ทำความรู้จักแม่น้ำสาละวิน สายเลือดของคนสองแผ่นดินไทย-เมียนมา ในวันที่สาละวินกำลังเป็นที่จับจ้องภายใต้แผนการพัฒนาต่างๆ เราจะยืนหยัดปกป้องให้แม่น้ำสายนี้ไหลได้อย่างอิสระต่อไป หรือปล่อยให้ธรรมชาติและวิถีเหล่านี้เลือนหายไป
.
ในช่วงฤดูกาลน้ำหลากเมื่อถามคนขับเรือว่าตลอดระยะเส้นทางที่วิ่งเรือพรมแดนระหว่าง ไทย-เมียนมา ด้วยระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร จุดไหนเสี่ยงและตื่นเต้นมากที่สุด คงจะได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า แก่งเว่ยจี
“เว่ยจี” เป็นชื่อภาษาพม่า แปลว่า น้ำวนขนาดใหญ่ ภาษาปะกาเกอญอเรียกว่า “ทีตะวิพะโด่ะ” แต่คนในชุมชนมักเรียกติดปากว่า “เวยจี” ลักษณะแก่งเว่ยจี คือ กระแสน้ำจะมากระทบกับก้อนหินเนื่องจากช่วงบนก่อนถึงจุดแก่งเว่ยจีเป็นหน้าผาทั้งสองฝั่ง ช่องน้ำไหลแคบ เกิดกระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก จากนั้นมีน้ำวนดูดลงไปเป็นระยะๆในช่วงตอนล่างที่เรียกว่าจุดแก่งเว่ยจี แล้วพุ่งแตกกระจายออกมาบนผิวน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้ำวนประมาณ 5-15 เมตร มีหลายลูก เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ช่วงเวลาที่เกิดแก่ง คือ เดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำสูงสุด ตามหนังสือวิจัย (สาละวิน บันทึกแม่น้ำและชีวิตในกระแสการเปลี่ยนแปลง) ระดับน้ำช่วงฤดูแล้ง ความลึก 37 เมตร ในช่วงฤดูฝนคาดว่าความลึกอยู่ที่ประมาณราว 60 เมตร
แก่งเว่ยจีได้รับขนานนามว่าเป็นแก่งที่เป็นน้ำวนใหญ่ที่สุดช่วงเดินเรือระหว่าง ไทย-เมียนมา ผู้ขับเรือต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและอาศัยความชำนาญ
ดาเป็นผู้ชำนาญคนหนึ่งในการขับเรือยนต์บนแม่น้ำสาละวินได้เล่าว่าวิธีการขึ้นแก่งว่า “การขึ้นแก่งเว่ยจี ส่วนใหญ่จะขึ้นฝั่งพม่า “รอช่วงจังหวะที่น้ำดูดแล้วพุ่งแตกกระจายสู่บนผิวน้ำ ให้รีบขึ้นจังหวะนั้น”
ดาบอกว่าอีกว่า “หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สาเหตุเกิดจากคนขับเรือประมาทมากกว่า บางครั้งต่างของมากและหนักเกินไป บางทีเรือยนต์ขัดข้องเพราะไม่ได้ตรวจสภาพก่อนขึ้นแก่ง หรือไม่ชำนาญในการขึ้นแก่งในจุดนี้”และทุกครั้งที่ดาวิ่งเรือใกล้ถึงแก่งเว่ยจีสิ่งแรกที่ทำคือตรวจสอบความพร้อมเรือ เพราะมองว่ากันดีกว่าแก้ ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ
บริเวณแก่งเว่ยจี ถือว่ามีความโดดเด่นด้านระบบนิเวศ เป็นจุดโค้งแรกของสาละวิน และมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดผืนป่าสักของโลก บริเวณจุดโค้งในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงประเทศเมียนมา มีชุมชนที่ตั้งถาวรหลายชุมชนรวมทั้งเป็นจุดที่ตั้งสำนักงานที่สำคัญของรัฐกะเหรี่ยงด้วย
เมื่อย้อนหลังสิบกว่าปีที่แล้ว ได้มีเหตุการณ์สำคัญในบริเวณแถบนี้ คือ การผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่บนแม่น้ำสาละวิน ตามแผนพัฒนาโครงการบนแม่น้ำสาละวินตอนล่าง โครงการนี้ได้ถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง เขื่อนเว่ยจีเป็นเขื่อน1ใน5เขื่อนที่จะมีการสร้าง บริเวณพิกัดจุดก่อสร้างเหนือแก่งเว่ยจีเล็กน้อยโดยมีแผนสร้างคู่กับเขื่อนดากวิน เขื่อนเว่ยจีเป็นเขื่อนบนและเขื่อนดากวินเป็นเขื่อนล่าง สถานะโครงการผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งสองเขื่อนนี้เป็นโครงการหลักที่ กฟผ.ผลักดันอย่างหนัก
ปัจจุบันถึงแม้โครงการถูกชะลอไว้แล้ว แต่ตลอดระยะเวลาที่มีการผลักดันโครงการนั้น สร้างความกังวลใจให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำสาละวินทั้งสองฝั่งไม่น้อย ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชนเพื่อต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมท่ามกลางความหวาดระแวงและหวาดกลัว
การชะลอโครงการนับว่าเป็นความโชคดีที่แม่น้ำสาละวินยังคงไหลอย่างอิสระปราศจากสิ่งใดขวางกั้น ดาคนขับเรือรวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำสาละวินได้ใช้วิถีชีวิตปกติสุข ข้ามไปมาหากันไร้
พรมแดนและมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน
ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมไม่มีความแน่นอน เรื่องของการพัฒนาก็เช่นกันที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ใครจะรู้ล่ะ วันหนึ่งแก่งเว่ยจีที่เงียบขรึมเหมือนคลื่นหมุนใต้น้ำที่มีแรงดันมหาศาล เมื่อกระทบหินพร้อมปะทุสะท้อนออกมาบนผิวน้ำได้ทุกเวลา ไม่ต่างอะไรกับโครงการขนาดใหญ่ระหว่างประเทศเป็นที่จ้องหมายตาของนายทุนทั้งหลายอาจหวนกลับมาได้ทุกเมื่อ แก่งเว่ยจีที่น่ากลัวอาจไม่เท่าโครงการที่ถูกผลักดันโดยผู้มีอำนาจโดยไม่คำนึงถึงสรรพสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ ด้วยเหตุผลการพัฒนา เป็นที่น่าเศร้าใจยิ่งนัก
เรื่องและภาพ: สุวัต สมาจิตโอบอ้อม เยาวชนลุ่มน้ำสาละวิน