มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งวอร์รูมศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังการระบาดของโคโรนาไวรัส เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 63 ตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสขั้นสูงสุด
แม้จังหวัดมหาสารคามจะไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยว เพราะอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง ห่างจากสนามบินนานาชาติดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แต่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีสถาบันขงจื่อเปิดสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี และมีข้อมูลว่านิสิตบางส่วนได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศจีนในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยจึงเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศอุดมศึกษา ระบุว่ามีนักศึกษาจีนในไทยทั่วประเทศ จำนวน 11,738 คน และศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 121 คน
“จีนสู้ ๆ อู่ฮั่นสู้ ๆ เราจะทำตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ออกจากบ้าน ถ้าออกไปข้างนอกต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เราชื่อว่าเราจะผ่านอุปสรรคนี้ได้”
“ผาง เจิ้ง ชิง” หรือ น้องดาว และ “ซานเจี่ย” หรือ น้องแสงจันทร์ นิสิตชาวจีนที่มาเรียนและอาศัยในจังหวัดมหาสารคามกว่า 3 ปี ได้ส่งกำลังใจ และบอกเล่าถึงความห่วงใยต่อเพื่อนนิสิตที่กลับไปเยี่ยมบ้านช่วงเทศกาลตรุษจีน กว่า 30 คน และยังไม่สามารถเดินทางกลับมายังเมืองไทยได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของทางการ ว่ารู้สึกเป็นห่วงและขอส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวจีนในการดูแล ป้องกันตนเองโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัด และถึงแม้พวกเธอจะไม่ได้เดินทางไปยังเมืองจีน เพราะเป็นช่วงสอบกลางภาค ก็ยินดีปฏิบัติตามแนวทางของมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัส
รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เน้นย้ำทุกคณะหน่วยงานป้องกันขั้นสูงสุดไว้ดีกว่าแก้ ส่งสารถึงนิสิตที่กลับบ้านช่วงตรุษจีน 2 สัปดาห์นี้อย่าเพิ่งกลับไทย จะจัดสอนเสริมให้หลังเหตุการณ์ปกติ ถ้ากลับมาหลังวันที่ 27 มกราคม ให้หยุดเรียน หยุดทำงาน 14 วัน เฝ้าระวังคนมีไข้ คนทั่วไปให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ใครจะไปจีนให้ระงับการเดินทาง พร้อมตั้งศูนย์ประสานงานฯและล่ามภาษาจีน จัดเจ้าหน้าที่คัดกรองประเมินความเสี่ยง ณ อาคารบรมราชกุมารี และให้ความสำคัญในการดูแลให้คำปรึกษา สร้างความอุ่นใจแก่นิสิตชาวจีน
“ แน่นอนครับ ว่านิสิตจีนเมื่ออยู่ต่างประเทศและไม่ใช่บ้านตนเอง สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องให้ก็คือ สร้างความอบอุ่นว่ามหาวิทยาลัยได้ดูแล เฉกเช่นเดียวกับพ่อแม่ที่เขาดูแลเขานะครับ ดังนั้น เราก็ดูแลเต็มที่โดยใช้ศักยภาพมหาวิทยาลัยในการที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องของติดต่อประสานงาน คือ เราต้องให้เจ้าหน้าที่เราประสานงาน โทรติดตามอาการทุกวัน โดยเฉพาะกรณีของนิสิตจีนที่เพิ่งกลับมานะครับ ถ้าหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จะแจ้งศูนย์ประสานงานที่โรงพยาบาลสุทธาเวช มารับตัวเพื่อไปตรวจรักษาเพื่อสร้างความมั่นใจและสำคัญที่สุดกรณีของนิสิตที่ยังไม่กลับมา เราก็บอกว่าถ้างั้น คุณสามารถที่จะอยู่เมืองจีนต่อไปได้ อย่างน้อย 14 วัน หากมีอะไรให้ประสานงานกับคณบดีโดยตรง หรือคนประสานงานแต่ละคณะเพื่อที่ขยายระยะเวลาไปได้ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”
คลิปโดยนักข่าวพลเมือง:อาทิตย์ แผ่บุญ นศ.ม.เชียงใหม่
ขณะที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนรวมกว่า 1,058 คน ทั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก และในกลุ่มนี้ก็มีนักศึกษาที่เป็นชาวจีนถึง 688 คนที่สนใจในหลักสูตรที่ ด้านมนุษยศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ทั้งนี้ในแต่ละปีการศึกษาก็ยังมีเข้ามาเรียนคอร์สพิเศษระยะสั้นอีกประมาณ 1,000 คน/ปี
ซึ่งหนึ่งในนักศึกษาจีนฝากความห่วงใยถึงเพื่อนชาวจีนและชาวไทย “ผิงผิง” หนึ่งในนักศึกษาจีน จากมณฑลยูนาน ที่มาเรียนที่ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าหลังจากทราบข่าวไวรัสโครานา ระบาดที่ไหนเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเขารู้สึกไม่สบายใจและรู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกระจายไปทั่วเมือง จนมีการประกาศปิดเมืองห้ามเดินทางเข้าออก และมากไปกว่านั้นไวรัสอย่างแพร่กระจายไปยังเมืองอื่นๆอีก
จริงๆแล้วเชื่อไวรัสโคโรนา เป็นเชื้อไวรัสที่รักษายากไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่อยู่ในจีนหรือคนไทยคนจีน ต้องกลับมาสว่างและมีสติ ตอนนี้ไม่ใช่คนจีนทุกคนที่จะติดเชื้อแต่ว่าอย่างไรก็ตามขอให้ช่วยกันป้องกันตนเองไว้ก่อนให้ตัวเองรอดไว้ก่อน
ในฐานะคนจีนที่อยู่ในประเทศไทยอยากให้กำลังใจเพื่อนชาวจีน ซึ่งเธอบอกว่าสิ่งที่คนจีนชอบพูดกันนั้นก็คือ “สู้ๆอู่อั่น” ไม่แน่ใจว่ายังใช้ได้ไหมเพราะตอนนี้สถานการณ์ในเมืองอู่ฮั่น ตอนนี้สู้ไม่ไหวเพราะต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ และต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก