สัมภาษณ์: แรงงานข้ามชาติไทใหญ่ในวิกฤตโควิด งานหดหาย-รายจ่ายเพิ่มขึ้น-ไร้มาตรการช่วยเหลือ

สัมภาษณ์: แรงงานข้ามชาติไทใหญ่ในวิกฤตโควิด งานหดหาย-รายจ่ายเพิ่มขึ้น-ไร้มาตรการช่วยเหลือ

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเปราะบางมากที่สุด ทั้งจากการเป็นแรงงานราคาถูก ไม่มีแหล่งงานที่มั่นคง สภาพการทำงานบางที่ไม่เอื้อให้สามารถป้องกันตนเองได้ หรือการมีสถานะเป็นคนต่างด้าวซึ่งแน่นอนว่าจะต้องถูกกันออกไปจากมาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ จากรัฐบาล

มาตรการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อนอย่างมากแม้กระทั่งกับคนไทยด้วยกัน แต่กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติผลกระทบนี้ยิ่งทบทวีคูณ วันนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับ “หมอกหอม” ตัวแทนแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ที่ขับเคลื่อนเรื่องแรงงาน ภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ เพื่ออัพเดทสถานการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติไทใหญ่อยู่อย่างไรภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ในประเทศไทย

ตอนนี้สถานการณ์แรงงานไทใหญ่เป็นอย่างไรกันบ้าง?

หมอกหอม: ช่วงนี้แรงงานพี่น้องไทใหญ่ลำบากกันมาก เท่าที่เห็นเวลาจัดรายการวิทยุก็จะถาม ว่าพี่น้องเป็นไงกันบ้าง ทำงานเป็นไง ได้ทำงานกันไหม จากที่ได้ฟังคือ ตั้งแต่ปลายปี ที่แล้ว มกรา กุมภา นี้มา เศรษฐกิจในไทยก็แย่อยู่แล้ว โรงงานปิดกิจการปิด ทำให้แรงงานตกงาน จำนวนมาก ไม่มีงานทำ

แล้วอยู่กันยังไงในช่วงที่ไม่มีงาน?

หมอกหอม:ส่วนใหญ่จะทยอยกลับบ้านเท่าที่เห็นแรงงานตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจะทยอยกลับ กันก่อนโควิด เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ แรงงานก็ทยอยกลับกันแล้ว พอโควิดระบาดในไทย ก็กลับกันอีกเยอะ นับเป็นพันคนได้

ภาพแรงงานทยอยเดินทางกลับบ้านทางด่านแม่สายท่าขี้เหล็ก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่มา: SHAN News (Radio)

ช่วงนี้เขามีการปิดการเข้าออกแล้วพวกเขาไปอยู่กันที่ไหนและทำอะไรกัน บ้างตอนนี้?

หมอกหอม: คือหลังจากที่ด่านปิดพี่น้องแรงงานไทใหญ่ที่เขาอยากกลับบ้านก็ตกค้างกัน จำนวนมาก บางคนอยากกลับแต่กลับไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เข้าไม่ถึงข้อมูล คนที่ไม่ได้ฟังข่าว ไม่ได้ติดตามอะไร เขาก็ไม่รู้ เขาก็กลับไปแม่สายและไปตกค้างที่นั่น ที่สำคัญกลับมาอยู่ที่เดิมก็ไม่ได้ บางคนออกจากงาน คืนห้องเช่ากับที่พักไปหมดแล้ว พอกลับไป แม่สายปรากฏว่าเขาปิดด่าน กลับมาก็ไม่ได้ กลับไปก็ไม่ได้ เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่ไทย กับทางฝั่งท่าขี้เหล็กเขาก็พยายามคุยกันประสานงานกัน ให้พี่น้องแรงงานกลับไปที่ท่าขี้เหล็ก แต่ตอนนี้ยังมีแรงงานที่ไปตกค้างทางชายแดนอยู่

กรณีตัวอย่างที่จะเล่าให้ฟังคือมีน้องที่รู้จักคนหนึ่งที่เชียงใหม่ ตั้งแต่เกิดการระบาดทำงานก็ไม่ได้ ไม่มีงานทำ แต่ค่าห้องต้องจ่ายทุกวัน ค่าบัตร ค่ากินอยู่ในแต่ละวัน แล้วรายได้ก็ไม่มี แถมยังต้องมีรายจ่ายเพิ่ม ต้องซื้อหน้ากาก ซื้อแอลกอฮอล์ล้างมืออีก

เมื่อวานได้สัมภาษณ์น้องคนนึง ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ เช่าห้องอยู่ แต่เขาต้องจ่ายค่าเช่าห้อง ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ผ่อนรถ ทุกเดือน ค่าต่อบัตรแรงงาน ค่าต่อพาสปอร์ต และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตอนนี้นายจ้างบอกให้เขาหยุดงานเขาก็เลยไม่ได้ค่าชดเชยอะไรเลย แต่ว่ารายจ่ายยังต้อง จ่ายอยู่ตลอด ตอนนี้ลำบากและอยากกลับบ้านที่เมืองไต แต่ก็กลับไม่ได้ อยู่ต่อก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง เงินจะกินก็ไม่มี

อันนี้คือที่ส่วนมากคนหนุ่มสาวเขาประสบกันนะ แล้วก็มีคนใกล้ตัวอีกคนคือน้อง ที่ทำงานโรงแรม แล้วโรงแรมไม่มีลูกค้า ปกติเขาได้ทำงานทุกวันทั้งเดือน แต่ตอนนี้ เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้า นายจ้างเลยบอกให้หยุด ในหนึ่งเดือนก็ให้ทำงานสักสิบสี่สิบห้าวัน มีรายได้ประมาณวันละ 300 นิดๆ ถ้าได้ทำสิบวันก็จะได้อยู่ประมาณ 3,000-4,000 บาท แล้วค่าใช้จ่ายมันยังคงมีอยู่ เช่น ค่าห้อง ค่ากิน เขาเลยไม่รู้ว่าจะทำไงต่อ เพราะว่าถ้าได้เดือนนึง 3,000-4,000 ก็ไม่พอใช้ ค่าห้องก็ปาไป 2,000 ค่ากินอีก อะไรแบบนี้ เขาก็เครียดมาก มันน่าเป็นห่วงมากเลยนะคะ เพราะคนที่เขาเครียดแบบนี้นั้น การคิดเรื่องฆ่าตัวตาย มันอาจจะเกิดขึ้นกับเขา มันน่าเป็นห่วงตรงนี้ค่ะ

แล้วตอนนี้ทางโรงเรียนสอนภาษาไทใหญ่ที่วัดป่าเป้าเป็นอย่างไรบ้าง?

หมอกหอม: โรงเรียนก็ปิดค่ะ ปิดมาตั้งแต่ตอนโรคเริ่มระบาดแล้ว

พวกคุณครูอาสาสมัครไทใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง ได้ไปทำงานอย่างอื่นกันไหม?

หมอกหอม: ครูก็โดนผลกระทบหมดเหมือนกัน อย่างครูบางคนเขาทำงานร้านอาหารด้วย พอไม่มีลูกค้า ก็อย่างว่าเนอะ บางคนก็ยังดีที่นายจ้างช่วยไว้ ช่วยเหลือกันให้สลับกันมา ทำงานเดือนนึงก็ 7-10 วัน เปลี่ยนกันทำกับคนที่ร้าน

แล้วแรงงานไทใหญ่มีการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเองบ้างไหม?

หมอกหอม: มีค่ะ มีชมรมเครื่อข่ายพี่น้องไทใหญ่ ที่เขาออกประกาศว่าถ้ามี พี่น้องไทใหญ่ที่ไหนที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีอาหาร เขาก็จะลงพื้นที่และช่วยเหลือ ส่วนมากก็แจกอาหาร ข้าว ผัก น้ำมัน แต่คิดว่าไม่น่าจะเพียงพอ และมันต้องดูระยะยาว ที่แจกไปก็จะกินกันได้อยู่ประมาณ 4-5 วัน ประมาณนั้น แล้วอีกอย่างมันไม่น่าจะครอบคลุมเพราะแรงงานไทใหญ่อยู่กระจัดกระจายออกไปในหลายพื้นที่ อีกส่วนใหญ่ ๆ ก็อยู่ในไซต์ก่อสร้าง ในส่วนของสื่อต่างๆ ที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ ตอนนี้ยังไม่เห็นมีการให้ความช่วยเหลืออะไร แต่ได้ยินผู้จัดการสถานีข่าวพูดประกาศทางวิทยุว่าแรงงาน ไทใหญ่ที่ไหน ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ถ้ามีให้แจ้งเข้ามา ทางสถานีจะลงไปช่วยเหลือ แต่ยังไม่รู้ว่าจะให้การช่วยเหลือแบบไหน ยังไม่เห็นภาพการลงพื้นที่ แต่พอมีการออกประกาศแบบนี้ก็จะมีคนเขียนข้อความมาค่ะ เพราะตอนนี้เราไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊ก ที่เขาขอความช่วยเหลือมา โดยตรงมีเยอะมาก แต่เขาไม่บอกรายละเอียด แค่เขียนมาบอกว่าไม่มีงานทำมาเดือนกว่าแล้ว ไม่มีเงินเข้า แต่เขาไม่ได้ระบุว่าอยู่ที่ไหน จะขอความช่วยเหลือแบบไหน จึงเป็นปัญหาว่าความช่วยเหลือก็จะไปไม่ถึง แล้วถ้าถามว่าแต่ละวันมีคนเขียนมาแบบนี้เยอะไหม ก็น่าจะถึงหลักพัน เพราะถ้าเราจัดรายการ เราก็จะถามอยู่แล้วว่าเป็นยังไงกันบ้าง ให้เล่าสู่กันฟังแบบนี้ เขาก็จะเขียนมาว่าเขาลำบากยังไง

ทางรัฐบาลไทยได้มีมาตรการช่วยเหลืออะไรบ้างหรือยัง?

หมอกหอม: คิดว่ายังไม่มีการเข้ามาช่วยเหลือ เพราะยังไม่ได้รับข่าวอะไรเลย ที่รู้ตอนนี้ คือจะมีกลุ่มชมรมไทใหญ่ที่เชียงใหม่ที่ช่วยเหลือกันเอง ลงเข้าไปให้ความช่วยเหลือหลายพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ระยอง เขาออกหนังสือ ว่าพี่น้องไทใหญ่ที่ไหนที่ได้รับผลกระทบก็ให้โทรเข้ามาได้ เขาจะลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ โดยความช่วยเหลือส่วนใหญ่ก็เหมือนที่บอกไปคือพวกข้าวสาร น้ำมัน ผัก เป็นเรื่องของกินเสียส่วนใหญ่ เท่าที่เห็นในเชียงใหม่ตอนนี้เขาก็ลงมาหลายพื้นที่และมาแล้วกว่า 20 ครั้ง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นแรงงานในตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะมีจำนวนมาก ส่วนเงินทุนที่เขาได้น่าจะมาจากเงินบริจาค เงินกองกลางที่เก็บรวบรวมไว้ พูดถึงความช่วยเหลือของรัฐบาลไทย คงเป็นไปได้ยากเพราะส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติไทย เงินจำนวน 5,000 อะไรก็ไม่ได้อยู่แล้ว และจะไป รับขอความช่วยเหลืออะไรก็คงไม่ได้

มีอะไรจะฝากบอกถึงรัฐบาลไทยบ้างไหม?

หมอกหอม: อย่างพี่น้องแรงงานไทใหญ่ที่ทำงานก่อสร้างและอีกหลายอย่างที่ในเมืองไทย บางคนเขาก็อยู่ที่นี่มานานแล้วและก็รักเมืองไทยมาก จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ และเห็นใจพี่น้องแรงงานด้วย เพราะพี่น้องแรงงานบางคนน่าสงสารยิ่งกว่าคือคนที่เขามาอยู่ที่ เมืองไทยนานจนไม่มีอะไรเหลือแล้วที่ทางรัฐฉาน แล้วการอยู่อาศัยในแคมป์คนงานหรือการเช่าห้องพักอยู่ด้วยกันหลายๆ คนก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค อันนี้เป็นสิ่งที่พี่น้องแรงงานกังวล และคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร ถ้าเป็นไปได้ที่รัฐบาลไทยจะให้สวัสดิการด้านสุขภาพ หรือการดูแลสุขภาพในกลุ่มพวกเราก็จะดีมาก ตอนนี้พวกเราก็พยายามดูแลกันเองแต่ก็ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เวลาไปที่ทำงานอย่างบางคนที่สนิทรักกันกับนายจ้าง เขามีอะไรก็ช่วยเหลือกัน แรงงานบางคนที่เขาฟังข่าวอยู่ตลอด รัฐบาลประกาศอะไรเขาก็ทำตาม แต่ที่ไม่ได้รับรู้ข่าวสาร อะไรและนายจ้างก็ไม่สนใจที่ดูแลสุขภาพ แบบนี้ยังมีอีกเยอะ

เราเองในฐานะที่เป็นสื่อ เราก็ประกาศอยู่ตลอดว่าต้องระวังนะ ต้องทำตามกฎระเบียบนะ นอกจากนี้ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะกังวลกับแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายมากเพราะจะไม่สามารถไปขอรับความช่วยเหลือจากใครได้เลย และเป็นกลุ่มใหญ่อีกต่างหาก แต่ตั้งแต่ยุคของรัฐบาลชุดนี้เขาเข้มงวดมากกับทุกเรื่อง เท่าที่เห็นสองถึงสี่ปีนี้มา รู้สึกว่าแรงงานที่ไม่มีบัตรนั้นลดน้อยลง อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวแต่ข้อมูลจริง ๆ ต้องไปดูกันอีกที

อีกอย่างหนึ่งคือรัฐบาลกำชับว่าแรงงานทุกคนต้องทำ พาสปอร์ต วีซ่า ขั้นตอนการทำบัตรก็จะเยอะ ค่าใช้จ่ายเลยสูงมาก แรงงานหนึ่งคนถ้าต่อบัตร หนึ่งครั้งต้องเสียประมาณเกือบ 10,000 กว่าบาท รวมถึงบัตรแรงงาน บัตรสุขภาพด้วย อย่างปีนี้เขาบังคับให้จ่ายค่าประกันสุขภาพแบบจ่ายปีนี้สำหรับใช้ได้สองปีเลย สองปีก็ประมาณ 3,700-3,800 บาท แล้วมีค่าตรวจอีก ค่าใช้จ่ายเลยเยอะมาก และต้องผ่านนายหน้าด้วย ทำเองก็ลำบาก มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราจะทำบัตรปีต่อปีก็ตกประมาณ 3,800 ไปที่สำนักงานจัดหางานแล้วตรวจสุขภาพก็เสร็จแล้ว แต่ตอนนี้ขั้นตอนมันเยอะมากและทำให้ แรงงานวุ่นวาย บางคนก็เลยพยายามกลับไปอยู่ที่บ้าน แรงงานที่ไม่มีบัตรก็เลยน้อยลง เพราะไม่มีใครที่หลบหนีเข้ามาได้ ถ้าใครหลบหนีเข้ามาก็จะโดนจับ พอมาปีนี้ค่าใช้จ่ายมาก และยิ่งไม่มีงานทำอีกก็ไปกันใหญ่

สมมติว่าถ้าทำงานหนึ่งปี ได้เงินเดือนเดือนละประมาณ 9,000 บาท ในหนึ่งเดือนก็ต้องจ่ายค่าห้อง 3,000 ค่ากิน 3,000 ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 2,000 ก็เป็น 8,000 บาทแล้ว หนึ่งเดือนก็จะออมเงินได้กันประมาณ 1,000 บาท ถ้าหนึ่งปี ก็ประมาณแค่ 12,000 หรือ 10,000 นิดๆ และพอครบหนึ่งปีก็ต้องต่อวีซ่า แต่บัตรแรงงานยังได้ อยู่สองปีนะ แต่ถ้าสองปีเราก็จะมีเงินเก็บอยู่ 20,000 กว่าเอง และมาจ่ายค่าบัตรอีก 10,000 กว่าๆ เพราะฉะนั้นสองปีนี้เงินเก็บก็ไม่ถึง 10,000 สถานการณ์ของแรงงานไทใหญ่ตอนนี้ มันก็จะเป็นประมาณนี้ ส่วนมากคนที่ทำงานแม่บ้าน ร้านอาหาร เด็กเสิร์ฟ ก็จะเป็นประมาณนี้ และของกินก็แพงด้วย ค่าดูแลรักษาตัวเองก็ตามมาทั้งโควิด และยิ่งเชียงใหม่เรามีหมอกควันทุกปี

ในอนาคตมองว่าเราต้องเตรียมการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างไร ในแง่มุมของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

หมอกหอม: ที่พอจะเห็นคือในตอนนี้ทางรัฐบาลไทยมีการติดต่อกับทางรัฐบาลต้นทางว่า ให้แรงงานเข้าประเทศได้ตามหลักของ MOU ถ้าเข้าประเทศมาตามหลักก็จะมีการทำสัญญา และแรงงานเหล่านี้ก็จะได้รับการอบรมมาก่อนอยู่แล้ว ถ้าแรงงานเข้ามาถูกต้องแบบนั้นก็น่าจะเป็นการเตรียมการณ์ได้ในระดับหนึ่ง ครั้งนี้เราได้บทเรียนเยอะ ดังนั้นอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือแรงงานก็ควรจะมีการเตรียมตัวและวางแผนอนาคตให้ดีกว่าที่ผ่านมา

สัมภาษณ์ 16 เมษายน 2563

หมอกหอม

สัมภาษณ์ เรียบเรียง: พิสิษฏ์ นาสี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ