“ที่ดินคือชีวิต” หลายฝ่ายผิดหวัง กม.ที่ดิน ต้องยกระดับปัญหาเป็นประเด็นสาธารณะ

“ที่ดินคือชีวิต” หลายฝ่ายผิดหวัง กม.ที่ดิน ต้องยกระดับปัญหาเป็นประเด็นสาธารณะ

 

  ภาพ/ข่าว : สำนักข่าวชายขอบ

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมมหกรรมโฉนดชุมชน “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดงาน โดยในช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยเวทีเสวนา “โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ภาษีอัตราก้าวหน้า : ทำอย่างไรจะไปให้ถึงเป้าหมาย” โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมฟังประมาณ 300 คน

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้ผ่านมติเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั้น เป็นคนละเรื่องกับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าที่ชาวบ้านพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งมีการเสนอว่าผู้ถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินส่วนผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากหรือผู้ที่ปล่อยที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์ต้องถูกจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำภาษีเหล่านั้นมาร่วมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ แต่สุดท้ายการผลักดันกฏหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ากลับไม่คืบหน้า ขณะที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีข้อลดหย่อนในการจัดเก็บภาษีมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ทางกฏหมายให้ผู้ถือครองที่ดินหลีกเลี่ยงภาษีในอัตราสูงได้ ดังนั้น ก็กระทบต่อรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ในแง่ดีก็ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดี เพราะอัตราภาษีจะจัดเก็บจากราคาประเมิน ซึ่งตัดปัญหาการพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากดุลพินิจของเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ตามหากให้เกิดประสิทธิภาพในการกระจายการถือครองที่ดิน จะอาศัยเครื่องมือทางภาษีอย่างเดียวไมไ่ด้ ต้องใช้กลไกอื่นร่วมไปพร้อมกัน ทั้งโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน

ด้านนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า งบประมาณของธนาคารที่ดินในปี 2562 เตรียมดำเนินการโครงการจัดสรรที่ดิน 4 โครงการ ในพื้นที่เชียงใหม่ และลำพูน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตามแนวทางที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้เสนอเข้ามา โดยการจัดสรรที่ดินจะใช้หลายรูปแบบในการบริหารจัดการ ทั้งการประเมินความสามารถของชาวบ้าน การผ่อนปรนการผ่อนชำระ และการจัดสรรที่ดินส่วนกลางให้ฟรี เช่น ถนน หรือที่ดินประโยชน์ส่วนรวม ซี่งหลายกรณีพยายามพิจารณาการเช่าซื้อไม่เต็มจำนวน หรือแบ่งชำระเป็น 2 ระยะ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเกษตรกร โดยเฉพาะที่มีปัญหาในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน สำหรับข้อกังวลว่าเมื่อผ่อนชำระครบและโอนโฉนดให้ชาวบ้านแล้ว ที่ดินอาจถูกเปลี่ยนมือหรือเข้าสู่การซื้อขายในระบบตลาดนั้น ก็พยายามหาทางป้องกัน แต่ระยะต้นไม่เป็นห่วงเพราะการผ่อนระยะ 30 ปี อย่างน้อยก็ยังไม่เกิดปัญหานี้

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการบรรจุแผนแม่บทกระจายการถือครองที่ดิน และอยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็จะเป็นอีกความหวังหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านที่ดิน แต่อย่างไรก็ตามตนมองว่าแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้เรื่องการกระจายการถือครองที่ดินเป็นกลายเป็นนโยบายสาธารณะ ต้องไม่ใช่เป็นเรื่องของพีมูฟหรือสมัชชาคนจนเท่านั้น ต้องทำให้คนในสังคมมานั่งคุยกัน ทำให้พรรคการเมืองตอบสนองเรื่องที่ดินแล้วแต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไร เพราะหากหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเข้าไปเป็นรัฐบาลก็สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องทำให้สังคมเห็นว่าเป็นนโยบายสาธารณะและเป็นเรื่องใกล้ตัว

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมไม่แตะเรื่องปัญหาที่ดินทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะคนชั้นกลางส่วนใหญ่ยอมจำนวนกับกฏหมาย เมื่อที่ดินมีโฉนดที่รัฐออกให้ก็ไม่มีใครกล้าสู้ ซึ่งหลายกรณีกฏหมายก็ไม่ได้ถูกต้องต่อข้อเท็จจริง ดังนั้นขบวนการชาวนาจำเป็นต้องยกระดับการต่อสู้จากชาวนาธรรมดา มาเป็นปัญหาชนชาวนา ต้องทำให้ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาสาธารณะ ยกระดับเพื่อแก้กฏหมาย และรวมพลังต่อสู้ทุกรูปแบบ ที่อาจขยายการแก้ปัญหาไปมากกว่าเรื่องโฉนดชุมชน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และธนาคารที่ดิน ต้องทำให้ตระหนักว่าเป็นปัญหาที่กระทบความมั่นคง ยกระดับให้พลังไปเปลี่ยนหรือบีบนักการเมือง ข้าราชการ ซึ่งลำพังพลังชาวบ้านไม่พอ ต้องให้คนชั้นกลาง นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ตระหนักว่าอนาคตทุกคนอยากมีสิทธิในที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินหรือไม่ ที่อาจเป็นในรูปแบบสวัสดิการแห่งรัฐ

นายบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ปัญหาที่ดินถือเป็นปัญหาสิทธิมุษยชน เพราะเกี่ยวโยงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์และกระทบต่อความมั่งคงแห่งชาติ อยากเสนอรัฐบาลยุติการไล่ล่าการทวงคืนผืนป่ากับคนเล็กคนน้อย เพราะชาวบ้านกำลังเป็นทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย บ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งหากผลักดันชาวบ้านจนไม่มีที่ทำกินและที่อยุ่อาศัยก็อาจเกิดปัญหาสังคมตามมา และต้องการเรียกร้องมหาวิทยาลัยที่กำลังถูกกลุ่มทุนช่วงชิงไป ขอให้นักวิชาการกลับสู่อ้อมกอดประชาชน กลับมารับใช้สังคม ของเรียกคืนความรู้กลับสู่ชุมชน เพราะตอนชุมชนขาดข้อมูลความรู้ที่จะทำให้สังคมเข้าใจปัญหา

ขณะที่ช่วงต่อมามีการเสวนา “นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) กับผลกระทบต่อวิถีชุมชน การแย่งยึดที่ดิน”

ดร.สมนึก จึงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ภาคจะวันออก กล่าวว่า การผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซึ) นั้นมีมาจตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาเป็นรัฐบาล ได้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ในการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ราคาที่ดินราคาสูงขึ้นจนรัฐบาลไม่สามารถซื้อที่ดินเอกชนมาทำทำโครงการได้ จึงต้องไปไล่ยึดและไล่ที่ดินชาวบ้าน จนชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้คัดค้านอย่างหนัก ชาวบ้านถูกฟ้องร้อง จนเป็นผลให้ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผน บรรดานักลงทุนจึงหดหาย หลายโครงการก็ต้องชะลอตัวหรือเจ๊ง เช่น ที่แม่สอด นักลงทุนบอกเองว่าไม่กล้าเข้าไปลงทุน เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนที่ยังมีความขัดแย้ง ที่ถือเป็นเรื่องเสี่ยงในการลงทุน หรือที่นครพนมที่เมื่อเกิดการฟ้องร้องแล้วเป็นบทเรียนให้รัฐบาลจนมีการกันที่ดินชุมชนที่เป็นปัญหาออกมา เป็นต้น

ดร.สมนึก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในภาคตะวันออก รัฐบาลมีบทเรียนจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว จึงมีการออกกฏหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อีกทั้งก่อนหน้านั้นใช้อำนาจ คสช. ประกาศเขตส่งเสริมเพื่อรองรับกิจการพิเศษ 19 แห่ง 75,000 ไร่ เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายไว้สูงมาก โดยเฉพาะการกำหนดผังเมืองในพื้นที่เป้าหมายได้เอง ใช้พื้นที่ สปก.ได้โดยไม่ต้องเพิกถอน รวมทั้งมีการออกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายคำสั่ง โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ที่ 47/2560 ที่เป็นข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้นายทุนสามารถซื้อที่ดินได้ในราคาถูก นอกจากนี้ยังมีการกำหนดพื้นที่สมาร์ทซิตี้ หรือการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในกิจกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง ที่เปลี่ยนผังเมืองเป็นสีเขียวแล้วนายทุนไปรวบรวมที่ดินไว้ในราคาถูก แล้วนำไปขอตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่ตอนนี้ใช้พื้นที่ไปแล้วกว่า 9.8 หมื่นไร่ แต่เมื่อไปดูในนิคมก็เป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ที่ไม่สอดคล้องกับความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ที่ล้วนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

“ก่อนหน้านี้ถ้าทำอุตสาหกรรมต้องทำอีไอเอ สิ่งแรกดูผังเมือง ถ้าผังเมืองไม่อนุญาติก็ไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อรื้อผังเมืองทิ้งไป กระบวนการต่างๆ ก็ฉลุย ตอนนี้ที่ดินกว่า 3.2 แสนไร่ เป็นของนายทุนที่เตรียมทำอุตสหกรรม หรือกำลังนำที่ดินของชาวบ้านไปให้ต่างชาติเช่าระยะยาว พ.ร.บ.อีอีซี จึงไม่จบแค่ 3 จังหวัดแน่นอน อย่างเช่น อุตสาหกรรมพืชพลังงานสามารถขยายไปภาคอีสานที่มีอ้อย หรือที่ตอนนี้ 3 จังหวัดภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ต้องนำน้ำจากจันทบุรี ตราด มาใช้ ผลกระทบจึงไม่ใช่แค่ที่ดิน แต่ส่งผลไปถึงจังหวัดอื่นด้วย ทั้งการสูญเสียที่ดินป่าไม้เพื่อสร้างเขื่อน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพเชื่อมต่อภาคตะวันออก ที่ตลอดแนวก็ต้องถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมฯ เช่นกัน

นางสิมมาลา หงษามนุษย์ ชาวบ้านในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม กล่าวว่า เมื่อก่อนชาวบ้านไม่เคยจะมีโครงการเขตเศรฐกิจพิเศษเกิดขึ้น จนมีทหารและตำรวจเข้ามาจับกุมดำเนินคดีบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์กับชาวบ้าน โดยที่ยังไม่ชี้แจงใด ๆ ทั้งที่ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ จนภายหลังมีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยชาวบ้านเตรียมเอกสารชี้แจงต่อในกระบวนการศาลจนศาลมีคำตัดสินยกฟ้อง แต่จนถึงวันนี้เราก็ยังไม่มั่นใจว่าที่ดินที่เราทำกินอยู่ทุกวันเป็นจองชาวบ้านหรือไม่

“ฉันมีที่ดินแค่ 1 งาน 12 ตารางวา ที่ดินเล็กน้อยแต่ภูมิใจที่สามารถทำกินเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาจนโต วันหนึ่งมีจดหมายบอกว่าให้ย้ายออกภายใน 1 เดือน ไม่เช่นนั้นจะเอารถแบกโฮมาไล่ ชาวบ้านก็ต้องทยอยออกไป จาก 50 ครัวเรือน โดนดำเนินคดีถึง 29 ครัวเรือน ก็เพราะรัฐบอกว่าจะเอาที่ดินไปให้นักลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรม จะให้ชาวบ้านเช่าที่ไร่ละ 4 หมื่น เขาบอกว่าไม่มีชาวบ้านเดือนร้อน ก็สู้มาถึงตอนนี้ 2 ปี 6 เดือน ถ้าไม่มีคนมาช่วยก็ไม่รู้จะสู้อย่างไร คงต้องรอติดคุกและถูกไล่รื้ออย่างเดียว” นางสิมมาลา กล่าว

นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ ชาวบ้านเขตเศรษฐกิจแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ชาวบ้านไม่เคยรู้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร ทราบเมื่อทางอำเภอเรียกให้ชาวบ้านไปรับทราบ ทำให้ชาวบ้าน 97 รายสูญเสียที่ดินเพื่อเอาไปให้นักลงทุนต่างชาติเช่าระยะยาว 99 ปี ทำนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านถูกกดดันอย่างหนักให้ยอมย้ายออกจากที่ดิน แต่ทุกคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะในอดีนแม่สอดถือเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง ไม่มีใครอยากเข้ามาอยุ่ที่แม่สอด ชาวบ้านก็อยุ่กันมาพัฒนาพื้นที่เรื่อยมาจนปัจจุบันมีความเจริญ เมื่อรัฐมีแผนพันากลับมองข้ามคนในพื้นที่ เบียดเบียนที่ทำกินของชาวบ้าน จนหลายคนต้องจำยอมย้ายออกไป เหลือ 5 รายที่ยังยืนยันว่าไม่ย้ายออกคัดค้านการออกโฉนดเป็นที่ราชพัสดุ หากรัฐต้องการที่ดินนำไปพัฒนาชาวบ้านก็ไม่ได้ขัดขวางการพัศนา เพียงแต่ต้องหาที่ดินอื่นชดเชยในจำนวนเท่าเดิม

นายสรายุทธ สนรักษา ภาคประชาสังคม เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก กล่าวว่า สาเหตุของสถานการณ์ที่ดินในภาคตะวันออก ที่ปัจจุบันที่ดิน 70% ตกไปอยู่ในมือเอกชนแล้ว เป็นผลจากความสะสมของความเลื่อมล้ำที่มีมานาน ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน จากหนี้ไม่กี่พันก็ทำให้ที่นาราคาเป็นล้านถูกยึดได้ แต่อย่างไรก็ตามในอดีตที่ดินที่ตกอยู่ในมือนายทุนยังไม่พัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมได้ เพราะติดเงื่อนไขผังเมืองที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นแหล่งเพาะปลูก เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เป็นแหล่งความมั่นคงอาหารสำคัญของภาคตะวันออก โดยเฉพาะเป็นแหล่งกำเนิดของข้าวหอมมะลิ 105 และพื้นที่ผลิตกุ้งกุลาดำครึ่งหนึ่งของประเทศ และส่งออกร้อยละ 30 ของโลก ชาวบ้านได้ใช้ผังเมืองฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ปกป้องพื้นที่ให้ปลอดภัยจากอุตสาหกรรม ซึ่งเร็วๆ นี้ชาวบ้านมีความกังวลว่าผังเมืองฉบับใหม่ที่จะประกาศออกมาในปลายปีนี้ อาจมีการปรับผังเมืองให้สามารถทำนิคมอุตสาหกรรมได้

“ชาวบ้านกำลังถูกผลักไปเป็นพลเมืองชั้นสองให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แม้นายทุนจะถือครองที่ดิน แต่การเข้ามาใช้ประโยชน์ก็ควรสอดคล้องกับวิถีชุมชน สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ 3 น้ำ อุดมสมบูรณ์ ทำเกษตรไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ผังเมืองก็ต้องสอดคล้องกับพื้นที่ด้วย” นายสรายุทธ กล่าว

นางสายทอง เก่งกานา กล่าวว่า ชาวบ้านร้อยละ 90 ทำการเกษตรตั้งแต่บรรพบุรุษ บุกเบิกกันมา 3-4 รุ่นอายุคน เมื่อปลายปี 2557 กรมธนารักษ์ส่งหนังสือยกเลิกการเช่าทีดิน สั่งให้ย้ายข้าวของโดยไม่มีค่าชดเชย หากเพิกเฉยจะดำเนินดดี จนปลายปี 2560 มีหนังสือให้ชาวบ้าน 693 คน ย้ายออกภายใน 7 วัน เพราะเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่กลับให้ทหารเรือเข้ามาควบคุม กดดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ ทหารแจ้งว่าจะนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในงานด้านความมั่นคง เมื่อชาวบ้านไม่ยอมย้ายออก ก็เข้ามาสอดส่อง สอบถามข้อมูลในพื้นที่ทุกวัน อนาคตไม่รู้ว่าจะสู้กับรัฐอย่างไร แต่ชาวบ้านทุกคนยังยืนยันว่าจะอยู่ในที่ดินเดิม เพราะมีความอุดมสมบูรณ์มาก ติดแม่น้ำเหมาะกับทำเกษตร ปลูกข้าว เลี้ยงกุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม

สำหรับในช่วงท้ายของงาน ผู้แทนภาคประชาชนนำเสนอข้อเสนอทางนโยบายในการรับรองสิทธิที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ต่อตัวแทนพรรคการเมืองและเปิดโกาสให้สะท้อนแนวทางการผลักดันข้อเสนอของภาคประชาชนสู่นโยบายพรรค เพื่อนำไปผลักดันการแก้ปัญหาในรัฐบาลต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ