คนไร้บ้านกับสถานการณ์ COVID-19

คนไร้บ้านกับสถานการณ์ COVID-19

ศูนย์คนไร้บ้าน “สุวิทย์วัดหนู” เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพฯ  ก่อตั้งขึ้นประมาณปี 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเปิดงานและทำพิธีลงเสาเอกก่อสร้างอาคาร นางจินตนา  มีชิน (พี่นาง) แกนนำรุ่นบุกเบิก เล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้น บริเวณนี้ยังเป็นป่าต้องมาดายหญ้า ปัจจุบันตนเอง ช่วยงานเครือข่ายและทำกับข้าวเลี้ยงพี่น้องคนไร้บ้าน   

จุดเริ่มต้นของการได้รับสถานะเป็นคนไร้บ้าน  พบว่าส่วนใหญ่จะขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต บางรายถูกหลอกเอาเปรียบจากผู้อื่น จึงเลือกดำเนินชีวิตอิสระ เช่น การมีภูมิลำเนาเป็นคนต่างจังหวัดหวังเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ลงรถไฟที่หัวลำโพง ถูกชักชวนไปขายแรงงานในเรือประมงประเทศเพื่อนบ้าน มารู้ภายหลังว่าถูกหลอกค่าหัวคิวค่าแรงงาน  บางรายตกงานถูกเลิกจ้าง  ครอบครัวแตกแยก เครียด เลยเข้ามากรุงเทพฯ เลือกใช้ชีวิตอิสระรับจ้างรายวันหากินไปวัน ๆ อาศัยหลับนอนตามข้างถนน สนามหลวง สถานีรถไฟหัวลำโพง ฯลฯ

ปัจจุบันคนไร้บ้านพักอาศัยอยู่ในศูนย์คนไร้บ้าน มีประมาณ 80 คน  มีอายุตั้งแต่ 6 – 80 กว่าปี  ส่วนใหญ่ห้องพักมีขนาด 2 X 5 เมตร  เหมาจ่ายค่าน้ำ-ไฟ เดือนละ 600 บาท  และมีห้องมั่นคงที่อยู่กันครอบครัว ขนาด 5 X 5 เมตร เหมาจ่ายค่าน้ำ-ไฟเดือนละ  1,000 บาท  ผู้เข้าพักจะต้องมีสำเนาบัตรประชาชน และปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน คือ  1) ห้ามเสียงดัง หลังเวลา 4 ทุ่ม 2) ห้ามกินเหล้าเมาสุรา สูบบุหรี่ 3) ห้ามเล่นการพนัน 4) ห้ามลักขโมย 5) ห้ามพูดจาเสียดสี ห้ามให้ร้ายกัน  เป็นต้น 

การเข้ามาพักอาศัยในศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู ส่วนใหญ่เกิดจากทีมงานคนไร้บ้าน ที่เรียกว่าทีม “เดินกาแฟ” เข้าไปพูดคุยถืออาหาร ขนม น้ำดื่ม ยา ติดมือไปให้พวกเขา ไปคุยเรื่องสิทธิตามหมายเลขบัตรประชาชน สิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะไม่คุยกับคนแปลกหน้า การถืออาหาร ขนม จึงเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และชักชวนเข้ามาพักอาศัยที่ศูนย์คนไร้บ้าน ทั้งนี้ พื้นที่สาธารณะที่คนไร้บ้านชอบไปนอนพักอาศัย เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  สถานีรถไฟบางซื่อ  และสถานีรถไฟหัวลำโพง  ทีมเดินกาแฟ เล่าว่าคนไร้บ้านบริเวณหัวลำโพง มีจำนวนเกือบ 500 คน   ส่วนใหญ่อยู่ตามมุมมืดบริเวณชานชลา

ในสถานการณ์ COVID-19  ทีมงานศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์-วัดหนู  ได้จัดทำครัวกลางแจกผู้พักอาศัยภายในและภายนอกศูนย์ จำนวน 150 ชุด มีค่าใช้จ่ายประมาณ  1,500 – 2,000 บาท  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย แจกวันละ 2 มื้อ  มื้อเช้า เวลา 07.30 น. – 08.00 น.  มื้อเย็น 17.00 – 18.00 น.  เมนูอาหารจะทำหลายๆ เมนู มื้อละ 2 เมนู และมีขนมหวาน  มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนแจกอาหาร  หากเหลือจากแจกในศูนย์ก็นำไปแจกในชุมชน ที่ผ่านมามีคนนำอาหาร ผลไม้ ของใช้มาบริจาคที่ศูนย์คนไร้บ้าน เพราะส่วนใหญ่ดูจากเพจ ศูนย์คนไร้บ้าน “สุวิทย์วัดหนู” ซึ่งมีทีมงานเยาวชนช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องราวของคนไร้บ้านเผยแพร่สู่สาธารณะ  https://www.facebook.com/BKNHomelessShelter/?rf=402191266606374

เมื่อถามถึงการหารายได้ในสถานการณ์ COVID-19  คำตอบ คือ “ตั้งแต่โรค COVID-19 มาไปไม่เป็นเลย”  คนไร้บ้านส่วนใหญ่ทำงานรับค่าจ้างเป็นรายวัน  บางคนทำงานสารพัดช่าง เป็นช่างไฟ  ช่างเชื่อม ช่างทาสี  พอมีการระบาดของโรค COVID-19 นายจ้างหยุดงานต่อเติมสิ่งปลูกสร้าง ลูกจ้างต้องหยุดงานไปโดยปริยาย ภรรยาบางคนขายของเก่าที่ตลาดนัด เมื่อมาตราการเว้นระยะห่างทางสังคม ตลาดนัดปิด รายได้ก็หยุดตามไปด้วย  บางรายปกติรับจ้างตามลานจอดรถบริเวณใกล้โรงพยาบาลศิริราช  รายได้เคยได้รายวัน ๆ ละ 650 บาท  ปัจจุบันลานจอดรถปิดรายได้ก็หยุดชะงักไป  วิธีหารายได้ช่วงนี้ คือ การรวมกลุ่มหางานรับจ้างตามความถนัด เช่น ช่างไฟ ช่างเชื่อม ช่างประปา  ค่าจ้างอยู่ที่ผู้ว่าจ้างจะตกลงกับทีมงาน  และมีเพื่อนสมาชิกคนไร้บ้านในศูนย์ฯช่วยกันปลูกต้นไม้ขายแก่ผู้สนใจทั่วไป

การบริหารของเครือข่ายศูนย์คนไร้บ้าน ศูนย์รังสิต ศูนย์ตลิ่งชัน ศูนย์บางกอกน้อย ปกติจะมีการประชุมร่วมกันทุกวันที่ 10 ของเดือน  ไปประชุมที่ศูนย์รังสิต  มีแกนนำประชุมร่วมกันประมาณ 10 คน  เช่น ทีมเดินกาแฟ ทีมสวัสดิการ  ทีมทำงานเรื่องการเคลื่อนไหว  มีการรายงานผลการดำเนินงานร่วมกัน พอเกิดโรค COVID-19 ก็ต้องหยุดการประชุมไปก่อน  

สำหรับมาตราการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 รายละ 5,000 บาท จากรัฐบาล นั้น  มีเยาวชนที่พักอาศัยในศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์-วัดหนู ช่วยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ในระบบให้  คนไร้บ้านกล่าวว่า หากได้รับเงินจำนวน 5,000 บาท ถือว่ามีความจำเป็นมาก นำไปใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ  แม้เงินจำนวนไม่มากหากเปรียบเทียบกับค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน แต่สถานการณ์ COVID-19 เกิดผลกระทบกับทุกคนทั่วประเทศ ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ถือว่ารัฐบาลได้ช่วยแบ่งปันมาให้คนจน ประชาชนผู้เดือดร้อน

แผนงานในระยะ 2-3 เดือน  ภายใต้สถานการณ์ COVID-19  ทีมงานคนไร้บ้านคิดว่า จะสื่อสารกับพี่น้องคนไร้บ้าน ว่าควรพักอาศัยอยู่ในศูนย์ไม่ควรออกไปไหน  ทีมงานได้ทำครัวกลางแจกจ่ายอาหารพยายามให้เพียงพอวันละ 2 มื้อ  มีการรับบริจาคข้าวสาร อาหารต่างๆ จะประเมินสถานการณ์กันทุกสัปดาห์   สิ่งที่อยากได้ตอนนี้ คือ ข้าวสาร  สำหรับการปรับปรุงศูนย์คนไร้บ้าน หากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น มีแผนทำห้องสมุดเปิดบริการให้กับ เด็กเยาวชนและผู้สูงอายุ  ซึ่งจะขอรับบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุด  ทีมงานได้จัดทำชั้นวางหนังสือ การปรับปรุงอาคารเป็นห้องสมุด ปรับภูมิทัศน์ภายในศูนย์ให้ร่มรื่นด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ  สุดท้ายเมื่อถามถึงความหวังในชีวิตของคนไร้บ้าน ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน คือ  อยากมีบ้าน มีที่ดินเป็นของตนเอง  

บทความและรูปโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร พอช.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ