สถาปนาเขตวัฒนธรรมพิเศษ “ดอยช้างป่าแป๋”

สถาปนาเขตวัฒนธรรมพิเศษ “ดอยช้างป่าแป๋”

“ไม่รู้หรอกว่าฝุ่นเยอะ บนนี้ไม่มีฝุ่น มีแต่ในเมืองนู้น แต่อยู่นี้ถ้าไฟไหม้ป่า ดึกแค่ไหนเราก็ต้องไปดับนะ เพราะไม่งั้นไฟจะไหม้บ้านเรา แล้วมันจะทำให้เกิดฝุ่น” นี่คือประโยคที่เรียบเรียงจากการพูดคุยอย่างง่ายๆ จากชาวบ้านชุมชนดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพูล อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ชีวิตคนอยู่กับป่า ตามวิถีชุมชนและวัฒนธรรมกะเหรี่ยง

รู้จักชุมชนดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ)

ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพูล อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นชุมชนเล็กๆที่รายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ท่ามกลางป่าเขา ประชากรส่วนใหญ่ 270 คนจาก 74 หลังคาเรือนเป็นชาติพันธ์ุกะเหรี่ยง ประวัติศาสตร์ชุมชนที่นี่อยู่กับพื้นที่นี้มานานกว่า 200 ปี อยู่แบบเรียบง่ายหรือที่ทุกคนรู้จักกันก็คืออยู่ร่วมกับพื้นป่า ซึ่งระยะทางที่เราเดินทางมาที่หมู่บ้านแห่งนี้จากถนนใหญ่ขึ้นเขาอันสูงชันกว่าจะมาถึงใจกลางเขา ที่เป็นหมู่บ้าน ระยะทางกว่า9 กิโลเมตร ซึ่งเป็นไป ด้วยความยากลำบาก เมื่อมาถึงสิ่งที่เราสัมผัสได้ก็คือ เป็นชุมชนเล็กๆ มีเสียงนกเสียงจิ้งหรีดตลอดเวลาและอากาศเย็นสบาย ใส่เสื้อคลุมทั้งวันได้เลย ในพื้นที่ต้นไม้ยังเขียว แม้จะเป็นไม้ผลัดใบก็ตาม เดินดูบ้านแต่ละหลังจะพบยุ้งฉางที่เอาไว้ใส่ข้าวไร่

ผมเดินอยู่ในชุมชนนี้สักพักได้คุยกับชาวบ้านหลายคน ซึ่งทำให้รู้เลยว่าคนที่นี่พึ่งพิงป่าจริงๆพวกเขาทำไร่หมุนเวียนหาของป่าเพื่อดำรงชีพอาจจะมีขายบ้างมีเลี้ยงสัตว์เช่นควาย ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเช่นกาแฟ กันเกือบทุกบ้านเลยซึ่งก็พบว่ามีการทำแบรนด์กาแฟของชุมชนขึ้นใหม่ด้วย

ผมถามคนที่นี่บอกว่าแล้วช่วงนี้แล้งแบบนี้พวกเขาทำอะไร จะหาเห็ดหาหน่อได้หรือ ก็บอกก็เข้าป่าเตรียมแปลงทำไร่หมุนเวียน เวลาที่เหลือก็แบ่งการช่วยเฝ้าระวังไฟป่า แต่ว่าก่อนหน้านี้ได้ทำแนวกันไฟไปหมดแล้วแต่ถ้าเกิดไฟมาเราก็ต้องไปดับ ดึกดื่นแค่ไหนก็ต้องไปดับ เพราะว่าแม้จะทำแนวกันไฟก็กลัวว่าไฟจะลามมาไหม้หมู่บ้านของพวกเขา รวมถึงว่าฟังข่าวจากคนด้านล่าง (เขาคงหมายถึงพวกเราที่อยู่ในเมือง) ที่บอกว่าฝุ่นควันเยอะเหลือเกิน แต่คุณลุงบอกว่าที่นี่ไม่มีฝุ่นควันนะ เห็นไหมมองเห็นต้นไม้ชัดเลยแต่ว่ามองไม่เห็นเมืองที่อยู่ด้านล่างเลย …

เดินไปเรื่อยๆ ก็พบกับต้นไม้ต้นหนึ่ง มีกระบอกไม้ไผ่ผูกติดไว้ ก็ได้แต่สงสัยว่าจะเป็นสะดือจริงตามที่เราเคยดูผ่านทีวีหรือเปล่าก็เลยให้คุณลุงอีกท่านที่เดินผ่านมาเล่าให้ฟัง

คุณลุง เล่า ว่านี่เขาเรียกว่า “เดปอ” คือเวลาเด็กกะเหรี่ยงที่นี่เกิดก็จะมีสายสะดือ รก ผู้เฒ่าผู้เเก่เขามีกุศโลบายเพื่อให้ลูกๆ หลานๆ รักและห่วงแหนในพื้นป่า ก็เลยใช้เดปอหรือสายสะดือ ผูกติดกับต้นไม้เอาไว้ เพื่อบอกว่านี่คือจิตวิญญาณของจ้าว ซึ่งจะต้องช่วยดูแลต้นไม้นี้ห้ามใครมาตัด

ในช่วงเช้าที่ผมได้เดินคุยกับชาวบ้านกะเหรี่ยงที่นี่ ซึ่งการคุยกับชาวบ้าน พบว่าหลายคนไม่กล้าคุยเพราะว่าตัวเองพูดไทยไม่ค่อยชัด เพราะคนส่วนใหญ่ที่นี่ใช้การสื่อสารแบบภาษากะเหรี่ยง (คือเขามีภาษาที่ใช้กันในชุมชน)แต่หากมีเด็กหรือเยาวชนอยู่ด้วยเขาก็จะคุยกับเราเพื่อที่จะให้ลูกหลานเขาช่วยแปลให้

การมาชุมชนนี้ เรามาร่วมงาน ประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษตามวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” คืออะไร ความพิเศษ ก็คือสิ่งที่ได้เราไปอ่านตอนต้น เราคิดว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่มีความจำเพาะ ของคนบางกลุ่ม บางพื้นที่ จริงๆ ความพิเศษตรงนี้นิแหละควรรักษาไว้

ทำไมต้องประกาศ ? ก็ดูเหมือนว่าเขาจะดูกันปกติมีวิถีชีวิตที่ดีไม่ใช่หรือ จริงแล้วก็ใช่ที่เขาอยู่แบบเรียบง่ายอยู่แบบปกติตลอด แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็น 10 ปี แล้วที่เขาอยู่ไม่ปกติ เนื่องจากพื้นที่ที่เขาอยู่ถูกประกาศโดยกฎหมายว่าพื้นที่นี้คือพื้นที่ป่าที่มีเจ้าของคือหน่วยงานรัฐก็คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่นเอง ซึ่งที่อยู่ที่ทำกิน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ วันหนึ่งมีประกาศออกมาบอกว่าส่วนหนึ่งคือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตป่าสงวนซึ่งมีการจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมจำกัดสิทธิ์การหาอยู่หากินเช่นการทำไร่หมุนเวียนที่ถูกจำกัดพื้นที่ลง

ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่ามีการเจรจากันในระดับนโยบายมาโดยตลอดเกี่ยวกับสิทธิ์คนอยู่กับป่าแต่ พบว่ามีความไม่เข้าใจในบริบทความเป็นชุมชนของชาวบ้านพวกเขาก็เลยจัดงานแล้วก็ประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องไหมเป็มติครม. ที่ออกมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่มตินี้ ไม่มีความหมายในสายตาของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

แม้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่น่าจะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน รู้และเข้าใจปัญหาของท้องถิ่นดีก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ในพื้นที่ขนาดการทำทางถนนขึ้นมายังหมู่บ้านยังต้องรออนุมัติซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็ต้องส่งคืนงบประมาณเนื่องจากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถอนุญาตให้ดำเนินการได้

เพราะตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมัดแน่น ซึ่งอำนาจการรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ทีระดับบริหารประเทศ

วันนี้ 27 ก.พ.63 พวกเขาก็เลยเชิญผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มาคุยและดูวิถีของพวกเขาพร้อมกับรับฟังข้อเสนอ ในงาน“สถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชนกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋” ซึ่งชาวบ้านได้นำเสนอข้อมูลการจัดการพื้นที่ในรูปแบบเขตวัฒนธรรมพิเศษ และแนวทางการดูแลป่าและไร่หมุนเวียน รวมทั้งแนวทางการจัดการปัญหาไฟป่า

แต่ชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฏหมายจัดการทรัพยากรของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติบ้านโฮ่ง และการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง โดยไม่มีการกันเขตชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน รวมถึงการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล โดยนายนพพล พลเสน กล่าวกับชาวบ้านว่า รัฐบาลเน้นย้ำการดำเนินนโยบายต่างๆ เพราะต้องการให้คนอยู่กับป่าได้ หลังจากนี้ทาง ทส. จะเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ทส.และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) และตัวแทนชุมชน ในการสำรวจแนวแนวเขตป่าสงวนและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดอยช้างป่าแป๋ เพื่อให้มีข้อมูลตรงกัน และกันพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ให้เจ้าหน้าที่งดเว้นการจับกุมชาวบ้านในระหว่างสำรวจ เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่อย่างมั่นคง มีสิทธิชุมชนที่มั่นคง โดยชุมชนต้องมีกติกาในการดูแลป่าอย่างยั่งยืน และหน่วยงานรัฐต้องอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านที่ร่วมกันดูแลผืนป่า

ขณะที่ข้อเสนอของชาวบ้านที่เสนอต่อ นายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายพงศ์รัตน์ ภิรมณ์รัตน์ ผู้ว่าราชการจัดหวัดลำพูน คือ

  1. ขอให้เพิกถอนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่งออกจากพื้นที่ 21, 034 ไร่ที่เป็นขอบเขตชุมชนให้เหลือเป็นสถานะป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านโฮ่งแล้วให้สิทธิชุมชนในการจัดการในรูปแบบป่าชุมชนหรือป่าจิตวิญญาณ
  2. เนื่องจากชุมชนดอยช้างป่าแปีเป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าอยู่ในอาศัยและดำรงวิถีชีวิตในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นเขตป่าของรัฐชุมชนจึงยืนยันให้ใช้มติครม. 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้มีผลในการฟื้นฟูและคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม
  3. ชุมชนไม่ยอมรับมติครม. 26 พฤศจิกายน 2561 และพ. ร. บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ. ศ. 2562 จึงขอให้มีการทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนของชาวกะเหรี่ยงด้วยหากยังไม่มีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขชุมชนจะไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหาใดๆทั้งสิ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ