เปิดมุมมองผู้ประกอบการหน้ากากอนามัย : ยิ่งคุมจะยิ่งขาด ?

เปิดมุมมองผู้ประกอบการหน้ากากอนามัย : ยิ่งคุมจะยิ่งขาด ?

ไม่เพียงแต่ประชาชนจะหาซื้อหน้ากากอนามัยซึ่งเป็น สิ่งสำคัญในการป้องกันตัวเองจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  ได้ยากลำบาก ถูกโก่งราคาและหลายรายได้ของปลอมมาให้ช้ำใจแล้ว แม้กับกลุ่มแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขที่จะต้องใช้งานหน้ากากอนามัยเหล่านี้ในการปฏิบัติงานกลับต้องพบกับความเสี่ยงที่หน้ากากไม่เพียงพอแม้การระบาดจะยังไม่เข้าระยะ 3 ก็ตาม 

ความขาดแคลนเกิดจากความต้องการของทั่วโลกที่เจอการระบาดเช่นนี้ไม่ต่างกัน ขณะที่แหล่งผลิตและวัตถุดิบสำคัญอย่างจีน เกาหลีก็ทั้งปิดตัว และเร่งผลิตใช้ภายในด้วยเช่นกัน เมื่อของขาดและหายาก ก็มีการกักตุนทั้งจากความตื่นตระหนกต้องการป้องกันความเสี่ยงรวมถึงค้ากำไรในสถานการณ์วิกฤติด้วย ภาวะการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจโดยเฉพาะเมื่อถึงระยะที่ 3 แต่ความพยายามแก้โจทย์นั้น เกาถูกที่คันหรือไม่ ? 

รัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด กำหนดให้โรงงานทั้ง 11 แห่ง ในประเทศต้องส่งยอดหน้ากากอนามัยทั้งหมด 1,200,000 ชิ้นมาให้ “ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย” ที่บริหารร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข 

หน้ากากจะถูกจัดสรรออกเป็น 2 ส่วน คือ 

1. 700,000 ชิ้นให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรให้โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน และโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย 

2. 500,000 ชิ้นให้กรมการค้าภายใน กระจายสินค้าให้กับประชาชนผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ-ร้านธงฟ้าประชารัฐ และรถโมบาย 

ขณะที่มีหน้ากากนำเข้า อีก 2 ส่วน ส่วนแรกคือหน้ากากอนามัยสีเขียว ซึ่งจะมีไม่มากนัก และหน้ากากทางเลือกที่จะมีรูปทรงแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีหน้ากากผ้า ซึ่งระยะหลังประชาชนทั่วไปหันมาใช้งานและตัดเย็บเองมากขึ้น แต่สถานการณ์โดยรวมยังไม่ดีขึ้น หน้ากากยังคงหายากและราคาแพง และบุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องจำกัดจำเขี่ยในการใช้งาน 

ความจริงภายใต้หน้ากากเป็นเช่นไร ในมุมผู้ประกอบการ การจัดการเช่นนี้ตอบโจทย์หรือไม่ ทีมสื่อพลเมือง The Citizen.Plus ได้คุยกับผู้ประกอบการ นำเข้าหน้ากากอนามัยเพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์นี้มากขึ้น 

Citizenplus : ปรากฏการณ์หน้ากากอนามัยขาดที่เราเจออยู่มีผลในแง่ไหนบ้าง ? 

ผู้ประกอบการหน้ากากอนามัย : อย่างแรกเลย ในแง่ตัวสินค้า สิ่งที่เจอกันอยู่คือ 1.สินค้าไม่มีคุณภาพเพราะเป็นของเดิมที่มีอยู่ในสต็อคของคนขาย ซึ่งหมดอายุ เสื่อมคุณภาพ แล้วเอามาขาย เช่น บางรายซื้อไปแล้วยุ่ยกลายเป็นผงๆ 2.สินค้ากลุ่มที่ใช้แล้วนำมารียูส 3.สินค้าเป็นของใหม่ก็จริง แต่ไม่ได้ใช้วัสดุที่มีคุณภาพ คือไม่มีประสิทธิภาพในการกรอง การปกป้องเชื้อโรค 4.ของแปลกปลอมที่เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และก็ไม่สามารถแน่ใจด้วยว่าคุณภาพได้มาตรฐานขนาดไหน และ 5. การหลอกหลวงของมิจฉาชีพต่างๆ การปลอมแปลงสินค้า ซึ่งบริษัทของตัวเองก็โดนเหมือนกัน โดยเอากล่องเปล่าของบริษัทมาใส่สินค้าอื่นแทน ทำให้เสียความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่าของจริงหรือของปลอม 

ภาพจากนักข่าวพลเมือง C-site

ด้านราคา ตอนนี้ราคาขายหน้ากากอนามัยสูงกว่าความเป็นจริงมาก เป็นภาระต่อผู้บริโภคทั้งด้านกำลังทรัพย์ ด้านเวลาต้องไปตามหา สุขภาพจิตที่เสียไป และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น รวมถึงในแง่คุณภาพสินค้า ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในการเลือกซื้อหน้ากากอนามัย เพราะว่า 1.ไม่รู้จะซื้อจากที่ไหน 2.ที่ซื้อจะเชื่อถือได้หรือเปล่าว่าได้ของอะไรมาก็ไม่รู้ ไม่มีหลักยึดที่ชัดเจนว่าเราจะมีหลักเกณฑ์ในการเลือกแบบไหนอย่างไรดี 

ในส่วนผู้ประกอบการ สิ่งที่เจอคือต้นทุนที่วัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น เพราะว่าทั้งตัวสินค้า และวัตถุดิบการผลิตก็เป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก และผู้ประกอบการยังถูกบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐในการกำกับควบคุมสินค้าหน้ากากอนามัยอย่างเข้มงวดมากในหลายมิติ ซึ่งเป็นภาระเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอย่างมากเลย เช่น เข้ามาควบคุมการเช็คของ ใช้กฎหมายมาบังคับถ้าผู้ประกอบการไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ และเสี่ยงที่จะทำผิดได้ตลอดเวลา 

ผู้ประกอบยังเสี่ยงในเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง เพราะเดี๋ยวนี้มีการหลอกลวงเยอะมากขึ้น ถึงแม้เราจะเป็นยี่ห้อที่ทำตลาดมานาน แต่ผู้บริโภคก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าที่ซื้อมาใช่หรือว่าไม่ใช่ สูญเสียความเชื่อมั่นทางด้านธุรกิจไป เวลาลูกค้าซื้อล็อตใหญ่ก็จะเรียกหาใบรับรองมาตรฐาน(Certificated) ตลอดเวลา ว่าคุณภาพเหมือนเดิมไหม ทั้งๆ ที่ซื้อตรงจากเรามาตลอด 

ในส่วนของภาครัฐ จากมุมมองของผู้ประกอบการรู้สึกว่า ภาครัฐยังไม่สามารถทำงานแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งการควบคุมไวรัสโควิด -19 และทั้งหน้ากากอนามัยที่สำคัญคือ รัฐยังไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นในส่วนของจำนวนหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน และประชาชนเกิดความกังวลคือจะเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ 

Citizen.plus : พอจะบอกให้เราเข้าใจถึงเส้นทางของหน้ากากอนามัย  

ผู้ประกอบการหน้ากากอนามัย : ถ้าในสถานการณ์ปกติก่อนมีโควิด-19 ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ 1 บริษัท รับสินค้าเข้ามา ก็ส่งต่อให้กับคลินิก ร้านขายยา Nursing หรือ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ หรือลูกค้าที่เขามีดิวกับทางโรงพยาบาลเลย เพราะทางบริษัทไม่ได้จำหน่ายให้กับภาครัฐโดยตรง รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนด้วย เราไม่ได้มีพนักงานขายไปวิ่ง ไม่อยากมานั่งบริหารจัดการการเงินกับทางภาครัฐ เพราะว่ามันปวดหัวพอสมควรก็เลยตัดตรงนั้นหมดไป เพราะอย่างลูกค้าบริษัทก็มีเซ็นสัญญาซื้อขายกับโรงพยาบาลอีกทีนึง ฉะนั้นลูกค้าของบริษัทมีหลากหลายกลุ่ม แล้วปกติก็ไม่ได้ขายให้กับประชาชนทั่วไป 

แต่มีช่วงนี้หลังๆ บริษัทของเราไม่อยากจะให้สินค้าไปกระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือคนที่มีทุนมากที่จะเก็บของไว้ได้มาก เราก็จะจำกัดว่าไม่ให้ใครซื้อได้เท่าไหร่ และหลังๆ เราก็ขายให้กับบุคคลธรรมดาเยอะขึ้น แต่เราก็ไม่มั่นใจอยู่ดีว่าบุคคลธรรมดาเขาก็อาจจะเอาไปขายออนไลน์ไปบวกราคาขึ้นเยอะแยะมากมาย เนื่องจากตัวเองเป็นคนดูลูกค้าเราใช้ช่องทางไลน์ เป็นช่องทางที่ลูกค้ามาสั่งซื้อได้ ก็จะเป็นค่อยสกรีนลูกค้าว่าคนไหนใช้จริง แต่ก็ไม่สามารถการันตีว่าเขาจะใช้เองจริงๆ 

 Citizenplus : ตอนนี้มีการออกมาตรการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้ส่งไปที่กรมการค้าภายใน 

ผู้ประกอบการหน้ากากอนามัย : ในมุมมองของผู้ประกอบการเองเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของกรมการค้าภายในที่จะมาจัดการเรื่องการจำหน่ายหน้ากากอนามัย มันไม่ใช่หน้าที่รัฐที่จะทำ และทางเราก็เคยตั้งคำถามไปกับหน่วยงานรัฐในตอนที่กฎหมายออกมาในเรื่องนี้  เพราะรัฐซื้อจากผู้ประกอบการไป 2 บาท (ตามที่มีประกาศในราชกิจจาฯ) แต่ไปขาย 2.50 สตางค์ เราตั้งคำถามว่า 

 1. นี่คือหน้าที่ของรัฐหรือเปล่าที่จะเป็นคนมาทำการค้าขายธุรกิจแบบนี้  

2.ส่วนต่างห้าสิบสตางค์ คือรายได้ของรัฐในส่วนไหน จะต้องลงบัญชีแบบไหน 

 3. เราต้องออกบิลใคร รัฐขายไปเขาได้จดภาษีหรือเปล่า มันมีคำถามมากมายตามมา เพราะว่ารัฐไม่ได้มีหน้าที่ในการทำตรงนี้อยู่แล้ว นี่แค่ทางด้านบัญชีเบื้องต้น เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องความโปร่งใสในการจัดการ หรือการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย 

สมมุติเขาได้รับสินค้ามาแล้ว 10% เขาจะให้ใคร เราจะรู้ได้อย่างไร เมื่อสินค้าเข้าไปในคลังของกรมการค้าภายในแล้วมันจะออกมาเท่าจำนวนที่เข้าไหม ความโปร่งใสตรงนี้ไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบได้ ขนาดในภาคของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลก็เกิดการตื่นตระหนก และความรั่วไหลสินค้าของภาครัฐเองถ้า 35 ล้านชิ้นต่อเดือนจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันออกมาจริงๆ ถึงมือบุคลากรทางแพทย์ และประชาชน 35 ล้านชิ้น 

และเนื่องจากตอนนี้สินค้ามันขาดมากบริษัทของเราเองเลย 1.ไม่อยากนำเข้า 2.เรื่องการบังคับใช้กฎหมายถึงแม้ตอนนี้จะมีของแต่ก็ไม่อยากนำเข้า เพราะการที่รัฐบาลประกาศให้สินค้าตัวนี้เป็นสินค้าควบคุม และต้องทำบัญชีของสินค้าเข้ามาเท่าไหร่ ขายให้ใครเท่าไหร่ ขายราคาเท่าไหร่ ต้องทำบัญชีส่งรัฐทุกวันจันทร์ ซึ่งเราไม่มีปัญญาทำเพราะงานอย่างอื่นก็เยอะมากอยู่แล้วต้องทำทุกวัน แต่ตามที่หน่วยงานรัฐได้มีการเรียกในผู้ประกอบการเข้าประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐก็ส่งคนไปที่โรงงาน เช็คเลยว่าคุณเอาเข้ามาเท่าไหร่ ผลิตได้เท่าไหร่ต่อวัน 

“ผู้ประกอบการจะไม่มีสิทธิ์จะเอาไปขายให้ใครข้างนอกได้ ตอนนี้โรงงานทุกโรงงานจะต้องส่งรัฐ 100% ไม่สามารถที่จะขายเองได้ รัฐจะเป็นผู้กระจายเองทั้งหมด คำถามคือเราไม่เชื่อมั่นในกระบวนการกระจายของรัฐ” 

มีลูกค้าของบริษัทเองก็ไปติดตามที่ร้านธงฟ้าในกรุงเทพฯ หลายร้านก็ไม่เคยได้ของ เพราะร้านธงฟ้าเองก็บอกว่าไม่เคยได้ของ คำถามคือที่รัฐบอกว่ากระจายไปที่ร้านธงฟ้านั้น เขากระจายไปที่ไหนกันแน่ เพราะรัฐบอกเส้นทางมาเองว่า ร้านธงฟ้าจำนวน เท่านี้ๆ จะต้องกระจายไป แต่มันไม่ถึง แล้วร้านธงฟ้าเองเขาก็โดนลูกค้าต่อว่าเยอะมากว่าร้านธงฟ้ากักตุนไม่ยอมปล่อยให้ประชาชน ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรเพราะเขาเองก็ไม่มี เขาไม่เคยได้มาขาย 

ถ้าคิดตามจำนวนที่รัฐคำนวนออกมาสมมุติ 1,200,000 ชิ้นต่อวัน กระจายให้กระทรวงสาธารณสุขแล้ว กระจายไปตามร้านเท่านี้ๆ (ร้านสะดวกกว่าพันร้าน) แต่ละร้านหารออกมาอาจจะได้แค่ 20 ชิ้นเท่านั้น คือการแค่กระจายสินค้า 20 ชิ้นต่อที่เสียเวลาบริหารจัดการมากกว่าได้ผลรับที่แท้จริง หนึ่งร้านก็หมดค่าขนส่งแล้ว 

ส่วนเรื่องออกกฎหมายห้ามครอบครองสินค้าเกิน 100 ชิ้น อันนี้ไม่ได้รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้าหน้ากากก็จริง และก็ยังบังคับใช้กฎหมายกับใครไม่ได้อยู่ดี เราเองก็เคยขายให้กับบุคคลธรรมดาก่อนหน้านี้ ก่อนหน้าที่สินค้าจะหมดเราเหลือไม่กี่ลัง แล้วเราก็มาขายให้ 5 กล่อง 10 กล่อง ถ้าอย่างนั้นคนที่มาซื้อของเราต้องโดนหมดเพราะกล่องนึงรวมก็หลายร้อยชิ้น ซึ่งก็ยังไม่เคยมีใครโดน ก็เลยไม่รู้ว่าอันนี้คือความลักลั่นของกฎหมายในหลายๆ ส่วน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะออกมาทำไม คือคุณต้องบริหารจัดการสินค้าให้ได้ก่อนถึงจะมาใช้กฎหมาย 

Citizebpn.pluz : แสดงว่าการที่รัฐเอากฎหมายมาควบคุม ยิ่งทำให้ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิต ผลิตหน้ากากอนามัยน้อยลง? 

ผู้ประกอบการหน้ากากอนามัย : ได้คุยกับลูกค้าและโรงงาน ผู้ประกอบการท่านอื่นเหมือนกันมีหลายโรงงานที่บอกว่า ไม่ผลิตแล้ว เพราะก่อนหน้าบอกให้ต้องส่งให้รัฐ 50 % หลังจากนั้นคุณก็เอาไปขายของคุณ ขนาดแค่ตอน 50 % ก็ไม่ผลิตแล้ว และตอนนี้ให้ส่งเป็น 100 %  เขาก็ยิ่งไม่ผลิต ผลิตไปก็ไม่มีประโยชน์ ส่งไปให้รัฐก็ใช่ว่าจะได้เงินเลย อย่างตอนของเราที่สินค้าเข้ามาเมื่อปลายมกราคม เราขายแบบเงินสด โอนก่อนค่อยส่ง แต่ตอนนี้หลายโรงงงานมีปัญหามากเพราะว่าเขาต้องขายให้รัฐ แต่รัฐไม่สามารถจ่ายเงินสดได้ แล้วสินค้ามันส่งทุกวัน มันทบต้นทุนไปเดือนๆ นึงตั้งเท่าไหร่ แล้วเมื่อไรเขาจะได้เงินก็ไม่รู้ แล้ววัตถุดิบทุกอย่างมันต้องซื้อเงินสด เวลาเราซื้อของจากต่างประเทศเราก็ซื้อเงินสด ของลงเรือเราต้องจ่ายเงินเลยถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้ของเลยก็ตาม เพราะตอนนี้ตนเองเลยไม่แน่ใจว่ารัฐไปสามารถบังคับโรงงานไหนบ้างที่ให้ผลิตได้ แต่ว่ามันมีบางโรงงานที่ไม่ผลิต 

“เงินทุนหมุนเวียนไม่พอ  โรงงาน 1 โรง อาจจะไม่ได้ผลิตหน้ากากอย่างเดียว อาจจะผลิตไปตัวอื่น เช่น หมวก เสื้อคลุม เสื้อกาวน์ ที่ใช้แล้วทิ้ง คือทำอะไรมาก็ต้องส่งรัฐทั้งหมดแล้วเงินก็ไม่ได้ ถ้าเกิดเขาขาดสภาพคล่องขึ้นมาจะต้องทำยังไง รัฐจะมาช่วยไหม?” 

Citizen.pluz :  ประเด็นที่จะต้องแก้โจทย์เรื่องนี้ควรเป็นจุดใดบ้าง ? 

ผู้ประกอบการนำเข้าหน้ากากอนามัย : คิดว่า 1. สิ่งที่เราเห็นได้อย่างเด่นชัด เราควรต้องรณรงค์จิตสำนึกที่จะไม่ฉวยโอกาสในภาวะวิกฤติ เพราะว่า พอเกิดวิกฤติ คนบางกลุ่มที่จะฉกฉวยโอกาสสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองโดยไม่นึกถึงความเดือดร้อนของคนอื่น เช่น ประกาศขายหน้ากาก 5 ล้านชิ้น ชิ้นละ 14 บาท หลอกลวงแน่นอน แต่เราก็พยายามจะประกาศให้ทางลูกค้าทราบว่า ทางบริษัทไม่เคยมีการทำสัญญา ถ้ามีของก็ขายไม่มีของก็ไม่ขาย ไม่เคยต้องให้คนเซ็นต์สัญญาก่อน แล้วมันก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับคนที่รู้เท่าไม่ถึงการ อันนี้เป็นสิ่งแรกที่รู้สึกว่าสำคัญมาก มันจะทำให้สถานการณ์แย่ลง ถ้าเกิดคนบางกลุ่มไม่มีจิตสำนึกต่อคนส่วนร่วม 

2.เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความรู้เพียงพอและไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการ และมาออกกฎหมายมากขึ้น เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีความลักลั่น เช่น กฎหมายนำเข้าส่งออก ตอนแรกห้ามไม่ส่งออก ต่อมาให้ยกเลิกคำสั่งนี้ ตกลงมันต้องส่งออกได้หรือไม่ได้กันแน่ 

3.กฎหมายต่างๆ เช่น กรณีสินค้าควบคุมถ้าไปดูในราชกิจจาฯ เขาให้คำนิยามของหน้ากากอนามัย รวมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะ N95 หน้ากากอนามัย และควบคุมให้ทุกรายการต้องขายให้รัฐในราคา 2 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะของมันคุณภาพคนละอย่างกัน ต้นทุนคนละอย่างแล้วจะมาบังคับให้มาขาย 2 บาทได้อย่างไร หรือกฎหมายเรื่องพื้นที่เสี่ยง ตกลงอะไรเสี่ยง อะไรไม่เสี่ยง ที่ไหนเสี่ยงไม่เสี่ยงกันแน่ การกักกันโรคสำหรับประชาชนไทยมาจากแต่ละพื้นที่ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ต้องกักตัวเอง 14 วัน แต่ชาวต่างชาติที่มาจากพื้นที่เดียวกันไม่โดน คือไม่รู้ต้องปฏิบัติตามอย่างไร ข้อมูลที่ให้ออกมาไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าใครต้องทำอย่างไร 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ