นอกจากปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ด้านหนึ่ง ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องเป็นอีกโจทย์ที่หลายฝ่ายต่างระดมความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้ก้าวผ่านภาวะยากลำบากนี้ไปด้วยกัน หลังจากสถานประกอบการหลายแห่งในกรุงเทพมหานครและหลายพื้นที่ในต่างจังหวัดปิดให้บริการเพื่อให้ความร่วมมือลดความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
เป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้ (18 เมษายน 63) จำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด -19 รายใหม่ของไทย อยู่ในตัวเลข 2 หลัก คือ 33 คน ซึ่งน่าจะทำให้หลายคนได้ใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่ยังคงต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้ออย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตของโรคระบาดนี้ได้ แต่ด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนทำงานไม่น้อย ทั้ง ลูกจ้างรายวัน กลุ่มหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงกลุ่มคนเปราะบางในเมือง เช่น คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ต้องหยุดงานและขาดรายได้
“ปันอาหาร ปันชีวิต” คือ อีกกลุ่มที่ระดมความช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ บรรเทาความเดือดร้อน เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการแบ่งปันอาหารจากเครือข่ายจากทั่วประเทศ และวันนี้ ผู้เขียนจะแบ่งปันบทสนทนากับ วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต ถึงที่มาที่ไป เป้าหมายและความสำคัญของแหล่งอาหารและคนเมืองในสถานการณ์โควิด-19 ที่เราทุกคนต้องผ่านไปด้วยกัน
Q : ที่มาและเป้าหมายของของกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต
วรางคนางค์ นิ้มหัตถา : กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต เป็นการรวมกลุ่มของจิตอาสา อยู่ภายใต้การทำงานของกลุ่มสวนผักคนเมืองที่ทำงานมาด้วยกัน เป็นศูนย์อบรมบ้าง เป็นกลุ่มสมาชิกที่ได้รับโครงการเราบ้าง แต่ก็ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ปี 2553 ที่ดูแลเรื่องเกษตรในเมืองและเรื่องอาหารกันมาต่อเนื่องอยู่แล้ว พอมาเจอภาวะวิกฤตนี้ โจทย์แรกที่เราคุยกันตอนนั้นก็คือ เรามองเรื่องกลุ่มคนจน กลุ่มเปราะบางในเมืองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนป่วยและกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนที่ไม่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ในเรื่องอาหาร ถ้าวิกฤตโควิด-19 มันยืดเยื้อมันเกิดปัญหาแน่นอน
ตอนแรกเมื่อปลายเดือนมีนาคม เราก็ทำภารกิจเร่งด่วนของโครงการสวนผักคนเมือง คือ ขอรับบริจาคเงินประมาณสัก 60,000 บาท ก้อนแรกที่เราต้องการเพื่อไปจัดซื้อข้าวสัก 1 ตัน ซื้อผักสัก 1 ตัน เพื่อไปส่งมอบให้กับกลุ่มเปราะบางในเมืองที่เราทำงานอยู่ ซึ่งหลัก ๆ ตอนนี้มี 2 กลุ่ม คือ จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งดูแลกลุ่มสลัม 4 ภาค กลุ่มคนไร้บ้าน อันนี้ก็ประมาณเกือบ 2,000 ครอบครัว อีกอัน คือ มูลนิธิเพื่อพัฒนาอาชีพและแรงงานซึ่งดูแลเรื่องแรงงานนอกระบบ กลุ่มหาบเร่แผงลอย กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตนี้ ตอนนั้นคุยกันว่าถ้าได้ 60,000 บาท แล้ว อย่างแรกมันก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็คุยกันว่าถ้ามันต้องยืดเยื้อมันจะยังไงดี ก็เลยมีกลุ่มจิตอาสาที่เล่าให้ฟัง กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต ก็กระโดดเข้ามาช่วยเรา หากเราต้องดูแลเขา 2 – 4 เดือน มันจะต้องมาจากการบริจาคที่กว้างขวางมากกว่านี้ แล้วเราก็คุยโจทย์กันว่าเงินบริจาคที่ทุกคนสละให้ เนื่องจากตอนนี้มีหลายกลุ่มที่ต้องการเงินบริจาค มีการรับบริจาคเยอะมาก
ซึ่งเงินบริจาคที่ได้มาจะช่วยได้ 2 ทาง คือ หนึ่ง เงินที่ทุกท่านบริจาคมา สมมติว่า คนละ 1 บาท อย่างแรก คือกลับไปสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ เพราะในสถานการณ์นี้เขาก็ได้รับผลกระทบ คือ ตลาดปิด ห้างปิด ร้านอาหารปิด ซึ่งผลผลิตที่เขามีมันไม่สามารถกระจายได้ รายได้ก็ไม่มี เงินส่วนนี้จะไปรับซื้อผลผลิตไปช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ก่อนให้เกษตรอินทรีย์ยังอยู่รอดได้ในภาวะนี้ ต้องช่วยกันด้วย สอง ก็คือช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยแล้วก็เอาผลผลิตนั้นมาส่งมอบให้กับคนเปราะบางในเมืองที่เราทำงานด้วย ก็เป็นเงินบริจาคที่ได้ช่วย 2 กลุ่มไปพร้อม ๆ กัน เราได้มอบไปแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน และวันพุธที่ 8 เมษายน เราได้ช่วยสนับสนุนรับซื้อผลผลิตข้าวอินทรีย์จากเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ 1,500 กิโลกรัม เพื่อส่งมอบให้กับ 1)เครือข่ายสลัม 4 ภาค 2)กลุ่มแรงงานนอกระบบ แล้วก็มีอีก 2 ชุมชนที่เข้ามาเนื่องจากได้รับความเดือดร้อน คือ 3) ชุมชนนางเลิ้งประมาณ 300 ครอบครัว แล้วก็ 4)กลุ่มโรงงานเย็บผ้าที่บางบอน ซึ่งโรงงานปิด แต่เขาต้องดูแลคนงานประมาณ 30 คน ก็เป็นปัญหาที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ แล้วเราก็รับซื้อผลผลิตที่เป็นผักจากเกษตรกรที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ประมาณเกือบ 700 กิโลกรัม ที่ส่งมอบให้กัน อันนี้คือระยะสั้น
Q: ในระยะยาวมีการเปิดรับอาสาสมัครเพื่อที่จะสร้างพื้นที่อาหารของกลุ่มคนเมือง
วรางคนางค์ นิ้มหัตถา : จริง ๆ แล้วเรามองว่าตอนนี้เรื่องของการรับบริจาคเงินเพื่อนำไปซื้ออาหารมันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่มันต้องจัดการก่อน เพราะว่าถ้าไปรอพื้นที่ผลิตตอนนี้มันค่อนข้างยาก ก็เลยเป็นการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เราคุยกันว่าถ้ามันต้องยืดเยื้อเป็น 3- 5 เดือน มันจะต้องสร้างพื้นที่อาหารของตนเอง คือ สนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถที่จะสร้างพื้นที่อาหารของตนเองได้ระดับหนึ่ง คือ พึ่งตนเองได้จริง ๆ แต่ว่าเรื่องข้าวก็ยังจำเป็นจะต้องช่วยสนับสนุนต่อ เราก็คุยกันว่าถ้าหากมันเข้าสู่เดือนที่ 3 จริง ๆ อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบเรื่องการสนับสนุนอาหารกลายเป็นเรื่องของปัจจัยการผลิต แต่มันก็ต้องวิเคราะห์แต่ละกลุ่มเพราะแต่ละพื้นที่ก็ไม่ได้มีความพร้อมเรื่องการเพาะปลูกเท่าไหร่ก็อาจจะต้องมาวางแผนกันอีกรอบ
ถ้าต้องยืดเยื้อ 3- 5 เดือน จะต้องสร้างพื้นที่อาหารของตนเอง
แต่ว่าทางกลุ่มที่เป็นกลุ่มผู้รับบริจาค อย่างเช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเพื่อพัฒนาอาชีพและแรงงาน เขาก็มีการวางแผนไว้ในเบื้องต้นเหมือนกันว่าจะทำยังไงให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถที่จะพึ่งตนเองและดูแลตนเองได้ด้วย ก็มีการพูดคุยกันเป็นระยะอยู่แล้วว่าถ้าหลัง 2 เดือน กลุ่มเราไม่สามารถที่จะได้เงินบริจาคมา พวกเขาก็จะมีแผนการเตรียมเอาไว้เหมือนกัน
Q: ความสำคัญและข้อจำกัดของอาหารกับคนเมือง
วรางคนางค์ นิ้มหัตถา : จริง ๆ แล้ว เมืองมันไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอคือเมืองมันเติบโต แล้วส่วนใหญ่คนก็อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองซึ่งตอนนี้พื้นที่เดิมที่เราเคยรู้สึกว่ากรุงเทพฯ มีสวนมีอะไร แต่ตอนนี้เมืองมันขยายตัวมาก ซึ่งมันไปทำให้พื้นที่อาหารมันลดลง พื้นที่ชานเมืองที่เคยอยู่ใกล้เรา เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหมู่บ้านจัดสรร นั่นหมายความว่าพื้นที่อาหารในเมืองและพื้นที่อาหารชานเมืองมันถูกทำให้ลดลงจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แล้วคนเมืองก็ไม่มีทักษะเรื่องการทำเกษตร เรื่องการทำอาหาร การสร้างแหล่งอาหารของตัวเอง คนที่มาอยู่ในเมืองจึงกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคซึ่งต้องพึ่งพิงอาหารจากผู้ผลิตอาหารในชนบท
เมื่อก่อนถ้าอยู่ในภาวะปกติ การขนส่งการเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างต่อเนื่องไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่พอเจอภาวะวิกฤตขึ้นมา อย่างตอนน้ำท่วม ผลผลิตจากชนบทไม่สามารถส่งเข้ามาในเมืองได้ ตอนนั้นเราก็เจอวิกฤตเรื่องอาหารไปแล้วครั้งหนึ่ง มาตอนนี้ไม่ใช่น้ำท่วม แต่เรื่องของการขนส่งก็เป็นปัญหา เรื่องของพื้นที่กระจายอาหารที่เราเคยพึ่งพิง เช่น ตลาดสด ก็ถูกปิดหมด คนเมืองก็ห้ามเดินทางเพราะว่าเดินทางแล้วมันจะเสี่ยง ตอนนี้ระบบการขนส่งและการเชื่อมโยงเหมือนถูกกระทบทำให้คนเมืองได้รับผลกระทบเรื่องอาหาร เพราะว่าไม่มีพื้นที่อาหารของตัวเอง เราต้องรับมาจากข้างนอก ซึ่งมันก็เป็นอีกจุดที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่อาหารและแหล่งอาหารของเมือง
โครงการสวนผักคนเมือง ทำมาตั้งแต่ปี 2553 ก็ได้ระดับหนึ่ง ตอนนี้กลุ่มคนจน กลุ่มคนชั้นกลางที่มีพื้นที่อาหารของตัวเองมันก็จะสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ระดับหนึ่ง อาจจะมีข้าวบ้าง ไข่ไก่ ที่จะต้องหาจากข้างนอก คือ วิกฤตมันเกิดขึ้นหลายรอบแล้ว เราก็มีบทเรียนตลอดทุกครั้ง เรื่องนี้พอสถานการณ์คลี่คลายมันก็ถูกลืมเลือน อันนี้ก็น่าจะเป็นอีกสถานกรณ์หนึ่งที่ตอกย้ำว่าเวลาที่เมืองมีวิกฤต มีภัยพิบัติเกิดขึ้น เราไม่สามารถพึ่งตนเองเรื่องอาหารได้เลย
ฉะนั้นเราไม่รู้ว่า น้ำท่วม ฝนแล้ง มันยังคาดการณ์ได้ แต่โรคระบาดมันคาดการณ์ไม่ได้ ไม่มีอะไรบอกล่วงหน้า การฝึกให้คนเมืองมีทักษะการผลิตอาหาร แล้วก็มีพื้นที่ผลิตอาหารของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักในบ้าน สร้างแหล่งอาหารในชุมชน พื้นที่เกษตรกรรมในชุมชน พื้นที่เกษตรในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ตอนนี้ภาษีที่ดินเข้ามาคนเปลี่ยนพื้นที่เยอะ แต่ถ้าเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นมาเพื่อสร้างเป็นแหล่งอาหารจริง ๆ ของเมือง มันน่าจะเป็นนโยบายที่รัฐควรจะหันมาให้ความสำคัญและทำให้มันชัดเจนขึ้น คือไม่ต้องรอว่าวิกฤตจะผ่านไปนะ แต่ถ้าเข้าเดือนที่ 2 คุณต้องมองเรื่องแหล่งผลิตอาหารชัดเจนได้แล้ว ว่าจะดึงคนกลุ่มไหนเข้ามาใช้พื้นที่ แล้วจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตอะไรบ้าง เมล็ดพันธุ์ ดิน ปุ๋ยคอก ที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นที่ฐานของการสร้างแหล่งอาหารเราต้องเริ่มแล้ว
Q: วิกฤตครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้คนสนใจเรื่องการสร้างแหล่งอาหารมากขึ้น
วรางคนางค์ นิ้มหัตถา : ตอนนี้มันเป็นอยู่แล้วนะ หลายคนมองว่ามันจะยืดเยื้อ แล้วตอนนี้คนก็ไม่ไว้ใจระบบอุตสาหกรรม ระบบอาหารที่ทุกคนต้องไปต่อคิวซื้อ แย่งชิงกัน ซึ่งมันเป็นความเสี่ยง ตอนนี้ คือ คนอยู่บ้าน แล้วทำอะไรได้บ้าง นั่นคือปลูกผักไง เพราะปลูกผักมันไม่ได้ช่วยแค่สร้างอาหาร แต่มันทำให้เรามีกิจกรรมอื่นทำ มีพื้นที่สีเขียว ๆ ได้สัมผัสดิน ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง แล้วที่สำคัญ คือ มันได้อาหารของตัวเองด้วยมีประโยชน์หลายอย่าง
ตอนนี้มีหลายคนติดต่อเข้ามาว่า มีเมล็ดพันธุ์จำหน่ายไหม มีคู่มือให้ความรู้หรือเปล่า ซึ่งตอนนี้เราก็ทำ เรามีสอนออนไลน์ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1- 2 ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องของการปลูกผัก การเพาะเมล็ด การเตรียมดิน แล้วก็มีหนังสือคู่มือแจก เราก็มีเมล็ดพันธุ์แต่ก็ไม่สามารถจะแจกได้ แต่ใครที่พอจะมีเงินทุนที่จะเข้าถึงตรงนี้ เราก็อยากให้สนับสนุนเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ คือ ต้องไปด้วยกัน ต้องช่วยกัน ผู้บริโภค ผู้ผลิต หรือแม้แต่คนที่ทำงานพัฒนา หรือ แม้แต่หน่วยงานรัฐบาล ต้องชวยกันไป ไม่งั้นมันจะไม่รอด ถ้ารอดไปด้วยกันต้องเห็นความสำคัญของทุกฝ่าย แล้วก็ไม่มองข้ามใครคนใดคนหนึ่งไป