บันทึกจากคนกลุ่มเสี่ยง: แชร์ประสบการณ์ตรวจ COVID-19

บันทึกจากคนกลุ่มเสี่ยง: แชร์ประสบการณ์ตรวจ COVID-19

ณ จุดที่จำนวนผู้ติดเชื่อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในประเทศ ขยับเพิ่มจากหลักสิบ จนพุ่งทะยานสู่หลักพันภายในเวลาไม่กี่วัน และตัวเลขยังคงมีทีท่าที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลังเฝ้าระวังกันมากว่า 2 เดือน

26 มี.ค. 2563 คือวันที่รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ด้วยการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งประเทศไปจนถึงปลายเดือน เม.ย. เพื่อควบคุมการเดินทางและการรวมตัว เพราะการแพร่กระจายเชื้อเกิดจากส่งต่อของคนสู่คน

ด้านหนึ่ง วันนี้ (26 มี.ค. 2563) สำหรับคน 1 คน นี่คือวันที่ปลดเปลื้องภาระความกังวนในใจ จากเสียงโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่บอกว่า “ไม่พบเชื้อ” แต่ขอให้กักตัวต่อไปก่อนจนกว่าจะครบ 14 วัน ถ้ามีอาการไข้สูงให้รีบไปพบแพทย์

เราขอนำบันทึกของ “แป้ง” จิดาภา สมสุข คนวัยทำงานที่มีชีวิตเหมือนพนักงานกินเงินเดือนทั่ว ๆ ไป ในวันที่เธอตกเป็น “คนกลุ่มเสี่ยง” มานำเสนอ เพื่อย้ำเตือนว่าการเดินทางในชีวิตประจำวันของเราอาจยากที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญกับกับเชื้อไวรัส COVID-19

และแม้ว่าการให้ “คนไทยทุกคนต้องได้ตรวจ COVID-19 ฟรี” จะเป็นสิ่งที่เราเห็นด้วย แต่การดูแลตัวเองและการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ลดโอกาสเสี่ยง ลดการติดเชื้อ ลดภาระแพทย์ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำมันอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

00000

บันทึกจากคนกลุ่มเสี่ยง : จิดาภา สมสุข

23 / 03 / 63

เรารู้ว่าตัวเองเป็น “กลุ่มเสี่ยง” หลังจากที่กลับมาจากที่ทำงาน แล้วได้เห็นในเฟซบุ๊กของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีประกาศเรื่อง “ผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่เสี่ยง” วันที่ 8-20 มีนาคม 2563 รถตู้ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน – ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มีคนขับรถคันที่ 53 เป็นผู้ติดเชื้อ ที่ขับรถวันละ 1-3 เที่ยว

พอเห็นแล้วเราก็รีบเช็คข้อมูลให้ชัดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเวลาที่คิวรถคันนั้นขับ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม เลยรีบแจ้งพี่ที่ทำงานว่าเราใช้บริการวินรถตู้นี้เกือบทุกเช้าเวลาไปทำงาน

ผลคือที่ทำงานให้เรากักตัว 14 วัน รวมถึงสอบถามเพื่อนร่วมงานว่ามีใครใกล้ชิดกับเราไหมเพื่อประเมินความเสี่ยง ส่วนเราก็หาข้อมูลโรงพยาบาลที่มีการตรวจ โควิด-19 บริเวณใกล้บ้าน ก็คือสถาบันบำราศนราดูร เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมควบคุมโรค

ตอนเห็นข่าวเรารู้สึกกังวลว่าจะเป็นเราหรือเปล่าที่ขึ้นรถคันนั้น เพราะยังไม่รู้ตารางเวลาของรถ แล้วพ่อแม่จะติดด้วยหรือไม่ กังวลว่าเพื่อนร่วมงานจะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อรู้ว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยง เราเครียดจนปวดหัวตัวร้อน

ข้อมูลสำคัญ โปรดให้ความสนใจขอให้มาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ

โพสต์โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2020

00000

24 / 03 / 63

เช้าอีกวัน เรารีบไปที่สถาบันบำราศนราดูร กระบวนการของที่นี่พอไปถึงก็จะมีพยาบาลวัดไข้ และให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อน ถ้าเป็นคนที่จะมาตรวจโควิด-19 จะได้รับแจกบัตรคิวและให้ไปนั่งแยกรอเรียกคิว การนั่งรอคิวก็จะนั่งในที่อากาศถ่ายเท นั่งเก้าอี้ห่างกัน 1 เมตร

สำหรับคนที่มาตรวจเชื้อ จะแยกโซนไว้เลยจะไม่ได้เข้าไปยุ่งวุ่นวายกับใคร วันนี้คนเดินทางมาตรวจเรื่อย ๆ แต่ไม่แน่นมาก บางคนที่มามีอาการไอมาเลย เราเห็นก็กลัวเหมือนกัน แต่ถ้าเขาแค่ไอแต่ไม่ได้ใกล้ชิดหรืออยู่ในสถานที่เสี่ยงหมอก็จะให้ไปหาหมอแบบปกติแทน

ที่นี่การจัดการเรื่องพื้นที่ทำดีมาก ระหว่างรอคิวตรวจก็มีมุมอาหารเครื่องดื่มให้สำหรับใครที่หิวก็สามารถใช้บริการได้ และมีพยาบาลให้คำแนะนำตลอด

เมื่อถึงคิวจะมีการเรียกไปซักประวัติเพื่อคัดกรองขั้นแรกก่อน เขาก็จะถามว่าอาการเราเป็นอย่างไรบ้าง ไปสถานที่เสี่ยงมาหรือไม่ วัดไข้วัดความดันให้ เมื่อสอบถามข้อมูลไปเบื้องต้นเสร็จแล้วจะติดสติ๊กเกอร์ให้ โดยมี 2 สี คือ เสี่ยงมาก หรือ เสี่ยงน้อย และจะให้ไปนั่งรออีกบริเวณหนึ่งซึ่งเป็นที่อากาศถ่ายเท เก้าอี้ห่างกัน 1 เมตรเหมือนกัน

การคัดกรองประวัติรอบ 2 จะเป็นเจ้าหน้าที่ระบาดอ่านข้อมูลที่ซักไปในรอบแรก ถ้าเข้าเกณฑ์เสี่ยง ก็จะได้รับการตรวจฟรี แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์เสี่ยงก็จะให้กลับบ้านไม่ตรวจโควิด-19 ให้ หรือถ้าใครอยากจะตรวจจริง ๆ ต้องลองปรึกษาพยาบาลที่นั่นดู ค่าตรวจเบื้องต้นที่ทราบมาคือ 2,500 บาท

กลุ่มเสี่ยงที่จะได้เข้าไปตรวจมีอยู่ 2 ประเภท 1.เสี่ยงมาก 2.เสี่ยงน้อย เราเป็นกลุ่มเสี่ยงน้อย เมื่อเข้าไปตรวจจะเป็นการตรวจแบบเอาสารคัดหลั่งจากในคอ-จมูกไป แต่ถ้าเสี่ยงมากจะเป็นการตรวจแบบเอาสารคัดหลั่งจากในคอ-จมูก และให้ไปเอ็กซ์เรย์ปอดด้วย

เมื่อตรวจเสร็จก็จะได้รับเอกสารคำแนะนำสำหรับการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนเชื้อไวรัสโคโรน่า เสร็จแล้วก็กลับบ้านได้เลย รอผล 2 วัน ทางสถาบันบำราศนราดูรจะโทรมาบอกผลเอง

เอกสารคำแนะนำสำหรับการแยกกักที่บ้าน (Home isolation)

00000

25 / 03 / 63

ทบทวนความรู้สึกหลังจากรู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง ในตอนแรกกับการใช้ชีวิตประจำวันเราไม่ได้รู้สึกใส่ใจกับการดูแลตัวเองมาก แต่พอมาเจอเหตุการณ์กับตัวเอง ไปฟังที่หมอพูดมาแล้วเลยรู้สึกว่าต้องใส่ใจมากขึ้น ค่อนข้างเป็นห่วงความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่ใกล้ชิดเราว่าเขาจะคิดมาก

การแพนิคเกินไปอาจจะทำให้รู้สึกปวดหัวมีไข้ไม่สบายได้ แต่ในช่วงดึกของวันที่ 24 มีนาคม 2563 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีได้แจ้งอีกทีถึงเวลาที่รถตู้คันนั้นขับ ซึ่งไม่ตรงกับเวลาที่เราใช้บริการ ก็ทำให้โล่งใจไปบ้าง แต่ก็ยังคิดว่าเสี่ยงเพราะคนในวินคนอื่นก็อาจจะติดเชื้อได้เหมือนกัน

ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกคนจริงจังกับดูแลตัวเอง งดการออกไปข้างนอก 14 วันในช่วงนี้ ทุกคนมีความเสี่ยงหมดแต่แค่ไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงมาหรือเปล่า เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ออกไปรับเชื้อหรือแพร่เชื้อ ทำเพื่อตัวเองเพื่อคนอื่นและเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

หลังจากกลับมาจากตรวจเชื้อก็พยายามทำตามคำแนะนำที่แพทย์สั่ง หยุดงานพักอยู่บ้าน คอยเช็คไข้ทุกวัน กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำผลไม้เยอะมาก ๆ นอนแยกห้องกับคนในครอบครัว ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา อยู่ห่างกัน 1-2 เมตร แยกของใช้ส่วนตัว ล้างมือบ่อย ๆ ทำความสะอาดบ้าน คอยฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ในบริเวณที่เราไปสัมผัส…

ทำทุกอย่างที่เราพอจะทำได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ