ชุมชนแบบไหน จะพาเรารอดจาก โควิด-19 ?

ชุมชนแบบไหน จะพาเรารอดจาก โควิด-19 ?

ทันทีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  ปรับมาตรการเฝ้าระวังให้ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่ผ่านกระบวนการคัดกรองแล้วไม่พบไข้ กลับไปเฝ้าดูอาการ 14 วัน ตามภูมิลำเนานั้น  

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่มีสาระสำคัญก็ออกตามมา โดยแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 3 และ 4 พ.ศ.2563 ที่นอกจากจะมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังรวมข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแทบทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  แพทย์ประจำตำบล  สารวัตรกำนัน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฯลฯ กันเลยทีเดียว  เพราะเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงและใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด

และนี่คือหน่วยย่อย ด่านหน้าที่ต่อจากนี้มีผลต่อการรับมือโรคอุบัติใหม่นี้ว่าจะแพร่กระจายหรือพอจะระงับยับยั้งไว้ได้ 

แล้ว ชุมชนแบบไหน จะพาเรารอดจาก โควิด-19 ?

ชุมชนตำบลฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถูกหยิบยกว่า เป็นโมเดลของการจัดการชุมชนที่รับมือโควิด -19 ได้ดี  ชุมชนกึ่งเมืองแห่งนี้ มีประชากร 6,573 คน แต่ประชากรแฝงกว่า 10,000 คน ที่อยู่ในหอพัก โรงแรม ฯลฯ เนื่องจากเป็นย่านธุรกิจสำคัญ มีห้างสรรพสินค้าซึ่งไม่ไกลจากตัวเมืองหลายแห่ง  ที่นี่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมาก ที่สำคัญมีผู้ที่เดินทางไปทำงานในประเทศกลุ่มเสี่ยงเกลับมาในพื้นที่ถึง 11 ราย   (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2563) น่าสนใจว่ายอดตัวเลขนี้มาจากการแจ้งของตรวจคนเข้าเมือง และการเฝ้าสอดส่องดูแลของคนในชุมชนเอง 

“กลไกในท้องถิ่นสำคัญที่สุดเลยนะครับ อย่างการตรวจสอบคนในชุมชนว่ากลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่  กลไกปกติของการสอบสวนและเฝ้าระวังโรคคือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็จะส่งข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลมายังงานทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง และกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งข้อมูลที่ว่านี้ก็จะส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้เดินทาง  อย่างกรณีที่เกิดขึ้น  แต่เคสนี้ที่บอกว่ากลไกชุมชนท้องถิ่นเเข็งเเรงและสำคัญเพราะว่า  เดิมเราได้รับข้อมูลว่าจะมีคนเข้าพื้นที่เพียง 5 ราย  แต่ที่จริงมีมากกว่านั้น  อย่างเคสนี้เนื่องจากมีผู้กลับมาจากการทำงานที่เกาหลีใต้  แต่เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดน่าน ข้อมูลในพื้นที่เราจึงไม่มี  แต่เขาเดินทางมาหาแม่ในชุมชนฟ้าฮ่าม   ซึ่งเพราะชุมชนเข้มเเข็ง คนในชุมชนเป็นหูเป็นตารู้ข้อมูล ก็เลยเเจ้งไปยังกำนัน และเเจ้งให้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาช่วยประเมิน  ซึ่งตามเงื่อนไขก็จะต้องกักตัวเอง เฝ้าระวัง 14 วัน ทำให้กลายเป็นว่า เรามีจำนวนคนที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงและต้องเฝ้าระวังเพิ่มรวมเป็น 11 ราย” 

นิกร ยะแสน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขะจาว เทศบาลตำบลฟ้าฮ่าม เล่าถึงขั้นตอนการสอบสวนโรคและการติดตามเฝ้าระวังและความร่วมมือของคนในชุมชน  โดยระบุว่าสิ่งสำคัญของกรณีนี้คือ การไม่ตื่นกลัวของชุมชนที่ตั้งสติและมีการให้ข้อมูลที่เพียงพออย่างตรงไปตรงมา

ในช่วงเริ่มต้นของการเข้ามาในชุมชน  บุคคลที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าใจว่า ได้ผ่านกระบวนการกักตัวในประเทศต้นทาง 14 วันแล้ว และไม่รู้ข้อมูลว่า เมื่อกลับมายังประเทศไทย ก็ต้องกักตัวอีก 14 วันด้วยเช่นกัน   นอกจากนั้นคนในครอบครัวไม่เข้าใจในขั้นตอนนี้ ทำให้เมื่อได้พบกัน พ่อ แม่ ลูก ก็ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ส่งผลให้ครอบครัวนี้เข้าเกณฑ์กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวเองเพื่อดูอาการถึง 4 คน”

 นิกร เล่าว่า สิ่งที่ชุมชนตำบลฟ้าฮ่ามทำคือ   มีกรรมการมาพูดคุยลงมติกันว่า  อย่างไรเสียก็ต้องกักตัวดูอาการเพื่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวม  แต่จะทำอย่างไร เมื่อครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่ค้าขายอาหารมีรายได้เป็นรายวัน  การที่ต้องกักตัว 14 วันทั้ง 4 คนนั้น ทำให้ขาดรายได้  สิ่งที่ชุมชนตำบลฟ้าฮ่ามทำคือ  ผู้นำชุมชนช่วยกันระดมเงินเป็นกองทุนช่วยเหลือได้ 15,720 บาท มอบให้เป็นค่าทดเเทนรายได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้กับครอบครัวนี้

ระหว่างการกักตัวเองอยู่ในบ้าน จะมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว การกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน ( Home quarantine และให้ทุกคนในครอบครัวนี้รายงานอาการของตนเองแอปพลิเคชั่น Line ทุกเช้า  ขณะที่ระหว่างวัน หากต้องการสิ่งของใช้ ก็ใช้วิธีการเเจ้งผ่าน Line หรือโทรศัพท์ โดยเพื่อนบ้านร่วมดูแลผลัดกันส่งอาหารที่จัดหาจากคนในชุมชนและเทศบาลฯ ให้กับครอบครัวนี้ทุกวัน นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ อสม. และเทศบาลตำบลฟ้าฮ่าม รวมถึงชาวบ้านยังรวมตัวกันผลิตหน้ากากผ้า เพื่อแจกจ่ายกับคนในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพและแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนด้วย

ปรีชา วรกุล นายกเทศมนตรีตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงการเตรียมจัดการชุมชนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า  ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ต้นมีนาคม ได้โทรปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่าจะเผชิญสถานการณ์นี้อย่างไรเพื่อจะพาคนในชุมชนท้องถิ่นให้รอด ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดีทั้งแนวทางการจัดการและเเนวทางการใช้งบประมาณ

โดยเริ่มจากหน้ากากอนามัยที่ขาด แคลน  เทศบาลฯ จึงส่งทีมงานไปเรียนรู้จากสถาบันการศึกษา เพื่อนำมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มอาสาสมัครในชุมชน และจัดการฝึกอบรมภายในชุมชน ทั้งตัดเย็บหน้ากาก ทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แต่ด้วยประชาชนในพื้นที่มีมากถึง 6,573 คน จะทำอย่างไรให้หน้ากากทั่วถึง ก็ต้องใช้หลักการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นโดยดึงทุกคนมาช่วยกัน บ้านใครมีจักรเย็บผ้า ใครเย็บผ้าเป็น ดึงเเรงมาช่วยกัน จนวันนี้ผลิตหน้ากากแล้ว 5,000 ชิ้น ตั้งเป้าหมายภายในสิ้นเดือนนี้ให้ได้ 10,000-15,000 ชิ้น ตอนนี้กำลังผลิตขั้นต่ำ 500 ชิ้นต่อวัน ใช้อาสาสมัครในชุมชนมาช่วยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ซึ่งคนในพื้นที่จะได้มีหน้ากากใช้สลับกันเผื่อซัก คนละอย่างน้อย 2 ชิ้นในช่วงที่หน้ากากอนามัยทางการเเพทย์ยังกระจายมาไม่ทั่วถึง

“ถ้าท้องถิ่นท้องที่เราช่วยกันทำ ไม่ต้องรอ  ก็จะลดภาระให้ในระดับชาติได้ ลดความตื่นกลัวในชุมชน แต่จะต้องให้เขาตื่นตัว ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วย  ก็จะสามารถช่วยกันเพื่อลดความเสี่ยงของความป่วยไข้หรือการระบาดลงได้อีกทางหนึ่ง” 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ