เปิดหัวใจอาสาหน่วยกู้ภัย จัดทัพรับมือโควิด-19 ดีเดย์ 1 เม.ย.

เปิดหัวใจอาสาหน่วยกู้ภัย จัดทัพรับมือโควิด-19 ดีเดย์ 1 เม.ย.

ช่วงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยดูน่ากังวลใจ เพราะยังคงมีตัวเลขผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และกระจายไปเกือบทั่วประเทศ

นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ จะต้องรับบทหนักในการเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยแล้ว หน่วยอาสากู้ชีพกู้ภัยเฉพาะกิจ ได้กลายเป็นทีมสำคัญที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเข้ามาช่วยเหลือหากบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการ 1 เมษายนนี้  

Thecitizen.plus มีโอกาสพูดคุยกับทีมอาสาหน่วยกู้ภัยเฉพาะกิจ ถึงการเตรียมความพร้อมมือสถานการณ์โควิด-19  คุณหนึ่ง พลเสฏฐ์ เลาหกรรณวนิช เลขาประธานหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างเบญจธรรมสมุทรสงคราม และหัวหน้าชุดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน คือตัวแทนที่เราพูดคุยให้เห็นภาพอีกหนึ่งกลุ่มอาสาสมัครที่จะเข้าเสริมทัพรับมือกับสถานการณ์โควิด – 19 ในประเทศ

Q : สถานการณ์โควิดในพื้นที่สมุทรสงครามเป็นอย่างไรบ้าง

A : ในจังหวัดสมุทรสงคราม จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อ และมีการเฝ้าระวังกันอยู่ 10 ถึง 20 ราย มีกลับบ้านแล้วบ้าง แต่ต้องเคร่งครัดทำตามมาตรการจังหวัดวางไว้ ส่วนตัวอาสาหน่วยกู้ภัยฯ ก็มีมาตรการเข้มข้นสูง ในเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการออกรับผู้ป่วย โดยปกติเรามีหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ในการรับผู้ป่วยอยู่แล้ว คือ

ระบบการรับผู้ป่วย ถ้าผ่านระบบ 1669 ทางทีมกู้ชีพจะมีการคัดกรองในเบื้องต้นว่า เคสหรือผู้ที่ป่วยไข้มีเป็นกลุ่มไหนบ้าง ถ้าในสถานการณ์ปกติ เป็นกลุ่มผู้ป่วยเก่าที่เราเคยรับเช่น อุบัติเหตุ  ป่วยไข้ฉุกเฉิน โอกาสความเสี่ยงมันก็ไม่มีมาก เราสามารถรับได้ในเกณฑ์ที่มูลนิธิเคยรับอยู่แล้วคือระดับกลางและระดับล่างแบบนี้ทางศูนย์สั่งการจะบอกให้เราไปรับ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 ถ้ามีความเสี่ยงคือ กลุ่มที่เดินทางจากต่างจังหวัด ที่อาจมีความเสี่ยงติดเชื้อเข้ามาพักในพื้นที่สมุทรสงคราม ถ้ามีไข้ ไอ ตัวร้อน เจ็บคอร่วมด้วย ขณะนี้ต้องเป็นทีมระดับสูงของโรงพยาบาลมารับผู้ป่วยเอง แต่ทีนี้ถ้าต่อไป ปริมาณคนไข้เยอะมาก ทีมมูลนิธิต้องสนับสนุน

Q : หมายความว่า ทีมกู้ภัยฯ จะต้องเตรียมความพร้อมไปรับผู้ป่วยเคสโควิดเสริมทีมโรงพยาบาลกัน

A : นั่นคือสิ่งที่คนในแวดวงประเมินสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม สถาบันทางการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งทำงานร่วมและดูแลภาคเอกชนอย่างทีมกู้ภัยต่างๆ  ก็มีความเป็นห่วง ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ ล้นมือ ขึ้นมาจริงๆ อย่างไรเสีย ต้องให้ทีมมูลนิธิช่วย

ดังนั้น เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ มีการเรียกประชุมตัวแทนมูลนิธิ ฯ หารือว่าทำอย่างไรให้คนทำงานปลอดภัย

“เอาตรงๆ นะครับ ตอนแรกที่คุยกัน พวกเราก็มีความกังวลใจอยู่ในการออกรับ แต่อีกมุมที่มองคิดว่า เป็นเรื่องดีถ้าจะให้น้องๆ ในมูลนิธิกู้ภัยฯ ได้มีความรู้ในเรื่องนี้เราก็จะได้ป้องกันไว้ได้  อย่างน้อยทีมมูลนิธิจะได้รับความรู้ในการป้องกัน การใส่ชุด PPE เป็นชุดที่มาตรฐานสากลในการออกรับผู้ป่วย แต่ถ้าเราไม่มีความรู้เลยแล้วเกิดเหตุการณ์นั้นจริงๆ เราไม่ฝึกฝน เราไม่เตรียมตัวถึงเวลานั้นชาวบ้านต้องเดินทางมารพ.เองทั้งหมด หรือกรณีผู้ป่วยลุกไม่ได้จะทำอย่างไร หรือถ้าต้องออกมารับผู้ป่วย ทีมก็ไม่มีอะไรป้องกันตัวเองจะทำอย่างไร”

ถ้าเราฝึกแล้วเราไม่ได้ใช้ เราไม่เจอคนป่วยโควิด-19 จริงๆ ก็เท่ากับได้พัฒนาการในการใส่ และการถอดชุด PPE การดูแลคนไข้ การดูแลความสะอาดรถไปในตัว แต่ถ้าถึงช่วงวิกฤตจริงทีมก็สามารถทำได้พร้อม 100 %

ในตอนนี้ ทีมเฉพาะกิจ หรือทีมโควิด-19 ทั่วประเทศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับองค์กรภาคเอกชนมูลนิธิทั่วประเทศ มีการจัดตั้งเกือบครบ 100 ทีมแล้ว ส่วนมูลนิธิสว่างเบญธรรมที่ตัวเองรับผิดชอบ มีพนักงาน 12 คน อาสาสมัคร 100 คน ได้ก่อตั้งทีมโควิดต่างหาก  21 คนของจังหวัดโดยเฉพาะ ที่รับเรื่องนี้โดยตรง

“จริงๆ ต้องฝึกเป็นภาค และอาจารย์ก็จะลงไปตามภาค แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้เรารวมกลุ่มใหญ่ไม่ได้เป็นร้อยๆ คนมารวมกันโอกาสการแพร่เชื้อก็จะสูง ทำให้ตอนนี้ต้องฝึกทางวิดีโอถ่ายทอดสด พวกเราในส่วนพื้นที่ไหนที่มีครูก็ให้ครูเขาเข้ามาฝึกให้พวกเรา สำคัญสุดคือเรื่องการถอดชุด หลายๆ ที่ หลายๆ โรงพยาบาลต่างประเทศ หรือในไทยเองที่ติดเชื้อ คือติดจากการถอดชุด เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน”

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ตัวแทนของมูลนิธิได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดสดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในเรื่องชุดป้องกัน การดูแลรักษาตัวเอง การไปรับคนไข้ ส่วนตัวมองว่า เราดูผ่านถ่ายทอดสดไม่เพียงพอ คือเราต้องมั่นใจว่าทีมจะออกไปรับคนป่วยได้มันต้องมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเองเลยประสานกับโรงพยาบาลราชวิถี กับอาจารย์ที่รู้จักกัน ซึ่งเขาหยุดเสาร์อาทิตย์พอดีให้มาช่วยสอนน้องๆ ให้เบื้องต้นในวันอาทิตย์ทั้งวัน ชุดเฉพาะกิจที่เราจะออกเขาจะสอนหมดเลย และปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน

Q : มาตรการที่ได้รับการฝึกมีอะไรบ้าง ?

A : ตัวเองในฐานะหัวหน้าทีม จะเน้นความปลอดภัยของน้องๆ ในทีมก่อน โดยคัดกรอง น้องๆ อาสาสมัคร ที่ออกไปทำงานในกรุงเทพฯ และกลับมาบ้านจากการสั่งล็อคดาวน์กรุงเทพ  บางคนไม่ได้ทำงานเขาก็อยากมาช่วยมูลนิธิกู้ภัย เลยต้องออกระเบียบว่าอาสาสมัครชุดนี้ ให้กักตัวอยู่บ้านดูอาการตัวเองก่อน 14 วัน เราไม่ได้รังเกียจ แต่เราต้องการให้หน่วยเราไม่ได้รับการติดเชื้อ หรือมีกลุ่มเสี่ยงเข้ามาทำงาน เพราะถ้าติดคนนึงมันจะกระจายไปทั่วมูลนิธิ กระจายแล้วหน่วยเราก็ไม่สามารถออกไปรับคนป่วยคนเจ็บได้ อันนี้อันดับแรก   

อันดับสองวางมาตรการเรื่อง น้ำยาฆ่าเชื้อ คือสั่งทำอุโมงค์ทางเข้า ทางออกมูลนิธิเป็นทางเดียว ทุกคนที่จะออกปฏิบัติหน้าที่ หรือทุกคนที่จะมาเข้าเวรจะต้องผ่านอุโมงค์ฆ่าเชื้อเท่านั้น อุโมงค์นี้ประดิษฐ์ขึ้นเองทั้งหมด ตอนแรกที่ทำคือกดปุ่มแล้วน้ำยาฆ่าเชื้อก็จะพ่น แล้วก็เดินเข้ามูลนิธิ แต่มีอาจารย์ที่เขาเห็นสิ่งที่เราทำผ่านทางเฟสบุ๊ค เขาก็ยินดีมาช่วยทำแบบให้สามารถพ่นได้เองอัตโนมัติ ตัวเองเลยคิดว่าเราจะทำให้เป็นมาตรฐานเป็นสามโซน โซนแรก ล้างเท้า รองเท้า ล้างดินออกก่อนในน้ำเปล่าปกติ โซนสอง เป็นน้ำยาล้างเท้าเพราะถ้าเราพ่นตัวฝ่าเท้าจะไม่โดน โซนสาม จะเป็นน้ำยาที่พ่นทั่วตัว

ส่วนรถทุกคันพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแบบฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง คือยามาตรฐานสากลที่เขาใช้กันทั่วประเทศไทยทั่วโลก ตามโรงงานอบโอโซน ทุกครั้งที่ออกไปรับผู้ป่วย ออกไปรับเคสต่างๆ กลับมาน้องๆ ก็จะทำความสะอาด พ่นเช็ดอุปกรณ์และตัวเจ้าหน้าที่เองด้วย

Q : หากต้องช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19  มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างไรบ้าง

A : ลำดับแรก โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เขามีทีมโดยตรงอยู่แล้ว คืออันดับหนึ่ง ทีมแรกคือที่อบรมการป้องกันตรงนี้โดยตรงเป็นทีมชุดระดับสูงของโรงพยาบาล

ลำดับสองจะเป็นทีม BASIC ทีมมูลนิธิ อปท.ท้องถิ่นที่มีทีมกู้ชีพอยู่ในท้องถิ่น แต่การไปออกทำหน้าที่จะมีชุดทำงานเหมือนทีมแพทย์หมดเลย

หน่วยกู้ภัยขึ้นตรงกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แต่ทางโรงพยาบาลจะขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข เราไม่ได้ไปทับงานเรื่องการรับผู้ป่วยกัน แต่ถ้ากำลังไม่พอจริงๆ ทีมเราจะเป็นทีมเสริม ออกไปช่วย เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่ามูลนิธิฝึกมาปลอดภัยไหม และรับงานซับซ้อนกันไหม เรามาแค่ต้องการสแตนบายถ้าไม่ได้เรียกแล้วเขาทำงานได้สถานการณ์ปกติ เราก็ทำงานปกติ แต่ถ้าเหตุการณ์มันบานปลาย คุมไม่อยู่ทีมเราก็จะสามารถลงไปสนับสนุนตรงนั้นได้ ทีม รพ.เองก็จะได้ไม่ต้องออกมารับแต่จะตั้งรับอยู่ในโรงพยาบาล

โดยทีมหน่วยกู้ภัย 1 ทีมประกอบไปด้วย 3 คน คือ 1.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดูแลความปลอดภัยทุกอย่าง ตั้งแต่ถอดชุดใส่ชุด เรื่องรถ เรื่องทำความสะอาด ซึ่งเราจะพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียวโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูงเราต้องแบ่งหน้าที่กันชัดเจน 2.พนักงานขับคน และ 3 เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วย และหากมีผู้เสียชีวิตและทีมต้องดำเนินการ ก็ต้องมีถุงห่อเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งตอนนี้ถุงพลาสติกราคาสูง ยังต้องหารือกันเรื่องการจัดการ เรื่องค่าใช้จ่าย  แต่สำคัญคือต้องมั่นใจในความปลอดภัยจากการติดเชื้อ

อุปกรณ์ต้องมาตรฐาน เช่น หน้ากาก จริงๆ ต้องเป็น N95 แต่ตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้วเหมือนกันแพงมาก ตอนนี้มี N95 อยู่ 5 อัน ทั้งมูลนิธิ ชุด PPE สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินสนับสนุนมา 10 ชุดก็แบ่งให้กับมูลนิธิที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันใช้ร่วมกัน ชุด PPE ค่อนข้างหาซื้อยาก บางทีต้องรับบริจาค หน้ากากอนามัยด้วย ราคาสูง เจลล้างมือด้วย

“มีเคสที่จังหวัดหนึ่ง มีกรณีที่สั่งให้มูลนิธิออกรับเคสเป็นอุบัติเหตุรถชน วันต่อมาทราบว่าคนเจ็บคนนี้ติดเชื้อโควิด-19 แต่มาด้วยเคสอุบัติเหตุ พอเรารู้ ก็ได้ให้น้องอาสมัคร 3 คนกักตัว 14 วันดูอาการตอนนี้ เราไม่รู้เลยว่าใครเสี่ยงไม่เสี่ยง เพราะเชื้อมันกระจายทั่ว คนที่เดินผ่านเราก็ไม่รู้ว่าไปไหนมาบ้าง ถ้าอยากให้แนะนำคือ อยากให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ช่วยได้ค่อนข้างเยอะ ออกจากบ้านติดหน้ากาก ตอนนี้เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นอะไรบ้าง”

อยากให้ทุกคนใส่ใจเรื่องของตัวเองให้มาก ถ้ารู้สึกตัวเองมีการอาการ และพบแพทย์ ไม่อยากให้ปิดบังประวัติ ไม่ต้องอาย เพราะอุปกรณ์ทางการแพทย์มันน้อย ถ้าไม่บอก เราซุ่มเสี่ยงคนทำงาน  หมอพยาบาลไปสักเท่าไหร่ หมอพยาบาลควรได้ใช้เวลาในการมารักษาพวกเรา ไม่ควรต้องถูกกัก ตัว 14 วัน เพราะติดเชื้อ

Q : อะไรคืออุปสรรคของการทำงานรับมือโควิด-19

A : ตอนนี้เหนื่อยมาก เหนื่อยกันทุกคน เพราะมูลนิธิเองก็ต้องประชุมกันทุกวัน เราก็เป็นห่วงว่าสถานการณ์มันจะแย่ลง ถ้ามันดีขึ้นก็โอเค แต่ถ้ามันเลวร้ายลงกว่านี้มันจะทำยังไง พวกเราจะตั้งรับอย่างไร เราจะไหวไหม บางพื้นที่ก็ถอนตัว ทำหนังสือถึง สสจ. เลยว่าไม่ออกรับผู้ป่วยในช่วงนี้

“พี่ก็พิมพ์หนังสือเผื่อไว้นะ ในขณะนี้เรายังไม่เคยออกไปรับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างภัยพิบัติเราเห็นตรงหน้า เช่น น้ำท่วม แต่กับโควิด-19 เรามองไม่เห็น ในฐานะหัวหน้าทีม ถ้าเอาน้องๆ ไปเสี่ยง โดยที่เราไม่มีชุดป้องกันแล้วเราก็ต้องหยุด เพราะพี่จะให้เหตุผลพ่อแม่ของน้องๆ ที่เป็นอาสาสมัครมาแล้วติดเชื้อกลับบ้าน ไม่รู้จะพูดกับทางผู้ปกครองเขาอย่างไร แต่โดยความตั้งใจแล้ว  พวกเราพร้อมนะ ทีมก็พร้อมที่จะออกช่วยเหลือเต็มที  ถึงเวลานั้นมันปฏิเสธไม่ได้หรอก เราต้องทำ แต่ทำอย่างไรให้พวกเราปลอดภัยที่สุด”

ตัวเองคิดว่าตัวเองไม่หนี ต้องอยู่กับมันให้ได้ แต่อยู่กับมันให้เป็น ถ้าหนีเราก็จะยิ่งกลัวไปเรื่อยๆ แล้วเราเป็นทีมที่ต้องช่วยประชาชนอยู่แล้ว เราหนีแล้วใครจะช่วยประชาชน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องการเตรียมทีมให้พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์พร้อมที่จะช่วยเหลือ พร้อมที่จะปลอดภัยทั้งทีม

Q : เพื่อนมูลนิธิกู้ภัยที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ สะท้อนอะไรบ้างไหม

A : ตอนนี้เราตั้งกลุ่มที่ทำงาน 100 ทีม โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหัวหน้าทีมหลัก เราจะมีการประชุมกันทุกสองทุ่มถึงสี่ห้าทุ่ม ทุกวัน ถึงการเตรียมทีมที่โน่นที่นั่นว่ามีการเตรียมความพร้อมไปถึงไหน เช่น ทีม A ไม่พร้อมเราก็ต้องออกไปรับเราจะใส่ชุดดีไหม ถ้าใส่ชุดไปแล้วคนจะ แตกตื่นไหม คือเคสมันใกล้เคียง เหมือนผู้ติดเชื้อโควิด เราจะใส่ชุดดีไหม ใส่แล้วกลัวประชาชนแตกตื่น ก็คุยกับว่า จริงๆ แล้วถ้ามันใกล้เคียงก็ใส่เถอะ คนแตกตื่นก็ได้ เขาจะได้รู้ว่ามันอันตราย ต้องระมัดระวัง

ทีมระดับโรงพยาบาลบางจังหวัดที่พร้อมมีหลายทีม แต่ทีมโรงพยาบาลบางจังหวัดเล็กๆ เขาก็จะมีทีมเดียว ทาง 100 ทีมของพวกเราจะดีเดย์ วันที่ 1 เมษายน 2563  สามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมทีมเตรียมความพร้อมทั้งหมด แต่ใน 100 ทีม ถ้าทีมไหนรู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อมไม่มีความปลอดภัยในชุด ทางศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน)ก็จะจัดส่งชุดอุปกรณ์มาให้พวกเราส่วนหนึ่งออกไปปฏิบัติงานสนับสนุนกับทีมประจำจังหวัดได้ แต่ถ้าทีมประจำจังหวัดรู้สึกกลัวว่าเราจะไม่ปลอดภัย ไม่มีคำสั่งให้เราออกเราก็ไม่ได้ออก เราก็ทำทีมรอไว้

Q : สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงประชาชน – ประชาชนจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

A : อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองถ้ามีอาการเบื้องต้น มีไข้ให้รีบหาหมอก่อน ถ้าหลีกเลี่ยงออกจากบ้านไม่ได้ก็ขอให้หาหน้ากากอนามัยปิดปากตลอดเวลากันการกระจาย หรือว่ารับเชื้อจากคนอื่นแล้วอาจจะไปกระจายให้คนอื่น ถ้าอยู่บ้านได้ก็จะหยุดการแพร่เชื้อ ถ้าเราทำได้อ ยู่บ้าน ใส่หน้ากากอนามัย การแพร่กระจายก็ยับยั้งได้สูง ไม่อยากให้ทุกคนมองเรื่องโควิดไกลตัว

และเราเองก็อยากได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ หรือค่าใช้จ่ายในการช่วยสนับสนุน ที่ผ่านมาก็มีได้รับการสนับสนุนเพื่อซื้อชุด PPE  ได้หลาย 10 ชุดและก็แจกจ่ายให้สนับสนุนให้รพ.บ้างแล้วและ รพ.ก็มีอยู่บางแล้วแต่เราก็อยากช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ด้วยกัน เพราะเป็นทีมเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องการอุปกรณ์ใช้ในระยะยาวถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากกว่านี้ เพราะสถานการณ์เราไม่สามารถอยู่ในระยะหนึ่งเดือนได้ อุปกรณ์ชุดไม่พอใช้แน่นอน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ