เปิดภารกิจชีวิตอสม. มดงานสู้โค(วิด-19)

เปิดภารกิจชีวิตอสม. มดงานสู้โค(วิด-19)

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. เอ่ยขึ้นมาเมื่อไหร่จะมีภาพจำเป็นบรรดากลุ่มสตรีอาสา เป็นแม่ เป็นอา เป็นป้า แต่จริงๆ แล้วอสม. ก็ทั้งเพศชายและเพศทางเลือก ที่ต่างทำงานไต่ถามสารทุกข์ ความเป็นไป ความป่วยไข้ในชุมชนอยู่เสมอ ๆ สมดังคำขวัญ 

“แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ให้ประชาชน ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี” 

แม้เราเป็นชาวบ้าน เราก็สามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้ 

อสม. เสียสละ กล้าหาญ อดทน มุ่งทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ภาพถ่ายโดย จีราภรณ์ อยู่สาตร์ ประธาน อสม. ต.ฟ้าฮ่าม จ.เชียงใหม่

อสม.เป็นงานสาธารณสุขมูลฐานที่อยู่คู่ชุมชนไทยมาแล้วกว่า 4 ทศวรรษ มุ่งดูแลสุขภาพที่อยู่บนฐานของการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัวและชุมชน และบทบาทของอสม.ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขก็คาดหวังให้เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) หรือเป็นแบบอย่างนั่นเอง

สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019) ในปัจจุบัน แม้อสม.จะไม่ได้เป็นหน้าด่านในการรับมือ แต่ก็นับเป็นมดงานระดับย่อยที่ช่วยวางอิฐก่อกำแพงป้องการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในชุมชน โดยมีจำนวนอสม.ที่เฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศ 443,225 คน ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ

จากเอกสารการจัดระบบอสม. และภาคประชาชนสำหรับ Local quarantine และ Home quarantine โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเผยแพร่ระหว่างการประชุมทางไกล ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 ครั้งที่ 4/2563 ได้ระบุถึงแนวทางในการ อสม. เคาะประตูบ้านเพื่อสังเกตอาการตามบ้านเรือนของผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโควิด

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้คำแนะนำแก่ ประชาชนในการดูแลป้องกันตนเอง รณรงค์ทำกิจกรรม big cleaning week จิตอาสาสู้โรคติดเชื้อโควิด-19 และการดูแลคนจากกลุ่มเสี่ยงซึ่งส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน โดยแยกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ หนึ่ง กลุ่มเสี่ยงที่มีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ หรือเหนื่อยหอบ สอง กลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศในกลุ่มเสี่ยงและประเทศที่มีการระบาด และ สาม กลุ่มแรงงานที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมถึงกิจกรรมสอนประชาชนทำหน้ากากอนามัยจากผ้าไว้ใช้เอง และเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดมากขึ้น ขอนำเสนอตัวอย่างการทำงานของอสม.ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หัวเมืองใหญ่ที่คาดการณ์ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงของการระบาดรองจากกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) มีการประกาศยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย โดยมีผู้สัมผัสจำนวน 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 20 ราย กลุ่มเสี่ยงต่ำ 20 ราย ในกรณีของกลุ่มเสี่ยงต่ำมีจำนวนหนึ่งกักตัวในบริเวณบ้าน ก็เป็นงานที่อสม.จะต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากพิจารณารายละเอียดของกราฟจะเห็นคนและผลงาน อสม. จึงเป็นหน่วยสำคัญในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ระดับชุมชน ในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างไปตามเงื่อนไขและความพร้อม ซึ่งเราสามารถเห็นปฏิบัติงานที่พวกเขากำลังทำงานแบบเรียลไทม์ อัพเดพส่งผลออนไลน์เข้า ระบบรายงานกิจกรรมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน

เมื่อนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการทำงานรับมือโรคระบาด ก่อนหน้านี้อสม.มีประสบการณ์โรคระบาดหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก โรคซาร์ส (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) เมอร์ส (โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) อสม. นับเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ผนวกกับการทำงานระดับพื้นที่โดยมีเครื่องมือการสื่อสารทันสมัยหนุนเสริม “อสม. 4.0” ที่ต้องมีองค์ประกอบ 3 สิ่ง กล่าวคือ มีทักษะด้านดิจิทัล digital skill มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ health literacy และมีจิตอาสาและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ อาจจะช่วยลบภาพจำ ความพื้นบ้าน ความลูกน้ำยุงลายที่มักจะเรียกขานกัน และเหนือกว่านั้นคือการร่วมหยุดยั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชน

น่าสนใจว่าวันอสม. แห่งชาติวันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมทางไกลครั้งใหญ่ และมีวาระสำคัญเร่งด่วน คือการสนับสนุนการดำเนินงานระดับจังหวัดให้มีการเฝ้าระวัง-ป้องกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ “การระบาดระยะที่ 3” และความหวังที่จะเห็นการตัดสินใจบนข้อมูลของการปฏิบัติงานระดับพื้นที่ เชื่อมกับข้อมูลเส้นทางการเดินทาง การแพร่ระบาดกระจายของกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อนั้น ก็อาจจะไม่ใช่ความฝันที่ไกลเกินความเป็นจริง.

https://www.facebook.com/thaithenorth/videos/vb.1516851828642525/526765324697540/?type=2&theater

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ