ว่าด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สะพัดไปทั่วโลกมีหลายแง่มุมให้ต้องติดตาม และเตรียมความพร้อมรับมือ สำหรับประเทศไทย ในขณะนี้ประเด็นที่ร้อนแรงแซงทุกวงสนทนา คือ การระดมสรรพกำลังหาหน้ากากอนามัยส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล ที่เสมือนนักรบแถวหน้าในสถานการณ์ศึกโควิด-19 ครั้งนี้ หลังจากที่มีความต้องการหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวนมาก แต่หาซื้อได้ยาก หรือแทบไม่ได้เลยในท้องตลาด
ในโลกโซเชียล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 เพจเฟซบุ๊ก แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว ได้โพสต์ #โรงพยาบาลไหนบ้างที่เริ่มขาดแคลนหน้ากากอนามัย และระบุว่าเพจได้จัดทำรายชื่อโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยให้ส่งข้อมูลมาใน inbox และแอดมินเพจได้ปักหมุดพิกัดแสดงที่ตั้ง Location โรงพยาบาลใน เว็บไซต์ Google Map เพื่อให้เห็นแผนที่และข้อมูลโรงพยาบาลที่มีความต้องการหน้ากากอนามัย
ทีมสื่อพลเมือง The Citizen.Plus จึงได้พูดคุยกับ นพ.อดุลย์ชัย ธรรมาแสงเสริฐ แอดมินเพจ แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว และผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ใกล้มือหมอ” ที่ละเวลาจากเตียงคนไข้ วางมีดผ่าตัด มาปักหมุดแสดงที่ตั้ง Location โรงพยาบาลในเว็บไซต์ Google Map และระดมข้อมูล #โรงพยาบาลไหนขาดหน้ากากอนามัยบ้าง ก่อนจะเปิดข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงและส่งต่อหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน
Citizenplus : ในสภาวะปกติที่ไม่มีการระบาดของ COVID-19 หน้ากากสำคัญยังไง ?
นพ.อดุลย์ชัย: ถ้าไม่มี COVID-19 ก็มีการใช้หน้ากากอนามัยอยู่แล้วในโรงพยาบาล ในการรักษาโรคคนอื่น ๆ ยกตัวอย่างในห้องผ่าตัด หน้ากากหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งเคสนะ เราจะไม่มีการใช้ซ้ำ เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งสมมุติว่าเราผ่าตัด 5 เคส เราก็ต้องใช้หน้ากาก 5 ชิ้น แต่นี่คือเฉพาะแพทย์นะ เพราะมีทั้งพยาบาล มีทั้งเจ้าหน้าที่ ไม่รู้กี่คนในห้องผ่าตัด เพราะฉะนั้นเมื่อปัจจุบันนี้เรามีการใช้หน้ากากปริมาณมาก หรือ บางโรคที่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ยกตัวอย่าง เช่น วัณโรค คนที่เขาดูแล หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ดูแลก็ต้องใช้หน้ากาก ยิ่งมีเรื่องของวัณโรคดื้อยา ซึ่งจะต้องบอกว่าจะมัวไประมัดระวังเฉพาะเรื่องของโรค COVID-19 ไม่ได้ ก็ต้องระวังโรคที่มันเป็นพื้นฐานอยู่แล้วของประเทศเรา คือวัณโรค และวัณโรคดื้อยา พวกนี้ก็ต้องมีการใช้หน้ากากเป็นประจำอยู่แล้ว
บางโรคที่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น วัณโรค คนที่ดูแล หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ดูแล ก็ต้องใช้หน้ากาก … จะมัวไประมัดระวังเฉพาะเรื่องของโรค COVID-19 ไม่ได้
เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่าปริมาณการใช้หน้ากากในประเทศไทยนั้น ในหลาย ๆ โรคมันมีความจำเป็นค่อนข้างสูง เมื่อไม่มีการจัดหามาให้ มันใช้แล้วก็หมดไป อีกเรื่องหนึ่งที่ได้ข้อมูลมาก็คือว่า การบริหารจัดการของฝ่ายจัดซื้อในโรงพยาบาลเองเขาก็ไม่กล้าที่จะจัดซื้อ เพราะราคาหน้ากากมันพุ่งสูงไปกว่าเดิมประมาณเกือบ 10 เท่ายกตัวอย่างปกติกล่องนึง 50 บาท ในตอนที่ยังไม่มีการระบาดของ COVID-19 หน้ากากแผ่นละประมาณ 1 บาท 1 กล่องมี 50 ชิ้น 50 บาท แล้วปัจจุบันนี้เราเห็นตามอินเตอร์เน็ตราคาเป็น 1,000 บาท ฝ่ายจัดซื้อก็ไม่กล้าจัดซื้อ หรือ แม้แต่จะซื้อได้ตอนนี้ก็หาซื้อไม่ได้แล้ว
Citizenplus : นอกจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ประชาชนทั่วไปต้องใช้หน้ากากยังไง ?
นพ.อดุลย์ชัย: จากที่สมาคมแพทย์อายุรเวทฯ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย มีความเห็นตรงกันว่าโดยปกติคนที่ป่วยมีความจำเป็นแน่ ๆ ที่ต้องใส่หน้ากาก ส่วนคนที่จะต้องไปในสถานที่ชุมชนหรือสถานที่ ที่มีคนหมู่มากก็จำเป็นต้องใช้ แต่ว่าโดยปกติถ้าสมมุติว่าเราไม่ได้ไปไหนมาไหนหรือไปในสถานที่ที่แออัด ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ คล้าย ๆ ว่าแม้แต่ตัวประชาชนเอง หมอก็อยากบอกว่าคุณมีหน้ากากก็จริงแต่คุณก็ต้องใช้อย่างประหยัด และใช้อย่างมีวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้ห้ามให้ประชาชนไม่ให้ใช้นะ ส่วนเรื่องของหน้ากากผ้านั้น สามารถใช้ได้อยู่แล้ว ใช้ได้ในการป้องกันฝุ่น ป้องกันลมในระดับหนึ่ง แต่ว่าในเรื่องของไวรัสเราก็อาจจะต้องประเมินอีกทีหนึ่งซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหน้ากากผ้ามันก็คงจะไปสู้หน้ากากแบบ N95 ไม่ได้
Citizenplus : หมุดพิกัด #โรงพยาบาลไหนขาดMaskบ้าง เริ่มต้นได้อย่างไร ?
นพ.อดุลย์ชัย: หมอเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะมีเพื่อนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานตามโรงพยาบาลรัฐ ในหลายโรงพยาบาลเขาก็เริ่มโพสต์ว่าหน้ากากของโรงพยาบาลเขาไม่พอ อันนี้คือจุดเริ่มต้น หมอก็มาดูข่าวจาก Facebook จากที่อื่น ซึ่ง จริง ๆ แล้วมันก็ไม่พอในหลาย ๆ ที่ ก็เลยมีไอเดียว่า เราจะทำยังไงให้คนทั่ว ๆ ไปนั้น ได้รู้ว่าหน้ากากในสถานพยาบาลมีไม่พอ แล้วมีสถานพยาบาลไหนบ้างที่มีหน้ากากไม่พอใช้ ก็เลยเป็นไอเดียว่าเราทำแผนที่ปักหมุดดีไหม ว่าในแต่ละโรงพยาบาลทั่วไทย มีโรงพยาบาลไหนบ้างที่กำลังขาดแคลนหน้ากากอยู่ อันนี้คือไอเดียเริ่มแรกเลยที่ว่าทำแค่นี้ก่อน
Citizenplus : ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความวางใจ ดูเหมือนจะเป็นโจทย์สำคัญ ?
นพ.อดุลย์ชัย: ข้อมูลที่หมอได้มา หมอก็จะขอยืนยันตัวตนก่อนว่า คุณเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจริงหรือเปล่า แล้วเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนี้ใช่ไหม อยู่แผนกอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับคำตอบรับดีมาก คือ ทุกคนจะถ่ายภาพบัตรประจำตัวแล้วบอกว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไหน แผนกอะไร แต่ทุกคนก็จะกลัวเหมือนกันว่าข้อมูลที่ให้จะมีผลกับตัวเขาหรือเปล่าซึ่งเราก็ต้องบอกว่าข้อมูลที่เขาให้ไม่มีผลแน่นอน เพราะว่าเราไม่ได้ไปบอกใครข้อมูลจะเก็บเป็นความลับ
และจริง ๆ ถ้าสมมุติว่าเราลงสต๊อกของแต่ละโรงพยาบาลว่า สต๊อกมีเท่าไหร่ขาดเหลือเท่าไหร่ เอาแค่ง่ายเลยว่าถ้าเราสามารถหยิบยืมกันได้ในระหว่างโรงพยาบาลด้วยกัน สมมุติว่าโรงพยาบาลในบางจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลในจังหวัดอยุธยา สมมุติว่ามีการขาดแคลนหน้ากากเกิดขึ้น ก็สามารถหยิบยืมกันในโรงพยาบาลในจังหวัดนั้น ๆ ได้ หรืออาจจะเป็นโรงพยาบาลในจังหวัดอื่น ๆ เช่น ภาคเหนือ มีความจำเป็นที่ต้องใช้ หน้ากากก็มีการหยิบยืมกันได้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้สต๊อกของแต่ละโรงพยาบาลนั้นจึงมีความสำคัญมาก ๆ เพราะฉะนั้นการที่ทำแผนที่ปักหมุดมานั้น เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละโรงพยาบาลเค้าอยู่ในสถานการณ์ไหนวิกฤตหรือยัง บางโรงพยาบาลบอกว่า “ทั้งโรงพยาบาลมีหน้ากากอยู่แค่สามกล่องประเมินแล้วว่าใช้ได้ประมาณสักสองสัปดาห์” ดังนั้น ภายในสองสัปดาห์นี้ รัฐจะสามารถจัดหน้ากากไปได้ไหม อันนี้คือยกตัวอย่าง
คุณอยู่ที่ไหน ใกล้โรงพยาบาลที่ปักหมุดคุณสามารถส่งไปที่โรงพยาบาลได้เลย ไม่ต้องมารวบรวมกันที่ส่วนกลาง เป็นการช่วยเหลือชุมชนของเราเอง
ถ้าสมมติว่ายังไม่ได้เท่าที่สังเกตหลังจากที่ทำตัวแผนที่ปักหมุดขึ้นมาแล้วนั้น ก็มีคนที่ใจบุญเขาจัดหาซื้อด้วยเงินส่วนตัวส่งไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เอง ซึ่งในตอนแรกเขาบอกว่า “ให้หมอเป็นตัวกลางไหม” หมอจึงบอกว่าไม่จำเป็นเลยเอาง่าย ๆ ว่าคุณอยู่ที่ไหน ใกล้โรงพยาบาลที่ปักหมดคุณสามารถส่งไปที่โรงพยาบาลได้เลยอาจจะส่งไปในแผนกจัดซื้อของโรงพยาบาลก็ได้ หรือว่าส่งไปในแผนกเภสัชกรรมก็ได้ เพราะเภสัชกรจะทำนอกจากเขาจะซื้อยาเขาจะต้องซื้อหน้ากากด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำมันก็จะเกิดประโยชน์ว่าถ้าใครอยากจะบริจาค คุณอาจจะไม่ต้องมารวบรวมกันที่ส่วนกลาง แล้วจะกระจายหน้ากากซึ่งตรงนี้หมอมองว่าบางทีมันก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าสมมุติว่าเราอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว แล้วเราบริจาคหน้ากากให้กับโรงพยาบาลของเรา มันก็เป็นการช่วยเหลือชุมชนของเราเอง ทำให้การขาดแคลนหน้ากากลดน้อยลง โดยที่เราอาจจะไม่ต้องรอจากส่วนกลาง ว่าเมื่อไรมันจะมาถึงเรา
Citizenplus : ไม่เพียงข้อมูลทางการแพทย์ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างไร?
นพ.อดุลย์ชัย: ก็ เมื่อทุกคนรู้ว่าที่ไหนมีการขาดแคลนก็จะส่ง Supply ไปให้ได้โดยตรงเลย เมื่อส่งได้โดยตรงความรวดเร็วมันก็จะเกิดขึ้น ในการสื่อสารในการส่ง Supply ส่งหน้ากากไปให้ตามโรงพยาบาลที่ขาดแคลน เพราะอย่างที่บอก ถ้าเราไปรอส่วนกลางส่วนกลางก็จะจัดสรรให้กับโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ก่อน แต่จริง ๆ ต้องบอกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กนั้น แค่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีเป็น 10,000 แห่ง ซึ่งเขาก็ต้องใช้หน้ากากเหมือนกัน โรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลอำเภอ พวกนี้เขาก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หน้ากากเหมือนกัน เราสามารถใช้ข้อมูลนี้แล้วช่วยเหลือโรงพยาบาลในชุมชนของเราเองได้
ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีใครสำรวจว่า แต่ละโรงพยาบาลใช้หน้ากากวันละกี่แผ่น อันนี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก สมมุติ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 10,000 คน ปกติเขาใช้หน้ากากวันละกี่แผ่น ตอนนี้ในที่สุดเรายังไม่รู้ว่าแต่ละโรงพยาบาลนั้น ใช้หน้ากากวันละกี่แผ่น แล้วถ้าสมมติว่าทั่วประเทศไทยใช้หน้ากากทั้งหมดวันละกี่แผ่น ปริมาณที่เราได้มา มันเพียงพอหรือไม่กับโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลในประเทศไทย ตรงนี้จึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญว่า หน้ากากที่เอามา Support มันเพียงพอกับหน้ากากที่มีอยู่ทั่วประเทศหรือเปล่า
Citizenplus : Big data จะช่วยการแพทย์ได้ ?
นพ.อดุลย์ชัย: ทุกอย่างในอนาคตมันจะเป็นเรื่องของ Big data แล้วคนที่ให้ data ที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชนทั่วไป เพราะเป็นคนที่ได้ใช้งานจริง หรือ ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่เขาให้ข้อมูลนั้น ซึ่งมันเป็นข้อมูลแท้จริง ในอนาคตอย่างที่บอก ยกตัวอย่าง เรื่องของ COVID-19 ถ้าเกิดการระบาดเกิดขึ้น โรงพยาบาล หรือ ชุมชนนั้น ๆ ก็สามารถแจ้งเข้ามาตามแผนที่ปักหมดนี้ได้ว่า ณ โรงพยาบาลนี้มีผู้ป่วยกี่คน มีผู้ป่วยที่ป่วยโรคนี้กี่คน เมื่อเรารู้ว่ามีผู้ป่วยแล้ว และส่วนใหญ่คนไทยก็เป็นคนที่ใจบุญ ก็มักจะบริจาคหรือไม่ก็ส่งอุปกรณ์ไปช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีเพราะมันเป็นการช่วยเหลือกันเองในชุมชน ช่วยเหลือกันเองในประเทศของเรา ซึ่งอย่างที่บอกว่าความสามัคคีนั้นก็ทำให้ประเทศเราสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ยกตัวอย่าง อย่างตัวหมอเองจัดทำแอพพลิเคชั่น “ใกล้มือหมอ” เป็นแอพพลิเคชั่นปรึกษาทางการแพทย์ ผ่านทางออนไลน์ คล้ายๆ ว่าเป็นการซักถาม แต่ว่าไม่ได้ใช้แพทย์จริง ๆ ใช้เป็นระบบอัลกอริทึม คือ คุณโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์นั่นแหละ ซึ่งในอนาคตยกตัวอย่างว่า สมมุติว่ามีการระบาดเข้า Phase 3 เกิดขึ้น คนไม่กล้าจะไปโรงพยาบาลแล้ว คนก็สามารถปรึกษากับแพทย์ผ่านทางออนไลน์ หรือ สามารถรักษาตัวเองเบื้องต้นก่อนได้ แต่การมีแอพพลิเคชั่นลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการทดแทนแพทย์ แต่เป็นการให้ความสะดวกและให้ความรู้กับคนไข้เบื้องต้นได้ ในการที่จะดูแลตัวเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อเทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพ (health tech) มาในระดับนี้ มันก็สามารถที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์กับทุก ๆ คนได้ แล้วคนส่วนใหญ่ก็สามารถที่จะปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีด้านนี้ได้ คือ ถ้าสมมุติว่าในอนาคตต่อไปนี้ถ้าเราใช้ระบบแอปพลิเคชันแบบนี้ เราจะลดจำนวนคน หรือลดความแออัดของคนที่จะเดินทางไปที่โรงพยาบาล แน่นอนว่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของคุณหมอเพิ่มขึ้น
โดยปกติสมมุติโรงพยาบาลในตำบล หมอคนหนึ่งตรวจคนไข้ต่อวันประมาณ 120 ถึง 150 เคส นั่นคือเขาใช้ระยะเวลาช่วงประมาณ 9 โมงถึงเที่ยงในการตรวจคนไข้ แสดงว่าแต่ละคนก็ต้องตรวจอย่างรวดเร็ว คือไม่ได้บอกว่าหมอไม่เก่ง แต่แน่นอนว่าประสิทธิภาพมันจะลดลง การที่มีแอปพลิเคชันแบบนี้ มันจะช่วยทำให้คนไข้สามารถรักษาตัวเองได้ก่อน รู้เรื่องราวของโรคที่เราเป็นก่อน ทำให้การเดินทางไปโรงพยาบาลนั้นก็ลดลง ความหนาแน่นในโรงพยาบาลก็ลดลง หมอก็มีประสิทธิภาพในการรักษาเพิ่มมากขึ้น อย่างบางโรคไม่ได้หนักมากเราก็อาจจะไปโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ ถ้าโรคที่มันหนักมากเรารู้ตัวเร็วเราก็สามารถไปโรงพยาบาลรักษาตัวได้เร็ว ถ้ารักษาตัวได้เร็ว ก็มีโอกาสหายได้เร็วเหมือนกัน
ล่าสุด เริ่มมีประชาชนจำนวนมากเข้ามา check ข้อมูลของ CoViD-19 ในApplication ใกล้มือหมอ โดยมีข้อสงสัยว่า อาการของตัวเองจะเป็น CoViD-19 เป็นไหม บางคนกลับมาจากประเทศเสี่ยงเกิน 20 วันแล้ว เพิ่งมีอาการไข้ จะต้องทำอย่างไร นพ.อดุลย์ชัย จึงเริ่มทำแผนที่โรงพยาบาลที่สามารถตรวจ CoViD ได้ ตามจุดปัดหมุดสีฟ้า และจุดปักหมุดสีแดงรูปโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วย CoViD-19 รักษาตัวอยู่
การริเริ่มใช้เทคโนโลยีมาร่วมแก้โจทย์การฝ่าวิกฤต CoViD-19 จากคนแวดวงการแพทย์เริ่มต้นและยังจะต้องพัฒนาฐานข้อมูลไปอีกต่อเนื่อง เพื่อรับมือสถานการณ์ CoViD-19 ให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด