“ขอนแก่นเมืองแห่งอนาคต กับ คนไร้บ้าน : Homeless In Khonkaen Smart City ”

“ขอนแก่นเมืองแห่งอนาคต กับ คนไร้บ้าน : Homeless In Khonkaen Smart City ”

เวทีเสวนาสาธารณะบทเรียนการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

20 มิถุนายน พ.ศ.2561 ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านแบบบูรณาการ จ.ขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น , มหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยนครพนม , และ กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “ คนไร้บ้านขอนแก่นกับเมืองแห่งอนาคต : Homeless In Khonkaen Smart City ” เพื่อนำเสนอข้อมูลและบทเรียนการทำงานขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ตลอดระยะเวลา 2 ปี พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนสาธารณะต่อมุมมองในการพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “ Khonkaen Smart & Creative Cities. ” เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมของการถกเถียงแลกเปลี่ยนร่วมกันของคนในสังคม นำสู่การสร้างสมดุลของการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เเละยั่งยืน บนหลักการ คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน สิ่งเเวดล้อมดีที่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ เเละการขจัดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมเมือง

ณัฐวุฒิ กรมภักดี  ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน (Friends Of The Homeless) กล่าวถึงสาเหตุที่จังหวัดขอนแก่นเป็นหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาปัญหาเรื่องคนไร้บ้าน ร่วมกับเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร ว่าเกิดจากการที่เมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว

“ถ้าดูจากจำนวน 3 จังหวัด สำรวจคนไร้บ้าน ขอนแก่น กับ เชียงใหม่ มีประชากรคนไร้บ้านใกล้เคียงกัน เชียงใหม่ประมาณ 160 กว่าคน ส่วนขอนแก่น 136 คน คิดว่าการที่พัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเป็นศูนย์กลางพื้นที่คมนาคม การศึกษา มีการเข้ามาในเรื่องของนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ ที่มันเข้ามาเพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เจริญ ส่งผลให้เมืองขอนแก่นเป็นแหล่งที่ผู้คนมีปัญหาเรื่องรายได้  หรือการประกอบอาชีพ หรืออะไรก็ตามเข้ามา แต่ว่าโดยต้นทุนและศักยภาพของคนไร้บ้านมีไม่มาก พอเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ บางทีหางานไม่ได้ ทำให้ต้องไปนอนในที่สาธารณะ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย พอหาไม่ได้ซ้ำ ๆ ก็กลายเป็นว่าต้องนอนยาว ๆ และกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด เพราะพื้นฐานทางครอบครัวก็ไม่ได้เอื้อให้กลับไป เพราะมีปัญหาครอบครัวไม่รู้จะดูแลอย่างไร”

ณัฐวุฒิ กล่าวว่าจากการศึกษา พบสาเหตุของการออกมาเป็นคนไร้บ้าน ใน 3 ประเด็น   คือ  1.เกิดจากคนในครอบครัว  2.เรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอ ต้องออกมาทำงานในเมืองใหญ่  และ 3.เรื่องภาวะทางจิต , เรื่องผู้สูงอายุ , ผู้พิการ ที่อยู่คนเดียว ทำให้ต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน

โดยข้อมูลจากการศึกษาในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปออกแบบ วางแผนฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเรื่องคนไร้บ้านในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อให้คนไร้บ้านได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต

“ระยะต่อไป เราจะมีเรื่องของศูนย์พักคนไร้บ้าน เป็นศูนย์พักชั่วคราวที่ให้คนไร้บ้านได้เข้ามาฟื้นฟูชีวิต ฟื้นฟูศักยภาพ และฟื้นฟูอาชีพ โครงการตอนนี้เราได้ที่ดินเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ช่วงระหว่างออกแบบก่อสร้าง วางแผนจัดระบบ จัดโครงสร้างของคนไร้บ้าน และคัดกรอง เราคาดว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ให้คนไร้บ้านได้เข้ามารวมกลุ่มกัน เพราะที่ผ่านขอนแก่น คนไร้บ้านอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ไม่มีพื้นที่รวมกลุ่มในการปรึกษาหารือ หรือแก้ปัญหาชีวิต สอง คือ พื้นที่ตรงนี้จะเหมือนแหล่งการส่งต่อแรงงาน การปรึกษาเรื่องงาน หรือแหล่งพัฒนาอาชีพ เพื่อทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอมีรายได้เพิ่มขึ้น การเหลื่อมล้ำเรื่องสิทธิก็จะลดลง ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องรายได้ได้ สาม คือ เป็นพื้นที่ฟื้นฟูภายใน คือ ปัญหาส่วนใหญ่คนไร้บ้านมีปัญหาจากครอบครัว พื้นที่ตรงนี้อาจจะช่วยในเรื่องของการที่ทำให้มาเจอเพื่อนที่คล้ายกัน มีประบวนการเยียวยาบำบัดภายในจิตใจด้วย”

กรณีจังหวัดขอนแก่น จากการศึกษาเบื้องต้นของ พรทิพย์  จอมพุก และ รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ในปี พ.ศ. 2557 ภายใต้โครงการประสานและการหนุนเสริมการดำเนินงานเพื่อสำรวจคนไร้บ้านและผู้ป่วยข้างถนนเพื่อการสื่อสารเชิงนโยบาย พบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านที่ใช้พื้นที่สาธารณะในเขตเทศบาลนครขอนแก่นจำนวน  136 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีสัญชาติไทย อยู่ในช่วง  36-45 ปี เคยได้รับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา มีภูลำเนาอยู่ในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง เช่น อุดรธานี บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ เป็นต้น        คนเร่ร่อนไร้บ้านเหล่านี้ มีปัญหาหลายอย่าง เช่น ไม่มีบัตรประชาชนร้อยละ 41.2 ไม่มีงานทำ ร้อยละ 19.1 ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น พิการ ร้อยละ 14.7 ติดสุราร้อยละ 32.4 และมีอาการผิดปกติทางจิต ร้อยละ 2.2

การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่นที่ผ่านมา มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลขอนแก่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการเรียนรู้ตามอัธยาศัย จังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น เครือข่ายประชาสร้างสรรค์ และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

แต่อย่างไรก็ตามในระยะที่ผ่านมาการดำเนินงานโครงการมุ่งเน้นไปในส่วนของการสร้างกลไกระดับจังหวัด และการสื่อสารทางสังคม แต่ยังขาดการทำงานในเชิงลึก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน อีกทั้งการดำเนินงานในเชิงรุก คือ การป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนเร่ร่อน ไร้บ้านนั้นยังมีข้อจำกัด  จึงต้องมีการวางแผนระยะยาว รวมทั้งบูรณาการการทำงานกันทั้งระบบ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ