เปิดแนวคิด 3 รางวัลจัดการตนเองตามรอยสวิง “จุดคานงัดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศ”

เปิดแนวคิด 3 รางวัลจัดการตนเองตามรอยสวิง “จุดคานงัดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศ”

รางวัลสวิง ตันอุด : เวทีแห่งการจัดการตนเอง ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาเมื่อ 18 มกราคม 2562    เพื่อรำลึกถึง สวิง ตันอุด นักพัฒนาเอกชนผู้เป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคน เนื่องจากได้พยายาม ผลักดันแนวคิดปฎิรูปโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยด้วยการกระจายอำนาจสู่รูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง  โดยเชื่อมั่นว่านี่คือคำตอบของการสร้างความสมดุลอำนาจระหว่ารัฐส่วนกลางและท้องถิ่นและจะเป็นแนวทางแก้ความเหลื่อมล้ำ

ภายในงานมีนักพัฒนา ภาคประชาสังคมหลายสาขาประเด็นในภาคเหนือมาแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานทางสังคมให้สอดคล้องกับยุคสมัย  วิเคราะห์สถานการณ์สังคมไทยหลังการเลือกตั้  และร่วมยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลสวิง ตันอุด ทั้ง 3 ประเภท  ซึ่งวงคุย  “ปลุกพลังชุมชนท้องถิ่นสร้างอำนาจบริหารจัดการด้วยพลังของตนเอง” ซึ่งแบ่งปันจากใจ โดย 3 เจ้าของรางวัลสวิง ตันอุด นั้น น่าสนใจและเป็นบทเรียนให้ได้หยิบไปสานต่อไม่น้อย

 ขอนแก่นกับฝันใหญ่สร้างระบบขนส่งมวลชนด้วยคนท้องถิ่น  

รางวัลประเภทจังหวัดจัดการตนเองดีเด่น ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า และบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่สามารถเชื่อมประสานเครือข่ายสร้างโมเดลประชารัฐ ปลุกจิตวิญญาณสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาขอนแก่น สู่รูปธรรมขอนแก่นโมเดล จัดระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า

คุณกังวาน เหล่าวิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง เดินทางมารับรางวัลพร้อมกับ คุณเจริญลักษณ์ เพชรประดับ จากมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า และร่วมแลกเปลี่ยน ว่า ภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะนั่นแสดงว่ามีคนเห็นสิ่งที่กลุ่มนักธุรกิจขอนแก่นซึ่งรวมตัวกันขับเคลื่อนเพื่อเมืองขอนแก่นนั้นเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ

คุณเจริญลักษณ์ เพชรประดับ “เมื่อประชาชนคิดและผลักดันให้คนทำต่อคือภาคเอกชน”

คุณเจริญลักษณ์เล่าว่า มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้ารวมตัวกันเพื่อให้เกิดพื้นที่กลางสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เข้าไปจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาได้  เราไม่มีอำนาจ แต่เราเป็นพื้นที่ เหมือนวงคิด Thinktank เรื่องเมือง เมื่อประชาชนคิดและผลักดันให้คนทำต่อคือภาคเอกชน  ดังนั้นคำว่าภาคประชาชนของขอนแก่นขยายความร่วมกับเอกชน  ต่อมาเมื่อเทศบาลนครขอนแก่นจะทำสมัชชาเมือง เลยเชื่อมโยงกัน บวกกับสถานการณ์ที่ทำให้ภาคเอกชนท้องถิ่นในขอนแก่นตื่นตัว คือการเข้ามาของทุนค้าขายขนาดใหญ่จากต่างถิ่นหลายลักษณะ   ปัจจัยเหล่านี้เมื่อเกิดพื้นที่ให้คนได้พูดคุยกันถึง “ขอนแก่นทศวรรตหน้า”จึงร่วมกันมาพูดคุย เกิดเวทีต่อเนื่องในระยะ 2 ปี คุยตั้งแต่รถติด มลภาวะ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไปจนถึงระบบขนส่งมวลชน และนำไปสู่การลงขันของนักธุรกิจท้องถิ่นในขอนแก่นวงเงินรวม 200 ล้านบาท ตั้งต้นเป็นบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง

คุณกังวาน เหล่าวิโรจนกุล “เราไม่ได้มาทำธุรกิจเราต้องการให้ขอนแก่นเป็น Smart City”

คุณกังวาลเล่าแนวคิดว่า การทำงานเริ่มจากการระดมไอเดียแบบไม่มีกรอบ ไม่คิดว่าอันไหนทำได้หรือไม่ได้ แต่คิดว่าอันไหนที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด  ซึ่งเรามีเป้าหมายให้เกิด LRT รถไฟฟ้ารางเบา  แต่ตอนนี้เราเริ่มต้นจากการทำรถบัส ต่อมาคิดเรื่องเงินลงทุน ก็ไปดูเงื่อนไขทางกฏหมาย พ.ร.บ.ของเทศบาลที่เปิดช่องให้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดได้ ทำให้สามารถเปิดระดมทุนได้  จากเดิมที่การลงทุนลักษณะนี้ต้องเป็นรฟม หรือ รฟท เท่านั้น  ซึ่งโครงการนี้เปิดระดมทุน เส้นทางเดินรถจะผ่าน 5 เทศบาลที่ร่วมมือกัน  และไม่ได้ทำขนส่งมวลชนอย่างเดียวแต่คู่กันไปกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้เป็นระบบ  และคำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบและคำนึงถึงกฏหมาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในปลายปี 2562

“สิ่งที่นักธุรกิจขอนแก่นรวมตัวกันครั้งนี้ ไม่ได้มาทำธุรกิจ หรือสร้างห้างสรรพสินค้ากลางเมือง แต่เราต้องการให้ขอนแก่นเป็น Smart City และสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดคือ Mobility หรือ ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เพราะ 10 ปีที่แล้วเราคุยกันเรื่องการพัฒนาเมืองขอนแก่น แล้วพอถึงวันนี้เรามองเห็นแล้วว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราถึงต้องขับเคลื่อนระหว่างทางนั้น และเราจะไม่หยุดแค่นี้ เรายังมีอะไรจะต้องทำต่อจากนี้อีกมาก”
(หมายเหตุ :ติดตามรายละเอียดบทบาทของกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองตามลิ้งค์นี้ http://www.smartgrowththailand.org/khonkaen-smart-city-lrt/ )

“ถ้าเกิดขึ้นได้ แนวคิดนี้จะเป็นจุดคานงัดของการเปลี่ยนประเทศ  ที่คนในพื้นที่พัฒนาพื้นที่ของตนเอง แนวคิดการทำงานไม่ปะทะ แต่ใช้การสนทนา พูดคุยกัน”เจริญลักษณ์แบ่งปันแนวทางทำงาน

 จัดการข้อมูลเพื่อจัดการชีวิตแบบคนข่วงเปา

ตำบลข่วงเปา อยู่ใน อำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่  อบต.ที่นี่ได้รับรางวัลประเภทชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองดีเด่น เพราะสามารถใช้ข้อมูลชุมชนมาจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างเป็นระบบทั้งตำบล  คุณรุ่งสุริยา เชียงชีระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา เล่าว่า  คนข่วงเปามีกว่า 6,000 คนในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 11,000 และมีพื้นที่ 32,000 ไร่  ส่วนที่เป็นที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของราชการบางผืนมีถึง 7 หน่วยงานเกี่ยวข้องซึ่งแต่ละหน่วยมีเงื่อนไข ระเบียบกฏหมายของตนเองทั้งนั้น  วิธีการที่ อบต.ข่วงเปาทำคือ  1.จัดการข้อมูล 2.บริหารจัดการบนความเชื่อใจ 3.ให้ชุมนจัดการงบประมาณได้    โดยการจัดการข้อมูลที่ดินทำการสำรวจรายครัวเรือนว่าบ้านใดมีที่ดินตัวเอง ที่ดินของรัฐลักษณะใด  “ที่ของป่าสงวนบากที่สุดเพราะมีหลายเจ้าภาพ  หน้าที่คือต้องประสานเชื่อม หน่วยรายการมีแต่ผังแปลง แต่ท้องถิ่นมีข้อมูลพื้นที่  การใช้ประโยชน์สามารถต่อรองในรายละเอียดและเช่าพื้นที่ถูกต้อง ในอัตราที่ชาวบ้านได้ประโยชน์   แต่ก็ยังมีโจทย์ใหม่ต้องแก้อยู่ ขณะนี้เมื่อท้องถิ่นทำข้อมูลแล้วมีการประกาศผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด  แต่ก็เจอ  จะดำเนินการโครงการใดๆ ก็ต้องขอผู้ว่าฯอีก

“ถ้าชาวบ้านมีบ้านดี ที่อยู่อาศัยดี คุณภาพชีวิตก็จะตามมา” คุณรุ่งสุริยา เชียงชีระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา

“ถ้าชาวบ้านมีบ้านดี ที่อยู่อาศัยดี คุณภาพชีวิตก็จะตามมา เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จึงร่วมมือกับชาวบ้าน ขณะนี้พยายามดูแลสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเป็นธรรมผ่านการประชาคมตรวจสอบกันด้วย  การได้รับรางวัลสวิง ตันอุด ครั้งนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทางท้องถิ่นในการจะเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน และชาวบ้านเองก็จะเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อจะต่อสู้ปัญหาด้วยตัวเองและสุดท้ายผลดีก็จะตกอยู่กับชาวบ้าน ท้องถิ่นก็จะไปหนุนเสริมเรื่องอาชีพ เรื่องของทุน ในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ต่อไปได้”

สู้ด้วยใจและเทคโนโลยี บทเรียนจากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 

มาถึงผู้ที่ได้รับรางวัลประเภทเครือข่ายจัดการตนเองดีเด่น ที่เชื่อมโยงพลังพลเมืองเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนในการตัดการสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมได้อย่างเข้มแข็ง คือเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ    พิธีกร ตั้งคำถามท้าทายกับคุณธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ  ตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า “ขอนแก่นเขามองไปถึงทศวรรษหน้า เป็นภาคธุรกิจร่วมมือกับประชาชน มีภาครัฐมาร่วมด้วย  ส่วนอบต.ข่วงเปาก็สวมหมวกภาครัฐประสานร่วมกับภาคราชการ แล้วเครือข่ายผืนป่านี่คุณร่วมมือกับภาครัฐไหม (เสียงตอบจากผู้ร่วมเวทีด้านล่าง …ไม่)….สู้กับภาครัฐไหม (เสียงตอบจากผู้ร่วมเวทีด้านล่าง …สู้) ……คุณสู้กับอำนาจสำคัญๆทั้งนั้น คุณคิดอย่างไร?”
เสียงฮือฮาของผู้ฟังเพราะเป็นคำถามที่ตรงเป้าและเข้าจังเบอร์กับประเด็นการต่อสู้ของเครือข่ายฯนี้ซึ่งเริ่มต้นก็ต้องเผชิญกับกำแพงขนาดใหญ่แล้ว

คุณธีรศักดิ์ยังไม่ทันได้ตอบ เสียงผู้ฟังจากด้านล่างแซวขึ้นมาว่า “คิดใหญ่!”
นั่นยิ่งเรียกเสียงหัวเราะ แต่เป็นเหมือนเสียงของพลังใจมากกว่า คุณธีรศักดิ์ผายมือไปทางคุณป้าเจ้าของเสียง “คิดใหญ่!” คือป้าพรรณ

“ที่ป้าพรรณบอกว่า เราคิดใหญ่ เพราะเราเป็นประชาชน ไม่มีใครเลย หน่วยงานต่างๆ ไม่มีใครกล้าสู้ และเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วันที่ 29 เมษายน 2561 พวกเราทั้งหลายทั้งคนเชียงใหม่และคนทั่วๆ ไป  ชุมนุมที่ท่าแพมากกว่า 5,000 คน เพราะฉะนั้น ความต้องการที่จะจัดการตนเองมันมีสูง  มันแสดงให้เห็นแล้วว่า เรามีพลังเช่นนั้นอยู่”คุณธีรศักดิ์ตอบ
พิธีกรถามต่อว่า “คุณรุ่งสุริยาจากข่วงเปา มีตำแหน่งเป็นนายกอบต. คุณเจริญลักษณ์จากขอนแก่นมีเครดิตเป็นสื่อมวลชน แล้วคุณธีรศักดิ์เอาเครดิตไหนมาเป็นแกนนำผู้ประสานงานเรื่องนี้”
คำถามจังๆ ยิงไปอีกครั้ง

คุณธีรศักดิ์  รูปสุวรรณ ” สำนึกตรงนี้ มันทำให้เราลุกขึ้นสู้ มันบอกเราว่า ถ้าเราไม่สู้เราจะไม่เหลืออะไร”

คุณธีรศักดิ์  “หัวเราะอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนจะยกไมค์ขึ้นตอบพลางน้ำตาคลอ”

“เครดิตของผม… ผมบอกเลยว่า 10 เดือนที่ผ่านมาผมไม่รู้จักเอ็นจีโอ ผมไม่รู้จักเครือข่ายต่างๆ กว่า 50 เครือข่ายที่มาร่วมกัน …ผมเป็น… คนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อยู่ตำบลดอนแก้ว”

“แต่ผมเป็นคนที่ชอบเล่นร่มบิน ขับเครื่องบินมาเกือบ 20 ปี บินทั้งเครื่องบินจริง อุลตร้าไลท์ ร่มบินนี่เป็นชีวิตจิตใจ เพราะฉะนั้น 20 ปีที่ผ่านมา รอบเมืองเชียงใหม่นี่ผมเห็นหมดเลย ตรงไหนเป็นป่า ตรงไหนถูกตัด   ทุกครั้งที่เห็นป่าถูกตัด มันแทงใจ เราก็พยายามจะแจ้งไปที่หน่วยงานต่างๆ — สิ่งนี้ สำนึกตรงนี้ มันทำให้เราลุกขึ้นสู้ มันบอกเราว่า ถ้าเราไม่สู้เราจะไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลาน …
สิ่งที่ผมเอามาสู้คือใจ ด้วยความคาดหวังว่าคนเชียงใหม่ คนที่รักธรรมชาติ เราจะร่วมสู้ไปด้วยกัน นี่คือหัวใจของทีมงานป่าแหว่งและเราทั้งหมด เราจะสู้ไปด้วยกัน”

เสียงปรบมือดังเกรียว

พิธีกรถามเพิ่มว่า “เครือข่ายหรือคนเชียงใหม่ ไม่ใช่เพิ่งมาทวงคืนกันปีที่ผ่านมาใช่ไหมครับ มีการท้วงติงเรื่องนี้กันมานานแล้วตั้งแต่ตอนอนุมัติ แต่เรื่องมาดังเอาตอนที่สร้างเสร็จแล้ว ใช่ไหมครับ?”

คุณธีรศักดิ์ตอบว่า   ปัญหาหลัก คือ รัฐไม่เห็นความสำคัญของประชาชน เรื่องป่าแหว่งมันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ารัฐเคารพสิทธิชุมชน รู้จักทำประชาพิจารณ์

“เชื่อไหมครับว่า วันที่ผมเห็นรถแบ็คโฮประมาณ 4-5 คันเข้าไปไถที่ ผมเอาเครื่องบินบินขึ้น ผมสงสัยว่านี่มันเกิดอะไรขึ้นบนดอยสุเทพอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วใครมาสร้างโปรเจคต์อะไรกลางภูเขาเช่นนี้ มันเห็นเลยว่า โอ.. ไม่ได้ละ สิ่งที่คนทำนี่ ทำไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ป่าไม้มันโดนตัดเป็นร้อยไร่มันมีความไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก สิ่งนี้เป็นสิ่งเริ่มต้นที่เราเริ่มกระจายข่าว และสิ่งที่ทีมงานป่าแหว่งประสบความสำเร็จคือการใช้สื่อโซเชียล เราไม่มีมวลชน เรามาด้วยจิตใจ เทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่ คนทุกๆ คนมารวมเป็นเครือข่าย เรามีทั้งหมด 55 องค์กร เราใช้สื่อโซเชียลที่กำลังมาแรง เป็นจังหวะของเราพอดี ถ้าเป็นสมัยก่อน เราไม่มีเครื่องร่มบิน เราไม่มีโดรน เราไม่มีเฟซบุ๊ค เราสู้เขาไม่ไหว แต่แค่ภาพเดียวถ่ายทางอากาศทำให้เห็นว่าป่ามันแหว่งจริงๆ   มันกระทบความรู้สึกของคนที่รัก หวงแหน ธรรมชาติ ฉะนั้น สิ่งที่เครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพใช้คือ โซเชียลมีเดีย”

ส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์บนเวทีของคุณธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ ที่บอกสูตรของการทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพคือ หัวใจของผู้คนที่รักธรรมชาติ + เทคโนโลยียุคใหม่ทั้งสื่อโซเชียล

ผลของการเชื่อมโยงพลังพลเมืองเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนในการตัดการสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้ข้อสรุปยกแรกของการทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ  ชัดเจนว่า บ้านพัก 45 หลังจะไม่มีคนเข้าไปอยู่  และผู้ที่อาศัยในอาคารชุด 9 หลังจะย้ายออกไปเมื่อการก่อสร้างที่เชียงรายแล้วเสร็จ ส่วนการจะรื้อยังไม่ชัดเจนซึ่งแนวทางของเครือข่ายฯยังคงเดิมคือ  ไม่รื้อจะฟื้นฟูได้อย่างไร  โดยยังคงจะผลักดันให้เร่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์  และต้นเดือนหน้าเครือข่ายอยากเชิญพรรคการเมืองมาสอบถามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามการเสียสละเป็นแถวหน้าในการต่อสู้เพื่อธรรมชาติครั้งนี้ คุณธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ และคุณเรืองยศ สิทธิโพธิ์ สมาชิกเครือข่ายฯ จะถูกตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทด้วยก็ตาม

“ผลสำเร็จจากเหตุการณ์ป่าแหว่งคือ  รัฐระมัดระวังในการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติมาหขึ้น  มีการออกจดหมายเวียนให้ที่ดินของราชพัสดุ กรมธนารักษ์ว่าให้คำนึกถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ผมคิดว่าเกิดจากการที่พวกเรามีสำนึกลุกขึ้นมาทวงป่า แสดงให้เห็นว่ารักธรรมชาติ มีการปลูกจิตสำนึกต่อยอดไปถึงเด็กๆ เพื่อที่ได้ร่วมกันทำให้ป่าดอยสุเทพกลับมาสมบูรณ์ดังเดิมให้ได้” คุณธีรศักดิ์กล่าว

เป็น 3  บทเรียน จาก 3 กลุ่มชุมชน ท้องถิ่น ประชาชน ที่ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ในสถานการณ์ตรงหน้าที่เผชิญ  และการจัดการตนเองนี้ตอกย้ำความจำเป็นและสำคัญของการกระจายอำนาจที่จะเป็นหนทางถอดสลักแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเข้มแข็งให้สังคม

รางวัลทั้ง 3 พื้นที่ สมดังที่   วนิดา ตันอุด ภรรยา สวิง ตันอุด กล่าวว่า   “พี่สวิงดำเนินชีวิตโดยสัมพันธ์กับชุมชน สังคมไทย โดยมีการกระจายอำนาจเป็นปณิธาน  เหมือนพยายามปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งหวังให้หยั่งรากมั่นคง  สิ่งที่ได้เห็นวันนี้คือ ต้นไม้ต้นนี้ เติบโต แผ่กิ่งก้านงดงาม”

สร้อยแก้ว คำมาลา ทีม TheNorthองศาเหนือ
เรียบเรียงบทความ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ