ครบรอบ 1 ปี น้ำท่วมสกลนคร มากกว่าข้อถกเถียงในวันนั้นว่า สันเขื่อน (ที่หน่วยงานราชการเรียกว่าอ่างเก็บน้ำ) ห้วยทรายขมิ้น “แตก-ไม่แตก” ในวันนี้เราเรียนรู้เรื่องการเตรียมรับมือภัยพิบัติ และ “การแจ้งเตือนแบบเจาะจงระดับพื้นที่” ที่มากกว่าประกาศกรมอุตุนิยมวิทยากันแล้วหรือยัง “ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เผยแพร่บทความตั้งคำถามถึงภัยพิบัติเขื่อน ก่อนที่วิบัติภัยจะใหญ่เกินเยียวยา
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
28 กรกฎาคม 2561
วันนี้ครบรอบ 1 ปี เขื่อนห้วยทรายขมิ้น ของกรมชลประทานแตก และทำให้น้ำท่วมตัวเมืองสกลนครอย่างหนัก
เขื่อนห้วยทรายขมิ้นวิบัติเพราะการออกแบบเขื่อนไม่มีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (spill way) และเกิดน้ำล้นสันเขื่อน (over topping) จนน้ำกัดเซาะจนเขื่อนพังลงมา
ก่อนเขื่อนจะวิบัติไม่มีการแจ้งเตือนภัยใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้ไม่มีการอพยพประชาชน และขนย้ายทรัพย์สินไปที่ปลอดภัย ประมาณการว่ามีรถจมใต้น้ำจากเขื่อนที่วิบัติประมาณ 3,000 คัน ขณะที่กรมชลฯ ก็แถลงต่อสื่อว่าเขื่อนไม่ได้พังแค่ “น้ำกัดเซาะ” และกรณีนี้ก็ถูกให้ความหมายว่าเป็นอุทกภัยตามธรรมชาติที่นำไปสู่การไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ให้กับผู้ได้รับความเสียหายที่อยู่ท้ายเขื่อน
ความจริงเขื่อนในประเทศไทยวิบัติบ่อยครั้งมาก ในต้นปี 2560 ที่น้ำท่วม อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็มาจากน้ำล้นสันเขื่อนหลายแห่ง และไม่มีการแจ้งเตือนภัยใด ๆ กรมชลฯ เจ้าของเขื่อนยังแถลงต่อสาธารณะว่าเป็นแค่น้ำที่ลงมาท่วมนั้นเป็น “น้ำส่วนเกิน” และกรมชลฯ ไม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ประชาชน ขณะที่น้ำที่ล้นสันเขื่อนน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนประสบกับภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว รวมทั้งคนที่สัญจรตามถนนเพชร และทำให้เกิดเหตุสลดใจจากกรณีที่น้องต้นไม้ต้องเสียชีวิต
ในปี 2538 ได้เกิดเขื่อน 5 แห่งในภาคเหนือวิบัติ เขื่อนทุกเขื่อนเป็นเขื่อนดิน และทำให้บ้านเรือนเรือกสวนไร่น่าเสียหายอย่างหนัก รวมทั้งผู้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากการวิบัติของเขื่อนแม่นาวาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
เพราะประเทศในขณะนั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงมีกลไกของรัฐสภาในการเรียกร้องให้เจ้าของเขื่อนซึ่งก็คือกรมชลฯ จ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่กรณีผู้เสียชีวิต ผมและหาญณรงค์ เยาวเลิศ (Hannarong Yaowalers) ได้ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตให้ดำเนินคดีต่อกรมชลฯ โดยการช่วยเหลือทางคดีฟรีของสภาทนายความ และหลังจากต่อสู้ในชั้นศาล 5 ปี ครอบครัวผู้เสียหายก็ชนะคดี และต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียหาย
กรณีเขื่อนในประเทศไทยที่วิบัติ ต้องยอมรับว่าเราโชคดีที่เขื่อนเหล่านั้นเป็นเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็ก ความเสียหายจึงไม่รุนแรงเท่าที่เกิดในลาว แต่เราอาจจะไม่โชคดีไปตลอด เพราะยังมีเขื่อนขนาดใหญ่อีกหลายเขื่อนที่มีความเสี่ยง เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม และเขื่อนท่าทุ่งนา ใน จ.กาญจนบุรี ที่สร้างบนรอยเลื่อนของเปลือกโลก
ทุกครั้งที่เขื่อนวิบัติ ผมเรียกร้องมาตลอดให้เจ้าของเขื่อนทุกเขื่อนต้องประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) และซ่อมบำรุงเขื่อนให้ปลอดภัย รวมทั้งต้องจัดทำแผนเผชิญภัยพิบัติฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Emergency Response Plan) เพื่อให้เจ้าหน้าที่เขื่อน หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนท้ายเขื่อนได้นำมาใช้ และต้องมีการซ้อมแผนดังกล่าวอยู่เสมอ แต่จนถึงขณะนี้ผมยังไม่มีข้อมูลว่ามีเขื่อนแห่งไหนที่ดำเนินการดังกล่าว
ผมคิดว่าวันนี้ ถึงเวลาที่เราต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงเสียที ไม่ใช่ปล่อยให้ภัยพิบัติจากเขื่อนถูกทำให้เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ เพราะมันไม่ยุติธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ยิ่งไปกว่า หากไม่ดำเนินการดังกล่าว หากเกิดเหตุเขื่อนขนาดใหญ่วิบัติ วันนั้น เราจะเสียใจเช่นเดียวกับการเกิดภัยพิบัติเขื่อนพังในลาว