เครือข่ายประชาสังคมไทย 21 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนไทย เร่งชดเชยและเยียวยาชุมชนจากการสูญเสีย ชี้กรณีเขื่อนเซน้ำน้อยความปลอดภัยของเขื่อนสำคัญ
25 ก.ค. 2561 จากกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในแขวงจำปาศักดิ์และอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใตัของ สปป.ลาว เกิดเหตุสันเขื่อนทรุดตัวตั้งแต่คืนวันที่ 23 ก.ค. 2561 ทำให้มวลน้ำราว 6,000 ล้านลิตร ไหลบ่าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 20 ราย และมีผู้สูญหายกว่า 100 คน และชาวบ้านมากกว่า 6,600 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
เครือข่ายประชาสังคมไทย 21 องค์กรรวบรวมรายชื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศ ให้เรียนรู้ว่าความปลอดภัยของเขื่อนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งจากกรณีเขื่อนเซน้ำน้อย รวมถึงการประเมินผลกระทบเชิงลึกต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้วก่อนที่จะมีการดำเนินการในโครงการใหม่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา
พร้อมเรียกร้องให้บริษัทไทยแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเร่งชดเชยและเยียวยาชุมชนจากการสูญเสียครั้งนี้ และบริษัทต้องให้ชุมชนได้เข้าถึงกระบวนการพูดคุยเกี่ยวการชดเชยและเยียวยาอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด
รายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์จากเครือข่ายประชาสังคมไทยเรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศ
Statement of Thai CSOs demanding for greater responsibility of Thai investors in their investments abroad
พวกเราในฐานะประชาชนไทย อันประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง นักศึกษา และนักวิชาการ ได้ติดตามสถานการณ์ความเสียหายจากภาวะเขื่อนเซน้ำน้อยแตก ในประเทศลาว ตั้งแต่สองวันที่ผ่านมา ในฐานะเพื่อนมนุษย์ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดต่อการสูญเสียของประชาชนชาวลาวครั้งยิ่งใหญ่นี้ และขอเรียกร้องถามความรับผิดชอบของผู้ลงทุนในเหตุการณ์เขื่อนเซน้ำน้อยแตกคือ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ลงทุนโครงการ และธนาคารไทย ที่ให้เงินกู้สำหรับโครงการสนี้ แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากต้อง สูญเสียชีวิต ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่เกษตรกรรมและมีผลกระทบทางร่างกายและจิตใจจากการสูญเสียครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบโดยเร็วที่สุด ตามหลักการมาตรฐานและสิทธิมนุษยชนสากล
จากเหตุการณ์เขื่อนเซน้ำน้อยแตกที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว ได้ส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงจากผู้ลงไทย โครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสักและอัตตะปือ สปป.ลาว เป็นโครงการที่บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 25 % และผู้ลงทุนสัญชาติเกาหลีใต้ ทั้งนี้เขื่อนจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพานิชย์ในปี 2562 นี้ โดยที่พลังงาน 90 % จะส่งมาขายให้กับประเทศไทย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ซื้อหลักและมี 4 ธนาคารของประเทศไทยที่ร่วมลงทุนผ่านเงินกู้ในโครงการนี้คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกและธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เขื่อนเซน้ำน้อย เริ่มแตกตั้งแต่กลางคืนของวันจันทร์ (23 กรกฎาคม 2561) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันใน 6 หมู่บ้านและประชาชนกว่า 6000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย มีผู้สูญหายอย่างน้อย 200 คนและพบว่าเสียชีวิตแล้ว 50 คน เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด แถลงว่า เขื่อนคันดินเกิดรอยแตกร้าวหลังจากมีพายุฝนอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้ปริมาณน้ำมหาศาลไหลออกจากอ่างเก็บน้ำ และยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการผลิตไฟฟ้าตามกำหนดการ แทนที่จะแสดงความห่วงใยหรือแถลงถึงมาตรการช่วยเหลือหลังเขื่อนแตก แต่บริษัทกลับเงียบกริบในประเด็นเหล่านี้
เขื่อนคันดินที่แตกในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการก่อสร้างต่อมาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยของเขื่อน ตามหลักการและแนวทางของคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งหลักการดังกล่าวเสนอว่า ควรมีการพัฒนากลไกเพื่อให้การชดใช้ค่าเสียหายหรือการชดเชยย้อนหลังสำหรับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากเขื่อนที่มีอยู่แล้วตลอดจนฟื้นฟูความเสียหาย การขาดกระบวนการที่สอดคล้องต่อมาตรฐานในการสร้างเขื่อนระดับโลกของเขื่อนเซน้ำน้อยนี้ เป็นผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและสูญหายของประชาชนกว่า 6,000 คน
เราขอเรียกร้องให้ผู้ลงทุนไทยในต่างประเทศเรียนรู้ว่า ความปลอดภัยของเขื่อน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จากกรณีเขื่อนเซน้ำน้อย รวมถึงการประเมินผลกระทบเชิงลึกต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้วก่อนที่จะมีการดำเนินการในโครงการใหม่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา
เราขอเรียกร้องให้ บริษัทไทยแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเร่งชดเชยและเยียวยาชุมชนจากการสูญเสียครั้งนี้ และบริษัทต้องให้ชุมชนได้เข้าถึงกระบวนการพูดคุยเกี่ยวการชดเชยและเยียวยาอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด
ลงชื่อ
1. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง (Network of Thai Mekong People in 8 provinces)
2. กลุ่มรักษ์เชียงของ (Rak Chiang Kong Conservation Group)
3. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต(Living River Siam Association)
4. องค์การแม่น้ำนาชาติ (International Rivers)
5. กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ( Mekong Butterfly)
6. กลุ่ม Extraterritorial Watch Coalition
7. มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Foundation for Environment and Natural Resources)
8. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resources Centre Foundation)
9. สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (Mekong Communities Institute)
10. EarthRights International
11. เสมสิขาลัย(Spirit in Education Movement (SEM))
12. กลุ่มรักษ์เชียงคาน
13. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.),
14. สมาคม เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ,
15. ศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัดหนองคาย (ศปจ.),
16. กลุ่มฮักแม่น้ำโขง
17. ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬ
18. เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี
19. กลุ่มคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
20. Takapaw Youth Group
21 Dawei Watch Foundation