“เอฟทีเอว็อทช์” ประกาศเดินหน้าตรวจสอบเข้มข้น หลังประชามติผ่านร่าง รธน.

“เอฟทีเอว็อทช์” ประกาศเดินหน้าตรวจสอบเข้มข้น หลังประชามติผ่านร่าง รธน.

20160808201809.jpg

8 ส.ค. 2559 กรรณิการ์ กิจติเวชชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน  หรือ เอฟทีเอว็อทช์ เผยแถลงการณ์ “เอฟทีเอว็อทช์: เมื่อทุนรัฐทหารสบคบ รัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล ภาคประชาชนมุ่งมั่นเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มความเข้มข้น” ระบุนี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาทดท้อหรือถอดใจในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะและสร้างธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบกับประชาชน

แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์เอฟทีเอ ว็อทช์: เมื่อทุนรัฐทหารสบคบ รัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล ภาคประชาชนมุ่งมั่นเดินหน้าตรวจสอบเพิ่มความเข้มข้น 

เอฟทีเอ ว็อทช์ยอมรับผลการลงประชามติที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยเสียง 61% แม้จะมีผู้ไปใช้สิทธิ์ต่ำมากเพียงแค่ 54% ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เปิดกว้างและปราศจากการถกแถลงในวิถีประชาธิปไตย

เอฟทีเอ ว็อทช์เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเนื้อหารัฐธรรมนูญในส่วนของการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยดึงอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดเนื้อหาเชิงกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นยังเปลี่ยนการเยียวยาที่รวดเร็ว เหมาะสม เป็นธรรม เป็นแค่การเยียวยาเท่าที่จำเป็นโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น นอกจากนี้ เดิมจะต้องมีงานวิจัยรองรับการเจรจา แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนการเจรจาและไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่รัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบการเจรจา งานวิจัยจึงอาจจะถูกตัดทิ้งไปในที่สุด

จากนี้เราจะเห็นความน่ากลัวอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากเทียบเนื้อหาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความน่ากลัวน้อยกว่านี้ ความก้าวร้าวในเชิงเนื้อหาไม่มากเท่านี้ ฉะนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไปไม่ทันโลก

“หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเอแบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจาย สิ่งเหล่านี้ จะหวนกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้”

การตัดขั้นตอนธรรมาภิบาลออกไปเป็นความพยายามชนชั้นนำไทยไม่ว่าภาคธุรกิจหรือภาคราชการ นับตั้งแต่มาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถือกำเนิดขึ้นมา

ตลอดชีวิตของมาตรา 190 ได้ก่อให้เกิดคุณูปการมากมายต่อประเทศไทย ได้วางรากฐานกระบวนการการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ดี แต่ขณะเดียวกัน มาตรานี้ ก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม ดูเหมือนผู้มีอำนาจปัจจุบันจะมองเห็นเพียงประโยชน์อย่างหลัง ณ นาทีนี้ กระบวนการที่ดีและมีธรรมาภิบาลและเป็นประชาธิปไตยจึงถูกกำจัดทิ้ง

ย้ำอีกครั้ง กระบวนการธรรมาภิบาลซึ่งประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้สร้างความขัดแย้งหรือความเกลียดชังทางการเมืองแต่อย่างใด และไม่ได้ลดประสิทธิภาพการเจรจา ดังนั้น การกำจัดหลักการเหล่านี้ออกไป จึงเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

เอฟทีเอ ว็อทช์ ก็เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทางสังคมอื่นๆที่เผชิญความยากลำบากในการอธิบายเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้สาธารณชนได้รับทราบ ก่อนหน้าการลงประชามติ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ในการถกแถลงที่เปิดกว้าง อีกทั้งสังคมยังตกอยู่ในความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาทดท้อหรือถอดใจในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะและสร้างธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบกับประชาชน แน่นอนว่า เราจะเผชิญความยากลำบาก แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยง่าย ครั้งหนึ่งทุนเคยจับมือนักการเมือง-ข้าราชการในการแสวงประโยชน์ในนาม ‘ผลประโยชน์ของประเทศ’ แต่ปัจจุบันพวกเขาได้รับการเสริมกำลังจากชนชั้นนำและขุนทหาร 

พวกเราจะพยายามอย่างสร้างสรรค์ที่จะนำหลักการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมกลับมาสู่การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ เราจะยืนหยัดสร้างเสรีภาพและขยายพื้นที่แสดงออกของเราไว้ให้ได้แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันมากมายแค่ไหนก็ตาม เราจะยิ่งมุ่งมั่นในการทำข้อมูลความรู้เพื่อตรวจสอบนโยบายรัฐ เพื่อไม่ให้ผลได้กระจุกตัวแต่ในกลุ่มทุนชนชั้นนำ แล้วปล่อยให้สาธารณชนไทยแบกรับผลเสียอีกต่อไป

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
8 ส.ค. 2559 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ