ถึงแม้ว่าการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จะยุติลง แต่ปัญหาในทุก ๆ เรื่องยังไม่ได้ยุติตาม เรายังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สัญญาณจากรัฐบาลที่ประกาศจะให้เห็นผลของการปฏิรูปภายใน 8 เดือน (นั้นหมายถึงอีก 1 เดือนจะมีการเลือกตั้ง) จะเห็นผลเป็นรูปธรรม หรือแค่การหาเสียงล่วงหน้าอย่างที่พรรคการเมืองในอดีตเขาได้ทำ ๆ กันมาก่อนแล้ว
คมสันติ์ จันทร์อ่อน
กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
ในช่วงที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ปัญหาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ตั้งแต่วันที่ 2 – 12 พฤษภาคม 2561 ซึ่งมีกรณีปัญหาหลากหลายรูปแบบ การอยู่อาศัยของชาวบ้านก็หลากหลายแตกต่างกันทั้งเมือง และชนบท แต่ประสบปัญหาที่เหมือนๆกันคือ ถูกหน่วยงานรัฐพยายามใช้คดี กฎหมาย บีบขับออกจากพื้นที่ ถูกทำลายทรัพย์สินเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นพืช สวน ไร่ นา หรือแม้แต่บ้านพักที่อยู่อาศัย เกิดปัญหากลุ่มคนไร้ที่ดินทำกิน ไร้บ้านที่อยู่อาศัยจำนวนมาก
จากสถิติตัวเลขของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีประกรที่มีรายได้น้อยไม่มีที่อยู่อาศัยราว 2.3 ล้านครัวเรือน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแผนแม่บทด้านที่อยู่อาศัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะระดมสรรพกำลังของแต่ละหน่วยงานในสังกัด เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, การเคหะแห่งชาติ ที่ดูแลโดยตรงในเรื่องที่อยู่อาศัยในด้านหาทุนในการสร้างบ้าน แต่ถึงกระนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้านไม่มีเงินในการก่อสร้างตัวบ้าน กลับเป็น “ที่ดิน” ที่เป็นปัญหาหลักสำคัญ ที่ไม่มีพอจะเหลือมาแบ่งปันกันเพื่อใช้ทำกิน และอยู่อาศัย เพราะที่ดินถูกค่านิยมให้กลายเป็นสินค้าไปเสียแล้ว
เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ ขปส. เห็นปัญหาข้างต้นจึงพยายามเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหา และสร้างกติกาใหม่ขึ้นมาให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ไม่ว่าจะเป็น “นโยบายโฉนดชุมชน” ที่หัวใจหลักอยู่ที่ชุมชน ร่วมกันจัดการทรัพยากรที่ดินด้วยกัน สร้างการแบ่งปันทรัพยากรสำคัญที่มีอยู่จำกัดร่วมกัน มิได้มุ่งหมายเป็นกรรมสิทธิ์เพื่อนำไปเป็นฐานธุรกิจส่วนตัว
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลนี้ได้เข้ามามีอำนาจบริหาร ขปส. ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมาจนระยะเวลาผ่านเลยมาเกือบจะครบรอบ 4 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาแม้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามสถานการณ์ของปัญหากลับรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ชาวบ้านไม่สามารถเข้าบ้าน ไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในสวน ในนา ของตนเอง ที่บุกเบิกแพ้วถางมา บ้างถูกประกาศให้เป็นที่ดินของรัฐในขณะที่อยู่อาศัยมาก่อน บ้างถูกเอกชนได้สิทธิ์การใช้ที่ดินในขณะที่ชาวบ้านยังอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน
แม้ว่าการชุมนุมติดตามของ ขปส. ในครั้งนี้อาจจะได้มติ บันทึก มาจากกระทรวง หน่วยงานต่าง ๆ มา ใช่ว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เนื่องจากเป็นการบันทึกถึงแนวทางการแก้ปัญหาเป็นรายกรณี ที่ยังไม่มีการสั่งการใด ๆ ลงไปในพื้นที่ และไม่ใช่นโยบายที่จะสรรค์สร้างให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด
จากการเคลื่อนไหวชุมนุมติดตามในแต่ละกระทรวง พบเห็นท่าทีของฝ่ายบริหารระดับสูงที่เปลี่ยนไป ดูคล้ายนักการเมืองช่วงใกล้การเลือกตั้งยิ่งนัก หรือจะประจวบเหมาะกับที่ใกล้จะถึงเส้นชัยโรดแมพที่ทางนายกรัฐมนตรีประกาศไว้ในต้นปีหน้าจะเกิดการเลือกตั้ง ประกอบกันสถานการณ์ที่เกิดการเคลื่อนไหวของนักการเมืองเริ่มขยับหาหลัก หาที่อยู่ กันแล้ว บ้างอยู่บ้านเดิม บ้างอยู่บ้านใหม่
แต่ที่แน่ ๆ จะไม่ว่าเก่า หรือใหม่ การแก้ปัญหาปากท้องยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา อย่างที่ ขปส. ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องมา 2 รัฐบาล และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ 3 นั้น
ตรงข้ามปฏิกิริยาของนายกรัฐมนตรีกับมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับคนจนจากการให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหวของ ขปส. หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ในหลายประเด็นยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงนายกรัฐมนตรีไม่ทราบข้อเท็จจริงความเดือดร้อนของ ขปส. การกล่าวหาประชาชนรากหญ้าเรียกร้องเอาแต่ของฟรีนั้น ต้องดูประเด็นถึงการก่อเกิดของปัญหาเหล่านั้นว่าที่มาที่ไปเป็นเช่นไร หากคนอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าแล้วนั้น นี่เป็นสิทธิที่ประชาชนต้องเรียกร้องเอาสิทธิคืนมิใช่หรือ และนายกรัฐมนตรีไม่ต้องกังวลถึงจะมีประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มาเรียกร้องกันอีก ถ้าหากสังคมไทยมีความเป็นธรรมที่เท่าเทียมและทั่วถึงในทุกชนชั้น
อยากจะขอชี้แจงการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่อาจจะทำให้นายกรัฐมนตรีได้ข้อมูลข้างเดียวคือเหล่าข้าราชการที่ส่งเรื่องไปรายงานอย่างไม่ครบถ้วนให้ได้เข้าใจ หากเป็นทางพี่น้องคนจนชนบท การขอใช้ที่ดิน สปก. ที่กลุ่มทุนหมดสัมปทานไปนานแต่ยังใช้ประโยชน์อยู่โดยไม่ได้จ่ายอะไรให้กับรัฐเลย แล้วพี่น้องเกษตรกรที่ไร้ที่ดินเข้าไปทำกินในที่ สปก. แล้วทวงที่ดินกลับมาให้เป็นของ สปก. ดังเดิม ที่ต้องแลกด้วยชีวิต เลือด เนื้อ ของเขาเหล่านั้นคงไม่ใช่การเรียกร้องเอาฟรีๆอย่างที่นายกฯเข้าใจ
กลับมองในด้านทางคนจนเมืองข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีอยู่ข้อเรียกร้องหนึ่งว่า “ให้รัฐอุดหนุนระบบสาธารณูปโภค น้ำประปา – ไฟฟ้า แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายในโครงการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยของรัฐ” นั้น
จะขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้ว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองภายนโยบายโครงการบ้านมั่นคง ที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัยใหม่จำนวน 80,000 บาทต่อหน่วย เท่ากับโครงการบ้านรัฐเอื้อราษฎร์ ที่ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) แต่การดำเนินงานต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่ กคช. สามารถทำสัญญาว่าจ้างใช้งบทั้ง 80,000 บาทต่อหน่วยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วน พอช. จะต้องนำเงิน 80,000 บาท มาจัดสรรออกเป็น 3 กอง ใหญ่ๆ คือ บริหารตัวโครงการบ้านมั่นคง การพัฒนาขบวนชุมชน และสุดท้ายคือการก่อสร้างที่อยู่อาศัย จาก 80,000 บาทต่อหน่วยจะเหลืออยู่ราว 50,000 บาทต่อหน่วย
แน่นอนการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่จำเป็นต้องมี “ที่ดิน” และที่ดินในเมืองยกตัวอย่างเช่นกรุงเทพมหานคร คนจนหมดสิทธิ์ที่จะใช้ที่ดินใจกลางเมืองหลวงแน่ ๆ ถ้าสถานการณ์ที่ดินยังคงเป็นสินค้า และรัฐยังหวงแหนที่ดินให้กับการทำประโยชน์เชิงพานิชย์ คนจนจึงต้องหาที่ดินชานเมือง และมีสภาพที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ทำให้การลงทุนในการปรับพื้นที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะมากพอสมควร และระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า – ประปา ยังเข้าไม่ถึงหรือถึงแต่ไม่เพียงพอจำเป็นต้องขยายเขต ขยายกำลังในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น
ระบบของการไฟฟ้า – การประปา ทั้งนครหลวง และภูมิภาค มีความคล้ายกันคือ เริ่มต้นต้องให้ผู้ขอเข้าไปทำเรื่องขอประเมินค่าใช้จ่ายการติดตั้งระบบปักเสา พาดสาย (คนละอย่างกับขอติดตั้งมิตเตอร์ของบ้านแต่ละหลัง) ซึ่งขั้นตอนการประเมินก็จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ถึงแม้ว่าภายหลังเราตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อ ก็ไม่สามารถเรียกเงินในส่วนนี้กลับคืนได้
ขั้นตอนต่อไปหากเราพึงพอใจ หรือ มีกำลังในการจ่ายไหวตามราคาที่หน่วยงานประเมินมาให้เราจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 100% ก่อนภายใน 3 เดือน ไม่เช่นนั้นค่าใช้จ่ายที่ประเมินไว้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ และอาจจะต้องประเมินใหม่ (นั้นหมายถึงว่าต้องเสียค่าประเมินใหม่ด้วย) หลังจากที่มีการชำระเงินไปแล้ว การไฟฟ้า – การประปาจึงจะลงมาดำเนินการติดตั้งระบบให้ หลังจากที่มีการปักเสา พาดสายไฟฟ้า หรือวางแนวท่อประปา แล้วเสร็จ อุปกรณ์ทุกอย่างคือของทางราชการทันที เราไม่มีสิทธิ์เคลื่อนย้ายหรือกระทำการใดๆโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานนั้นๆ
หลังจากนั้นจึงถึงขั้นตอนให้เจ้าบ้านในแต่ละหลังไปยื่นขอติดตั้งมิเตอร์น้ำ – ไฟฟ้า ของตัวเองก็จะมีค่าใช้จ่ายค่าหม้อไฟ มาตรวัดน้ำอีกต่างหาก แล้วแต่ว่าผู้ขอต้องการใช้ขนาดไหนอย่างไร (และก็เช่นกันหม้อไฟ และมาตรวัดน้ำก็จะกลายเป็นของหลวงเหมือนกัน)
จากนั้นการไฟฟ้า – การประปา ก็จะส่งพนักงานมาจดเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพื่อเก็บเป็นรายได้ขององค์กรตนเอง แต่ในใบเสร็จยังคิดค่าบริการอยู่ในนั้นอีกซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าค่าบริการอะไร
หากดูตั้งแต่ต้นขั้นตอนไหนที่การไฟฟ้า – การประปา ลงทุนจากองค์กรตัวเองบ้าง นี่ยังไม่นับสัดส่วนภาษีกองกลางที่ต้องตัดส่วนแบ่งมาให้ทั้ง 2 องค์กรนี้เพื่อมาเป็นเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ ภายใต้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่เคยขาดทุนทั้ง 2 องค์กรนี้ได้กำไรมาจาก การมีทุนของตัวเองจาก “ภาษีของประชาชน” และหากำไรจาก “ค่าบริการรายเดือน” แต่ไม่เคยลงทุนอะไรเลยในเส้นทางการดำเนินงาน
นี่คือรายละเอียดว่าทำไมเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงต้องมีข้อเรียกร้องดังกล่าวออกมา ไม่ใช่ขอฟรีอย่างที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจ แต่ที่มาที่ไปเป็นอย่างที่ชี้แจงข้างต้น และกลุ่มเป้าหมายไม่ได้ว่าให้ประกาศนโยบายอุดหนุนทั่วประเทศ แต่ให้นำร่องเฉพาะโครงการของรัฐที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีความเดือดร้อนอยู่จำนวนมาก รัฐบาลจะมองอย่างไรเมื่อชาวบ้านดิ้นรนได้ที่ดิน แล้วสร้างบ้านสวยงาม แต่ท้ายสุดไม่มีปัญญาใช้ไฟฟ้า ประปา ของรัฐได้ต้องไปพ่วงสายต่อท่อจากที่ข้างเคียงอย่างที่เขาเคยอยู่ในสลัมเช่นนั้นหรือ
ฉะนั้นแล้วการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ไม่ได้เป็นการร้องขอให้สงสาร แล้วรัฐจัดสงเคราะห์ให้เป็นรายๆไป แต่การเคลื่อนไหวนี้เรามีต้นทุนที่สูงมากเดิมพันด้วยที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ชีวิต วิถีวัฒนธรรม หากพ่ายแพ้สิ่งเหล่านั้นก็จะมลายหายไปด้วยเช่นกัน ไม่มีอะไรจะได้มาฟรีๆในโลกนี้ จึงอยากจะให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เข้าใจคนยากคนจนที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องด้วย
ถึงแม้ว่าการชุมนุมของ ขปส. จะยุติลง แต่ปัญหาในทุก ๆ เรื่องยังไม่ได้ยุติตาม หากจับตาดู คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฎิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายก โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองประธาน ได้ส่งเสนาธิการทหารบกมาเจรจาเพื่อแสดงความห่วงใยในการแก้ปัญหา และได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับผู้แทน ขปส.
ปัจจุบันคณะกรรมการดังกล่าวได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกหนึ่งชุดเพื่อแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมโดยเฉพาะ ที่มีกรณีปัญหา 172 กรณี แต่ครอบคลุมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชุมชนกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค และในคณะอนุกรรมการนั้นเองจะประกอบยไปด้วยปลัดกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ขปส. ราว 7 กระทรวงหลัก ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับสิบหน่วยงาน
เรายังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สัญญาณจากรัฐบาลที่ประกาศจะให้เห็นผลของการปฏิรูปภายใน 8 เดือน (นั้นหมายถึงอีก 1 เดือนจะมีการเลือกตั้ง) จะเห็นผลเป็นรูปธรรม หรือแค่การหาเสียงล่วงหน้าอย่างที่พรรคการเมืองในอดีตเขาได้ทำ ๆ กันมาก่อนแล้ว
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะยังคงติดตามการแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม