คอลัมน์: 5 Dialogues เรื่อง: กองบรรณาธิการ ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
คงเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ ถ้าจะมัวมานั่งคร่ำครวญว่าวรรณกรรมไทยนั้นตายแล้ว เอาล่ะ ถ้าลองสมมติว่าเราเชื่อแบบนั้นจริงๆ คำถามคือความตายที่ว่ามีแง่มุมอะไรน่าสนใจบ้าง ตายแล้วไปไหน
ช่วงบ่ายวันกลางสัปดาห์หนึ่งในสำนักงานนิตยสารไรเตอร์ มีการจัดงานเสวนาว่าด้วยทิศทางของนิตยสารอันว่าด้วยวรรณกรรมและและศิลปะฉบับนี้ โดยบรรณาธิการ 3 คน อันได้แก่ นักเขียนซีไรต์ บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียน-นักสัมภาษณ์ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และบรรณาธิการคนปัจจุบัน อุทิศ เหมะมูล
หลังงานเลิก เราดึงตัวอุทิศนักเขียนซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย เดินขึ้นบันไดไปยังชั้น 2 ของสำนักงาน นั่งลงพูดคุยกันเรื่องความตายของวรรณกรรม และนี่คือ 5 คำตอบของเขาจาก 5 คำถามของเรา
01
มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แทบทุกประเทศ นักเขียนถือเป็นเสาหลักหนึ่งทางปัญญา แต่ช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา มีคำค่อนขอดว่า เสียงหรือความคิดของคนในวงการวรรณกรรมไทยไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถืออีกแล้ว พูดตรงไปตรงมาคือบุคลากรในแวดวงนี้มีแค่ทักษะในการเขียนเท่านั้น แต่ไม่สามารถตีโจทย์ปัญหาบ้านเมืองให้แตกได้ คุณคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า จริงๆ แล้วงานวรรณกรรมไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องไปตัดสินอะไรหรือตัดสินใคร ต้องไม่ชี้นำสังคม ในแง่นี้ เวลามีคนบอกว่างานวรรณกรรมเป็นพลังชี้นำทางสังคมแล้ว มันจะต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ยุ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในประเทศนั้นๆ เสมอ หรืองานชิ้นนั้นๆ อาจถูกอ้างอิงถึงโดยนักกิจกรรมทางสังคม
พื้นฐานของงานวรรณกรรมหรือเรื่องแต่ง มันมีพื้นที่ให้แก่คนส่วนน้อย หรือคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องยืนอยู่เคียงข้างคนไร้โอกาส เรื่องนี้ผมไม่ปฏิเสธ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นทัศนะอันหนึ่งของนักเขียน ไม่ว่านักเขียนยืนอยู่บนฐานความคิดแบบไหน ถ้าคิดว่าทุนนิยมเป็นศัตรูตลอดไป นักเขียนก็จะเขียนตำหนิหรือชี้ให้เห็นข้อเสียของระบบหรือโครงข่ายทุนนิยม ในขณะที่อีกคนอาจเขียนเรื่องเกี่ยวกับหนทางของการเข้าถึงศิลปะขั้นสูง
อย่างเวลามีคนพูดว่าทัศนะของนักเขียนคนนั้นคนนี้ล้าหลัง มันก็อยู่ที่ว่าตัวนักเขียนที่ถูกยกมาผูกติดบนฐานคิดแบบไหน คุณไม่ได้อยู่ข้างสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นหรือเปล่า แล้วคุณไม่ควรต้องปกป้องมันหรือ ฝ่ายหนึ่งบอกว่ารัฐประหารคือวิกฤตของประเทศ อีกกลุ่มก็บอกว่าอะไรปกครองก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ทักษิณ กลุ่มนี้ก็จะรู้สึกว่ามีทักษิณหลอกหลอนตลอดเวลา ทั้งๆ อำนาจที่แท้จริงในวันนี้คืออำนาจของการรัฐประหาร ทำไมเรามองไม่เห็น ทั้งที่มีมือมาผลักหน้าผากเราอยู่แบบนี้ เราหน้าหงายติดผนังอยู่ตลอด แต่เรากลับไปเห็นอะไรก็ไม่รู้ที่มันผ่านหางตา
ถึงอย่างไร ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกันไป เราปฏิเสธไม่ได้หรอก มันมีสายงานอื่นๆ อย่างงานวิชาการ ที่ได้รับการจับจ้องอย่างมาก มันเป็นด้วยหลายองค์ประกอบ ถ้านักเขียนยังอยู่กับความล้าหลังแบบนี้ มันก็ต้องเป็นแบบนี้ ทำให้นักอ่านเบื่อหน่าย คือถ้าฐานความคิดหรือสิ่งที่ถูกสร้างมามันต้องเสื่อมไปจริงๆ ถึงเวลามันก็ต้องเสื่อม ยังไงก็มีนักเขียนหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมา คนที่มีมุมมอง คนที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ยุคสมัยได้
02
จากการเป็นบรรณาธิการที่ต้องคัดเลือกเรื่องสั้นให้นิตยสาร Writer เท่าที่ผ่านมา พอจัดกลุ่มได้ไหมว่า ในงานเขียนที่ส่งเข้ามาให้พิจารณา มีมุมมองเรื่องความขัดแย้งแบบไหนที่คุณคิดว่าน่าสนใจ
นับแต่รัฐประหารปี 49 จนถึงครั้งล่าสุดเมื่อปี 57 ความบีบคั้นมันมีมากขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้พบว่าในงานเขียนที่ได้อ่านช่วงปีที่ผ่านมามีลักษณะของการถูกบีบอัดและเป็นแรงระเบิดออกมามากขึ้น ทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ซึ่งมันจะเป็นเสียงที่ค่อนข้างชัดถึงอารมณ์ดังกล่าว การร้องตะโกน ในขณะที่งานอีกแบบหนึ่งไปสู่เรื่องประเด็นปัญหาย่อยๆ เช่น การหายตัวไปของบิลลี่ เรื่องเขื่อน เรื่องสิทธิชุมชน มันปรากฏทั้งรูปแบบเรื่องสั้นและบทกวี
แต่มันไม่ถึงกับเป็นทางออก ผมคิดว่างานวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์หรือให้คำตอบ ถึงอย่างนั้น ในแง่ของคนทำงานเขียน มันก็ต้องมีการสังเคราะห์เนื้อหาของตนเองอยู่แล้วว่าต้องการพูดหรือนำเสนออะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ ในแง่ที่สังคมแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายชัดเจน กลุ่มหนึ่งบอกว่าอันนี้คือทางออกให้สังคม อีกกลุ่มก็บอกว่านี่ก็เขียนทางออกให้สังคมเหมือนกัน แล้วยังไงล่ะ มันก็เกิดการปะทะกันอยู่ดี ถึงที่สุดแล้ว มันก็สะท้อนสิ่งที่นักเขียนคนนั้นเชื่อว่าจะสร้างสันติสุขหรืออะไรก็ตามให้สังคมได้
03
ถ้าให้หยิบความขัดแย้งของสังคมมาถ่ายทอดเป็นงานวรรรณกรรม ไม่ว่าจะเรื่องสั้นหรือนวนิยาย ความยากของมันอยู่ตรงไหน
เสียงของความไม่เข้าใจของคนอ่านค่อนข้างเยอะ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนอ่านเลือกยืนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองแล้ว ปักหลักแล้ว ถ้าอ่านงานเขียนที่มันให้ความรู้สึก นี่ยังไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริง แค่ให้ความรู้สึกว่าไม่ได้พูดแทนเสียงของเขา ไม่ได้ให้ข้อมูลหรือไม่ตรงกับเสียงของเขา ก็จะถูกโต้แย้งโดยฉับพลัน ซึ่งจริงๆ ในแง่ของงานเขียนมันต้องดูทั้งเรื่อง ดูว่าเรื่องนั้นถูกเขียนมาเพื่ออะไร ผมคิดว่าสังคมต้องใจกว้าง ต้องอ่าน และต้องใช้เวลากับการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าไม่ต้องคำนึงถึงคนอ่าน ผมว่าไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย คือโดยรสชาติเรื่องแต่งมันไม่เหมือนงานวิชาการอยู่แล้ว เพราะงานวิชาการให้ได้ในส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์ ข้อมูล สิ่งที่เป็นเงื่อนไข เวลาทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริง ในขณะที่ข้อดีของเรื่องแต่งคือ เราสามารถเสนอมิติของสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน ให้คนอ่านเกิดการครุ่นคิด ใคร่ครวญ พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในเนื้อหาเรื่องราวที่นักเขียนแต่ละคนสร้างขึ้น
04
คุณเชื่ออย่างที่มีคนเคยพูดไหมว่า วรรณกรรมยุคเก่าประเภทอนุรักษ์นิยมรักชาติจนสุดโต่งมีส่วนหล่อหลอมให้ผู้คนเกิดความขัดแย้ง
มันไม่ใช่วรรณกรรมยุคเก่าหรอก แต่เป็นทัศนคติของคนยุคเก่า ซึ่งวรรณกรรมก็เป็นผลของทัศนคติของคนรุ่นหนึ่งที่มองความขัดแย้ง มองวิธีการแก้ปัญหาตามเงื่อนไขของยุคสมัยนั้น แล้วคิดว่ามันจะสามารถแก้ไขในยุคปัจจุบันได้ แต่เขาลืมไปว่าในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ ตัวละครใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย แล้วก็โตมาด้วยวิธีและวิถีอีกแบบ เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นด้วย แต่ทุกวันนี้เสียงของคนยุคนั้นก็ยังดังอยู่ มีทั้งเสียงของคนที่สถาปนาตัวเองด้วย คอยชี้แนะความเป็นไป โดยประเมินจากพื้นฐานที่ตัวเองเคยประสบมาเพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตบ้านเมืองในปัจจุบัน
05
รู้สึกอย่างไรเวลามีคนวิจารณ์ว่า นักเขียนบางกลุ่มชอบออกมาปกป้องเสรีภาพ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เคยใช้สอยมันอย่างมีคุณภาพ
ใช้หรือไม่มันเกี่ยวอะไร เสรีภาพคือสิ่งที่ต้องมี จำเป็นต้องมี ผมหมายถึงเสรีภาพของคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง เพื่อพื้นที่ที่ดีกว่า เพื่อพื้นที่ที่ควรจะเป็น มันคือความถูกต้องชอบธรรม เราอย่าไปวนเวียนกับคำถามแบบนี้เลย คนอ่านจะเบื่อเอา