สังคมนิยมเล่น : คุยเรื่อง “เล่น” กับ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สังคมนิยมเล่น : คุยเรื่อง “เล่น” กับ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การเล่นมีหน้าที่ และมีความหมายสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 7-8 ขวบ “การเล่นไม่ต้องมีประโยชน์ก็ได้ เล่นให้มีประโยชน์ฟังแล้วน่าหดหูมาก การเล่นต้องคู่กับความสนุกเท่านั้น ถ้าไม่สนุกก็ไม่ได้เรียกว่าการเล่นแล้วต้องเรียกอย่างอื่น”

ภาพ/เรื่อง : สุวนันท์ อ่ำเทศ

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ย้ำถึงความหมายของการเล่นเอาไว้ในช่วงท้าย ๆ ของวงเสวนา “งานของเด็กคือการเล่น” ที่ได้ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เป็นผู้ร่วมสนทนาบนเวที “เทศกาลหนังการศึกษา” จัดโดย Documentary Club ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), ThaiPBS, Jam, MThai และ SeeMe

ก่อนเริ่มวงเสวนาได้มีการฉายหนังเรื่อง เนื้อหาของหนังเล่าเรื่อง “วัยเด็ก” ซึ่งเป็นวัยแห่งจินตนาการ, การเล่น และการบ่มเพาะความรู้สึกปลอดภัยของตนในร่มเงาของโลกกว้าง หนังเรื่องนี้แอบมองหนึ่งปีในชีวิตของเด็กน้อย ๆ ผู้มีโอกาสเติบโตด้วยท่วงทำนองรื่นรมย์เช่นนั้นในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งของประเทศนอร์เวย์ ความนุ่มนวลน่ารักของเด็กและความทุ่มเทของผู้ใหญ่ผสมผสานเป็นเรื่องราวสุดบันดาลใจที่มอง “การศึกษา” อย่างมีความหวัง

แม้ว่าการเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็มองข้ามจุดนี้ไป และมักให้ลูกมุ่งแต่เรียนเมื่อพวกเขาเริ่มโต โดยเฉพาะกระแสการศึกษาในบ้านเราตอนนี้ที่เป็นยุคสมัยแห่งการแข่งขัน พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดี ๆ เพื่อจบไปทำอาชีพที่ดีรายได้มั่นคง ภาระก็เลยมาตกที่ลูกเพราะต้องถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนกวดวิชากันตั้งแต่เด็ก บางคนเรียนตั้งแต่จันทร์ถึงอาทิตย์ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ

คำถามคือ เรียนจนไม่มีเวลาพักแบบนี้ เด็กเอาเวลาที่ไหนไปเล่น ?

  • จักรวาลคือพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก

คุณหมอบอกว่าเด็กมีหน้าที่สร้างโลก ในแต่ละช่วงอายุของเขามีหน้าที่แตกต่างกันออกไปไหม

ผมมักจะเล่าบรรยายเรื่อง 0 – 8 ขวบเป็นโทนเดียว ตั้งแต่ 0 – 8 ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กเกิดมาเร็วช้าต่างกัน พวกท่านทำบุญชาติที่แล้วมาต่างกัน ดังนั้น เราก็จะได้เด็กเร็วช้าต่างกัน ปัญหาของการศึกษาประเทศไทยคือเราสับเด็กเป็นท่อน ๆ จาก 0 – 8 ขวบใช่ไหมครับ แล้วมาร์คชื่อไว้ใครไม่ผ่านท่อนนี้แปลว่า จุด จุด จุด ไม่โง่ก็สมาธิสั้น สอบตก แต่ที่จริงระหว่าง 0 – 8 ขวบ เป็นโทนสีที่เป็นเฉดออกไปเรื่อย ๆ เรื่องก็จะง่ายขึ้นมาก ช้าสักนิดก็รอหน่อย ทุกคนก็จะไปทางที่ 8 ขวบอยู่ดีโดยธรรมชาติ ถ้าเขาได้ทำหน้าที่เต็มที่

วันที่เขาเกิดคือวันที่พวกเราเกิด พวกเราย่อมจำไม่ได้ถึงวันที่เราเกิดจริงไหม ? เหตุเพราะว่าวันที่พวกเราเกิดโลกไม่มี อย่าลืมนะวันที่เราเกิดวันแรกโลกไม่มี มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโลก มันเป็นแค่จุด ๆ เดียวในจักรวาลที่ยังไม่มีอะไร เพราะเราพึ่งเกิด พยายามจิตนาการตาม “เราเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง” พวกเราเคยได้ยินคำนี้ เพราะทั้งจักรวาลมีเฉพาะเราซึ่งพึ่งเกิดมาได้วันเดียว เพราะอย่างนั้นเราเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลแน่ ๆ

เราเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตั้งแต่วันที่เกิด แต่ตอนอายุ 7-8 ขวบศูนย์กลางของจักรวาลย้ายไปที่คนอื่นไม่ใช่ตัวเรา โลกมีสิ่งที่เรียกว่าเพื่อน ที่เราเรียนตอน ป.1 พูดชัด ๆ ศูนย์กลางของจักรวาลเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ที่จุดอื่น มนุษย์คนอื่น นี่เป็นหน้าที่อย่างสั้นที่สุด เราระมัดระวังแรกเกิดไปจนถึง 8 ขวบเกิดอะไรขึ้นกับลูกเรานี้คืองานใหญ่มาก เขาจะต้องสร้างโลกใบใหม่ทั้งใบที่เขาไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลอีกแล้ว มีเพื่อนตั้ง 7-8 คน กลุ่ม 6 ขวบ ทุกคนมีตัวมีตนขึ้นมานี่คือหน้าที่ เราอาจเสียเวลาตรงนี้หลายนาทีเพราะนี้เป็นเรื่องสำคัญ จากวันที่เกิดที่ไม่มีจักรวาลจนถึงวันที่ 7-8 ขวบมีโลก และศูนย์กลางจักรวาลก็ไม่ใช่เราเป็นคนอื่นเป็นเพื่อน

ดังนั้น ในต่างประเทศที่นิยมส่งลูกไปโรงเรียนตอน 7-8 ขวบ ปัญหาการกัดกันก็จะน้อยลงเยอะ ปัญหาการเถียงกันเรื่องแซงคิวเรื่องแย่งที่นั่งก็จะน้อยลงตามธรรมชาติ เพราะพอถึงตรงนั้นเด็กทุกคนก็จะรู้เขาว่าไม่ใช่เป็นเด็กคนเดียวบนโลกอีกต่อไปแล้ว ช่วงอายุ 7-8 ปี เขาจะต้องสร้างโลกใบนี้ขึ้นมาทุกวัน ทุกวัน ในโลกมีสิ่งที่เรียกว่าวัตถุเยอะแยะ

ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์

เรามีคำศัพท์ว่า “Special Relation” แปลว่า “มิติสัมพันธ์” เป็นหนึ่งในไอคิว (IQ) “ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เด็กคนไหนวางความสัมพันธ์ของวัตถุต่าง ๆ ในโลกรอบตัวเก่งกว่ากันคนนั้นฉลาดกว่า ประโยคนี้จริง เด็กคนไหนจะวางความสัมพันธ์ของวัตถุต่าง ๆ ได้ดีกว่า ขั้นแรกมันก็ต้องสร้างโลกก่อน โลกนั้นเรียกว่า Space จะแปลว่า อวกาศก็ได้ก็ถูกต้อง เด็กสร้างอวกาศ จะแปลว่าที่โล่ง ที่กว้าง โพรงอากาศอะไรก็ได้ เด็กต้องสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา อย่าลืมว่าจากวันที่เกิดมาไม่มีอะไรเลย ต้องสร้างโลกทั้งใบและวางวัตถุต่าง ๆ ลงมาและก็จัดความสัมพันธ์ นี้คือ “Intelligent ความฉลาด” เป็นไอคิวที่อยากได้กันหนักหนา

ดังนั้น วิธีที่จะได้ก็คือแบบนี้ ปล่อยเสรีภาพให้เขาสร้างโลกทุกวันด้วยการทดลองทุกอย่าง โดยมีผู้ดูแลคือครูที่ใจเย็นพอ (แบบในหนัง) เทียบชัด ๆ กับพวกเราจักรวาลของลูกเราส่วนใหญ่เป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมที่มีกระดานอยู่ตรงหน้า และก็มีหนังสือสมุดอยู่บนโต๊ะและก็เงียบอีกต่างหาก “Special Relation” เอาแค่เรื่องเดียว เพราะปกติไอคิวมี 7 ด้าน เราก็ไปไม่รอดแล้ว

เด็กมีเวทมนต์

เด็กกลุ่มนี้เห็นไกลกว่าสิ่งที่ตาไม่เห็นผ่านการเล่น มีแม่มด มีปีศาจ มีมังกร แต่มันมี Roleplay (บทบาทสมมุติ) ผ่านการเล่นจะเห็นว่าระหว่างที่เขาเล่นตาเขายังคงเห็นแค่โรงละครตุ๊กตาที่เขาเย็บ แต่สมองเขาเห็นไกลกว่าสิ่งที่ตาเห็น พวกเราต้องคอยนึกภาพตาม เซลล์ประสาทชาร์จอิเล็กตรอนแรงกว่าตาเห็น เส้นประสาทตวัดสายออกไป แตะกันเป็นวงจรเป็นเซอร์กิตเยอะกว่าตาเห็น ผ่านการเล่นละครด้วยบทบาทสมมุติ เรื่องเจ้าชาย เจ้าหญิง มังกร ปีศาจ 2 – 8 ขวบ เด็กมีวิธีคิดเรียกว่า “Magical Thinking” ความคิดเชิงเวทมนต์ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก

ถ้าเราไม่มีเวทมนต์เราก็ติดอยู่แค่ห้องประชุมนี้ ซึ่งพวกเราเวทมนต์หายหมดแล้วเป็นเรื่องน่าสลดใจยิ่ง แต่เด็ก 8 ขวบเขามีเวทมนต์เราขังเขาไว้ในห้องเรียนเขาอยู่ไม่ได้ เพราะว่าเวทมนต์เขาไปได้ถึงจักรวาล ซึ่งไม่มีอยู่จริง ยกเว้นมันจะมีจริงแต่พวกเราไม่รู้ จะเห็นว่าลำพังคำว่า “Space” หรือห้องสี่เหลี่ยมไม่พอสำหรับพัฒนาการเด็ก ป่าทั้งป่ายังไม่พอเลย ระยะที่เด็กเดินทางไกลได้ในหนึ่งวันก็ยังไม่พอเลย ครู 2 คนนั้นก็รู้สึกว่าจะเดินนำหน้าเด็กบ่อยไปหน่อยนะ พ่อคนไทยก็จะห่วงมากไม่เห็นจะดูแลไรเลย แต่บังเอิญเรารู้ว่าช่างกล้องอยู่ด้านหลัง การอ่านหนังสือที่ไม่มีรูปภาพก็ใช่ ถ้าทำได้มันย่อมดีกว่าหนังสือที่มีรูปภาพ เพราะสมองมันไปไกลกว่ากันมาก

การเล่นละคร การเล่นบทบาทสมมุติเป็นเรื่องดีมาก ความเชื่อเรื่องของเวทมนต์เป็นเรื่องดีมากใน 8 ขวบปีแรกอย่าไปทุบเขาทิ้งเร็วเกินไป ปล่อยให้เขาเชื่อไปเรื่อย ๆ เป็นฐานของ Logic Megic หาก Logic Megic ไม่เอาไหน คุณก็ได้ Logic โง่ ๆ เหมือนกันอยู่ทุกวันเนี่ย Megic ต้องเอาไหนก่อนแล้วตัว Logic วางลงมาแล้วค่อยพิสูจน์ถูกผิดกันทีละเรื่อง ฐานต้องกว้างต้องดีต้องแข็งแรงก่อน พวกเขานานมากยอมรับว่าอิจฉามาก นานมาก 7-8 ขวบ เราอยากได้แบบนี้ เราอยากได้แบบนี้คืนมา ยืนยันเราอยากได้แบบนี้

ว่าง่าย ๆ ในสถานะผู้ปกครอง ครู เรามีหน้าที่ช่วยเด็กสร้างโลกเท่านั้น

“ใช่ ปล่อย เด็ก แน่นอน”

  • ความสำคัญของ “การเล่น”

เราควรปล่อยให้เด็กเล่นแบบ Freedom (อิสระ) แบบในหนังเรื่อง Childhood เลยไหม

การเล่นมีหน้าที่ของมัน เด็กตื่นเช้าถึงเย็น จากเด็กแรกเกิดถึงประมาณ 7 – 8 ขวบ การเล่นมีหน้าที่มีฟังก์ชั่น (Functions) บางอย่าง หน้าที่มีความหมายว่า ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้เงินเดือนประมาณนั้น มันก็จะไม่บรรลุภารกิจ การเล่นเป็นหน้าที่บางประการที่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” จำเป็นต้องทำใน 7 – 8 ปี

แต่ว่าคำถามที่ถามในเรื่องเสรีภาพในการเล่นและอันตราย ก็ยกตัวอย่าง เหตุที่ยกตัวอย่าง เพราะว่าตัวผมไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินแทนบ้านของพวกเรา นึกภาพเด็กชอบปาของในบ้านคุณพ่อคุณแม่เป็นเดือดเป็นแค้นมากเลย เรื่องเด็กปาของในบ้านและก็เขียนมาหาผมเป็นส่วนตัว ผมก็มีคำถามเสมอว่าทำไมไม่จัดลานปาของแข่งกันในเรียบร้อย หรือถ้าแก้วปาไม่ได้ทำไมไม่ปาแก้วพลาสติก ถ้าเวลานี้ไม่ควรปาทำไมไม่ทำตารางปา อะไรทำนองนี้ คือบ้านที่สั่งห้ามปาของกับบ้านที่เปลี่ยนการปาของเป็นการเล่นเราจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน

มีต้นไม้เป็นตัวอย่างที่ชัดขึ้น อยู่ที่พวกท่านใจถึงแค่ไหน ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าขาหักรักษาได้ ปีนยิ่งสูงความเสี่ยงยิ่งมาก แต่สมองส่วนที่เรียกว่าวงจร Executive Functions (EF) พัฒนาดีกว่า ตอนนี้บ้านนี้ใจไม่ถึงก็ให้ปีนฟุตเดียว บ้านโน้นใจถึง มันก็อยู่ที่พวกเราใจถึงแค่ไหน ในสวนสาธารณะในต่างประเทศมีคาบิเน็สที่ออกแบบมาเพื่อป้องการอันตรายในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยิ่งสูงยิ่งหนาวอยู่ดีนะครับ เด็กวิ่งข้ามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ 8 เลน พวกเราใจถึงแค่ไหน เป็นผมฟาดแน่ ผมก็เป็นคนธรรมดาพ่อแม่คนไทย

ดังนั้น เราให้เสรีภาพเท่าไรอยู่ที่พวกท่านใจถึงแค่ไหน แต่ประเด็นคือว่าระหว่างที่เด็กสำรวจโลกและก็ทำหน้าที่ของตัวเนี่ย ความเสี่ยงสูงเขาก็ได้ Benefit (ประโยชน์) มาก อันนี้คือความจริง เขาสามารถสร้างโลกที่ปลอดภัยของเขาขึ้นมาด้วยฝีมือเขาเองได้มากกว่า

การเล่นแบบใดที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มเข้าไปจัดการ

คำตอบก็จะคล้าย ๆ เดิมแหละครับว่าคุณพ่อคุณแม่นั้น มีเวลาที่จะหยุดคิดสักนิดไหมว่า ถ้าลูกจะถือมีดหรือกรรไกร เราพร้อมรับความเสี่ยง พูดง่าย ๆ ว่ามีแผลเราก็เตรียมตัวทำแผล ผมจำได้ว่าในหนังก็มีแผลแล้วก็เช็ดแผล เรื่องกังวลกับมันผมพูดเสมอว่าถึงทุกสถานทีมันก็จะกับมาอยู่ที่เวลาของเรา ว่าเราผ่อนคลายกับเรื่องนี้มากแน่ไหน จะเห็นได้ว่าคุณครูในหนังดูเค้าผ่อนคลายมาก นั่นสบาย ๆ เขาก็นั่งดูเรื่อย ๆ ครูไม่เคยออกปากห้าม เขานั่งดูก่อนเสมอ

เรื่องบางเรื่องหลุดจากประเทศไทยไปเยอะ ผมยอมรับนะครับ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือ เรื่องครูไม่เคยพูดคำว่า “เงียบ” เราได้ยินคำนี้ในห้องเรียนบ่อยมาก ทุกคนก็โตมาจากคำนี้ ผมก็โตมาจากคำนี้แต่ในหนังเรื่องนี้ไม่มีเลยทุกคนพูดคนเดียวก็มี พูดกันเองก็มี ไม่มีครูพูดหุบปากเงียบ ไม่มี การพูดก็เหมือนการเล่นเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำใน 8 ขวบปีแรก

  • การเล่น (ไม่) จำเป็นต้องมีประโยชน์

สำหรับพ่อแม่บางทีเราเล่นไม่ได้ตลอดเวลาอย่างที่คุณครูเป็น บางคนพูดว่า “เล่นไม่เป็น” “ไม่รู้จะเล่นอย่างไร” “เล่นอย่างไรให้เป็นประโยชน์” คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

ข้อแรก การเล่นไม่ต้องมีประโยชน์ก็ได้ เล่นให้มีประโยชน์มันฟังแล้วน่าหดหูมาก การเล่นต้องคู่กับความสนุกเท่านั้น ถ้าไม่สนุกก็ไม่ได้เรียกว่าการเล่นแล้วละ ต้องเรียกว่าอย่างอื่น แกล้งเล่น การเล่นอย่างไรก็ต้องสนุก

คนที่พูดว่าเล่นไม่เป็น ผมจะบอกว่างั้นก็ไม่ต้องเล่น ไปยืนเฉย ๆ พูดง่าย ๆ ว่านอนผมทำประจำ เหนื่อยจะตายชักกลับจากงานจันทร์ – ศุกร์จะตายอยู่แล้ว เสาร์ – อาทิตย์จะให้มาเล่นอีก งั้นเราก็นอนแต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสองคนนั้นก็อยู่บนตัวเราเกือบตลอดเวลา และก็ห่างไปบ้างแต่เดี๋ยวก็กับมาหมุนอยู่รอบตัวเราใหม่ และก็ห่างออกไป ระหว่างห่างออกไปก็จะเป็นเหมือนในหนัง คือคนที่เป็นคนคอยห้ามหลับไปแล้วไง เขาก็ลองไปทั่ว งู แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ บ้านผมเขาก็เล่นหมด โลกค่อย ๆ กว้างออก จักรวาลกว้างออก แต่อย่างไรก็ต้องมีเสาหลัก นี้คือตัวอย่างของพ่อที่เอาแต่นอน เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดว่าเล่นไม่เป็น เพราะว่าคงนอนเป็นใช่ไหม ก็นอนไปเขาก็จะเอาเราเป็นภูเขาไปปีนเล่นอยู่ดี

อย่างที่สอง คือ เวลาเล่นกับลูกสิ่งที่พวกเราชอบลืมคือเราต้องสนุกก่อน ถ้าถามผมว่าไม่รู้จะเล่นอะไรกับลูก คำตอบผมก็จะง่ายมาก ตัวเองเล่นอะไรแล้วสนุกเล่นอันนั้น ถ้าตัวเองคิดว่าตัวเองเล่นระบายสีสนุกเอาเรื่องระบายสีก็ได้ ระบายสีเป็นการเล่นประเภทที่ไม่ต้องเป็นศิลปิน เราต้องการแค่คนที่จุดสีในกระดาษเป็น เขาก็เรียกว่าเล่นแล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่สนุกกับการปาดสีไปเรื่อย ๆ ไม่มีอะไรจะทำก็คือเริ่มต้นอย่างนั้นและเด็กก็จะเข้ามาเอง ตามกติกาเดิมว่า เขาต้องการเราเป็นเสาหลัก

อะไรที่พวกเราทำแล้วรู้สึกสนุกแล้วเราอยู่นิ่ง ๆ แล้วเราสนุกกับมันนั่นคือการเล่นของเรา แล้วมันจะเป็นแรงดึงดูดให้เด็ก เด็กสตาร์ทการเล่นกับเราจนได้ แน่นอนเล่นกับเราสักพักก็จะเบื่อ ก็น่าเบื่อจริง ๆ นะ เอาแต่ผสมสีไม่เล่นอย่างอื่นเลย และถ้าเป็นเหมือนหนังเรื่องนี้อะไร ๆ ก็ไม่ห้าม เราใจถึง ชุดปฐมพยาบาลเราซื้อครบแล้วในบ้าน เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเราก็ติดต่อไว้แล้วเรียบร้อย เราก็รอ รอเขาสร้างโลก ผมเริ่มไม่ใช้คำว่าเล่นแล้ว รอเขาสร้างโลก สร้างทำไม สร้างเพื่อให้โลกนี้กว้าง กว้างทำไม กว้างเพื่อให้วางวัตถุต่าง ๆ วางทำไม เพื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งในวัตถุ จัดทำไม เพื่อให้สมองเห็นทุกอย่าง สมองเห็นไม่ใช่ตาเห็น แพะกับแกะมันสัมพันธ์กันใครว่าไม่สัมพันธ์กันเราก็จับมันชนกัน แพะชนแกะ ทำนองนี้ครับ นี้คืองานของสิ่งที่เรียกว่า “การเล่นสร้างโลก” ฉะนั้น เวลาคำถามนี้อยู่ที่เรื่องพ่อแม่เล่นไม่เป็น พ่อแม่ไม่รู้จะทำอะไร คำตอบสั้น ๆ คือ นอน แต่กรุณานอนให้เขาเห็น

เมื่อพ่อแม่เริ่มอยากเล่น คุณหมอมีตัวอย่างของเล่น ที่เป็นตัวช่วยเสริมสร้างการสร้างโลกให้กับเด็ก ๆ ที่ควรจะมีในบ้านบ้างไหม 

ชิ้นที่หนึ่ง ที่ผมพูดเสมอคือกองทรายหนึ่งกอง เป็นของที่หลอกเด็กง่ายมาก แทบจะไม่มีเลยที่เด็กประเภทเจอกองทรายแล้วนิ่ง ๆ จะนิ่งอยู่ตรงนี้ แค่ทรายอย่างเดียวก็นิ่งแล้ว ถ้าเราแถมถังน้ำสักถัง เครื่องเล่นเก่า ๆ สักชุด ไม่ต้องใหม่ก็ได้ บ้านที่ใจถึงก็โคลน ลูกผมเล่นโคลน ปรักโคลนด้วยซ้ำไป โคลนในหนังฝรั่งบางเรื่องยังมีให้เล่นกับโคลนจริง ๆ ทราย ดิน โคลน พวกนี้ผมคิดว่าเป็นของเล่นที่ไม่น่าจะแพง ที่บ้านนอกยังไม่แพงสมัยนี้ไม่รู้นะ ของพวกนี้หลอกเด็กได้นานพ่อแม่เล่นด้วยก็ได้จะนั่งดูก็ได้จะนั่งอ่านหนังสือข้าง ๆ ก็ได้เพราะเด็กจะอยู่ได้นาน ของเล่นชิ้นนี้มีข้อดีพิเศษอยู่ 2-3 ข้อ เช่น

1.ระบายความก้าวร้าวได้ดี

2.ระบายความเครียดที่ได้รับมาจากโรงเรียนหรือกระทั่งจากคุณพ่อคุณแม่เองได้ดี

และ 3.ระบายความอยู่ไม่นิ่งยิ่งดีใหญ่ เด็กอาจจะดูอยู่ไม่นิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่อื่น แต่ว่าเด็กจำนวนมากเมื่อพบกองทรายก็จะโฟกัสที่ทรายแล้วก็การขยำทรายไป ๆ มา ๆ ได้

ชิ้นที่สอง ที่ราคาไม่แพงก็น่าจะเป็นกลุ่มระบายสี เหตุที่ราคาไม่แพงเพราะว่า ปฏิทินด้านหลังขาวหมดทุกแผ่น ปูพื้นก็ได้ ติดกำแพงก็ได้ สีน้ำก็ไม่ต้องแพงเอาราคาถูก ๆ ก็ได้ อย่างว่าเราเข้าใจตรงกันในห้องนี้ ระบายสีไม่ได้แปลว่านกแก้วต้องสีเขียว มังคุคต้องสีม่วง ออกนอกกรอบคือศูนย์ ระบายสีชื่อมันบอกอยู่แล้วว่าระบาย ดังนั้น มันก็จะเหมือนทรายในข้อที่ว่าใช้ระบายความเครียด ความคับข้องใจได้ดีมาก แต่มันจะดีกว่าทรายตรงที่ว่าแค่ขีดความหมายก็เกิด แค่ปลายพู่กันลงไปสักเส้นความหมายก็เกิด เกิดที่ไหน เกิดในสมองเขา สีเทียนขีดแล้วจะขาดเป็นจุด ๆ พื้นผิว (texture) ของกระดาษก็เปลี่ยน ความหมายก็เกิดสมองก็เปลี่ยนอีก กลับไปสถานการณ์ (scenario) เดิม เซลล์ประสาทชาร์จอิเล็กตรอน เส้นประสาทแกว่งตวัดออกไปแตะกันเป็นวงจร เด็กวาดรูปหนึ่งลงบนกลางหน้ากระดาษ A4 เราตีความหมายเลยนะว่าเด็กกำลังสร้างจักรวาลแบบไหน แต่ถ้าเด็กวาดรูปหนึ่งที่ขอบกระดาษเราตีความหมายอีกว่าเด็กสร้างจักรวาลอีกแบบหนึ่ง ทำนองนี้ หมอเอาเรื่องนี้มาพูดเพราะเด็กกำลังสร้างโลก

เด็กแต่ละคนสร้างโลกเร็วไม่เท่ากัน เฉพาะนั้นทุกอย่างจึงตีความหมายหมดบนกระดาษสีขาวที่เด็กคนหนึ่งจะใช้สีประเภทไหนก็ตาม ขีด = ความหมายเกิด คำว่าความหมายเกิดก็คือโลก โลกกระจายตัวอีกแล้ว ขยายตัวอีกแล้ว นี่คือครอสชุดระบายสี

อันที่สาม ผมชอบเชียร์เลยคือชุดปั้น ชุดปั้นจะคล้ายชุดระบายสีตรงที่ว่า เราไม่ได้คาดหวังให้เด็กปั้นสวย ที่จริงแล้วชุดปั้นมีข้อดียิ่งกว่าชุดระบายสีตรงที่ว่าเด็กทารกก็ปั้นได้ เพราะว่าทารกชอบขยำอยู่แล้ว วางอะไรใส่มือบีบหมด ตอนแรก ๆ เป็นรีเฟค เป็นกลไกอัตโนมัติของร่างกาย แต่วันหนึ่งทารกทุกคนต้องขยำดินน้ำมันแน่ ๆ ไม่ช้าก็เร็ว ทุกครั้งที่เขาขยำเนี่ยดินน้ำมันมีข้อดีตรงที่ว่าวินาทีเดียวที่ขยำเนี่ยดินน้ำมันก็เปลี่ยนรูป เปลี่ยนรูปเพราะฝีมือของมือเขาจริง ๆ เขาไม่ใช่กระจอก ๆ นะ ขยำดินน้ำมันน้ำมันก็บุบทันทีเลย ฝีมือตัวเองแท้ ๆ มีคำว่าตัวนะ “ตัวเอง”

บัดนี้ ไม่เพียงแค่ จักรวาล และโลกเกิดขึ้น ตัวเองก็เกิด เพราะการบีบดินน้ำมัน แล้วดินน้ำมันบุบบีบบู้บี้ลงไปเป็นฝีมือตัวเอง จักรวาลมีสิ่งที่เรียกว่าตัวเอง และเราเก่งพอที่จะทำให้ดินน้ำมันบุบบีบบู้บี้ได้อีกด้วย นี่คือรากฐานของสิ่งที่เรียกว่า Self Extreme ตัวเองรู้ว่าตัวเองทำได้ และดินน้ำมันดีมากเปรียบเทียบไกล ๆ ก็คือทำข้อสอบไม่ได้ อ่านไม่ออกตอนอนุบาล 1 เขียนไม่ได้ตอนอนุบาล 2 บวกเลข 4 หลักไม่ได้ตอนอนุบาล 3 ได้คะแนน 0 กลับบ้าน อันนี้เป็นการศึกษาประเภททำลาย ทำลาย Self Extreme ตื่นเช้ามาหนูก็รู้ว่าหนูทำไม่ได้ Self ก็ถอยลง แต่ถ้าตื่นเช้ามาบีบดินน้ำมันใคร ๆ ก็บีบได้ โลกก็เกิดตัวเองทำได้

ในหนังยิ่งกว่าดินน้ำมัน กลับไปที่มีด กรรไกร เข็มเย็บผ้า ประคับประคองไข่จนกว่าจะฟักเป็นตัวดูแลมันต่อ ระบายสีไข่ ดังนั้น ถามว่าอะไรที่พ่อแม่ทั้งประเทศไทยเล่นได้แน่ ๆ ไม่ว่าจะจนเท่าไรก็ตาม ทราย สีน้ำราคาถูก ๆ เศษกระดาษสีขาว ดินน้ำมันแบบมีพิษเยอะ ๆ แต่ราคาถูกหน่อย ใช้ไปเถอะ เรื่องพิษพิสูจน์ไม่ได้ พูดกันวันหลัง เอาเรื่อง EF ก่อน เอาเรื่อง Self extreme และ EF ก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยมาคุยกันทีหลัง

ในฐานะคุณพ่อคุณแม่เราจะช่วยเด็กสร้าง EF ได้อย่างไรบ้าง

ในส่วนของ EF มีคำสำคัญคำหนึ่งในนิยามของ EF คือคำว่า “เป้าหมาย” หรือ Target อันนี้คือเรื่องใหญ่ที่เราต้องพูดในประเทศไทยด้วย การเล่นเสรีในป่าตลอด 90 นาทีจากในหนัง จะเห็นว่าครูช่างปล่อยเหลือเกิน ไม่รู้ว่าเด็กกำลังทำอะไรกันแน่ ประเด็นคือเขาปล่อยให้เด็กกำหนดเป้าหมายเอง ซึ่งอันนี้ยากมากเลยในประเทศไทย เขาปล่อยให้เด็กพกสิ่งที่เรียกว่า “เจตจำนงเสรี” ตัวเด็กเป็นผู้กำหนดเป้าหมายเอง อยากทำอะไร เล่นอะไร ความสามารถนี้ต้องฝึก ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายด้วยตนเองต้องฝึกมันไม่มาเอง แล้วนาทีทองของการฝึกก็ยังอยู่ใน 8 ขวบปีแรก เด็กจะฝึกได้ภายใน Space ที่กว้างพอสมควร มีสรรพสิ่ง มีวัตถุที่จัดความสำคัญไว้เรียบร้อยแล้ว เด็กก็เลือกกำหนดเป้าหมายมาสักเป้าหนึ่ง แล้วก็เล่นหรือไปให้ถึง ทำไม่ได้ก็เปลี่ยนเป้า หรือไม่ก็เปลี่ยนวิธี เดินได้ไม่ถึง 5 ก้าวสักที ก็เปลี่ยนวิธีให้ถูก

ดังนั้น การเล่นที่เป็นอิสระมาก ๆ ที่เราเห็นอยู่ในหนัง ความหมายที่ยิ่งใหญ่ก็คือ เขายินดีที่จะสละเวลาทั้งวัน ปล่อยเด็กหาเป้าหมายกันเอง แน่นอนการเล่นบางชนิดมันมีเป้าหมายชัดตั้งแต่แรก แต่จริง ๆ หนังเรื่องนี้ที่เขาพยายามจะสื่อก็คือ “ปล่อยไป” ก็อดไม่ได้ที่มันต้องเทียบกับเด็กบ้านเรา ว่าเด็กของเราตื่นเช้ามามีเป้าหมาย เป้าหมายคือต้องบวกเลข 4 หลักให้ได้ก่อนอนุบาล 3 ตัวเลข 4 หลักไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเราขยันที่จะกำหนดเป้าหมายให้เด็กเยอะมาก ว่าต้องทำอย่างนั้นได้ ณ เวลาเท่านั้น ในประเด็นเรื่องการศึกษา แต่เรื่องที่สำคัญกว่า เช่น ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองเรากลับปล่อยปละละเลยเสียมากกว่า

ตามหลักความเป็นจริงของสังคมบ้านเรา เราไม่อาจจะสามารถเลือกโรงเรียนที่เล่นตลอดเวลาได้ ในฐานะที่เราอยู่ที่บ้าน ดูแลเขาที่บ้านเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ข้อแรกคือ “รู้ทัน” ข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เรายินยอมให้ลูกถูกกระทำด้วยการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ เรายินยอมไม่ได้ ข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องความสำคัญระดับต้น ๆ คือเราไม่ยอม เหตุที่เราไม่ยอมเพราะว่าโลกมนุษย์ประเภทเรียนเก่งเป็นหมอที่ผมโตขึ้นมา แล้วก็โลกนี้มีแค่ 2 อย่างคือหมอกับวิศวะ มันจบไปหลายปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจบ จบไปหลาย10 ปีแล้ว โลกสมัยใหม่ด้วย iPhone ด้วย Samsung (ซัมซุง) ด้วย ด้วย Smart Phone ที่ดี Tablet ที่ดี

ลูกของเรามีตัวเลือกเป็นแสน ปัญหาคือว่าเขาเห็นตัวเลือกแต่ไม่มีปัญญาไป มีตัวเลือกเป็นแสนอยากได้หมด เราไม่ได้มีแค่หมอและวิศวะ ในการเลือกคณะ แต่พวกเรากำลังเผชิญกับปัญหาว่าเขาไม่มีปัญญาไป

ได้แต่มองแต่ไม่มีปัญญาไป เพราะฉะนั้นเราไม่ยอม ตัวการศึกษาทำให้ลูกเราไม่มีปัญญาไป เพราะว่าเขาถูกส่งมากับระบบท่อง จำ ติว สอบ 4 อย่าง แล้วต้องตอบ ค.ควาย เท่านั้น ห้ามตอบอย่างอื่น ดังนั้น พอเขาเจอตัวเลือกเป็นแสนเลยไปไม่ได้ไปไม่เป็น เพราะว่าสมองไม่มีอะไรเหลือให้ไป มันก็เริ่มตั้งแต่การเล่นไม่พอใน 7 – 8 ขวบปีแรก สมองไม่มีอะไรเหลือให้ไป เซลล์ประสาทชาร์จอิเล็กตรอนกันน้อยมากใน 6 ปีแรก เส้นประสาทสั้นมากแตะกันไม่ถึง วงจรประสาทน้อยมาก ไม่สามารถรับมือกับโลกที่มี Option (ตัวเลือก) เป็นแสนแบบนี้ได้

ส่วนข้อที่ 2 ถัดจากคำว่า “รู้ทัน” คือ เรา “เห็นความสำคัญ” เห็นความสำคัญที่ลูกจะได้เล่น ลูกจะได้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรียนมาจากโรงเรียนในระบบ เรามีความสำคัญ ความสำคัญคือคำว่า “เห็นความสำคัญ” เพราะถ้าไม่เห็นความสำคัญพ่อแม่ก็นอนเหมือนเดิม ถ้าพวกเราเห็นความสำคัญว่าต้องซื้อรถใหม่พวกเราจะซื้อจนได้ แต่ถ้าไม่เห็นความสำคัญก็รอได้ เพราะฉะนั้นเราเห็นความสำคัญที่จะต้องเปิดช่องให้ลูกหายใจได้

และข้อที่ 3 ต้อง “มีเวลา” ลูกเริ่มเรียนกี่โมง ถึงบ้านกี่โมงไม่รู้ เวลานอนกี่โมงไม่รู้ เวลามีเท่านี้ เสาร์อาทิตย์ต่างหาก ส่งไปติวอีก 7 วิชา วันละกี่ชั่วโมง ถ้าเราเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าเวลา เราก็จะหาเวลาจนได้ แต่ถ้าไม่เห็นก็ช่วยไมได้ เหมือนกันเวลาที่จะคืนลูก ลูกที่คับแคบมาจากโรงเรียนตลอดทั้งวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลาที่เราจะคืนเขาคุณจะให้กี่ชั่วโมงต่อวัน กี่ชั่วโมงต่อเสาร์ – อาทิตย์หนึ่งครั้ง ตอนนี้อยู่ที่พวกเราแล้วว่าจะเห็นความสำคัญแล้วก็ให้เวลา เวลาที่ได้มาทำอะไรเป็นส่วนใหญ่ ผมยังยืนยันว่า “เล่น” โดยเฉพาะชั้นประถมวัยก่อน 7 ขวบ การเล่นเด็กไม่มีอะไรต้องมาคิดมาก สำหรับผมแล้วก่อน 7 ขวบไม่มีคำว่ามากเกินไป

ผมคิดว่าเพียงแค่ 3 ข้อ “รู้ทัน” “ให้ความสำคัญ” “หาเวลา” เปิดช่องระบายออก เด็กมีศักยภาพโตได้ดีพอสมควร เหตุเพราะว่าเขามีศักยภาพสูงมากเพียงแค่เราปลดโซ่ตรวน ขอแค่ 3 พยางค์ คือ ปลด โซ่ ตรวน ศักยภาพเขาจะสูงมาก เหตุที่ศักยภาพเขาสูงมากเพราะอะไรครับ เพราะเขามีศักยภาพมากว่าที่ตาเขาเห็น เขามีเวทมนต์ เขามีบทบาทสมมุติ ร่างกายและจิตใจเขาเนี่ยหลุดไปโลกไหน ๆ ได้ในเวลาไม่กี่นาที สร้างจักรวาลไปเรื่อย ๆ บริหาร EF ด้วย ก่อนจะกลับเข้ามาสู่ร่างเดิม จัดตารางสอนพรุ่งนี้ไปเรียนต่อประมานนี้ครับ ในเวลาวันละ 1-3 ชั่วโมงต่อเย็น หรือ 4-5 ชั่วโมงต่อสุดสัปดาห์ เสรีภาพของเด็ก สามารถปลดปล่อย เขาไปได้ไกล ไกลกว่าโลกมนุษย์ที่มีอยู่ ไกลกว่าจักรวาลที่อยู่รอบตัวเรา ไปยังดินแดนที่ไม่รู้จบอันนี้คือความจริง ถ้าเราคงเส้นคงวาตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ในประเทศนี้ภายใต้ระบบการศึกษาที่คับแคบเช่นนี้ ชีวิตเขาไปได้อีก ส่วนถามว่าจะไปแล้วแข่งขันกับประเทศอื่นได้หรือไม่ มันจะเป็นประเด็นอื่นนะครับ

  • เด็กสร้างจักรวาลของเขาเองได้ว่าการศึกษาของประเทศหน้าตาควรจะเป็นประมาณไหน

เรื่องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เราได้แต่รอคอยว่าเมื่อไรจะเปลี่ยนแปลงสักที ซึ่งการเปลี่ยนทีละอัน ๆ มันอาจไม่สำเร็จ มันพอจะมีหนทางอะไรบ้างหรือเปล่าที่จะมีทางให้เห็นการศึกษาที่เป็นรูปธรรม หรือเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ไม่มี เราทำอะไรได้บ้างในฐานะปัจเจก ก็ตอบไปแล้วนะครับว่า “รู้ทัน” “เห็นความสำคัญ” “บริหารเวลา” อันนี้ในฐานะปัจเจก ไม่สนใจฟ้าดินใด ๆ ทั้งสิ้น ลูกของฉันฉันจัดการเอง ภายใต้กติกาที่มีอยู่และเงินที่มีอยู่ เราอยากให้บ้านเมืองผ่อนคลายระบบการศึกษามากกว่านี้จริง ๆ มากประมาณนี้ด้วยจริง ๆ เรามักมากเราไม่มักน้อย การเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนที่ละชิ้นอย่างที่ครูจุ๊ยพูด ทัศนคติส่วนตัวซึ่งอาจจะผิดแต่คงไม่ผิด วิธีนั้นคงไม่น่าจะสำเร็จ

เพราะว่าจะมีฟันเฟืองอยู่บางตัวหรือหลายตัวในระบบในวงเล็บรวมทั้งระบบ “ราชการ” ที่จะไม่มีวันเปลี่ยน รับประกันว่าไม่มีวันเปลี่ยน เพราะผู้ที่ทำงานบริเวณนั้น ไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พวกเรามีหน้าที่รักษาระบบ พวกเราไม่ได้มีหน้าที่เปลี่ยน พวกคุณอย่าเข้าใจผิด

อันนี้พูดแบบแฟร์ ๆ เราตื่นมาเพื่อรักษาระบบให้คงอยู่เราไม่ได้อยากจะเปลี่ยน ดังนั้นเราอย่าฝันว่าเราจะเปลี่ยน เราก็ประชุมของเรากันไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ผมคิดว่าเรามีความหวังกับคนรุ่นใหม่จริง อันนี้ยอมรับไม่ได้พูดตามแฟชั่น สมาร์ทโฟนเป็นของพวกเขา ผมใช้อย่างมากก็แค่เปิดหนังดูซีรี่ย์ จริง ๆ สมาร์ทโฟนและTablet (แท็บเล็ต)  ในมือของคนรุ่นใหม่ มหัศจรรย์จริง ๆ มันมหัศจรรย์ในจักรวาลที่ผมไม่รู้จัก ดังนั้น ผมก็จะมีข้อสรุปส่วนตัวอีก ซึ่งก็อาจจะผิดว่า คนที่อายุ 40 ปี เนี่ยถอยออกจากระบบบริหารให้หมดเถอะ โดยเฉพาะการเรียน การศึกษา กระบวนทัศน์ และความคิดอย่างเรามันไปไม่ได้ ไปไม่ได้กับโลกที่ IT ลุดหน้าเร็วทั้งตัวเครื่องมือ ตัวความเป็นมิตรกับเราเรื่องของเครื่องมือ นี่แค่ 7 นะครับ (iPhone) ยังขนาดนี้ถ้า 10 จะขนาดไหน ลูกเราจะรับมือมันอย่างไร ทั้งหมดนี้เราต้องการผู้กำหนดนโยบายที่ทันสมัยกว่าคนอย่างผมเยอะ

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบที่ง่ายที่สุดก็คือ การเอาคนเก่าออกทั้งชุด กลุ่มที่อายุเกิน 50 ปี ไม่ควรบริหารแล้ว เก่าไปแล้ว จะพูดว่าแก่เกินไปก็จะน่าเกลียด เก่าแล้วไม่สามารถคิดแทนคิดทันเด็กรุ่นใหม่ ๆ โลกเป็นของเขา เขาสร้างจักรวาลของเขาเองเหมือนการเล่น เขาสร้างจักรวาลของเขาเองได้ว่าการศึกษาของประเทศหน้าตาควรจะเป็นประมาณไหนและก็ลูกของเขา หลานของเขา แล้วก็ไอโฟนรุ่นใหม่ของเขา ซัมซุงรุ่นใหม่ยิ่งกว่าของเขาไปจัดการเองได้ ความจริงมันเป็นปรัชญาเดียวกันพอดีจบที่เรื่องนี้ก็ดี หนังทั้งเรื่อง แสดงให้เห็นว่าเด็กอายุ 6 ขวบปล่อยเข้าไปในป่า เขาสร้างป่าเอง ป่าไม่ได้มีจริงตั้งแต่แรก ป่าที่พวกคุณเห็นนั้น นักสร้างหนังสร้างให้เราดู ต้องคอยท่องเสมอว่าถ้าเราเป็นเด็ก 6 ขวบที่เดินอยู่ในนั้น ป่าไม่ได้มีจริงตั้งแต่แรก และเขาสร้างขึ้นมาเอง กาลครั้งหนึ่ง… เมื่อเขาสร้างขึ้นมาเองเขาจัดการตนเองได้ อุปมามาที่ระบบการศึกษา เราปล่อยให้คนรุ่นใหม่สร้างเองแล้วเขาจะจัดการตนเองได้ นี่เป็นสมมติฐานที่ดีกว่า

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ