเดินอย่างไรในเรื่องของค่าแรงการขนส่งถ้ามันไม่เป็นตัวรูปเงินมันจะเป็นในรูปของสิ่งของที่เรามีจะดีไหม เช่นการขนส่งตีว่าเป็นข้าวเท่าไหร่ตีว่าเป็นผลผลิตเท่าไหร่ ค่าน้ำมันที่เกิดขึ้นเจ้าของขนส่งที่ว่างงานอยู่ช่วงนี้ ที่จะมาวิ่งขนส่งให้เราไปคุยกับทางเจ้าของปั้มน้ำมันปั้มใดปั้มหนึ่งไหม ในการที่จะเปลี่ยนตัวน้ำมันเป็นผลผลิตจากเรา

นี่คือระยะที่เราจะวางแผนกันคงจะต้องมีการพูดคุยรายละเอียด ลงรานละเอียดกันในกรณีที่เราจะทำเป็นระยะ ๆ ในการแก้วิกฤต แต่เพื่อให้เกิดเป็นระยะยาวสิ่งหนึ่งที่เราคุยกันเมื่อวานหลังจากที่เราได้มีการพูดคุยเรามองกันที่ social enterprise คือการทำการแลกเปลี่ยนเพื่อสังคมแต่ทำอย่างไร ให้เกิดเป็นรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ที่เราไม่มีคนกลางแต่ว่าเป็นการบริหารจัดการทั้ง 2 ฝ่าย เราตกลงกัน มาดูราคา มาดูเรื่องผลผลิตกันว่าเราจะแลกเปลี่ยนอย่างไร

เราได้ยินมาระยะหนึ่งว่า social enterprise มันจะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรที่จะไม่ต้องใช้ความอนุเคราะห์ไปตลอด แต่ให้สิ่งที่เราตั้งใจให้มันเดินได้ซึ่งตัวนี้เป็นเหมือน โอกาสในวิกฤตที่เกิดขึ้นเรากำลังมองว่า ต้องคุยกันในระยะยาวตรงนี้จะเกิด social enterprise ได้ในระดับไหน ซึ่งจะเป็นเหมือนกับเรารวมกันรวมกลุ่มกันมีการกระจายสินค้าของทั้งสองฝ่าย และแลกเปลี่ยนสินค้ากันในความพอใจของทั้งสองฝ่ายด้วย โดยให้ยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในวิกฤตในตอนนี้เมื่อวิกฤตมันหมดไป เหมือนเครือข่ายจับมือกันในการเป็นคู่ค้าระหว่างกันไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

อยากให้เกิดขึ้นในลักษณะว่า ทะเลมีปลาของสด ๆ จากอันดามันจัดการทางต้นทางทำอย่างไรให้ความสดส่งตรงขึ้นมายังยโสธร ทางยโสธรก็จะจัดการเรื่องข้าว และส่งลงไปยังที่ชาวเล ชาวเลก็อาจจะไปคุยตรงกับร้านอาหารโรงแรมที่ต้องใช้ข้าวจากชาวนาที่บริหารจัดการโดยเครือข่ายชาวเล ได้ข้าวที่ดีไปใช้เพราะปกติเขาก็ต้องใช้กันอยู่แล้ว โรงแรมร้านอาหารและทางยโสธรอาจจะไปประสานกับเครือข่ายโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่ทำอาหารทะเลในภาคอีสานที่เราบริหารจัดการการขนส่งได้ เพื่อใครที่ต้องการปลาชนิดไหนอาหารทะเลชนิดไหนที่จะบริหารจัดการโดยเครือข่ายชาวนาของทางกลุ่มเรา และมารับจากเราไปแค่สิ่งที่ต้องการจะซื้อซึ่งไม่จำเป็นต้องซื้อจากเราทั้งหมด ช่วงแรกอาจจะต้องแบ่งสต็อกของสินค้า อาจจะซื้อจากเราก่อนสต็อกไว้ส่วนหนึ่งและปกติที่ซื้อไปอีกส่วนหนึ่งแล้วลองพัฒนากัน เราคิดว่ามองออกมาเป็นภาพแล้วเราสามารถทำได้

พี่ไมตรี : การที่เราไม่รอรัฐในความจริงคือ เราทำให้พี่น้องเราลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเองให้ได้บ้าง ในสถานการณ์แบบนี้ก็นั่งคิดกันทุกคนว่าเค้าจะได้ 5,000 หรือไม่ ตื่นมาตอนเช้าไปทางไหนก็พูดเรื่อง 5,000 ไปหมด แต่พอเรามาชวนพี่น้องทำปลาพี่น้องต่างเลิกพูดเรื่องนี้กันหมด เพราะพวกเขานั่งทำปลาแล้วได้แน่นอนมากกว่า ได้ในที่นี้หมายถึงบางอย่างในความพอใจของพวกเขา ส่วนที่สำคัญก็คือเรื่องต้องทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการ ชุมชนมีความเข้มแข็งจึงต้องเริ่มจากตัวเองก่อนส่วนนี้เป็นหลัก การทำงานแบบนี้ไม่เรียกให้พี่น้องเราลุกขึ้นมาเราก็ต้องมานั่งร้องขอจากที่ต่าง ๆ ก่อนหน้าที่จะมีกองทัพอากาศเราก็มีการคุยกัน จริง ๆ เราก็ไม่ได้คิดว่าเค้าจะบินให้กับเรา เราจึงคิดช่องทางคุยกับหลายฝ่ายว่าเราหารถสั่งเอกชนซึ่งแสดงความจำนงมาแล้วเป็นของบริษัทเอกชน ก็จะกลายเป็นน้ำใจอีกแบบหนึ่งแบบนี้ก็ดีมันรวดเร็วทันใจดี แต่ในระยะยาวเราก็คงจะใช้แบบนี้ไม่ได้ แต่ใจความสำคัญอยู่ที่ว่าถ้าพี่น้องชาวเลของเราลุกขึ้นมาแล้วมีคนหนุนในความพอดีเหมาะสมพี่น้องเราก็ไม่ได้หวังเพราะเขารู้สึกว่าเขามีช่องทางเขามีโอกาสเขาไม่ได้เดือนร้อนและไม่ได้ไปร้องขอและเราก็ไม่ต้องเป็นภาระดูแลของรัฐ ถามว่าถ้าพี่น้องราไวย์เราไม่จัดการแบบนี้เราต้องดูแลข้าว 3 วันวันละ 3 มื้อและทีนี้เราต้องดูไปอีกกี่วันก็ยังไม่สามารถรู้ได้ แล้วถ้าเป็นแบบนี้ ถ้าลงทุนไป 1 ครั้งแต่ว่าเขาภูมิใจด้วยที่ได้ทำเราว่าพวกเขาที่สำคัญก็เป็นเรื่องจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์มากกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องของการได้ข้าวสารมากกว่า เรื่องปัญหาหลัก ๆ เลยคือการเปิดพื้นที่ทรัพยากรในการใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของชาวเล สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ยาวนาน เพราะในสมัยก่อนเกาะ แก่ง ต่าง ๆ ในอันดามันพี่น้อง 20 กว่าจุดพี่น้องหากินได้หมดทุกที่ในอันดามันเพราะคนเหล่านั้นเป็นชาวประมงล่องเรือ หาปลา ดำหาปลา ดำยิงที่ละตัวพี่น้องราไวย์จะมีความเชี่ยวชาญ พี่น้องชาวเลส่วนหนึ่งที่ทำอาชีพประมงจะมีความเชี่ยวชาญถึงขั้นว่าปลาชนิดไหนอยู่แถวไหน พวกเขาสามารถเลือกได้ เลือกปลาได้เลือกปริมาณได้ด้วยว่าเขาจะเอามาแค่ไหน เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัวของพวกเขาจะ 10 ครอบครัวก็สามารถเลี้ยงได้ให้พออยู่แต่พอมันมีกฎหมายเข้ามามีเขตอนุรักษ์และมีนโยบายการท่องเที่ยวทั้งหมด 24 ในตอนนี้เหลืออยู่ที่เดียวเท่านั้นที่พวกเขาจะมีโอกาสได้หาปลาได้ ในตอนนี้เราพยายามทำเรื่อมติ ครม.ในเรื่องผ่อนปรนให้ชาวเล หากินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมแต่เรื่องการท่องเที่ยวก็ยังไม่สามารถทำได้ มันก็เลยเป็นข้อจำกัดให้เขาหากิน เฉพาะจุดซึ่งน้อยมากการเดินทางเว้นทางในช่วงต่าง ๆ ก็ยังคงมีข้อจำกัด ในช่วงมรสุมแต่ถ้าเราจับทางถูกเราส่งเสริมพวกเขาถูกเขาก็จะอยู่ได้

พี่ชิ : ด้านทรัพยากรตลอดระยะเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา เรื่องของสิ่งที่เรารับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพี่น้องชนเผาทุกชนเผา สถานการณ์ที่เราเผชิญร่วมกันเรื่องของการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงการจัดการของทรัพยากรในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ในพื้นที่บรรพบุรุษของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกตัวเองว่าชนเผ่าพื้นเมืองเพราะนัยยะของคำว่าชนเผาพื้นเมืองกับชาติพันธุ์ต่างกัน เพราะฉะนั้นการที่เรามีข้อจำในการเข้าถึงสิทธิทางทรัพยากรข้อจำกัดในการควบคุมคุณภาพชีวิตเช่นทางภาคเหนือเรามีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากที่ดินตามวิถีบรรพบุรุษของเราจากที่เคยทำมาหากินได้ในพื้นที่ส่วนนี้ ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ถูกประกาศว่าเป็นเขตป่าตามนโยบายการอนุรักษ์ของรัฐ เช่นเขตป่าสงวน พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นพื้นที่ปิดมันไม่อยู่ในสถานะของพื้นที่ทำกิน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนสถานะทั้งทางกฎหมายนโยบายบนพื้นที่ทำกินของเราในพื้นที่อยู่อาศัยของเรา สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่สวนทางกับวิถีวัฒนธรรมของเรา จำกัดสิทธิและมีข้อจำกัดเช่นในการจะสร้างถนนเข้ามายังหมู่บ้านของเรานั้นภาคส่วนต่าง ๆ ก็บอกว่าไม่สามารถสร้างได้ จะนำไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านก็ไม่สามารถสร้างได้คนใหญ่คนโตของกรมไม่เซ็น ทำให้เห็นเลยว่าทำลายข้อจำกัดสิทธิไม่ได้ โครงการปลาแลกข้าวต่อจากนี้ก็จะเดินยากขึ้น ซึ่งต้องนับ 1 ใหม่แล้วถึงจะไปต่อได้สุดทาง

ด้านโครงการปลาแลกข้าวในเชียงใหม่ตอนนี้ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต สถานการณ์โควิด-19 นี้ หลายชุมชนเริ่มมีการล็อกดาวน์ตัวเองคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า แต่พวกเรามีทุนเดิมมีประสบการณ์ในการรวบรวมข้าวแล้วไปช่วยเหลือและแบ่งปันพี่น้องมาบ้างแล้ว เพราะโดยวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอ เวลาเราผลิตข้าวออกมาเราต้องแบ่งข้าวออกเป็น 3 ส่วน 50 % เอาไว้ให้ตัวเองกินและสัตว์เลี้ยงของเรา พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ในการล็อกดาวน์เราก็ไม่สามารถออกหมู่บ้านได้ เราจะทำการขนส่งแบบที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีทีมกลางเพื่อคอยประสานนำข้าวของทางหมู่บ้านส่งเข้าไปยังในเมือง และพี่น้องบางชุมชนที่มีการปิดชุมชนแต่ยังสามารถให้ออกมาข้างนอกได้ เข้าไม่มีเวลาที่จะออกมาเพราะเขาต้องช่วยกันไปดับไฟป่า เพราะตอนนี้ไฟป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นเยอะมาก เพราะฉะนั้นทั้งกลางวันและกลางคืนเราต้องไปดับไฟป่าเป็นจำนวนมาก เขาจึงไม่มีเวลาที่จะส่งข้าวมายังเชียงใหม่ได้ เขาจึงต้องไปรวบรวมข้าวตรงนั้นมาสิ่งนี้คือเป็นความยากลำบากต้องรวบรวมพลังเยอะพอสมควรในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ แต่พี่น้องชนเผ่าก็ยังคึกคัก จะเห็นได้จากบนเฟสบุ๊คของผมเอง เห็นได้ว่าพี่น้องชาวบ้านนำข้าวมาส่งมากมาย รวบรวมได้ประมาณ 4 ตันครึ่งแต่เราหวังไว้ลึก ๆ ว่าจะระดมได้มากกว่านั้น ในวันจันทร์ข้างหน้าจะเข้าถึงพี่น้องชาวเลได้อย่างแน่นอน

Q : มีคำถามจากผู้ชมทาง  Facebook live ด้วยนะคะว่า งานแบบนี้คนที่อยู่ในกรุงเทพหรืออยู่พื้นที่อื่น ๆ อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้หรือไม่ จะทำอย่างไรได้บ้าง

พี่รินทร์ : รอบนี้มีการที่คนภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ไผ่ พงศธร หลังจากที่เราสร้างโปรเจคขึ้นมาทางน้องติดต่อเข้ามาและแสดงความจำนงมาแต่ด้วยสถานการณ์ที่น้องอยู่กรุงเทพ แม่อยู่ยโสธรนำเงิน 5 หมื่นบาทซื้อข้าวจากพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยโสธรนำมาร่วมเพื่อนำมาแลกปลา เพื่อเอาปลากลับไปทำกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งเป็นตัวอย่างว่าคนในที่อื่น ๆ สามารถร่วมกิจกรรมนี้ได้และมีอีกบางส่วนที่คล้าย ๆ กัน เราจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้มาถอดบทเรียนว่าวิธีการที่จะให้คนภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ มีส่วนร่วมเราจะทำอย่างไร

พี่ไมตรี : ในส่วนของ อบต.ท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ในความจริงเราคิดว่าทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น เราเป็นคนในเมืองทำงานบริษัท เรามีกลุ่มไลน์บริษัท อาจจะรวมกันว่าอยากได้ปลาไปสักกิโลสองกิโลก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ซึ่งเหมือนกันถือว่าเป็นการแลกปลากับทางเรา คิดว่าเป็นการแลกไม่ได้เป็นการซื้อ เชื่อว่าคนในสังคมไทยตอนนี้ทุกคนจะมีกลุ่มไลน์เป็นกลุ่มเพื่อนของตัวเองก่อน ถ้าเป็นคนในโรงงานซึ่งมา 400-500 คนรวบรวมกันอยากได้ข้าวสารจำนวนเท่านี้ เราก็สามารถเอาไปส่งได้เลยโดยไม่ผ่านใครถ้าใครมีทรัพยากรเป็นเงินก็สามารถเอามาแลกได้เราก็จำเงินตรงนี้ซื้อนำมันพืชหรืออย่างอื่นแทนที่เราผลิตไม่ได้

พี่ชิ : ในส่วนตัวมองว่าโครงการข้าวแลกปลามันเป็นนวัตกรรมในเศรษฐกิจ เพื่อการอยู่รอดระหว่างประชาชนกับประชาชน ให้เป็นความคิดว่าอย่ามองแค่ตัวปลากับข้าวประยุกต์วิธีคิดเรื่องข้าวแลกปลาไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็ได้ อาจจะไม่ใช่ชาวเลชาวดอยอย่างเดียว คนอาชีพอื่น ๆ ก็สามารถแลกกันได้ อยากให้ประยุกต์แบบนี้คิดเป็นเชิงนวัตกรรม ในอนาคตถ้าสิ่งนี้ยั่นยืนอาจจะก้าวไปอีกก้าวเกินมิติของข้าวกับปลา เช่น ชุมชนชาติพันธุ์ทางภาคเหนือไม่ได้มีเพียงแค่ข้าวอย่างเดียว เราผลิตอะไรอีกมากมาย บางครั้งเราจะเห็นว่าราคามันตกต่ำเรามีอโวคาโด้ในบ้านของเราเพื่อนที่มาจากต่างประเทศเห็นบอกว่าราคาที่ต่างประเทศนั้นแพงมาก เพราะฉะนั้นการแลกสิ่งเหล่านี้ถ้าเรารู้ว่าผลิตภัณฑ์ของชุมชนนั้นมีเราเอาผลิตภัณฑ์มาแลกกัน และเห็นด้วยกับพี่ไมตรีที่ว่า ที่บ้านของเรามะยงชิดเราชอบกินกันมากเวลามาปลูกที่ภาคเหนือมันจะไม่หวานจะเปรียวทันที เพราะว่าสารของดินที่บ้านเรามันมีกรดอยู่ แต่ว่าเราปลูกอโวคาโด้ถ้าเราเอาไปแลกกับมะยงชิดแลกกันเพื่อเอาไปขายในพื้นที่ของตนเองที่ไม่มี เราจะเอาไปทำอะไรต่อในพื้นที่ของเราก็ได้ สิ่งนี้ก็เกิดการแลกเปลี่ยนในรูปแบบอื่นได้ที่ไม่ใช่แค่ข้าวกับปลา

ถ้าเรามีอุปสงค์และอุปาทานเดียวกัน สามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นได้เลย ในด้านของ Resolution สิ่งนี้เป็น “เศรษฐวัฒนธรรม” P2P Resolution นวัตกรรมทางสังคมในสถานการณ์วิกฤต เพื่อเป็นนวัตกรรมทางสังคมสำหรับการอยู่รอดของประชาชนในสถานการณ์วิกฤต

โดยได้อธิบายแนวคิดนี้ว่าต้องทำให้เกิดกระบวนการความร่วมมือ 2 ลักษณะคือ

1. People to People เป็นกระบวนการและวิธีการให้ประชาชนกับประชาชน ได้มีพื้นที่ มีโอกาส ได้ใช้ศักยภาพทุนทางนิเวศวัฒนธรรมช่วยเหลือ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนกันและกันให้ได้มากที่สุด

2. Producers to Producers เป็นกระบวนการและวิธีการให้ผู้ผลิตกับผลิต ที่มีสายสัมพันธ์อุปสงค์อุปทานเดียวกัน ได้มีพื้นที่ มีโอกาส ได้ใช้ศักยภาพทุนทางผลิตภัณฑ์ของกันและกันในการช่วยเหลือ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนอุปสงค์อุปทานกันและกันให้ได้มากที่สุด

รูปธรรมของแนวคิดนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนข้าวกินสำหรับชาวเล ตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ตภายใต้โครงการ “ข้าวแลกปลา ชาวเลชาวดอย ฝ่าวิกฤติโควิด19” กล่าวคือมีการประสานให้ประชาชน ชนเผ่าพื้นเมืองชาวเล(People) กับประชาชน ชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอ (People) ได้มีโอกาสลุกขึ้นมาใช้ศักยภาพบนฐานทุนในวัฒนธรรมตนเอง มาใช้ในการช่วยเหลือ แบ่งปันแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งชุมชนปกาเกอะญออาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภูมิประเทศเขตภูเขา ใช้พื้นที่ป่าและดูแลรักษา มีวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าว มีข้าวพอกิน พอแบ่งปัน จึงได้มีการรวบรวมข้าวที่พอแบ่งปัน ส่งไปให้กลุ่มชุมชนชาวเลที่เดือดร้อนไม่มีข้าวกิน ในขณะที่ชุมชนชาวเลอาศัยอยู่ในบริบทชายหาด ริมเล ชีวิตกับทะเลผูกพันเป็นหนึ่ง มีวัฒนธรรมประมงพื้นบ้าน จับปลา พอกิน พอขาย จึงทำปลาแห้งเป็นน้ำใจตอบแทนชาวปกาเกอะญอ และประสานให้ชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอคนปลูกข้าว(Producer) ได้นำผลิตผลข้าวซึ่งเป็นศักยภาพทางการผลิตตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนแลกเปลี่ยนกับ ปลาตากแห้ง ซึ่งเป็นศักยภาพทางการผลิตตามบริบทนิเวศน์วัฒนธรรมของชุมชนชาวเล (Producer) ที่กำลังมีความต้องการข้าวในสภาวะที่เมืองถูกปิด

ขณะที่ชุมชนปกาเกอะญอเองก็ต้องการปลาแห้งเพื่อไปกินในช่วงที่ต้องไปเฝ้าระวังและดับไฟป่าในช่วงวิกฤตไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นการแลกเปลี่ยนความต้องการและการตอบสนองระหว่างผลิตผลกับผลิตผลโดยตรง โดยปราศจากกลไกตลาดซื้อขายที่ต้องแปรอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือพ่อค้าคนกลาง และไม่ได้เอาสินค้าหรือผลิตผลจากพื้นที่อื่นซึ่งไม่ใช่ตนเป็นผู้ผลิตมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการแลกเปลี่ยนผลผลิตที่อยู่เศรษฐวัฒนธรรม ( Ecoculturenomic) คือถ้านับอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นราคาจริง ๆ จำนวนข้าวสาร 4 กิโลกรัมต่อ ปลาแห้ง 1 กิโลกรัม (ปลาสด 10 กิโลกรัม นำมาทำปลาแห้งได้ประมาณ 1 กิโลกรัม หากผ่านการตาก 3 แดด) ชุมชนชาวปกาเกอะญอที่นำข้าวสารมาแลก กับปลาแห้งพอทราบข้อมูลปริมาณปลาที่ชาวเลต้องหาเพื่อมาแลกข้าวสารตามอัตราแลกเปลี่ยนปกตินั้น เป็นภาระที่พี่น้องชาวเลในช่วงวิกฤตนี้ไม่น้อย เพื่อให้พี่น้องชาวเลจะได้ข้าวพอกินและปลาทะเลไม่ถูกจับมากไป ชุมชนปกาเกอะญอจึงตัดสินใจร่วมกันกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ข้าวสาร 8 กิโลกรัมต่อปลาแห้ง 1 กิโลกรัม ชุมชนปกาเกอะญอยอมให้ข้าวสารมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั่วไปเท่าหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อการอยู่รอดร่วมกันทั้งคนดอย คนเล และปลาทะเล โดยที่ชุมชนปกาเกอะญอเองมีความสบายใจ พึงพอใจ มีความสุขที่จะแลกเปลี่ยนในอัตรานี้ เพราะแลกเปลี่ยนเท่าที่จะกิน กินเท่าที่มี และคิดถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ด้วย

เป็นเศรษฐวัฒนธรรมที่มีหัวใจแห่งความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล เมตตาและแบ่งปัน จึงเชื่อว่า “เศรษฐวัฒนธรรม P2P Resolution” เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่จะทำประชาชนอยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตและหลังวิกฤตโควิด

แม้เราจะเจอสถานการณ์วิกฤตอื่น โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องข้าวแลกปลาอย่างเดียวก็ได้ การประยุกต์ใช้ขึ้นอยู่กับบริบทสถานการณ์และอุปสงค์อุปาทานทางเศรษฐวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในอนาคต

พี่รินทร์ : เสริมในเรื่องนอกจากปลาแลกข้าวแล้ว ยังมีไอเดียระยองนั้นมีปลาที่หลากหลาย และผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลไม้อาหารทะเล และทางยโสธรนอกจากข้าวเรายังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ หอมกระเทียม ด้วยการที่เราเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบนอกจากปลูกข้าวแล้ว พื้นที่หลักที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งคือ ข้าวที่พร้อมจะแปรรูปเป็นสิ่งอื่น ได้เยอะมากนอกจากข้าวแล้ว งั้นเราจึงผุดไอเดียว่าเราทำเหมือนเป็นการเช็ครายการส่งไปให้แต่ละฝ่ายเพื่อดูความพอใจของทั้งสองฝ่าย เช่น ทางระยองส่งไปผลิตภัณฑ์ตัวนี้นำเอาไปสอบถามในชุมชนทางยโสธร กลุ่มที่ต้องการแลกทำเป็นเหมือนเมนูและจดเมนูแต่ละฝั่ง ว่าฝั่งไหนมีความพอใจในการแลกอย่างไร ตรงนี้ในอนาคตพี่ไมตรีบอกว่าอาหารสดการแปรรูปเป็นแบบอื่น เป็นปลาทูต้มเค็ม ไม่ใช่ปลาแห้งอย่างเดียว เป็นอาหารทะเลสดหรือจะเป็นเมนูอื่น ๆ ที่เป็นด้านอาหารหรือ แม้แต่สินค้าที่เป็นทางการท่องเที่ยว เราสามารถที่จะส่งขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันได้ ทำเป็นเมนูทั้งสองฝั่ง ส่งมาให้ทั้งสองฝั่งดูแล้วเกิดความพึ่งพอใจร่วมกัน สิ่งนี้การจัดการตรงกลางจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก

เราสามารถรวมกลุ่มจัดการกันได้ ในแต่ก่อนมี G2G รัฐกับรัฐ แลกของกันเราไม่ต้องแล้วใช้ระบบ P2P

Q : แต่ว่าเรามีข้อจำกัดหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามและไม่พูดถึงไม่ได้คือ เรื่องของระบบการขนส่ง Logistic เพราะของบางอย่างใช้เวลาส่งค่อนข้างรวดเร็ว ในอุปสรรค์ด้านนี้เป็นอย่างไร

พี่รินทร์ : ระบบ Logistic รอบนี้มันมีความเร่งด่วน เพราะฉะนั้นเราคุยกับทางพี่ไมตรีว่าของสดไม่สามารถส่งมาได้แน่ ต้องเป็นของแห้ง ส่วนข้าวสารมันไม่มีปัญหาเรื่องระยะเวลาในการขนส่ง เพียงน้ำหนักที่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นในอนาคตน้ำหนักและขนาดของสิ่งของแลกเปลี่ยนและระยะทาง เราจะต้องมาดูต้นทุนตรงนี้ ที่มันเกิดขึ้นแล้วเราจะทำอย่างไรที่ให้ต้นทุนเรื่อง เรื่องรถหรือเรื่องการขนส่งพาหนะในการขนส่งมันสามารถปรับไปได้ เครื่องบินก็สามารถใช้ได้มีน้องคนหนึ่งปลูกหอมส่งหอมไปยังต่างประเทศ เขาก็ส่งขึ้นเครื่องบินเพราะว่ามูลค่ามันได้ ตรงนี้ถ้าเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่าค่าขนส่งเพื่อความรวดเร็วเรามองว่าถึงอย่างไรมันก็จะทำได้ในอนาคต แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ต้องรวมกันให้ได้คุณค่าสูง ๆ ข้าวทางยโสธรรวมกันเพื่อให้ได้ 21 ตันเพื่อใส่รถบรรทุกลงไปให้ทางภาคใต้ ส่วนทางภาคใต้ก็เป็นรถปิดอัพขึ้นมาและเรื่องค่าน้ำมันค่าแรงงานเรื่องการขนส่งอื่น ๆ ตรงนี้เราก็นำมาคุยกันให้มันเป็นต้นทุนในช่วงที่เงินยังไม่มี ต่างฝ่ายต่างมีปัญหาอุปสรรคเรื่องเงินเราเอาตัววัตถุดิบทีเรามีนำมาแปรรูป เพื่อนนำมาเป็นมูลค่าในการแปรรูปเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนจะได้ไหมในอนาคต ปั้มน้ำมันได้อาหารทะเลไป จ้าวของปั้มน้ำมันอาจมีเพื่อนที่ทำอาหารนำอาหารทะเลที่ได้ไปให้เจ้าของร้านอาหารและงานที่ตกงานอยู่ตอนนี้คุณตกงานอยู่คุณก็เข้ามาเป็นแรงงานช่วยแบก ช่วยของได้ข้าวกลับไปคุณก็มารับปลาไป เจ้าของรถขนส่งที่ตอนนี้หลายคนตลาดนัดไม่ได้เปิดตกงานอยู่แต่มีรถที่มีหลังคาสูงคุณมาร่วมวิ่งส่งของกับเราตรงนี้ได้ไหม โดยที่คุณได้รับทรัพยากรนี้และคุณอาจมีช่องทางในการไปเปลี่ยนเช่น พริก น้ำปลา ตรงนี้เป็นโมเดลที่น่าลองทำในอนาคต

Q : หลังจากนี้ไอเดียทั้งหมด เราจะสานต่อจะเติมพลังอย่างไรให้ทำต่อในเรื่องนี้ได้อย่างอย่างยั่งยืน เป็นระบบที่พลเมืองทุกคนช่วยกันได้ 

พี่ไมตรี : ได้มีการพูดคุยกับเครือข่ายว่าเราจะต้องมีการยกระดับสิ่งที่เราทำครั้งนี้ไปเป็น Pattern หรือเป็นการพัฒนาการของสิ่งเหล่านี้ และคุยกับทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า เขาจะหนุนอะไรได้บ้างในระยะยาวเช่นเรื่อง ทะเล ประมง ที่พังงา ภูเก็ต บอกเราว่าพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกรูปแบบเพราปกติโครงการของรัฐก็มีการทำโครงการแบบนี้กับกลุ่มต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจำนำให้เราไปสู่ขั้นตอนและยกระดับไปสู่การยั่งยืนของโมเดลที่พวกเรากำลังออกแบบ เราคือว่ายังไม่จบเพียงเท่านี้ความคิดนี้ในวันนี้เราจะต้องถอดบทเรียนมาสรุปร่วมกันแล้วก็พัฒนากันต่อไป ว่าเราจะทำอย่างไรกันได้บ้าง แม้แต่บริษัทเอกชนเขาผลิตเขาผลิตอะไรขายเยอะก็นำมาแลกกับเราได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องของความท้าทาย เรื่องข้อตกลงร่วมกันตอนนี้เราตกลงใจกันแล้วที่เราเริ่มต้นอยู่ที่เราใช้ใจทำ ทุกคนไม่เคยเจอกันมาก่อนหลายคนที่เราติดต่อกันเราไม่เคยคุยกันมาก่อนเลยแต่พอเราเริ่มทำแล้วใจถึงใจกันเรื่อย ๆ จึงคิดได้ว่าทุกคนมีใจเดียวกันข้อตกลงสำคัญคือมีใจร่วมกันหรือเปล่ามีใจร่วมกันปัญหาเล็กน้อยมันก็จะผ่านไปได้ทั้งหมด

พี่ชิ : เรามองว่าการขยายผลของข้าวแลกปลามันเป็นโจทย์ของพวกเรา เหมือนกันตอนที่เราเริ่มต้นโครงการนี้สิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดคือ เรื่องการขนส่งยิ่งจากเหนือไปใต้เป็นสิ่งที่เป็นกังวลมาก ตอนนั้นเราคิดกันถึงขั้นระดมทุนที่เป็นเงินจากคนกลางน้ำ แต่ว่าสุดท้ายเราก็ได้น้ำใจจากองค์กรต่าง ๆ ภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามาช่วยในตรงนี้ ได้คุยกับเจ้าของธุรกิจหลายคนว่าในอนาคตถ้าเหตุการณ์ยังคงดำเนินไปต่อ จะร่วมมือกันอย่างไรที่มันไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน จะทำอย่างไรให้ระบบของการพัฒนาเกิดการมีส่วนร่วมการเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกันสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร บนฐานที่ชาวบ้านอยู่ได้ แบบ P2P ที่ได้บอกไป แต่ในขณะคนที่จะมาเป็น Private Sector ก็สามารถอยู่ได้ ในเรื่องของโลจิสติกส์เราจะเซ็ทการขนส่งที่เป็นของประชาชนระหว่างประชาชนตรงนี้หรือไม่ สิ่งนี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย โลจิสติกส์ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งเป็นปัจจัยของระบบเป็นเงื่อนไขสำคัญ ถ้าเรามองเรื่องระบบการแลกเปลี่ยนอีกรูปแบบหนึ่งเพราะยุคโควิดนี้ทำให้เราเห็นโอกาสบางโอกาสบางอย่างที่เรามองว่ามันเป็นไปไม่ได้ และมันสามารถเป็นไปได้ เช่น การประสานงานครั้งนี้ที่เราคุยกันเราเริ่มคุยกันบนโต๊ะกลมกับพี่ไมตรี ว่าที่เราทำอยู่นี้คุยกันไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งที่คุยกันเรื่องนี้ แต่เราไม่ได้มานั่งบนโต๊ะเดียวกันเพียงแค่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลางในการสื่อสารร่วมกันสิ่งนี้แหละที่เป็นโอกาสใหม่ที่มันมาเติมจินตนาการของเราว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นจริงได้ เห็นเลยว่าดลกออนาคตจะเป็นเช่นไร กลไกที่เป็นช่องทางโลจิสติกส์ คือโลกออนไลน์มันสามารถเพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้ยั่งยืนได้เราต้องพัฒนาพื้นที่ตลาดออนไลน์ของประชาชนที่มันโตขึ้นมาได้สิ่งนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น

พี่รินทร์ : ตอนนี้ในกลุ่มคณะการทำงานของเราทั้งหมดที่มีอยู่ในตอนนี้มีการพูดคุยเป็นลักษณะของการวางแผนเพื่อให้เกิดการต่อยอดหรือทำในครั้งต่อ ๆ ไปในส่วนอื่น ๆ นอกจากพี่น้องชาวเลแล้ว อาจจะเป็นพี่น้องภาคตะวันตกภาคเหนืออาจจะเป็นทางแม่อ่องสอนที่ผลิตกระเทียมอินทรีย์ เราเห็นตรงกันอย่างหนึ่งกับทั้ง อ.ชิและพี่ไมตรีว่า มีแคตตาล็อกที่จะสามารถเลือกได้เป็นเหมือน ทุกภาคมีห้าสรรพสินค้าของตัวเองที่มีสินค้าหลากหลายเราเอามาใส่แพลตฟอร์ม ตรงนี้ ว่าคนที่อยู่ต่างกันบนจุไหนต้องการอะไรตรงนี้สามารถต่อยอดได้แน่นอนและ การวางแผนกันก็คงจะเป็นรูปธรรมชัดเจน ในขณะที่เราคุยกันนี้ได้มีการวางแผนว่าเราจะทำอย่างไรในเมื่อมันเกิดปลาแลกข้าวขึ้นมาแล้วเราต้องไม่หยุดอยู่แค่นี้มันจะเกิดการพึ่งพา P2P ระหว่างกัน และเรื่องของโลจิสติกส์สำคัญเราเอาองค์ความรู้ทั้งหมดมาตอบโจทย์ว่าข้อจำกัดของโลจิสติกส์ บริษัทเอกชนกับการเกษตรมีอะไรบ้างเรื่องของการเน่าเสีย เรื่องผลิตภัณฑ์ที่ห้ามส่ง น้ำหนักแบบไหนการวิ่งรถเป็นแบบไหน ตอบโจทย์ตรงนี้ได้โลจิสติกส์ระดับโลกเป็นแบบไหนเรานำมาประยุกต์ได้ไหมกับศักยภาพที่เรามี ให้มันสมดุลกับสินค้าที่เรามี

น่าจับตาและลุ้นว่า โควิด 19สร้างปรากฏการณ์แบ่งปันวัฒนธรรมบริโภคใหม่ให้เกิดขี้นและต่อยอดจากความโรแมนติกที่เป็นจริงในวิถีได้หรือไม่  ซึ่งที่จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนวัฒนธรรมเดิมที่ถูกซุกซ่อนไว้นานมากแล้วนั่นเอง

[Live] 13.30 น. #โควิด19สู้ไปด้วยกัน : ติดตามปรากฏการณ์ “ปลาแลกข้าว” (21 เม.ย. 63)

[Live] 13.30 น. #โควิด19สู้ไปด้วยกัน : ติดตามปรากฏการณ์ “ปลาแลกข้าว” (21 เม.ย. 63)…ติดตามปรากฏการณ์ “ปลาแลกข้าว” เมื่อข้าวสารจากยโสธรลอตแรกมาถึงมือชาวเลอันดามันและพบกับการสนทนาระหว่างกันของผู้แลกเปลี่ยนทรัพยากรจาก ทั้ง 3 ภาคเพื่อแสวงหาทางรอดจากวิกฤตและมองไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน รับชมได้ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข 3 หรือรับชมทางออนไลน์• Website : www.thaipbs.or.th/live• ชมอีกครั้งทาง : www.thaipbs.or.th/WeFightCovid19#COVID19 #โควิด19

โพสต์โดย Thai PBS เมื่อ วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ