“ช่างต่อเรือ” แห่งบ้านคลองรั้ว

“ช่างต่อเรือ” แห่งบ้านคลองรั้ว

20152711110830.jpg

ภาพ / เรื่อง : สิริรัตน์  ตู้ภูมิ 

เมื่อกล่าวถึง  “บ้านคลองรั้ว”  ทุกคนจะรู้จักดีเนื่องจากบ้านคลองรั้วเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของจังหวัดกระบี่  นอกจากนี้บ้านคลองรั้วยังเป็นแหล่งต่อเรือที่มีชื่อเสียงในเรื่องเรือประมงพื้นบ้านที่โต้คลื่นได้ดี  และเป็นเรือที่ชาวประมงพื้นบ้านสวนใหญ่ใช้ในการหาปลาในทะเลอันดามันมานับร้อยปี

สำหรับเรือประมงที่ขึ้นชื่อว่าโต้คลื่นได้ดีและมีความสวยงามในแถบจังหวัดภาคใต้คือ  “เรือหัวโทง”  แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้ถึงแหล่งที่มาของเรือประมงพื้นบ้านชนิดนี้ที่มีความโดดเด่น  เป็นเอกลักษณ์  และเป็นภูมิปัญญาที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ช่างต่อเรือบ้านคลองรั้วอย่างเป็นกอบเป็นกำ  สำหรับชาวบ้านคลองรั้วแล้วในเรื่องการต่อเรือหัวโทงนั้นไม่มีใครรู้จัก  “บังสุพัตร”  เพราะเป็นที่รู้จักของชาวบ้านคลองรั้วในฐานะที่เป็นช่างต่อเรือที่มีฝีมือในการต่อเรือเป็นอันดับหนึ่ง 

20152711110846.jpg

บังสุพัตรหรือ นายสุพัตร  เชื้อทะเล  ชาวบ้านคลองรั้วที่ต่อเรือหัวโทงขายเลี้ยงครอบครัวจนถึงทุกวันนี้  บังสุพัตรเล่าให้ฟังว่า  “การต่อเรือของที่นี่มีมายาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งตกทอดมาหลายชั่วอายุคน เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม  เรือหัวโทงเป็นเรือที่ชาวประมงพื้นบ้านทางภาคใต้ฝั่งอันดามันนิยมใช้เพราะมีลักษณะเป็นเรือหางยาว  โดยตัวเครื่องนั้นจะตั้งอยู่ส่วนท้ายใช้ได้ดีกับพื้นที่ฝั่งอันดามันที่มีคลื่นมาก  และเรือประเภทนี้ยังมีลักษณะเด่นตรงส่วนหัว  โดยเรือหัวโทงที่ดีขั้นตอนการผลิตทุกอย่างต้องละเอียดลออ  พิถีพิถันทั้งลำ  หัวเรือต้องเชิดสูงงอน  สำหรับผู้ที่จะมาสั่งทำเรือประเภทนี้มักจะอยู่ทางภาคใต้ ได้แก่ สตูล ตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ส่วนระนอง พอจะมีมาสั่งบ้างไม่มากเหมือนจังหวัดอื่นๆ  อาชีพการทำเรือหัวโทงทำมาแล้วกว่า 10 ปี สืบทอดมาจากพ่อที่เสียชีวิตไป ซึ่งตกทอดมากว่า 3 รุ่น ในการทำเรือหัวโทงจะไม่มีตำรา แต่จะอาศัยการเรียนรู้  การศึกษาด้วยตนเอง โดยจะใช้สมองในการจดจำเป็นการดูแล้วจำแล้วก็หัดทำมาเรื่อยๆเพื่อสั่งสมประสบการณ์

ชีวิตของบังสุพัตรจึงผูกพันอยู่กับการต่อเรือหัวโทงจนถึงปัจจุบัน  และความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อมาตั้งแต่เด็กทำให้บังสุพัตรสามารถใช้ความรู้นั้นหาเลี้ยงครอบครัวมาได้จนถึงทุกวันนี้  แม้ว่าพ่อจะเสียไปแล้วก็ตาม 

20152711115739.jpg

“เรือหัวโทงที่บังทำจะมีขนาดเล็กสุดอยู่ที่ 11 กง หรือประมาณ 3 เมตรกว่า จนไปถึง 14-15 เมตร ส่วนค่าจ้างในการทำเรือจะขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ เช่น หากขนาด 21 กง ค่าแรงจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท  เรือลำหนึ่งบังจะขายประมาณลำละ  180,000 –  200,000  บาท  แล้วแต่ขนาดของเรือบางครั้งคนที่มาสั่งทำก็จะนำไม้มาเองเรามีหน้าที่สร้างให้เป็นเรือ  ราคาก็ถูกลงมาหน่อย  เรือหนึ่งลำใช้ระยะเวลาไม่เกิน 10 วัน ในเวลา 1 เดือน  สามารถจะทำเรือหัวโทงได้ประมาณ 3 ลำ  ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ ไม้ชิง ไม้พะยอม ไม้กระถิน ไม้เทียม”

20152711115806.jpg

ในการต่อเรือหัวโทงบังสุพัตรจะมีลูกน้องประจำ  2 -3  คนสลับสับเปลี่ยนกันไปแล้วแต่ใครสะดวก  บางครั้งเจ้าของเรือที่มาสั่งทำเรือก็มาช่วยทำด้วย  บางครั้งก็มาช่วยเหล่าไม้  บางครั้งก็มาช่วยทาสี  และถือว่ามาดูความคืบหน้าของเรือที่มาสั่งทำอีกด้วย  การต่อเรือนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายมีขั้นตอนหลายขั้นตอนและยุ่งยากสลับสับซ้อนกันเป็นงานที่ไม่มีแบบจึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้  และอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมา   

“การทำเรือนั้นมีความยาก หากคนอื่นที่ไม่มีความรู้เดิมมาเรียนทำเรือต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี  ถึงจะชำนาญพอที่จะทำเรือได้  เพราะการทำเรือหัวโทงมีขั้นตอนที่ยาก  ต้องใช้ความประณีต  พิถีพิถัน  เพราะไม่มีแบบ   คนที่จะมาประกอบอาชีพทำเรือนั้น  ต้องมีความรักในงาน  รักในอาชีพ  และต้องใช้เวลาในการศึกษานาน  รวมถึงอาจต้องอาศัยพรสวรรค์ส่วนตัวประกอบ  ปัจจุบันเมื่อเทียบขนาดเรือหัวโทงกับในสมัยก่อนได้มีการพัฒนาให้ใหญ่ขึ้นมาก  เนื่องจากในอดีตนั้นมีความกว้างประมาน 11 กง มีความกว้างของปากประมาณ 1.6 เมตร  แต่ปัจจุบันมีความกว้างถึง 2 เมตรกว่า  ขนาดของเรือจะยาวขึ้น  สาเหตุที่ชาวประมงนิยมใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้น  เพราะชาวประมงต้องการใช้เดินเรือเพื่อไปจับปลาในระยะทางที่ไกลกว่าเดิม  จึงต้องใช้เครื่องยนต์เดินเรือที่ใหญ่  และแรงขึ้น  เพื่อใช้บรรทุกของ  อุปกรณ์จับปลา  และสะดวกต่อการเดินเรือประมง  ทั้งนี้ทะเลไม่มีความสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน  ชาวประมงจึงออกจับปลาไกลกว่าเดิมจากที่เคยจับอยู่แค่ริมชายฝั่ง เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและปลาได้ปลามากกว่าเดิม” 

อาชีพช่างต่อเรือนั้นมีความสำคัญต่อต่อชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก  เพราะชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ใช้เรือหัวโทงในการทำประมง  และที่สำคัญอาชีพนี้นับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน  เป็นความรู้ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านคลองรั้วได้อย่างมากมาย  แต่ปัจจุบันอาชีพนี้กำลังได้รับผลกระทบ  เนื่องจากการทำประมงต้องเผชิญภาวะเสี่ยงจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้อาชีพช่างต่อเรือได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

“ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีผลกระทบมากต่ออาชีพนี้ เพราะหากชาวประมงออกจับปลาไม่ได้ แล้วช่างจะสร้างเรือไว้เพื่ออะไร หรืออนาคตคงต้องเข้าเป็นพิพิธภัณฑ์ (บังหัวเราะ)  เพราะที่สามารถอยู่ได้จากรุ่นปู่ย่ามาถึงปัจจุบัน  ก็เพราะประกอบอาชีพทำเรือ  วอนรัฐบาลเห็นใจชาวบ้าน และชาวประมงที่ทำอาชีพเดินเรือจับสัตว์น้ำ เพราะหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการขนถ่ายถ่านหินทางเรือ และเขตที่ใช้ขนถ่ายนั้น เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้เดินเรือทำการประมงออกจับปลาเพื่อเลี้ยงชีพ รัฐบาลควรหาทางออกที่ดีกว่านี้ ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างมาก”

20152711120044.jpg

20152711120051.jpg

20152711120102.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ