นครวัด l นครของประชาชน

นครวัด l นครของประชาชน

นครวัด “นครของประชาชน”

“อารยะธรรมที่ยิ่งใหญ่ไม่อาจล่มสลายจากการรุกรานภายนอกแต่เกิดจากการล่มสลายภายใน”

อารยะธรรมขอมเป็นอารยะธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอารยะธรรมหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเทียบได้กับอารยะธรรมกรีซ อารยะธรรมอียิปต์  ซึ่งมีอิทธิพลต่ออาณาจักรอื่นๆ บริเวณแถบอุษาคเนย์  ไม่ว่าจะเป็นด้านแนวคิดทางการเมือง การปกครอง ความเชื่อ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆนักประวัติศาสตร์หลายคนได้เสนอข้อคิดเห็นไว้ว่า ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหง ดัดแปลงมาจากตัวอักษรขอมและพ่อขุนรามคำแหงเองก็อาจจะพูดภาษาขอมมาก่อนที่จะสลัดแอกออกจากอาณาจักรขอมนอกจากนี้ภาษาขอมยังปรากฏในคำราชาศัพท์และใช้ผสมปนเปกับคำไทยจนคนไทยคิดว่าเป็นคำไทยแท้  หรือแม้แต่การเมืองการปกครองก็รับเอาการปกครองแบบรวมศูนย์ไว้ที่กษัตริย์ หรือ “ราชาธิราช” หรือ “สมมติเทพ” หมายความว่าผู้ปกครองคือ “โอรสสวรรค์” 

การสร้างปราสาทหินอันใหญ่โตมโหฬารต่างๆก็เพื่อรับใช้แนวคิดอุดมการณ์ของผู้ปกครองทั้งหลายที่เชื่อว่าตัวเองคือเทพลงมาจุติ  เช่นเดียวกับนครวัดของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรตที่ ๑๗ ซึ่งหากมองจากมุมสูงแล้วเปรียบเทียบกับแผนภูมิจักรวาลจะเห็นว่า  ปราสาทปรางค์ประธานตรงกลางสูงเด่นเป็นสง่าเปรียบประหนึ่งเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาล แล้วรายล้อมด้วยปราสาทบริวารอีก ๔ ปรางค์ เปรียบเหมือนทวีปทั้ง ๔ และล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วหมายถึง “มหานทีสีทันดร” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบแนวคิด “จักรวาลวิทยา” ที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีศูนย์กลาง  ดังนั้น  การปกครองต้องมีศูนย์กลางซึ่งก็คือ กษัตริย์ เมื่อเริ่มก่อสร้างนั้น นครวัดเป็นเทวสถานตามแนวคิดศาสนาแบบฮินดูสร้างเพื่อถวายแด่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศาสนาแบบพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

ปราสาทหินนครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตัวเทวสถานถือเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมเขมรสมัยคลาสสิกรุ่งเรือง  ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างร่วม ๑๐๐ ปี  ใช้หินรวม ๖๐๐,๐๐๐ลูกบาศก์เมตร ใช้แรงงานช้างกว่า ๔๐,๐๐๐เชือก และใช้แรงงานเกณฑ์หลายแสนคนในการขนหินและชักลากหินมาจากเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า ๕๐กิโลเมตร มาสร้าง มีเสาทั้งหมด ๑,๐๐๐ต้น หนักต้นละกว่า ๑๐ ตัน  ใช้ช่างแกะสลักอีกกว่า ๕,๐๐๐ คน  ใช้เวลาในการแกะสลักถึง ๔๐ ปี  เรียกได้ว่าเป็นการระดมสรรพกำลังทั้งหมดของสังคมลงไป  ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือดี  งบประมาณการก่อสร้าง  ผลิตผลการเกษตรต่างๆที่หล่อเลี้ยงแรงงาน  และไพร่ ทาส บริวารอีกมากมาย ซึ่งหมายถึง การทุ่มเทเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ และชีวิตของพวกเขาด้วย อาจกล่าวได้ว่า ความสามารถของสังคมขอมถูกเกณฑ์มาใช้อย่างเต็มกำลังและสุดฝีมือ 

ทั้งนี้  ไม่ใช่เพื่อให้คนยุคปัจจุบันชื่นชมความวิจิตรงดงามและถ่ายรูปเก็บไว้ตระการตาเป็นที่ประทับใจ อย่างโก้ๆ  หากแต่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ เพื่อบรรจุพระศพของพระองค์หลังจากสิ้นพระชนม์  เพื่อประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ให้สมกับเป็นสมมติเทพ  ทำนองเดียวกันกับพิรามิดในอียิปต์  ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นบรรจุศพของฟาโรห์ และทรัพย์สินเงิน ข้าวของเครื่องใช้มากมายมหาศาล  ตามความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย  หรือ ในไทยโบราณที่สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุกระดูกบรรพบุรุษ หรือเครือญาติวงศ์ตระกูล กษัตริย์ไทยหลายพระองค์ก็ชอบสร้างวัดประจำรัชกาลเช่นเดียวกัน บนพื้นฐานความเชื่อว่าเป็นการอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ และเก็บข้าวของเครื่องใช้ ทรัพย์สมบัติ แต่ประวัติศาสตร์มักเป็นเรื่องราวของผู้เขียนประวัติศาสตร์  นครวัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาแกผู้สร้างและผู้ตาย เป็นของประดับบ้านเมืองให้ดูงาม  และหากเป็นความเชื่อทางศาสนาก็เป็นการแสวงบุญส่วนตัวของผู้สร้างเอง  ไม่ได้เป็นบุญคุณอะไรแก่ประชาชนในสังคมเลย  แต่เป็นการสร้างภาระอันหนักอึ้งให้แก่ประชาชนมากกว่าแทนที่จะได้ทำการผลิตของตนเองเลี้ยงชีวิตและครอบครัว  แต่แรงงานทาสหลายแสนคนถูกเกณฑ์มาสร้างนครวัดอย่างไม่เคยขาดสายเลยตลอดรอบ๑๐๐ ปีเป็นผลงานของคนจำนวนมากมายที่ถูกบังคับให้ทำแต่ผู้คนยุคปัจจุบันที่ได้ไปเที่ยวชมกลับหลงลืมคุณค่าหยาดเหงื่อนั้นไป

ดังนั้น  ในการท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าที่ใดก็ตาม  ควรจะมีความรู้  ความเข้าใจพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆด้วย  เพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงบรรพบุรุษที่ตรากตรำทำงานหนักก่อสร้างสถาปัตยกรรม  ประติมากรรม  และศิลปกรรม  จนกลายมาเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า  และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนยุคปัจจุบันชื่นชม  และเพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสในการเที่ยวชมมากขึ้นแต่ทั้งนี้  ไม่ใช่เพื่อเพื่อความเพลิดเพลินจำเริญใจอย่างเดียว  เราจะต้องเรียนรู้แง่คิดและมุมมองทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย 

20142212183905.jpg

ความขัดแย้งภายใน “อาณาจักรของขอม”

ดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า “อารยะธรรมที่ยิ่งใหญ่ไม่อาจล่มสลายจากการรุกรานภายนอก  แต่เกิดจากการล่มสลายภายใน ”  อาณาจักรขอมก็เช่นเดียวกัน  แต่สาเหตุการล่มสลายไม่ได้เกิดจากการทำศึกสงครามกับอาณาจักรต่างๆ  เช่นที่นักประวัติศาสตร์หลายคนได้เสนอข้อคิดไว้ว่า  “ความหายนะของอาณาจักรขอมสมัยนครหลวงเป็นผลจากการุกรานเผาผลาญและทำลายล้างของไทย  ซึ่งยกทัพมารังควานโจมตีอยู่ไม่หยุดหย่อน”  เป็นความจริงที่ว่ากองทัพไทยยกทัพมาตีและเผาทำลายนครหลวง  แต่ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการล่มสลาย เพราะการรุกรานของกองทัพไทยเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งจิตร  ภูมิศักดิ์  นักคิด นักเขียน คนสำคัญมองการเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้ว่า“เพื่อหวังผลทางการเมืองระหว่างประเทศ  คือมุ่งชุมย้อมจิตใจชาวกัมพูชาปัจจุบันให้เกลียดชังคนไทยในฐานะที่ไปเผาผลาญนครหลวงศรียโศธรปุระของบรรพบุรุษเขา  ในตำราเรียนประวัติศาสตร์เขมร  ซึ่งใช้บังคับอยู่ตามโรงเรียนสมัยเมื่อเขมรยังไม่ได้รับเอกราชก็มีลักษณะหวังผลทางการเมืองเช่นนี้” ซึ่งเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ในลักษณะชาตินิยม (Nation State) 

จิตร  มองว่า “ เป็นการขายวิญาณและความรู้ให้แก่นักการเมืองประเภทแสวงหาผลประโยชน์จากความแตกแยกระหว่างชาติซึ่งชาติตะวันตกไม่ต้องการให้เกิดความสามัคคีระหว่างประเทศเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน  และได้เสนอวิธีคิดใหม่ว่า “การเขียนประวัติศาสตร์จะต้องมองด้วยสายตาอันเที่ยงธรรม  และยึดมั่นอยู่กับความจริง”ดังนั้น  สาเหตุการล่มสลายของอาณาจักรขอมจึงต้องมองจากปัจจัยภายในและปัจจัยทางนอก  ประกอบกัน  เพราะการศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์จะหลับตาข้างหนึ่งเพื่อมองเฉพาะข้อดีและทำเป็นไม่เห็นข้อเสียไม่ได้ 

การศึกษาประวัติศาสตร์จะต้องศึกษาเหมือนกับเหรียญที่มี ๒ ด้าน ซึ่งประเด็นนี้ในหนังสือตำนานแห่งนครวัด  จิตร มองว่า “  ความหายนะของอาณาจักรขอมยุคนครหลวงมีสาเหตุขั้นพื้นฐานมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเอง  ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติของประชาชน  การทำรัฐประหารภายในหมู่ชนชั้นปกครอง และที่สำคัญคือ ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับศาสนาพราหมณ์ที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือด  ส่วนการรุกรานของไทยนั้นเป็นเพียงพลังจากภายนอก  ที่เข้ามาช่วยเปิดโอกาสให้ความขัดแย้งภายในปรากฏผลชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น”เหมือนเมื่อครั้งเราเสียอาณาจักรอยุธยาไม่ใช่เพราะพม่ามีกองทัพยิ่งใหญ่และรบเก่งกว่า  แต่เป็นเพราะความเสื่อมโทรมภายในสังคมอยุธยาเอง  คือชนชั้นปกครองลุ่มหลงอยู่กับการเสพความสุขส่วนตัว  ไม่เอาใจใส่การเกษตรที่เป็นเสบียงและไม่บำรุงกองทัพให้เข้มแข็งขุนนางเล่นพรรคเล่นพวกขาดความสามัคคีกัน  ระหว่างฝ่ายพระเจ้าเอกทัศกับฝ่ายเจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ไม่อาจปรองดองกันได้  จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้และบ้านเมืองถูกเผาทำลายสิ้นซาก

เช่นเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรขอม  ซึ่งมีสาเหตุจากหลายอย่างประกอบกัน คือ

สาเหตุประการแรก  คือ  ความขัดแย้งภายในราชสำนักขอม หลังสมัยที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒สร้างนครวัดขึ้นตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ พอล่วงถึงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  กษัตริย์ผู้นับถือศาสนาพุทธแบบมหายานได้เปลี่ยนแปลงนครวัดเป็นพุทธสถานโดยการรื้อสิ่งก่อสร้างของศาสนาพราหมณ์ทิ้งไป  เช่น  ทุบศิวลึงค์  สร้างเทวสถานขึ้นกลางเมืองให้เป็นพุทธสถาน  มีพักตร์พระโพธิสัตว์อโลกิเตศวรตามพุทธสถานการแปลงบ้านเมืองจากศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาพุทธสร้างความไม่พอใจให้แก่พวกพราหมณ์เป็นอย่างมาก  ทั้งนี้ต้องเข้าใจพื้นฐานสังคมว่าพราหมณ์มีอิทธิพลมากทั้งในชีวิตราชสำนักและชีวิตของประชาชนทั่วไป  ในราชสำนัก  พราหมณ์คือที่ปรึกษาราชการคนสำคัญ  เป็นราชครูหรือครูของกษัตริย์  อบรมสั่งสอนศิลปะวิทยาการต่างๆให้กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์  หรือพิธีกรรมต่างๆพราหมณ์เป็นผู้จัดทำทั้งหมด 

นอกจากนี้  พราหมณ์ในที่ไม่ได้หมายถึงนักบวชตามที่เราเข้าใจ  แต่หมายถึงวรรณะหนึ่งหรือชนชั้นปัญญาชน  มีครอบครัว(แต่คนในครอบครัวไม่ใช่พราหมณ์ด้วย)  ทำมาหากิน  มีอาชีพใช้สมอง  มีที่ดิน  มีทาสทำการผลิตให้  เมื่อกษัตริย์สร้างมฤตกเทวาลัยขึ้นแห่งหนึ่ง  ก็ตั้งให้พราหมณ์ครอบครอบครัวหนึ่งเป็นผู้ดูแล  ทำพิธีบูชาพระเทวราชที่สถาปนาไว้  ส่วนผู้คนที่อยู่รอบๆต้องส่งส่วย  ต้องทำไร่ไถนาต้องทำนม  เนย  หาเครื่องเทศ  เครื่องบูชา  ทอผ้า  ตักน้ำ  ตำข้าว  ให้แก่ครอบครัวพราหมณ์ผู้ทำพิธี  จริงๆแล้วผู้คนเหล่านั้นก็คือ สมบัติของพราหมณ์ที่กษัตริย์ยกให้นั่นเอง  ซึ่งพวกทาสหรือข้าพระเหล่านั้นจะหนีไปไหนไม่ได้เพราะสลักชื่อไว้ที่ประตูมฤตกเทวาลัย  พวกพราหมณ์จะทำหน้าที่สืบตระกูลกันลงมาเรื่อยๆ และจะแสวงหาผลประโยชน์จากทาสหรือข้าพระเหล่านั้น

เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒  เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นเมืองพุทธจึงสร้างความโกรธแค้นให้กับพวกพราหมณ์อย่างยิ่ง  เพราะอำนาจ  อิทธิพล  และผลประโยชน์ที่เคยเป็นของพวกตนนั้นถูกทำลายลงและเปลี่ยนมือมาเป็นของพวกพระภิกษุ  พวกนักบวช  ในศาสนาพุทธ  อาจจะกล่าวได้ว่าความขัดแย้งนี้ไม่ใช่เพียงด้านศาสนาเท่านั้นหากแต่เป็นด้านผลประโยชน์ด้วย  แต่ศาสนาพุทธแบบมหายานยังถือมีความปรองดองกับพราหมณ์อยู่บ้างในด้านความเชื่อเรื่องเทวะ  การปรึกษาราชการ  การประกอบพิธีกรรมไสยศาสตร์  ซึ่งบทบาทก็ถือว่ายังมีอยู่บ้างสูญเสียแค่ผลประโยชน์ไปเท่านั้น   แต่พอล่วงถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘  ราชสำนักขอมก็เปลี่ยนมานับถือพราหมณ์อีกครั้ง  และยุคนี้เองที่บ้านเมืองเข้าสู่กลียุค  ภายในราชสำนักเกิดการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจกันของชนชั้นนำ 

กล่าวคือฝ่ายพราหมณ์ก็พยายามแย่งชิงอำนาจของชนชั้นตนกลับคืนมาอย่างดุเดือดหลังจากถูกลิดรอนไปสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒  เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ผู้นับถือถือพราหมณ์ขึ้นครองราชย์  ข้างกายพระองค์ห้อมล้อมไปด้วยพราหมณ์( ชายาเป็นลูกสาวของพราหมณ์หฤษเกศ เป็นพราหมณ์ที่มีอิทธิพลในราชสำนักมาก)  ดังนั้น  บทบาทของพราหมณ์จึงมีมากขึ้นและได้สถาปนาอำนาจขึ้นใหม่โดยมีพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘  เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ให้  ด้วยเงื่อนไขนี้เอง  พวกมฤตกาลัยทั้งหลายของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่สร้างไว้แต่เดิมถูกแปลงให้กลับเป็นเทวาลัยทางศาสนาพราหมณ์ทั้งหมด ( พระพุทธรูปจำหลักด้วยหินถูกต่อยออกแปลงเป็นศิวลึงค์ )เช่นเดียวกับพระภิกษุมหายานทำกับพวกพราหมณ์สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒  ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมมนุษย์สมัยโบราณ

ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์  ได้อธิบายไว้ว่า …พวกพระ พวกนักบวช พวกพราหมณ์ มีอิทธิพลทางการเมืองสูงมาก  มีอิทธิพลเหนือกษัตริย์เสียด้วยซ้ำในยุคๆหนึ่ง คือ ยุคทาส  ผู้ปกครองรัฐมักจะเป็นพวกนักบวชหรือมีกษัตริย์ปกครอง  แต่ทว่าอำนาจที่แท้จริงตกอยู่ในมือของนักบวช  อย่างอินเดียสมัยโบราณ  พวกพราหมณ์ก็มีอำนาจมาก  กษัตริย์ต้องกลัวพราหมณ์เพราะเป็นทำพิธีราชาภิเษกให้  และสาปสรรกษัตริย์  คว่ำบาตรกษัตริย์ให้คนทั้งเมืองขับไล่  อะไรเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น ครั้นพอถึงปลายยุคทาส พวกกษัตริย์ ซึ่งเคยเป็นผู้ดูแลรักษารัฐและที่ดินไร่นา ปราถนาจะรวบอำนาจและผลประโยชน์ในที่ดินไว้แก่ชนชั้นของตนได้พยายามต่อสู้กับพราหมณ์เป็นการใหญ่ การต่อสู้นี้ก็ได้อาศัยพวกทาสเข้ามาเป็นกำลังด้วย  พวกทาสในยุคทาสนั้นเป็นทาสของนาย  ไร้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างโดยสิ้นเชิง  แม้ตัวเองก็ไม่ใช่เจ้าของตัวเอง เป็นเหมือนวัวควายที่ทำงานรับใช้นายทาสและพวกพราหมณ์  โดยได้แต่เพียงกินไปวันๆ ไม่มีสิทธิ์ครอบครองผลิตผลจากน้ำพักน้ำแรงของตนเลย  พวกทาสจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเป็น เสรีชน จึงได้ทำการต่อสู้ และก็ถูกพวกกษัตริย์นำเอาการต่อสู้นั้นไปเป็นประโยชน์ต่อพวกตน ระบบครอบครองที่ดินของกษัตริย์เป็นระบบที่ให้ทุกคนเป็นเสรีชนมีที่ทางผลิตผลของตัวเอง เมื่อผลิตได้แล้ว  ผู้ผลิตก็ครอบครองผลผลิตนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวได้  เพียงแต่แบ่งบางส่วนมาถวายเจ้านายเป็นส่วยอากรเท่านั้น  ผิดกับระบบทาสที่ทาสทุกคนทำหน้าที่ผลิตแต่นายทาสครอบครองผลิตผลไว้ทั้งหมด ระบบครอบครองที่ดินของกษัตริย์นี้เรียกว่า ระบบศักดินา พวกทาสที่ทนทุกข์ทรมานมานับร้อยนับพันปี  ย่อมเห็นว่าระบบศักดินาดีกว่าระบบทาส เพราะตนจะได้มีที่ทางทำมาหากินเป็นส่วนตัว เป็นเสรีชน  มีทรัพย์สินเป็นกรรมสิทธิ์ไว้ครอบครอง…”จากคำอธิบายดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าพราหมณ์กับกษัตริย์ต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงโดยมีพวกทาสเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อสู้เป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากสังคมทาสเป็นสังคมศักดินา  เปลี่ยนผู้กดขี่คนใหม่จากพระ นักบวช พราหมณ์  เป็นกษัตริย์  ซึ่งรวบอำนาจและที่ดินทั้งหมดไว้ที่ตัวเองเปลี่ยนผู้ถูกกดขี่คนใหม่จากทาสที่ตัวเองไม่ใช่เจ้าของตัวเอง  เป็นเสรีชนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและผลิตผลแต่ต้องจ่ายส่วยให้แก่เจ้าที่ดินใหญ่หรือกษัตริย์ 

สาเหตุประการที่สอง  คือ  การลุกฮือของประชาชนเพื่อปรับปรุงสภาพชีวิตให้ดีขึ้นภายใต้การนำของกษัตริย์   ซึ่งเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับสาเหตุแรก  เนื่องจากสังคมภายในและภายนอกมีความสัมพันธ์กัน  ดังนั้น  จึงต้องพิจารณาเหตุปัจจัยทั้งสองด้านประกอบกันเพื่อจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมในภาพรวมทั้งหมด

หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘  เปลี่ยนแปลงราชสำนักและบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ลิทธิเทวราชของพราหมณ์อีกครั้ง  ฝ่ายประชาชนก็ต้องสร้างมฤตกเทวาลัยต่อไป  พวกข้าพระก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำไร่ไถนาเพื่อส่งผลผลิตให้แก่ครอบครัวพราหมณ์ในการทำพิธีกรรม  แต่ในสังคมทั่วไปขณะนั้นศาสนาพุทธแบบหินยาน ได้เริ่มแพร่หลายแล้วในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางเพราะ  เป็นปรัชญาที่คัดค้านและปฏิเสธแนวคิดแบบพราหมณ์อย่างจริงจัง เช่น การแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ ต่างจากพุทธแบบมหายานซึ่งมีความปรองดองกันอยู่ (เช่น ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ผู้นับถือศาสนาพุทธแบบมหายาน ก็ไม่ได้กำจัดอิทธิพลของพวกพราหมณ์ให้สิ้นซาก หากยังหลงเหลืออยู่ในราชสำนัก พระราชพิธีต่างๆหรือราชการบ้านเมือง ก็มีพวกพราหมณ์เป็นที่ปรึกษา)

การเข้ามาของศาสนาพุทธนั้นนักประวัติศาสตร์ สันนิฐานว่า  มาพร้อมกับการค้าขายทางเรือสำเภาระหว่างไทยกับเขมร และในการศึกสงครามระหว่างไทยกับเขมรที่รบกันอยู่เนืองๆปรัชญาของลิทธิแบบหินยานนี้ขัดแย้งกับการสร้างมฤตกเทวาลัยอันทารุณของพวกพราหมณ์  เป็นศาสนาที่ไม่มีพิธีรีตอง  มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย  เป็นปรัชญาที่มีศรัทธาในความมักน้อย  ซึ่งเข้าถึงจิตใจของสามัญชนผู้ยากไร้ทั่วไป  หินยานคัดค้านระบบชีวิตอันฟุ้งเฟ้อโอ่อ่าของชนชั้นสูง  ประชาชนจึงมีความหวังว่าปรัชญาใหม่นี้จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากคติการสถาปนาตนเป็นเทวะของกษัตริย์ในลิทธิพราหมณ์  พวกเขาเอือมระอาต่อการเกณฑ์แรงงานสร้างมฤตกเทวาลัยเต็มทีแล้ว  ประชาชนทั่วไปจึงหันมาต้อนรับพุทธแบบหินยานกัน  และเป็นที่ชื่นชมกันมากเพราะไม่โหดร้ายและทารุณ  ไม่มีการสร้างเทวสถานสมมติคนขึ้นเป็นเทพ  ไม่มีการทำงานเพื่อยกผลผลิตตนให้แก่ครอบครัวพราหมณ์  ประกอบกับภายในราชสำนักเองพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒  ( ลูกเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ) ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘  การรัฐประหารครั้งนี้ 

ตามความเห็นของอาเดมาร์  เลอแกลร์  นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส  ได้เสนอข้อคิดไว้ว่า …อาจมีต้นกำเนิดมาจากความขัดแย้งทางศาสนา  คือเป็นความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ฝ่ายหนึ่ง  กับพระเจ้าอิทรวรมันที่ ๒ ผู้นับถือศาสนาพุทธแบบหินยานฝ่ายหนึ่ง…”เห็นได้จากหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก  พระเจ้าอิทรวรมันที่ ๒  เขียนจารึกด้วยภาษาบาลี  ซึ่งเป็นภาษาประจำลิทธิหินยานไม่ได้ใช้ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาประจำลิทธิมหายานและลิทธิพราหมณ์ที่เคยใช้กันมาก่อนและเป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งเพื่อถอนรากถอนโคนอิทธิพลของพวกพราหมณ์ออกไป  เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติทั้งทางการเมืองและศาสนาควบคู่กัน  การยึดอำนาจของกษัตริย์จากพวกพราหมณ์สาเหตุพื้นฐานเลย คือ เรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ 

กล่าวคือ  กษัตริย์และพราหมณ์ต่างก็มีผลประโยชน์ที่ร่วมกันและขัดแย้งกันเอง  ในด้านการปกครองรัฐหรือผู้นำรัฐกษัตริย์จะต้องได้รับความยินยอมจากพวกพราหมณ์  ตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ว่า ”กษัตริย์คือสมมติเทพ” เหล่ากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ก็จะต้องมฤตกเทวาลัยเพื่อบูชาคติความเชื่อและเพื่อยืนยันสถานะเทพของตน  และมอบให้ครอบครัวพราหมณ์เป็นผู้ดูแล  ขณะที่อีกด้านหนึ่งพราหมณ์ก็แลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยการได้เป็นผู้ดูแลมฤตกเทวาลัยที่กษัตริย์สร้างขึ้นถวาย  ซึ่งกษัตริย์สมัยนครหลวงได้ยกที่ดิน  เมืองทั้งเมือง  ให้เป็นสมบัติของพราหมณ์ตระกูลใหญ่ๆ  พวกพราหมณ์จึงมีผลประโยชน์มากมาย  มีส่วยกินเป็นหลายๆเมือง  มีเมืองใหญ่เมืองน้อย  มีที่ดิน  มีทาส  ผู้อยู่ในสังกัดบังคับบัญชาสำหรับทำการผลิตเป็นเรือนพันเรือนหมื่น  เห็นได้ชัดว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันของชนชั้นนำบนกระดูกสันหลังของไพร่  ทาส  และประชาชนดังนั้น  การรัฐประหารของกษัตริย์จึงไม่ใช่เพียงการรวบอำนาจการเมือง การปกครอง  หากแต่ได้รวบผลประโยชน์ในแผ่นดินไว้ด้วย  ภายใต้ระบอบศักดินาที่กษัตริย์สถาปนาขึ้นนี้  ได้รวมทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลางที่กษัตริย์  กษัตริย์มีสถานะเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ที่ดินทั้งหมดเป็นของกษัตริย์  สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์(ภาษีส่วยอากร)จากเจ้าที่ดินอื่นๆและข้าทาสบริวารทั้งหลาย 

ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับศาสนานี้ปรากฏในหลายๆสังคม เช่นเดียวกับไทยเองก็เหมือนกัน  การปกครองของกษัตริย์เดิมมีคติความเชื่อแบบสมมติเทพ(ได้รับอิทธิพลจากเขมร)  แต่หลังจากที่เกิดการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นปกครอง(พี่น้องแย่งชิงราชสมบัติกัน  ขุนนางที่มีอำนาจและคุมกำลังทหารก็อยากตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์บ้าง  ในสมัยอยุธยาจะเกิดการรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง)ทำให้สายเลือดไม่บริสุทธิ์  ชนชั้นนำไทยจึงต้องหันเหจากคติเดิมสู่คติใหม่เพื่อความชอบธรรมในอำนาจการปกครอง  จาก “เทวราชา” จึงกลายมาเป็น “ธรรมราชา”  หมายถึงกษัตริย์ผู้ทรงธรรม  ปกครองบ้านเมืองโดยหลักทศพิศราชธรรมหรือธรรมสิบข้อสำหรับผู้ปกครอง  มีพระภิกษุมีสถานะไม่ต่างจากพราหมณ์  และกษัตริย์ไทยก็นิยมสร้างวัดวาอารามเหมือนกษัตริย์เขมรที่นิยมสร้างมฤตกเทวาลัย 

ประเด็นนี้จิตร  ภูมิศักดิ์  ได้อธิบายไว้ว่า  …ในเมืองไทยสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป  วัดของเราที่เป็นวัดหลวง  ล้วนมีที่ดินครอบครอง  เป็นที่สำหรับให้เช่าทำนา  เก็บค่าเช่าเป็นข้าวบ้าง  เป็นเงินบ้าง  เรียกว่าวัดเก็บอากรค่านาโดยตรง  แล้วคนเช่าทำยังต้องส่งข้าวเป็นส่วยอีกไร่ละ ๒ ถังให้แก่ฉางของหลวง  แต่ภายหลังหลวงก็เปลี่ยนมาเก็บเป็นเงินอากรค่านารวด  เรียกว่าต้องเสียอากรและส่วยให้ทั้งแก่วัดและวัง  นอกจากมีที่ดินแล้ว  วัดหลวงทุกวัดยังมีพวกข้าพระหรือเลกวัด  ก็ต้องเป็นกันตลอดทุกชั่วคน  เด็กหนุ่มพออายุ ๑๘ ก็ขึ้นทะเบียนเป็นเลกวัด ต้องมาทำนาทำไร่  ถางหญ้า  หาฝืน  เลื่อยไม้  ต้มกรักย้อมผ้า  ตักน้ำ  ทำทุกอย่างให้แก่พระภิกษุและวัด  ผลัดกันเข้าทำเป็นเวร  เวลาที่เหลือจึงทำงานของตนเอง…เวลาออกศึกสงคราม  พวกนี้ยังถูกเกณฑ์เอาเลกวัดที่ฉกรรจ์ๆ ไปเป็นทหารสมทบทัพหลวงด้วยครั้งละเกือบพันๆคน…”

จากคำอธิบายนี้กล่าวได้ว่า  ผลประโยชน์ระหว่างกษัตริย์กับพระภิกษุ  ซึ่งถือคติความเชื่อแบบพุทธ  ไม่ต่างจากผลประโยชน์ระหว่างกษัตริย์เขมรกับพราหมณ์  ซึ่งถือคติความเชื่อแบบพราหมณ์ชนชั้นนำทั้งทางการเมืองและศาสนาได้ประสานผลประโยชน์ระหว่างกันอย่างแนบแน่น  แต่เมื่อมาถึงจุดแตกหักที่อำนาจและผลประโยชน์ไม่สามารถตกลงกันได้  จนนำไปสู่การต่อสู้กันอย่างดุเดือด  โดยมีประชาชนเป็นกำลังสนับสนุน  ซึ่งไม่ว่าฝ่ายไหนแพ้หรือชนะ  ชีวิตของประชาชนก็ไม่ได้สุขสบายขึ้นเท่าไรนัก  เพียงแต่เปลี่ยนผู้กดขี่คนใหม่  เปลี่ยนรูปแบบการกดขี่แบบใหม่เท่านั้น

สาเหตุประการที่สาม  คือ  การทำศึกสงครามกับไทยอย่างต่อเนื่อง  เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ร่วมสมัยกับปลายยุคพระนครของอาณาจักรขอม  หลังจากการสถาปนาอาณาจักรอยุธยาช่วงต้นของราชวงศ์             อู่ทองมีกษัตริย์ ๓ พระองค์ คือพระรามาธิบดีที่ ๑ พระราเมศวร  และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒   มีความพยายามที่จะยึดอาณาจักรขอมที่เมืองพระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระ  มีการทำศึกสงครามกันหลายครั้งเป็นผลทำให้อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลง จนต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่พนมเปญ  ขณะที่อีกด้านหนึ่งอาณาจักรจามปาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรขอมเช่นกัน  ก็พยายามสลัดแอกเช่นกันและทำสงครามสู้รบกับอาณาจักรขอมอย่างต่อเนื่องจนได้รับเอกราช  เท่ากับว่าอาณาจักรขอมต้องเปิดศึก ๒ ด้าน  เพื่อปกป้องเอกราชและนครหลวง  ต้องแบ่งกำลังทหารและประชากรเพื่อทำการสู้รบ  และทำการผลิตเพื่อเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพ  ขณะที่ภายในราชสำนักเองฝ่ายพราหมณ์กับฝ่ายพุทธหินยานก็ต่อสู้ทางความคิดกันอย่างหนักหน่วง  สงครามที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียงสงครามจากภายนอก  แต่เป็นสงครามภายในด้วย

สงครามที่สำคัญๆมีดังนี้  คือ  สงครามพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. ๑๘๙๕)  ยกกองทัพไปโจมตีอาณาจักรขอม  ได้เชิญพระราเมศวรมาจากลพบุรีและขุนหลวงพะงั่ว ไปช่วยกัน  จนสามารถตีสำเร็จได้แล้วกวาดไพร่พล  ข้าทาส  บริวาร  (มีพวกพราหมณ์และขุนนางในราชสำนักรวมอยู่ด้วย) เป็นจำนวน ๙๐,๐๐๐ คน มายังกรุงศรีอยุธยา

สงคราม  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (พ.ศ. ๑๙๗๔) สงครามครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญเนื่องจากเป็นสงครามที่นำไปสู่การล่มสลายของเมืองพระนครศรียโศธรปุระ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมเป็นเวลานานหลายศตวรรษลง  พร้อมกับหวาดต้อนเชลยศึกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ราว  ๔๐,๐๐๐  คน

สงครามระหว่างไทยกับเขมรยังมีต่อมาเรื่อยๆจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์  เป็นบันทึกประวัติศาสตร์จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) แต่ไม่ปรากฏศักราช  และพงศาวดารเมืองละแวก  สงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยา-อาณาจักรขอม นับตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ เป็นต้นมา  จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้นมีประมาณ ๒๑ ครั้ง สงครามแต่ละครั้งมีสาเหตุและปัจจัยในการทำสงครามที่แตกต่างกัน ตามวัตถุประสงค์ในการทำสงคราม ซึ่งมีสาเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.) สงครามขยายอำนาจ เป็นสงครามเกิดขึ้นเพื่อขยายอำนาจหรือขยายพระราชอาณาเขตโดยตรง เช่น สงครามคราวตีเมืองพระนคร สงครามคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีเมืองละแวก เป็นต้น

๒.) สงครามรักษาพระราชอำนาจ เป็นสงครามที่มุ่งพยายามรักษาพระราชอำนาจในการควบคุมปกครอง เพื่อรักษาสภาพการเป็นเมืองประเทศราช เช่น สงครามคราวสมเด็จพระชัยราชาธิราช หรือสงครามในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นต้น

๓.) สงครามกวาดต้อนผู้คนและทรัพยากร เป็นสงครามที่เน้นการกวาดต้อนเชลยสงครามและทรัพย์สมบัติมากกว่าจะต้องการขยายอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง เช่น   สงครามคราวพระยาละแวกตีกรุงศรีอยุธยา สงครามคราวพระราชสมภารตีเมืองนครราชสีมา

๔.) สงครามแทรกแซงทางการเมือง เป็นสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อหวังผลการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อรักษาฐานอำนาจไว้ เช่น สงครามคราวสมเด็จพระเจ้าท้ายสระส่งกองทัพไปช่วยพระศรีธรรมราชา เป็นต้น            

สรุป  แม้ว่าอาณาจักรขอมทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลาหลายร้อยปี  แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้อาณาจักรที่มีอารยะธรรมอันยิ่งใหญ่ล่มสลายเพียงชั่วพริบตา  เห็นได้จากการรบกันเป็นเวลานานซึ่งแสดงให้เห็นว่า  การทำสงครามกันไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้เสียที  จนไม่สามารถตั้งตัวกลับคืนได้และไม่อาจล่มสลายไปในทันที  ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน  ทั้งภายในและภายนอกสอดคล้องกัน  ดังที่ได้อธิบายให้เห็นถึงความขัดแย้งของราชสำนักขอม  และการลุกฮือขึ้นปฏิวัติของประชาชน  

ดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า  “การท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าที่ใดก็ตาม  ควรจะมีความรู้  ความเข้าใจพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆด้วย  จากเหตุผลและคำอธิบายที่ได้ยกมาทั้งหมด  เพียงพอหรือไม่ที่จะตอบคำถามว่า  “ นครวัด  เป็นของใคร?  หากมิใช่เป็นของประชาชน ”  เพราะยุคสมัยนี้การต่อสู้ทางคติ  ความเชื่อ  และศาสนา  ได้จบสิ้นลงแล้ว  นครวัดไม่ใช่สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าอีกต่อไป ไม่มีการทำพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า  ไม่มีการเกณฑ์แรงงานทาสมาสร้างมฤตกเทวาลัยอันโหดร้ายและทารุณ ไม่มีข้าพระที่ทำงานรับใช้ครอบครัวตระกูลพราหมณ์  จนตัวเองไม่ใช่เจ้าของตัวเองอีกต่อไป  บัดนี้  นครวัดไม่ใช่ของใครคนใดคนนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง นครวัดได้กลายเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติทุกคน  มนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นเจ้าของมรดกที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ร่วมกัน  เป็นจารึกทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่ามนุษย์ผู้ใช้แรงงานได้ลงมือ  ลงแรง  สร้างศิลปะสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ขนาดไหน 

20142212183952.jpg

อ้างอิง

จิตร ภูมิศักดิ์.ตำนานแห่งนครวัด. พิมพ์ครั้งที่๖. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อัมรินทร์, ๒๕๕๔.

บรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน.หนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ กรกฎาคม ๒๕๕๔.กรุงเทพฯ

            :สำนักพิมพ์มติชน,๒๕๕๔

angkor2go. (๒๕๕๗). Angkor watนครวัด ที่สุดแห่งปราสาทขอม (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ

            วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗, จากเว็บไซต์ :   http://www.angkor2go.com/

 รูปภาพนครวัด . (๒๕๕๗). (ออนไลน์).  สืบค้นเมื่อวันที่  ๒๑  ธันวาคม  ๒๕๕๗, 

             จากเว็บไซต์  :  https://www.google.co.th/search .

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ