ชีวิตนอกกรุง : “บอกได้เลยว่า เมืองไหนยังใช้รถยนต์อยู่มาก เมืองนั้นไม่มีอนาคต”

ชีวิตนอกกรุง : “บอกได้เลยว่า เมืองไหนยังใช้รถยนต์อยู่มาก เมืองนั้นไม่มีอนาคต”

“เมืองเดินได้ เดินดี กับโอกาสของความมั่งคั่งของท้องถิ่น “

คุยกับ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

“บอกเลยว่า การที่จะทำให้เมืองเดินได้ เดินดี เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ บอกได้เลยว่าถ้าเมืองไหนยังเดินไม่ได้เดินไม่ดี ยังใช้รถยนต์อยู่มากเมืองนั้นไม่มีอนาคต” อ.นิรมล เปิดบทสนทนาแบบนี้ เมื่อเราขอคุยด้วยเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเมือง

ทำไมเป็นเช่นนั้น !!

อ.นิรมลอธิบายเพิ่มว่า ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ในยุคแบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ต้องคิดเรื่องเมืองเดินได้เดินดี แน่นอน คือเรื่องของสุขภาพของคนอยู่ก็จะดี เนื่องจากมีพื้นที่ให้คนสามารถเดินออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน ในแง่ของสิ่งแวดล้อม หรือการใช้พลังงาน การเดินเป็นวิธีการสัญจรที่ใช้พลังงานน้อยที่สุดแล้ว รวมไปถึงการปล่อยมลภาวะออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และที่สำคัญทุกคนสามารถเข้าถึงได้

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือ ถ้าเมืองไหนเดินได้เดินดี การกระจายความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นย่อมมีมากตามไปด้วย

ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองที่ใช้รถยนต์เป็นหลัก ลองจินตนาการว่าถ้าท่านอาศัยอยู่ในย่านที่เป็นตรอก ซอก ซอย เดินได้ถึง มีฟุตบาท ทางเท้าเดินได้ดี มีร้านรวง โอกาสที่ท่านจะออกไปจับจ่ายใช้สอยโดยการเดินหรือขี่จักรยานมันย่อมมีมากกว่าการที่ท่านอาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ มีแต่รถยนต์ รถติด โอกาสของการจับจ่ายในเมืองแบบนั้นจะเป็นแบบไหน ท่านก็ต้องขับรถไป ท่านอาจจะจับจ่ายได้อาทิตย์ละหน เพราะฉะนั้นความมั่งคั่งมันก็จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น

“ประเด็นที่สำคัญที่อยากจะเน้นมากคือ ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ แค่น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก มันไม่สามารถดึงดูดแรงงานหรือบริษัทให้เข้ามาลงทุนเข้ามาทำงานได้อีกต่อไป โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่อยู่ใน sector เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนพวกนี้เขาไม่ได้มองแค่เรื่องของผลกำไรค่าตอบแทน แต่เขามองถึงคุณภาพชีวิต มองว่าเมืองมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบไหน เดินไปทำงานได้หรือเปล่า อากาศเป็นยังไง พื้นที่สีเขียวเป็นอย่างไร มีพื้นที่ให้พักผ่อนย่อนใจพบปะหรือเจอผู้อื่นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเมืองจะแข่งกันมากเลยที่จะทำให้มีสภาพเป็นแบบนั้น การเดินได้เดินดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แล้วโอกาสของเมืองเชียงใหม่?

ผลการศึกษาของโครงการเมืองเดินได้ เดินดี ของศูนย์ออกแบบพัฒนาเมืองฯ พบว่าจริงๆแล้ว เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงมาก ในการที่จะพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือว่าเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจฐานความรู้ พื้นที่จำนวนมากของพื้นที่เทศบาลเชียงใหม่ และเทศบาลโดยรอบถูกจัดว่าเป็นพื้นที่สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ เพราะจุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันอยู่ในระยะทางที่เดินได้ ประมาณ 800เมตร ที่เรียน ที่ทำงาน ที่จับจ่ายใช้สอย ที่พักผ่อนย่อนใจ ที่สำหรับทำธุรกรรม และที่เปลี่ยนถ่ายรถยนต์ กระจายตัวอยู่ในระยะที่เดินถึง นั่นคือไม่เกิน800เมตร ในสี่เหลี่ยมคูเมือง เรียกว่าท่านไม่ต้องใช้รถยนต์เลย ท่านเดินได้หมดเลย

ทางด้านตะวันตกก็จะะเป็นย่านนิมมานฯ ด้านเหนือช้างเผือก ด้านทิศตะวันออกก็จะเป็นย่านวัดเกต ฟ้าฮ่ามตรงนั้น เรียกได้ว่ามีโอกาสในการพัฒนาเป็นย่านเดินได้และก็ย่านเดินดีได้มากๆเลย

“ประเด็นก็คือว่าเชียงใหม่เดินได้ เดินถึง แต่ว่าน่ารื่นรมย์ที่จะเดินหรือเปล่า ปลอดภัยที่จะเดินหรือเปล่า สะดวกหรือเปล่า นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

เดินดี คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเดินดี เช่นทางเท้ามีความต่อเนื่อง มีความกว้างพอสมควร มีความปลอดภัย มีทางข้าม มีแสงสว่างเพียงพอ มีความน่ารื่นรมย์ มีสีเขียว มีที่ให้นั่งพักผ่อนมีกิจกรรมให้เดินชมตลอดทาง นี่เป็นสิ่งที่จะต้องมีการออกแบบวางผัง แต่ก็อย่างน้อยโดยพื้นฐานแล้วโครงสร้างเมืองของเชียงใหม่ และรูปแบบวิวัฒนาการของเมือง ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพมากในการพัฒนา เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่จะสามารถสนับสนุน ให้มีการใช้รถยนต์น้อยลง มีการเดินให้มากขึ้น สาธารณูปการที่สนับสนุนการเดินทาง อันนี้เป็นสิ่งที่เชียงใหม่ควรทำ

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของโอกาสในการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมระดับพรีเมี่ยม เพราะว่าตอนนี้เมืองใหญ่หลายเมืองหรือว่าเมืองรองของประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวก็จริงแต่ก็เป็นเมืองที่ติดกับดักรายได้ท่องเที่ยวปานกลาง คือเราไม่สามารถที่จะขายประสบการณ์แบบพรีเมี่ยม เราพัฒนา แต่เราขายไม่ได้ราคา เพราะว่านอกเหนือ Property ของเอกชนพอท่านออกไปท่านเจอคุณภาพทางเท้า คุณภาพสิ่งแวดล้อม ความร้อนอะไรต่างๆ มันทำให้เราไม่สามารถที่จะขายให้นักท่องเที่ยวได้อย่างพรีเมี่ยมเหมือนกับเกียวโตหรือเมืองในยุโรป

เพราะฉะนั้น โอกาสในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่เพื่อยกระดับธุกิจท่องเที่ยวแล้ว เรื่องของสุขภาพก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ตามที่เราได้ทราบจริงๆแล้วว่าเรื่องของอากาศ ตอนนี้มลภาวะทางอากาศก็เป็นปัญหาของหลายๆเมืองรวมทั้งเชียงใหม่ด้วย แม้ว่าต้นตอหรือของสาเหตุมลภาวะทางอากาศ PM2.5 ในเชียงใหม่อาจจะต่างจากกรุงเทพ แต่ว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญก็มาจากรถยนต์ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้เราเดินเท้าได้มากขึ้น เราใช้รถยนต์น้อยลงก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ

โครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน เพียงพอหรือยังสำหรับในเมืองเชียงใหม่?

“ถนนเพิ่มเยอะเท่าไหร่ก็ไม่พอหรอก” ตราบใดที่เมืองยังเป็นจุดหมายปลายทางของการหลั่งไหลของคนจากชนบทเข้ามา กระบวนการกลายเป็นเมือง มันคือแนวโน้มใหญ่ของโลกใบนี้ เมืองทุกเมืองไม่ว่าจะเป็นเมืองรองหรือเมืองหลักไม่สามารถจะหลีกหนีแนวโน้มนี้ได้ คนยังเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วลองจินตนารการดูว่า ถ้าทุกคนใช้รถยนต์กันหมด เพราะฉะนั้นไม่มีวันที่จะทำถนนได้เพียงพอกับทุกคนที่ใช้รถยนต์

ฉะนั้นการที่จะพัฒนาสาธารณูปโภคแล้วก็โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่สนับสนุนการเดินเท้าแล้วก็ขนส่งมวลชน เป็นสิ่งที่ไม่ทำไม่ได้ในโลกยุคนี้ เพราะฉะนั้นการที่จะตัดถนนเพิ่มเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ทำอย่างไรให้คนสามารถทิ้งรถอยู่บ้านและสามารถไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ เชียงใหม่เมืองไม่ได้ใหญ่เหมือนกรุงเทพฯ โอกาสอยู่ตรงนี้แล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ