“ไม่อยากฟัง ก็…ควรฟัง ไม่อยากคุย ก็…ควรคุย
กว่า 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ หลังเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียที่ห้างเทอมินอล 21 จ.นครราชสีมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวม 30 คน และผู้สูญเสียจำนวนมาก หลากหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้น หลากคำถามที่ยังต้องร่วมติดตามหาคำตอบ ทั้ง ที่มา ที่ไป ผลกระทบ ระยะสั้น ระยะยาว จากเหตุการณ์ ทั้ง ต่อผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง การช่วยเหลือเยียวยาต่อเพื่อนมนุษย์ การก้าวต่อไปของชาวโคราชที่บ้างพร้อมเดินต่อ บ้างขอพักเหนื่อยจากฝุ่นคลุ้งและความบอบช้ำของเหตุการณ์
ด้านหนึ่งเวทีพูดคุยถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ในหลากหลายมิติ เพื่อถอดบทเรียนจากความสูญเสียก็ทยอยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงวานนี้ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งแม้จะห่างจากจุดเกิดเหตุ กว่า 220 กิโลเมตร แต่เรื่องนี้ก็ถูกหยิบยกมาถกเถียงแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนร่วมกัน ในฐานะคนอีสาน “คนบ้านเดียวกัน” กับ “ชาวโคราชบ้านเอ็ง”
เครือข่ายนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ในภาคอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เครือข่ายอีสานตุ้มโฮม โรงเรียนบ้านเทิน โรงเรียนบ้านหนองพะแนง โรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) นักข่าวพลเมืองภาคอีสาน นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS จัดเสวนา “จากเหตุการณ์โคราชสู่การเสริมสร้างบทบาทพลเมืองในการสื่อสารสาธารณะ” ณ ห้องประชุม 1 อาคารบรมราชกุมารี ชั้น 4 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยถอดบทเรียนในการนำไปสู่แนวทางป้องกันและแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความตระหนักจากเหตุการณ์ความสูญเสียที่โคราช ในการทำหน้าที่สื่อสารสู่สาธารณะของ ทั้ง สื่อมวลชน สื่อพลเมือง และคนในสังคม
“วันนี้ภาคส่วนที่เรามานั่งคุยกัน มีความน่าสนใจ คือ หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราอยากรู้ว่า นักเรียนและคุณครูได้มีการคุยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความกังวลอย่างไรบ้าง รวมถึงองค์กรคนทำงานด้านเด็กในภาคอีสาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เพื่อให้เวทีที่เราคุยกันนี้ จะนำไปสู่ข้อเสนอว่าเราจะก้าวต่อและจะลุกขึ้นมาทำอะไรกันบ้าง นำไปสู่การทำอะไรบ้าง น่าจะมีฉันทามติร่วมกันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของความเป็นสื่อภาคพลเมือง” นางสาวอังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและสร้างอัตลักษณ์นิสิต และอาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชวนคุยและดำเนินการเสวนา
“เราต้องคุยกันเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เรารู้เท่าทันทุกเรื่องราวในสังคม” นายเสถียร พันธุ์งาม ผอ.โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนนวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ “โรงเรียนเราเป็นต้นแบบจัดการศึกษาภาคพลเมืองของกระทรวงศึกษาธิการ เราทำโรงเรียนในระบบให้เป็นโรงเรียนทางเลือก เรามีเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเด็กทุกคนไปเป็น “พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ที่รอบคอบ รอบด้าน นี่คือเป้าหมายของโรงเรียน เราเน้นการเรียนรู้ และไม่ได้แค่ยึดโยงกับหนังสือเรียน แต่เราจะเอาเนื้อหาสถานการณ์ทางสังคมมาบูรณาการ ซึ่งหลังมีเหตุการณ์สังคมที่เกิดขึ้น เราจะหยิบมาเล่ามาแลกเปลี่ยน เช่น เรื่อง 13 หมูป่าที่ดังไปทั่วโลก และเหตุการณ์ล่าสุด
ส่วนเรื่องประเด็นที่โคราช อยากจะเสนอเป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจกับนักเรียน เมื่อก่อนพอพูดเรื่องสื่อ เราจะมองว่าไม่ใช่หน้าที่เรา เพราะสื่อเป็นอีกวิชาชีพ แต่ “สื่อ”ในปัจุบัน เราเป็นทั้ง ผู้เสพ ผู้ส่ง และผู้สร้างสื่อ ซึ่งเราทำได้ในตัวคนเดียว เพราะฉะนั้นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งองคาพยพของชุมชน ต้องถือเป็นเรื่องที่เอามาคุยกันเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ต้นตอของเหตุการณ์ที่แท้คืออะไร ซึ่งวันนี้เราพูดเรื่องบทบาทสื่อ มันคือ “กลางน้ำ” และสื่อก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความรุนแรง แต่ถ้าต้นตอของปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอีก
สื่อเองก็ทำหน้าที่ของเขาในวิชาชีพของเขา บนเป้าหมายของวิชาชีพ ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีส่วนขยายผลในมิติของเหตุการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งก็มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งรู้มาก มีข้อมูลมาก จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แต่จรรยาบรรณในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไม่มีใครวางแผน สถานการณ์เฉพาะกิจเฉพาะหน้า ทุกคนก็เข้าไปทำหน้าที่ แต่คนที่อยู่รอบนอกก็ได้รับผลกระทบ ผมคิดว่าอยากให้โรงเรียนได้หยิบเหตุการณ์นี้ไปสู่ห้องเรียน สู่การเรียนรู้ของเด็ก เพราะเด็กก็มีการรับรู้เหมือนผู้ใหญ่ เพื่อให้เราได้ข้อสรุปในมุมมองของเรา เพื่อเอาเป็นบทเรียนว่าเขาคิดอย่างไร แต่กลัวว่าจะเป็นไฟไหม้ฟางที่วูบวาบและจบลง และโครงสร้างการบริหารบ้านเมืองจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลง เราต้องคุยกันเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เรารู้เท่าทันทุกเรื่องราวในสังคม”
เหตุการณ์ความรุนแรง ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือชาวจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น คณะครูจากโรงเรียนเครือข่ายอีสานตุ้มโฮม ได้แก่ โรงเรียนบ้านเทิน โรงเรียนบ้านหนองพะแนง โรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) จ.ศรีสะเกษ ยังสะท้อนว่า เป็นบทเรียนสำคัญที่ ครู ผู้ปกครอง คนในครอบครัว หรือในชุมชนจะหยิบยกเอาเหตุการณ์ครั้งนี้มาเป็นบทเรียนสำคัญให้เยาวชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy) หรือ MIDL ทำอย่างไรให้เยาวชนได้เกิดการสร้าง การรับ และสะท้อนสื่ออกไปทั้งแง่บวก และแง่ลบ โดยให้เด็กเยาวชนมีการคิด วิเคราะห์ ตามศักยภาพของขาเอง
“ผมอยากจะเล่าประสบการณ์ในความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เรื่องที่ผมคิดว่ามันน่าจะเก่าแล้ว แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้เก่าเลย พอฟังจากผู้ร่วมประชุมแล้วก็พบว่ามันมีจุดร่วมบางอย่างเหมือนกันในภาวะวิกฤติและความขัดแย้งช่วงสถานการณ์ความรุนแรงใหม่ๆ สื่อก็ตกเป็นเหยื่อในฐานะของผู้ที่นำเสนอความรุนแรงเช่นกัน มีสมมติฐานว่าตัวสื่อนี่แหละเป็นตัวที่จะขยายความรุนแรง” นายสมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและตั้งข้อสังเกตถึงการสื่อสารในเหตุการณ์โคราชที่ผ่านมา
“ความตื่นตัวเรื่องนี้ปรากฏขึ้นในสองมิติที่สำคัญ ก็คือ ในทางวิชาชีพเกิดการรวมตัวของนักข่าวกลุ่มหนึ่งในปี 2548 มีคนอาสาลงไปทำข่าวแบบใหม่ๆ วางเรื่องเล่าแบบใหม่ พยายามใช้ความเข้าใจพื้นที่เล่าปัญหารากเหง้าที่มาที่ไปของปัญหา ทำข่าวเจาะลงลึกเพื่อที่อธิบายปัญหาและนำเสนอทางออก ทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่สังคม เป็นครั้งแรกที่นานๆ ทีสมาคมวิชาชีพจะสามารถทำอะไรแบบที่รวมตัวกันได้แบบนี้ ในทางวิชาการ มีการนำแนวคิดวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ นำมาปรับใช้ มีการศึกษาด้วยการนำเอาแนวคิดนี้มาอธิบายปัญหาจังหวัดชายแดนใต้จนเกิดเป็นวิทยานิพนธ์หลายเล่ม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศแล้วก็จะพยายามที่จะสร้าง “คู่มือ” การรายงานข่าวขึ้นมาเป็นคำแนะนำให้ คนทำงานเอาไปใช้ ช่วงนี้ถ้าย้อนดูจะมีคู่รายงานข่าวเยอะมาก
แต่ปัญหาของทั้งสองมุม คือ ในทางวิชาชีพและวิชาการคืออะไรทราบไหมครับ ปัญหาหลักที่เราพบก็คือ ระบบโครงสร้างของสื่อกระแสหลักที่มันเป็นสื่อในระบบทุน เงื่อนไขอันนี้มันไม่สามารถทำอะไรเกาะติดได้นานๆ บริษัทต้นสังกัดก็รู้สึกว่าเรื่องอะไรจะให้บุคคลากรมือดีๆ ของตัวเองลงไปทำงานในพื้นที่นานๆ ทำไมพอมีปัญหาทางการเมืองในห้วงปี 2550 นักข่าวก็ถูกเรียกตัวกลับหมด เหลือแต่ศูนย์ข่าวเล็กๆ ทำงานกันไม่กี่คน
แต่ทำไมความพยายามทั้งสองมุมที่ว่ามันไปต่อไม่ได้ ผมว่าปัญหามันก็ไม่ต่างจากตอนนี้ ยังมีการรายงานข่าว ขยี้ข่าว แบบที่เราเรียกว่าเร้าอารมณ์ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจกบุคคล ที่เป็นระดับว่าผู้สื่อข่าวว่าเขาทำหน้าที่ในสนามได้ดีหรือไม่ดีเท่านั้น การพูดเรื่องจรรยาบรรณอาจไม่เพียงพอ แต่มันต้องวิพากษ์ไปถึงว่ามันเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่แก้ไม่ได้ง่ายๆ หากยังเป็นสื่อในระบบพาณิชย์อยู่เพราะสื่อแบบสาย Popular เขารู้ดีว่าคนดูเขาอยากได้อะไร ทำยังไงให้ได้เรตติ้ง พูดง่ายๆ ว่ามันทำเงินได้ สร้างความนิยมได้ จะหันไปพึ่งพาองค์กรวิชาชีพที่เขาควบคุมนักวิชาชีพกันเองก็ยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่ง อันนี้เป็นข้อจำกัดที่สำคัญเป็นเพดานที่สำคัญมากของสื่อกระแสหลักที่ไม่สามารถทำได้”
นายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มีข้อเสนอถึงแผนการรองรับความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพหาเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะซึ่งมีมวลชนจำนวนมาก “ในภาวะเสี่ยง ภาวะความรุนแรง มีองค์ความรูเรื่องไหนบ้างที่เราต้องสื่อสารสู่สังคม หรือ การเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีองค์ความรู้ มีการเรียนการสอนเรื่องการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้เด็กและเยาวชนในแต่ละระดับ ซึ่งเหตุการณ์คณ์ในพื้นที่มีคนมีคนเยอะ ๆ จะมีวิธีการ มีกลไกอย่างไร แต่ไม่ใช่กลไกที่มีการบังคับโดยหน่วยงาน แต่เป็นการรับมือ เช่น เหมือนเรื่องการซ้อมรับมือเหตุการณ์ไฟไหม้ของแต่ละหน่วยงานที่ต้องมีการซ้อม มีแผนรับมือในแต่ละปีอย่างไร
ตัวอย่างเหตุการณ์โคราชอาจจะมีความรู้รองรับเรื่องการจัดการเหตุความรุนแรงในพื้นที่ชุมชน และรวมถึงกลไกกำกับดูแลที่มีอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เช่น การกำกับของ กสทช. และสุดท้ายคือเรื่องของภาคพลเมือง ภาคประชาชนต้องมีการปรับตัว ว่าคุณต้องไม่ผลิตซ้ำความรุนแรง เราจะทำอย่างไรให้ตัวบุคคลที่มีสื่อในมือ ทั้ง เฟซบุ๊ก ทั้งไลน์ ซึ่งหลายคนอยากบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่หลายครั้งเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง ซึ่งทำอย่างไรให้ตระหนักว่ามันจะส่งผลต่อเด็กและเยาวชนในอนาคต”
นอกจากพูดคุยในประเด็นเด็กและเยาวชน ผู้ผลิตสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน นายสันติ ศรีมันตะ นักข่าวพลเมืองจังหวัดยโสธร ยังมีข้อเสนอแนวทางการทำงานการสื่อสารสาธารณะในเหตุการณ์ทางสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตว่าควรมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การสื่อสารสู่สาธารณะมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม และวิธีการที่เหมาะสม
“จากเหตุการณ์แบบนี้ น่าจะนำไปสู่การทำงานว่า ถ้าอีสานเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือ สถานการณ์เร่งด่วนในพื้นที่ เราน่าจะมีทีมสื่อพลเมืองที่ร่วมลงสื่อสารลงปฏิบัติการอย่างทันท่วงทีภายใต้การทำงานที่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม ด้วยวิธีการที่เหมาะสม อย่างสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี ที่ผ่านมาที่นักข่าวพลเมืองร่วมสื่อสารในพื้นที่ ซึ่งแม้จะยังไม่มีการสื่อสารอย่างเป็นระบบ เพราะเราใช้วิธีการว่าใครอยู่ใกล้ตรงไหนก็ไปก่อน แต่ถ้าเราทำงานภายใต้การทำงานของกองบรรณาธิการ หรือกลุ่มที่จะเคลื่อนกันในอีสาน ก็น่าจะช่วยให้มีการสื่อสารมีทิศทางอย่างมีนัยยะสำคัญ”
นอกจากนี้ นายจักรพันธ์ จันทร์ปัญญา นักข่าวพลเมืองทีมเลนส์ไทบ้าน จ.อุดรธานี ได้แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานร่วมกับเยาวชนและคนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถวางทิศทางการสื่อสารร่วมกันในแต่ละประเด็น และไม่เน้นการแข่งขัน แต่เน้นการทีส่วนร่วม “สื่อพลเมืองต้องเป็นมากกว่าผู้สื่อข่าว แต่น่าจะมีการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ร่วมกับสื่อพลเมือง หรือเยาวชนในพื้นที่ และมีการวางทิศทางร่วมกันของสื่อพลเมืองที่จะช่วยเสริมให้มีการทำงาน โดยไม่ควรแข่งขันกัน แต่จำเป็นต้องช่วยกันสื่อสาร บทบาทที่น่าจะทำได้ คือ การทำงานร่วมกันในการสร้างเยาวชนนักสื่อสาร”
“นอกจากคำกล่าวโทษกัน เมื่อเราบอกว่าทุกคนเป็นสื่อ เราก็ต้องมองตัวเองด้วย” นางสาวคำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง จ.อุบลราชธานี และผู้อำนวยการโฮงเฮียนฮักน้ำของบ้านตามุย (Tamui Community-Based School) ซึ่งเป็นนักสื่อสารและทำงานขับเคลื่อนประเด็นด้านเด็ก เยาวชน และคนไร้สัญชาติ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงชายแดนไทย-ลาว พื้นที่บ้านตามุย และ บ้านบะไห อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ชวนมองและเสนอแนวทางในการสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนที่ไม่เพียงเป็นบทบาทของโรงเรียน
“จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกันทั้งหมด ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และสื่อทุกวันนี้ก็มีเนื้อหาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เป็นข้อเสนอคือในเรื่องของการให้ความรู้เด็ก ๆ ให้สร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การดูหนัง ดูสื่อร่วมกัน แล้วร่วมกันวิเคราะห์เนื้อหา นอกจากนี้สิ่งที่เราอาจหลงลืมไป ก็มีหลายอย่าง เช่น เมื่อเราชวนเด็ก ๆ คุย เรามักจะให้เด็ก ๆ แย่งกันพูด แย่งกันตอบ แต่จากนี้ไปเราน่าจะได้ช่วยให้เด็กได้ช่วยกันคิด ช่วยกันตอบ ให้เขาได้ฝึกคิดช้า ๆ ค่อย ๆ ตอบ จะได้ฝึกการคิดและสร้างภูมิคุ้มกันของเขาด้วย ผู้ปกครองก็ต้องช่วยกันทำหน้าที่ ไม่โยนภาระให้แค่โรงเรียน เพราะที่ผ่านมาเราเองก็มักถูกห้าม อย่าทำ อย่าดื่ม อย่าเสพ ห้ามแล้วห้ามเลยไม่มีการอธิบาย เช่น เธอต้องตัดผมสั้นนะเพื่อความเป็นระเบียบ แต่ไม่มีการอธิบายว่าอะไรคือระเบียบวินัย เช่นการตัดผมสั้น จริง ๆ จะช่วยป้องกันเหาเป็นการดูแลความสะอาดร่างกาย”
“การพูดคุยวันนี้ ทำให้เห็นว่าเราก้าวไปไกลกว่าบทบาทของสื่อภาคพลเมือง วงเสวนาไม่ได้โยนบทบาทไปที่ผู้อื่น ไม่มีการโยนภาระให้เป็นของผู้อื่น แต่ทุกคนมีแนวทางวาเราจะทำอะไรบ้าง ซึ่งกลไกที่เราพูดกันในวันนี้มีทั้งข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ ว่าจะเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยแบบไหนได้บาง หรือ จะช่วยคลี่คลายโครงสร้างอำนาจทางสังคมให้ประชาชนได้รับอำนาจตรงนี้ในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษีอย่างไรบ้าง ซึ่งแม้บางเรื่องเราจะเคลื่อนเองไม่ได้แต่จำเป็นต้องสื่อสาร และในส่วนของขบวนการทางสังคม ก็มีข้อเสนอว่าต้องมีการจัดการการเรียนรู้ ทั้ง ในสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว หรือ หน่วยงานในท้องถิ่นที่จะสามารถปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้สังคม
กลไกการทำงานร่วมกันของสื่อภาคพลเมืองในอีสานและสถาบันการศึกษาของคนทำงานด้านสื่อ และการทำงานผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้กลไกเหล่านี้เป็นตัวหลอมและสร้างจิตวิญญาณนิสิตนักศึกษาโดยเฉพาะด้านนิเทศศาสตร์ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะซึ่งต้องมากกว่าการเรียน 3 หน่วยกิต แต่กลไกการทำงานร่วมกับสื่อพลเมืองเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญ นอกจากนี้กลไกการกำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อ อันนี้เราก็ทิ้งไม่ได้เพราะเครื่องมือที่มี ทั้ง กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เราต้องร่วมกันเสนอให้เขาทำหน้าที่ของเขา รวมถึงการกำกับดูแลกันเองของสภาวิชาชีพต่าง ๆ
และที่สำคัญมาก ๆ คือการกำกับดูแลของเครือข่ายผู้บริโภค ผู้ชมซึ่งเป็นกลุ่มที่จะกำกับดูแลทางสังคมได้อย่างเข้มแข็ง เช่น สภาผู้ชมผู้ฟังรายการของไทยพีบีเอส ซึ่งกลไกนี้เราจะสื่อสารสู่สาธารณะ ที่เราจะทำงานคู่ขนานไปร่วมกัน ทั้งจากคนในแต่ละพื้นที่และข้อเสนอต่อนโยบายที่เราต้องทำร่วมกัน เพื่อจะสื่อสารว่าเหตุการณ์ความสูยเสียในโคราชครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นในอีสานเราไม่นิ่งดูดาย แต่การเตรียมความพร้อมของภาคพลเมืองเป็นสิ่งทีสำคัญที่สุด” นางสาวอังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและสร้างอัตลักษณ์นิสิต และอาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สรุปในช่วงท้ายของการเสวนา
จากนั้น นายสำราญ บุญธรรม ครูโรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ได้ประพันธ์บทกลอนซึ่งย้ำเตือนถึงเหตุผลและเป้าหมายการเสวนาแลกเปลี่ยนพูดคุยโดยการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ความสูญเสียในโคราชมาเป็นบทเรียนสำคัญแ
ไม่อยากฟังเรื่องราวข่าวโคราช
ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติร่วมชาติเกิด
โศกนาฏกรรมซ้ำถิ่นแผ่นดินถิ่นกำเนิด
จึงต้องเปิดหัวใจเพื่อไขปม
ในท่ามกลางความรันทดแสนหดหู่
คุกรุ่นอยู่ไม่สิ้นสุดเกินหยุดขม
จริยธรรมแวดล้อมยั่งจ่อมจม
ฉุดโค่นล้มปรัชญาจรรยาบรรณ
หากวิเคราะห์เจาะลึกสำนักสื่อ
คำตอบคือมีช่องว่างการสร้างสรรค์
เพราะแย่งชิงพื้นที่ทุกวี่วัน
จึงห้ำหั่นเสริมส่งเพื่อองค์กร
เมื่อทุกคนสร้างสื่อถือโอกาส
เหตุการณ์ที่โคราชวาดสะท้อน
คนเสพสื่อก่อนแชร์ต้องแน่นอน
จึงไม่กร่อนเกื้อหนุนความรุนแรง
เมื่อระบบการศึกษาช้ากว่าเต่า
หน้าที่เราต้องสร้างสรรค์กล้าปันแบ่ง
ร่วมมือกันสานถักความฮักแพง
เพื่อชี้แจงสังคมอุดมการณ์
ไม่อยากฟังเรื่องราวข่าวโคราช
แต่โอกาสสะเทือนจะเคลื่อนผ่าน
ความทรงจำเศร้าสลดจะจดจาร
เซ่นวิญญาณผู้สิ้นใจได้เยียวยา
ไม่อยากฟังเรื่องราวข่าวโคราช
มันเหมือนญาติของตนได้ค้นหา
บทสรุปแลกเปลี่ยนเสวนา
จะเดินหน้าสู่หวังมลังเมลือง
แซมซาย สันติชน
23-ก.พ.-63
กว่า 5 ชั่วโมง ในการพูดคุยเสวนา มากกว่าความสูญเสียเมื่อนึกย้อนถึงเหตการณ์ที่โคราชซึ่งทุกหัวใจต่างรับรู้ รู้สึก และเข้าใจร่วมกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ยังนับเป็นบทเรียนและต้นทุนสำคัญที่จะทำให้ทุกคนได้ ฉุกคิด ทบทวน และได้ระดมความคิดเห็นเป็นข้อเสนอร่วมกันในการทำงาน ก่อนก้าวต่อไปท่ามกลางความปั่นป่วน การถูก Disruption ของข้อมูลข่าวสารในทุกวงการวิชาชีพ รวมถึงการสื่อสารของสื่อสารมวลชน สื่อพลเมืองที่ต้องสื่อสารสู่สาธารณะ