“เเม่เมาะ” การต่อสู่ที่เเสนยาวนานบนเส้นทางกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการเยียวยา

“เเม่เมาะ” การต่อสู่ที่เเสนยาวนานบนเส้นทางกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการเยียวยา

นับตั้งแต่ปี 2535 การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

25 กุมภาพันธ์นี้ ศาลปกครองสูงสุดเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มลพิษก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แพร่กระจายออกมากระทบชาวบ้านจนเกิดการเจ็บป่วยล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อปี 2535 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2542

ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อปี 2546 รวม 2 คดี คือ คดีเรียกค่าเสียหาย และคดีเรียกร้องให้อพยพชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงออกไปให้พ้นรัศมี

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองเชียงใหม่ได้เคยอ่านคำพิพากษาชั้นต้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 สั่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และให้เพิกถอนสนามกอล์ฟแล้วให้ปลูกป่ากลับสภาพเหมือนเดิม แต่ กฟผ.ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

เมื่อวันที่10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษาให้เพิกถอนสนามกอล์ฟแม่เมาะ เพราะขัดต่อ EIA ที่กำหนดให้ปลูกป่าแทนเมื่อหมดอายุสัมปทาน ภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 11 พฤษภาคม 2558

และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดให้ชาวบ้านจำนวน 131 คนฟังคำพิพากษากรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แพร่กระจายสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์กระทบชาวบ้าน และชาวบ้านเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือ 1,086 ล้านบาท

พ่ออุ๊ยปั๋นแก้ว  อุ่นเงิน หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เล่าว่า ทุกวันนี้ทรมาน ทำอะไรก็ไม่ได้ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ไหวเหนื่อยแล้ว ไม่อยากอยู่และสู้ต่อไปแล้วหายใจลำบาก ภาระค่าใช้จ่ายหนี้สินก็เยอะ กู้เขามารักษาตัวจนไม่มีใครให้กู้อีกแล้ว

หากพรุ่งนี้ศาลมีคำพิพากษาว่า พ่ออุ๊ยไม่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาเหมือนเพื่อนๆ อีก 7 คน จาก 131 คน ตามที่ศาลชั้นต้นที่เห็นว่า ใบรับรองแพทย์ที่พ่ออุ๊ยนำมาเป็นหลักฐานว่าเจ็บป่วยเพราะสารซัลเฟอร์ ที่มีอายุเกินหนึ่งปีแล้วนั้นหมดอายุ พ่ออุ๊ยบอกว่า ขอตายดีกว่าอยู่เป็นภาระให้ลูกหลาน  พรุ่งนี้ พ่ออุ๊ยบอกว่าจะให้ลูกๆ ขับรถเดินทางจากบ้านที่อำเภอแม่เมาะ ไปส่ง ฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยตัวเอง 

ภาพและข้อมูลจาก : มะลิวรรณ  นาควิโรจน์

00000

ข้อมูลทางคดีกรณีแม่เมาะ

เรียบเรียงจาก: ฐานข้อมูลเว็บไซต์มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

1. คดีปกครอง: เรียกค่าเสียหายจากละเมิดทางปกครอง กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อให้เกิดมลพิษมีผลกระทบต่อชุมชน

คดีหมายเลขแดงที่ 60-77/2552 และ 64/2548 ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษา 4 มีนาคม 2552

สรุปคำพิพากษา ศาลปกครองเชียงใหม่ : กรณีเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดทางปกครอง จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อให้เกิดมลพิษ

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี หากผู้ฟ้องคดีรายใดได้รับค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินจำนวน 24,715,200 บาท กรณีเป็นผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือที่อาจจะได้รับผลกระทบในช่วงระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2541 ของอำเภอแม่เมาะ กรณีผู้ป่วยนอกจากผู้ถูกฟ้องคดีไปแล้วให้หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษา แต่ไม่เกินรายละ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

*นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14.00 น. ณ ศาลปกครองเชียงใหม่ 

2. คดีปกครอง: กรณีเหมืองถ่านหินแม่เมาะไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

คดีพิพาทระหว่างนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวก 318 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวกรวม 11 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

คำพิพากษาศาลชั้นต้น: คดีหมายเลขแดงที่ 44-59/2552 ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษา 4 มีนาคม 2552

สรุปคำพิพากษา ศาลปกครองเชียงใหม่ : กรณีเรียกค่าเสียหาย และให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย

ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และเพิกถอนสนามกอล์ฟของโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกไป 

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.749-764/2557 พิพากษา 10 ก.พ. 2558

สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (โดยสำนักงานศาลปกครอง)

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 7 (กฟผ.) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1.ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้

2. ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพ ราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความ ประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร

3. ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

4.ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุก ๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland

5. ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่ โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมหรือ สผ.แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้

และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ สิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามคำพิพากษา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

3. คดีปกครอง: คดีแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ คดี หมายเลขดำที่ ส. 11/2555 ศาลปกครองเชียงใหม่ ลงพื้นที่ เผชิญสืบ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556

4. คดีปกครอง: คดีภาพเขียนสีดอยผาตูบ คดีหมายเลขดำที่ ส. 10 /2555 ศาลปกครองเชียงใหม่ ลงพื้นที่ เผชิญสืบ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556

5. คดีแพ่ง: เรียกค่าเสียหายจากละเมิด กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อให้เกิดมลพิษมีผลกระทบต่อชุมชน

สรุปคำพิพากษา ศาลจังหวัดลำปาง : กรณีเรียกค่าเสียหายกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อให้เกิดมลพิษมีผลกระทบต่อชุมชน

คดีหมายเลขแดง 354/2547 ศาลจังหวัดลำปาง

คดีหมายเลขแดง 431/2547 ศาลจังหวัดสำปาง

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ