ครั้งแรกในรอบ 70 ปี ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณ “เกราะหยี่ – ปิดหมู่บ้าน” สู้โควิด 19

ครั้งแรกในรอบ 70 ปี ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณ “เกราะหยี่ – ปิดหมู่บ้าน” สู้โควิด 19

ชาวกะเหรี่ยงบนดอยหลายชุมชน เริ่มตื่นตัวทยอยปิดชุมชน ห้ามคนในออก – คนนอกเข้า ด้วยพิธีกรรมโบราณ “เกราะหยี่” หรือ พิธีปิดหมู่บ้าน พบพิธีนี้เคยใช้เมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้วสมัยอหิวาตกโรคระบาดหนัก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมีอาหารเพียงพออยู่ได้นานนับปี  คนเมืองอาจแห่หนีเข้าป่าเอาตัวรอด

ภาพระหว่างการประกอบ ภาพปิดทางเข้า-ออกหมู่บ้าน / มานพ คีรีภูวดล

พิธีเกราะ-หยี่ คืออะไร

ทีมสื่อไอเอ็มเอ็นได้สัมภาษณ์ ดร. ประเสริฐ ตระการศุภกร และ วุฒิ  บุญเลิศ สองนักวิชาการชาวกะเหรี่ยง เพื่อมาอธิบายความหมายและที่มาของพิธีกรรมสำคัญนี้ คำว่า “เกราะ” แปลว่า “ปิด – กั้น – หรือปกป้อง” ส่วนคำว่า “หยี่ หรือ หี่” แปลว่าหมู่บ้าน บางแห่งเรียก “เกราะแกล๊ะ” หมายถึง “ปิดถนน” เพราะส่วนใหญ่จะทำพิธีบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน การประกอบพิธีลักษณะนี้มีขึ้นใน 2 กรณี คือเป็นพิธีประจำปี เรียกอีกอย่างว่า “บัวหยี่ บัวฆอ” เป็นการสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน โดยกำหนดปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเป็นระยะเวลา 3 วัน 7 วัน หรือ 9 วัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำแต่ละชุมชน ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่บ้างที่ชุมชนกะเหรี่ยงทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน  ส่วนใหญ่จะทำพิธีในช่วงเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ระหว่างที่ปิดหมู่บ้านหากมีคนนอกเผลอเข้าไป ก็จะต้องอยู่ในชุมชนจนกว่าจะครบกำหนด

ส่วนพิธีปิดหมู่บ้านที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นพิธีใหญ่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  มักใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น มีคนเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันหลายคน เกิดโรคระบาดที่รักษาไม่ได้ แต่ละชุมชนก็จะทำพิธีปิดหมู่บ้าน ห้ามไปมาหาสู่กัน

พบว่าเคยมีการประกอบพิธีเช่นนี้เมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว สมัยที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า ระดับความตึงเครียดของพิธีปิดหมู่บ้านจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่ติดไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน หากติดแค่ “ตะแหลว” หรือไม่ไผ่สานหกเหลี่ยมยังไม่ถือว่าเหตุการณ์รุนแรงเท่าไหร่นัก แต่กรณีที่มีหอก ดาบ หรือหลาวปลายแหลมประดับไว้ด้วย นั่นหมายถึงสถานการณ์อยู่ในขั้นรุนแรงสูงสุด เช่น การระบาดของโควิด – 19 ในขณะนี้

ภาพระหว่างการประกอบพิธีเกราะหยี่ / มานพ คีรีภูวดล

นอกจากนี้ยังมีอีกพิธีกรรมหนึ่งที่เรียกกันว่า “หวี่โดะ” หรือพิธีปัดรังควานหมู่ ผู้นำชุมชนหรือเจ้าพิธี จะนำไม้ไผ่มาสานเป็นกระสวยใบใหญ่ ใส่พริก เกลือ ยาสูบ ส้มป่อย ขมิ้น ข้าวสาร แล้วให้สมาชิกชุมชนมาร่วมกันขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป จากนั้นจึงนำกระสวยไปทิ้งไว้ที่ท้ายหมู่บ้าน เป็นจุดที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดูเออ” หรือ สถานที่ “อโคจร” ห้ามให้เข้าใกล้ พิธี “หวี่โดะ” ทำขึ้นในกรณีที่มีคนเจ็บป่วยคราวละหลายคน แต่ไม่ถึงขั้นกับเสียชีวิต หรือมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในชุมชนแต่ไม่ร้ายแรงมากนัก

เมื่อปิดชุมชนจะอยู่อย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าชุมชนกะเหรี่ยงนั้นส่วนใหญ่อยู่บนดอย ทุรกันดาร และห่างไกลจากห้างสรรพสินค้าหรือตลาด ที่สำคัญอาจไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะซื้ออาหารกักตุนไว้มากเท่าไหร่นัก แล้วพวกเขาจะอยู่กันอย่างไรเมื่อต้องปิดชุมชนนานหลายสัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือน

ไร่หมุนเวียน @LifeStudio

ประเด็นนี้ ดร. ประเสริฐ ยกกรณีตัวอย่างบ้านหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่ยังมีระบบการผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร สามารถผลิตอาหารเลี้ยงชุมชนตนเองได้ตลอดทั้งปี กล่าวคือ มีไร่ข้าว มีพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล มีแหล่งน้ำบริโภค มีการใช้ฟืนเป็นพลังงาน แม้จะไม่มีไฟฟ้าใช้ก็สามารถอยู่ได้ เพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหารเก็บหาจากแปลงเพาะปลูก หรือจากป่าใช้สอยของชุมชน ไม่ต้องกลัวของเน่าเสีย เพราะป่าก็เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวกะเหรี่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นหากสถานการณ์แย่ลงและต้องปิดชุมชนจริง ตนเชื่อว่าชาวบ้านแห่งนี้สามารถอยู่ได้เป็นปี อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องพึ่งพาชุมชนข้างนอกบ้าง เช่น เกลือ

นอกจากเรื่องอาหารในการดำรงชีวิตแล้ว เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ชุมชนยังมีฐานองค์ความรู้เดิมในการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ดร. ประเสริฐ เห็นว่าการติดตามข้อมูลข่าวสาร และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารยังมีความจำเป็นอย่างมาก และสิ่งที่น่าห่วงคือชุมชนหันไปพึ่งพาภายนอกมากขึ้น ทำให้หลายแห่งสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง

เรื่องโดย: เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ