คุยกับหมอสุภัทร ในวันที่รพ.ขาดแคลนหน้ากากอนามัย

คุยกับหมอสุภัทร ในวันที่รพ.ขาดแคลนหน้ากากอนามัย

จริงๆ ของเริ่มจะขาดแคลนมาตั้งแต่ช่วงมกราคม  ที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 เริ่มเป็นที่รู้จัก เป็นที่ตื่นตระหนกกัน  เมื่อสั่งของใช้งานตามปกติ แต่กลับไม่ได้ของหรือได้มาจำนวนน้อย  โรงพยาบาลเคยสั่งล็อตละ300กล่อง  กล่องละ50ชิ้น อยู่ได้ประมาณ 1 – 1 เดือนครึ่ง แต่ช่วงหลังได้มาแค่ 30- 40 กล่อง ต่อเดือน ลองคำนวนคร่าวๆ หน้ากาก  30 กล่องมีจำนวน 1,500ชิ้น บุคลากรในโรงพยาบาล 300 คน  ถ้าใช้งานคนละ 1 ชิ้นก็คือวันละ 300 ชิ้น  ถ้ามีหน้ากาก 1,500ชิ้น ก็ใช้ได้ 5 วันก็หมด”   นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ

มื่อหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในสถานการณ์โรคอุบัติใหม่อย่างไวรัส (COVID-19) ระบาดอยู่ในขณะนี้ เกิดขาดแคลนถึงขั้นโรงพยายาลต่างๆ ต้องจำกัดจำเขี่ยใช้งานอย่างมากอยู่ในขณะนี้ทำให้เกิดความกังวลใจไม่น้อย  แม้ภาครัฐจะเร่งให้ผู้ประกอบการผลิตและกระจายให้เพียงพอ และกำหนดให้ “หน้ากากอนามัย-เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ” เป็นสินค้าควบคุมมีผลใช้บังคับถึง 1 ปี แต่ในหลายพื้นที่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่จำเป็นจะต้องใช้งานเพื่อควบคุมสถานการณ์และรักษากลุ่มเสี่ยง

อัพเดท 13/03/63 ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าได้รับการจัดสรรหน้ากากล็อตแรกจากรัฐบาลแล้ว 140 กล่อง…

โพสต์โดย แลต๊ะแลใต้ เมื่อ วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2020

 “ตอนนี้โรงพยาบาลจะนะต้องจำกัดการใช้หน้ากากอนามัย ให้คนละ 1 ชิ้นเฉพาะคนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ  คือ แพทย์ พยาบาล  ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็ลดจำนวนการจัดสรร เหลือเดือนละ 1กล่องหรือประมาณ 50 ชิ้น  ซึ่งน่าสงสารเขามาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร  ขณะที่ผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการ แทบจะไม่ได้แจกจ่ายให้เลย”   นพ.นพ.สุภัทร

จากเดิมที่โรงพยาบาลจะนะ ใช้หน้ากากเดือนประมาณ 15,000 ชิ้น แต่เมื่อสั่งซื้อได้เพียงเดือนละ 1,500 ชิ้น แต่ต้องดูแลผู้ป่วยนอกรวมทุกประเภทวันละ 600 คน ผู้ป่วยในรวม 72 เตียง  หน้ากากที่มีจำนวนจำกัด ทำให้ต้องกำหนดโควต้าให้ เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องใช้งาน คือ แพทย์ พยาบาลที่ต้องทำงานในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด และทันตกรรมเท่านั้น  ส่วนแผนกที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงก็จะเปลี่ยนมาใช้หน้ากากแบบผ้าและหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนการใช้หน้ากากอนามัย  เพราะยังมีส่วนที่ต้องกระจายให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ในความรับผิดชอบอีก 21 แห่ง  

หน้ากากอนามัย ในโรงพยาบาลต้องใช้ในส่วนงานไหนบ้าง

เราได้คุยกับเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยในที่พยายามแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนว่า  แต่ละคนต้องสั่งซื้อหน้ากากอนามัยราคาแพงจากตลาดออนไลน์มาใช้ หรือใช้หน้ากากผ้าเพื่อป้องกันตัวเองด้วย

พยาบาลสองคนนี้ สวมหน้ากากอนามัยที่สั่งซื้อมาจากร้านค้าออนไลน์
คนไข้รายนี้ นำหน้ากากอนามัยมาจากบ้านเพื่อป้องกันตัวเอง

 “สั่งเมื่อวาน สั่งออนไลน์ กล่องละ 750 บาท ต้องยอมซื้อเพราะว่าไม่มีใช้ คนไข้บางคนที่จำเป็นต้องใส่หน้ากากจะมาเอาที่โรงพยาบาล ก็ไม่มีให้ เมื่อก่อนเราจะวางให้บริการสำหรับคนไข้ที่จำเป็นด้วยแต่ตอนนี้ไม่มี” พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยตึกใน บอก  

“ราคาปัจจุบันสูงมาก  นี่ถ้าเราดูใบเสร็จสั่งซื้อหน้ากากของโรงพยาบาลเมื่อเดือนตุลาคม 2562  เราสั่งหน้ากากมาตรฐาน 3 ชั้น ไป300กล่องกล่องละ 33 บาท มี่จำนวน 50 ชิ้น เฉลี่ยราคาก็ตกชิ้นละประมาณ 70 สตางค์  แต่ราคาหน้าร้านที่พอจะซื้อได้ขณะนี้พุ่งสูงเป็น เป็น 700 – 900 บาท ราคาออนไลน์ก็สูงเช่นกัน ซึ่งราคานี้เราซื้อไม่ได้ มันสูงเกินราคากลาง คนบริจาคให้กับโรงพยาบาลจะนะซื้อมาในราคา 890 ต่อกล่อง  ราคาแพงขึ้นเป็น 20 เท่า ต่อกล่องเลยทีเดียว”

นพ.สุภัทรบอกและเล่าว่า การแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนขณะนี้ว่า  ได้รับแจ้งจากบริษัทผู้ผลิตว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กำลังรวบรวมจัดสรรหน้ากากอนามัย เพราะปัจจุบันทุกล็อตที่ผลิตได้ต้องส่งให้กรมการค้าภายในเป็นผู้จัดสรรมาให้แต่ละโรงพยาบาล  ขณะที่ระยะยาว เชื่อว่าหน้ากากอนามัยจะขาดแคลนแน่นอน เพราะสถานการณ์การระบาดยังน่าวิตกกังวล ดังนั้นประชาชนทั่วไปถ้าไม่ได้ป่วย  สามารถใช้หน้ากากผ้า และล้างมือบ่อยๆ  ก็จะสามารถลดการใช้หน้ากากอนามัยแบบใยสังเคราะห์ที่กำลังขาดแคลนได้ และจะช่วยให้ราคาหน้ากากอนามัยจะลดลงได้

สุขภาพดี – หน้ากากผ้า

ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ – หน้ากากอนามัยสีเขียวฟ้า-ขาว

ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัย บอกไว้ว่า หน้ากากอนามัยใช้สำหรับเป็นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ    ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย สามารถสวมใส่หน้ากากผ้าได้ หน้ากากผ้า อย่างผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าสาลู กลุ่มนี้สามารถนำมาผลิตเป็นหน้ากากผ้าได้ สำหรับหน้ากากผ้าใช้เพียง 1 วันควรต้องซัก  จึงควรมีหน้ากากผ้าสลับสับเปลี่ยน นอกจากจะนำกลับมาใช้งานซ้ำ ๆ ได้แล้ว ยังเป็นการลดขยะไปในตัวด้วย  แต่สิ่งสำคัญคือ การล้างมือบ่อย ๆ เพราะเชื้อจะติดได้นั้น หลัก ๆ คือ การสัมผัส ดังนั้นการล้างมือจะช่วยได้ ไม่ว่าจะล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล    

ความพยายามแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนของประชาชนในพื้นที่ เริ่มมีความช่วยเหลือกันและกันในพื้นที่  โดย ก็มีการติดต่อและส่งหน้ากากอนามัยเข้ามาให้โรงพยาบาลบ้าง และจัดทำหน้ากากผ้าใช้เองด้วย โดยในวันที่  11 มีนาคม 2563 สมาคมอาสาสร้างสุข-ภาคใต้ ได้เชิญชวนผู้สนใจมาร่วมกัน “เย็บแมสก์ให้หมอ” ‘หรือทำหน้ากากอนามัยแบบเย็บมือ เย็บจักร เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ไว้ใช้แจกให้กับประชาชนทั่วไป  ที่ ตึกกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ในเวลา 9.00 น. เป็นต้นไป   โดยคาดว่าจะผลิตได้ขั้นค่ำ 500 ชิ้น 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ