ปลุกความเป็น “ครู” ในตัวคุณ : ครูกุ๊กกั๊ก ร่มเกล้า ช้างน้อย

ปลุกความเป็น “ครู” ในตัวคุณ : ครูกุ๊กกั๊ก ร่มเกล้า ช้างน้อย

เรื่อง/ภาพ : สุวนันท์ อ่ำเทศ

“ต้องมี (เสียงแข็ง) ไม่มีมันจะสว่างได้อย่างไร (หัวเราะ) อยากให้อดทนรอหน่อย จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องเป็นไฟกองใหญ่ก็ได้ เราเป็นไฟกองเล็ก ๆ ก็ได้ แล้วแอบจุดอย่างที่พี่ทำก็ได้ แอบไปจุดครูบ้าง จุดผู้บริหารบ้าง จุดนักเรียนบ้าง เดี๋ยวไฟมันก็สว่างเอง เราเป็นนักวางเพลิงอยู่แล้ว แต่เราเป็นนักวางเพลิงทางการศึกษา ทางความคิด วันหนึ่งไฟเรามอดแต่ไฟของเราที่เป็นต้นเพลิงก็ไปอยู่ที่คนอื่น วางเพลิงเฉย ๆ นะ ถ้ามีคนดับก็ปล่อยเขาไป เราไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องคิดเหมือนเรา เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย (หัวเราะ)”

นี่คือคำตอบของ ‘กุ๊กกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย’ ที่ปลุกพลังความเป็นครูในตัวคุณ หลังจากเราถามถึงความคิดเห็นต่อประโยคที่ว่า “ครูจบใหม่ไฟแรง แต่สอนต่างจากเดิมไม่ได้ จะมีไฟไปทำไม”

หลายคนคงกำลังสงสัยอยู่ใช่ไหม ว่าเจ้าของชื่อ ‘กุ๊กกั๊ก’ คนนี้เป็นใคร ‘ครูกั๊ก’ ‘ครูร่มเกล้า’ หรือ ‘ครูช้างน้อย’ จบปริญญาตรี จากคณะครุศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ และปริญญาโท สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนี้เป็นครูคณิตศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม และติด 1 ใน 30 ครูในโครงการ TEDxBangkok School Ambassador อีกด้วย

การจับคู่กันระหว่างวิชาคณิตศาสตร์และศาสตร์ของดนตรี ที่ครูกั๊กนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน ทั้งเพลงมันเป็นใคร ver.อ๋อตรรกศาสตร์ สอนเรื่องสูตรคณิตศาสตร์, PPAP ver.2 ตรีโกณ ฯลฯ และการใช้เครื่องมือช่วยสอนอย่าง Google Classroom ที่สามารถพัฒนาเด็กหลังห้องให้กลายเป็นเด็กหน้าชั้นเรียนได้ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า “คณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป”

เริ่มรู้ตัวว่าอยากเป็นครูตอนไหน

เริ่มตั้งแต่อยู่ที่คณะตอนปีหนึ่ง ได้เข้าไปทำค่ายอยากเป็นครูซึ่งตอนนั้นจริง ๆ ตัวเองเฉย ๆ กับการเป็นครูมากเป็นก็ได้ไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าตอนนั้นตอนที่มีน้องค่ายมา แล้วเรารู้สึกว่าคนพวกนี้อยากเป็นครูมากกว่าเราอีก รู้สึกแพ้ไม่ได้ ก็เลยไปเสพทุกอย่างเกี่ยวกับการเป็นครูตลอด 5 ปี จนไปฝึกสอน ก็รู้ว่าตอนนั้นตัวเองอยากเป็นครูแล้ว แม้ว่าตอนที่ฝึกสอนจะมีทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบในโรงเรียน แต่ว่าพอเรามาอยู่ในโรงเรียนจริง ๆ มันเห็นพลังบางอย่างที่ได้จากตัวเด็ก แล้วก็เราอยากได้โอกาสในการที่เราจะคืนโอกาสที่เราเคยได้ให้กับเด็ก ก็เลยรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยากอยู่ในโรงเรียน

ที่บอกว่าตอนแรกยังไม่ได้อยากเป็นครู แล้วเข้ามาเรียนครูได้อย่างไร

เหตุผลมันจะดูเลวนิดหนึ่ง คือ รุ่นพี่ที่โรงเรียนเขาเข้าคณะครุศาสตร์มาก่อน แล้วเขาก็บอกด้วยเหตุผลง่ายๆว่า แดดจุฬาโดนแล้วขาวสาวจุฬาสวยแค่นี้แหละ ก็เลยเข้ามาก่อนแล้วเพราะว่าแค่อยากตามรุ่นพี่เฉยๆ ตอนนั้นก็ชอบสอนอยู่นิดนึ่งแล้วก็เลยไม่รู้สึกผิดอะไรที่จะเรียนคณะนี้ประมานนี้

แล้วขาวจริงไหม

(หัวเราะ) จริงครับ แต่แดดจุฬาขาว มันคือต้นไม้เยอะ เดินไปตรงไหนมันก็ร่ม อย่างไปที่อื่นต้นไม้เยอะจริง แต่มันไม่ได้อยู่ตรงที่คนเดิน มันครอบเอาไว้ตรงนู้นก็ร่ม ตรงนี้ก็ร่มมันก็เลยขาวขึ้น พอมาอยู่นี้ก็เริ่มดำแล้ว

จากฝึกสอนจนมาเป็นครู ความคิดเราเปลี่ยนไปบ้างไหม

เคยมีความคิดอยากลาออกทุกปี เมื่อประมาน 2-3 ปีแรกที่บรรจุ รู้สึกว่าเราคงทำอะไรกับระบบนี้ไม่ได้แล้ว รู้สึกสิ้นหวัง อยากไปทำงานบริษัท อยากไปอยู่โรงเรียนที่มีแนวคิดปรัชญาที่มันไปไกลกว่านี้ เหมือนตอนนี้อะไรก็ตามที่เราจะไปข้างหน้า มันมีระบบฉุดเอาไว้อยู่ว่า มันไปได้นะ แต่มันมีระบบแบบนี้อยู่ มันต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ซึ่งมันก็ดีส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งมันช้าไป บางทีเราคิดได้แล้วแต่กว่าจะได้ทำ มันอาจจะหมดความอยากตรงนั้นไปแล้ว ก็มีอาจารย์ฮูกหรืออาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ผมไปปรึกษาเขาแล้วอาจารย์เขาก็บอกว่า “จริง ๆ ครูอยากให้กั๊กอยู่โรงเรียนนี้นะ” เหมือนเขาเสริมกำลังใจให้ว่า “ถ้ากั๊กไปโรงเรียนนั้น โรงเรียนนั้นเด็กเขาได้โอกาสดีอยู่แล้ว ทำไมกั๊กไม่ให้เด็กที่โรงเรียนเรารู้สึกดีที่มีครูแบบกั๊ก” ตอนนั้นผมรู้สึกว่า โอ้!!!  แล้วอาจารย์พูดมาแบบนี้มันยิ่งเสริมให้เรามีคุณค่าในความเป็นครูบางอย่างขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าเราต้องทำบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าโชคดีที่ได้เรียนกับเรา ก็รู้สึกว่าอยากอยู่ตรงนี้ต่อไป

ได้เจอเด็กจริง ๆ เป็นไงบ้าง

ก็ท้าทาย เพราะว่าตอนฝึกสอน ฝึกสอนโรงเรียนเอกชน ฝึกสอนโรงเรียนสาธิต ซึ่งเด็กค่อนข้างโอเคมาก ๆ แล้วพอมาอยู่โรงเรียนรัฐบาล มันมีการผสมกันมีหมดเลย ตั้งแต่จนสุดไปถึงรวยมาก เราก็ต้องปรับตัวกับสังคมที่มันคละ ๆ กัน ผมว่าดีเพราะอาจารย์เคยบอกว่า “เราอยากเห็นประเทศเราเป็นแบบไหน สังคมแบบไหน ก็ต้องทำให้มันเป็นแบบนั้น” ซึ่งการที่มาอยู่โรงเรียนรัฐมันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แล้วถ้าเกิดเราสามารถสร้างโมเดลที่ดีในโรงเรียนได้ เขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้

 

ความยากในการสอนคืออะไร

ความยากคือความต้องการที่โครตจะแตกต่างกันเลย ด้วยความที่ระบบการศึกษาไทยจัดกลุ่มเด็กตามเกรด ซึ่งผมว่ามันห่วย เพราะว่าเขาไม่ได้จัดเกรดตามวิชา เขาจัดเกรดเฉลี่ย อย่างเช่น พี่ได้เกรดเฉลี่ยสมมุติ 3.5 แต่พี่อ่อนวิทย์มาก ๆ แต่เฉลี่ยดี เขาก็จัดพี่ให้ไปเรียนวิทย์คณิตด้วย อันนี้คือผลเสียหนึ่งที่พี่เคยถูกกระทำตอนที่เป็นเด็ก คือเลือกสายศิลป์คำนวณ แต่โรงเรียนเห็นว่าเกรดสูงก็เลยจับไปเรียนวิทย์คณิต ซึ่งก็ต้องรื้อตัวเองใหม่เพราะว่ามันจัดตามเกรดเฉลี่ยไง แล้วพอจัดตามเกรดเฉลี่ยเหมือนว่ามันจะใช่แต่มันก็ไม่ใช่อยู่ดี เพราะว่าขณะที่เราสอนเด็กห้องเก่ง เราไม่ได้สอนเด็กที่เก่งเลขทุกคนมันมีเด็กที่ไม่เก่งเลขปนอยู่ด้วย หมายความว่าการจัดห้องตามเกรดเฉลี่ยถือว่าไม่โอเค ซึ่งอันนี้ทุกโรงเรียนเขาก็ทำกัน แต่อาจจะมีบางโรงเรียนที่เขาทำอย่างอื่นไปแล้วแต่ผมไม่รู้ก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหามาก เพราะว่าถ้าจะให้คาบนั้นมีประสิทธิภาพจริง ๆ ผมต้องสอนทั้งหมด  3 แบบ

แบบที่ 1 คือสอนหน้ากระดาน

แบบที่ 2 คือสอนเป็นกลุ่ม

แบบที่ 3 คือสอนรายบุคคล

เพื่อที่จะได้ตอบสนองวิธีการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างกัน ซึ่งมันเหนื่อยในการสอนแค่เด็กคนเดียว แล้วเด็กมี 30 – 40 กว่าคน

แล้วความง่ายล่ะ มีบ้างไหม สิ่งที่ทำให้มีความสุขทุกครั้งที่สอน

ถ้าเทอมนี้ก็คงเป็น Google Classroom ครับ มันช่วยตรงที่เราสอนในห้อง แต่มันเหนื่อยนะ หมายความว่าเรากลับไป เราก็ไปอัดวีดิโอสอน แล้วก็อัพลง Google Classroom แล้วเด็กวงเล็บเฉพาะคนที่สนใจ เข้าไปดูคลิปพวกนี้สามารถทำคะแนนได้ดีขึ้น แล้วก็สามารถทำให้ตัวเองกดวนซ้ำคลิปที่เราสอนได้ ซึ่งจะให้ดูคลิปคนอื่นสอนได้ถ้าเป็นคลิปที่เราสอนเอง มันจะตรงกับทรีตเด็ก ตรงกับสไลด์ที่เราสอนในห้องมากกว่า แล้วก็จะช่วยเด็กที่ไม่มาเรียนแต่สนใจเรียนก็ได้ อย่างเช่น วันนี้ป่วยจริง ๆ แต่กลับเข้าไปดูคลิปที่เท่านี้นะ เด็กเขาก็จะเรียนรู้ได้ แล้วก็มันเป็นภาพน่ารักเหมือนปกติเข้าแถวหน้าชั้นตอนเช้า ปกติเด็กเขาก็จะเล่นมือถืออยู่แล้ว แต่ว่าวันที่จะมีสอบเด็กเขาจะเอามือถือขึ้นมาแล้วก็ฟังคลิปที่เราสอน ซึ่งมันก็เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย หมายความเด็กจะไปเรียนรู้ตอนไหนเมื่อไรก็ได้ มันก็ตอบโจทย์ ผมว่าน่าจะตอบโจทย์ความเป็นการศึกษา 4.0 อยู่เหมือนกัน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมานั่งสอนใหม่ทุกคน ไล่กลับไปดูแล้วสงสัยค่อยมาถาม มันก็เป็นการเรียนแบบไป ๆ มา ๆ ทั้งครูก็เหมือนจะสร้างภาระให้ตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วเราสร้างแค่ครั้งเดียว เพราะเราอัดคลิปแค่ครั้งเดียวถูกไหม แล้วก็สามารถใช้ได้ อยู่ในเซฟเวอร์ตั้งนานจนกว่าโลกจะระเบิด

เหนื่อยไหม

หลังจากที่ทำไปแล้ว มันก็มีช่วงที่รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน เพราะว่าเราต้องกลับไปนั่งอัดคลิป คือช่วงแรก ๆ เรารู้สึกว่าเราอยากให้คลิปนี้มัน Perfect เพราะว่าพอนำไปสู่สาธารณะแล้ว ถ้าเราสอนผิดมันจะมีคนเข้ามาดราม่าแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจะต้องพูดทุกคำให้มันถูก แต่หลังจากนั้นเด็กก็มาบอกว่าครูไม่เป็นไรหรอกพูดผิดบ้างนิดหน่อย หลังจากที่เราคอยตัดต่อตลอดเวลาเราก็อัดรวดเดียวจบ ซึ่งมันง่ายแล้วมันก็ไม่เหนื่อย ผลที่ได้ก็คือเราก็ประเมินอีก อย่างที่บอกเราก็จะประเมินทุกปี เด็กที่เข้าไปทำเขาก็บอกเขาสามารถที่จะกลับเข้าไปทำ 3 – 5 รอบ แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่เรียนรู้ช้า

อย่างที่บอกเราต้องตอบสนองการเรียนรู้ของแต่ละคนให้ไปมากที่สุด ก็ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงคณิตศาสตร์ได้ง่ายขึ้น แล้วก็มีผลสอบปกติเด็กคนนี้ชอบเลขประมานหนึ่งแล้ว แต่ว่าคะแนนไม่ได้โดดเด่นมาก ก็ปรากฏว่ากลับไปดู Google Classroom ก่อนมาสอบก็ได้ท็อปของชั้น เท่ากับเพื่อนที่เรียนเก่งในระดับเดียวกันก็ถือว่าได้ผล

google classroom คือตัวช่วยของครูยุค 4.0 อย่างแท้จริง

เอาจริงแบบฟอร์มของมัน มันเอื้อที่เราจะคุยกับเด็กได้ง่ายขึ้น เพราะด้วยความที่ตอนนี้เด็กทุกคนมีสมาร์ทโฟนแล้ว Classroom สามารถเปิดในสมาร์ทโฟนได้ เด็กสามารถเช็คทุกอย่างได้ เราสามารถเอาคะแนนขึ้นแบบเรียวไทม์ เพราะฉะนั้นเด็กจะรู้ว่าตัวเองมีคะแนนเท่าไร วงเล็บถ้าเด็กคนนั้นสนใจ เพราะฉะนั้นเราจะช่วยเด็กที่สนใจในการเรียนได้มากขึ้นประมาณนั้น ส่วนเด็กที่ไม่สนใจเรียนถ้าเขามาโรงเรียนเราก็จะตามเขาได้

ทำไมต้องวงเล็บ

ผมว่ามันเป็นเรื่องใหม่ที่เด็กยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมการเรียนแบบนี้ ฉะนั้นด้วยความที่เราพึ่งทำมันเป็นเทอมแรก เราจะยังไม่ค่อยเห็นว่าเราจะทำอย่างไรให้มันสำเร็จได้ดี เพราะฉะนั้นที่วงเล็บมันจะต้องเกิดจากความอยากของเด็กก่อน ที่จริงการศึกษามันควรจะตั้งมาจากความต้องการของเด็กอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันเป็นความต้องการของอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะ ทั้งสังคม ประเทศ อันนี้มันก็โอเค มันก็เข้าใจว่ามันเป็นความต้องการหลายระดับ แต่ว่าความต้องการที่มันจำเป็นจริง ๆ มันก็คือเด็ก ถ้าเด็กเขาไม่ต้องการจริง ๆ ต่อให้เรายัดเขาไปเท่าไรเขาก็ถีบมันออก เพราะฉะนั้นถึงบอกว่ามันควรจะเป็นในวงเล็บที่เด็กต้องการหรือว่าเด็กที่สนใจมากกว่า

ดูอินกับการสอนมาก ตั้งแต่สอนมามีเรื่องราวประทับใจบ้างไหม

ประทับใจเด็กกลุ่มหนึ่งเป็นเด็กกลุ่มที่ทำธีสิสตอนปริญญาโท จริง ๆ ทำ 2 กลุ่ม ด้วยความที่พี่เรียนการศึกษานอกระบบ เพราะฉะนั้นเราต้องสนใจเด็กนอกระบบก็จมีสถานสงเคราะห์บ้านตะวันใหม่ที่สมุทรปราการกับเด็กข้างนอกที่ไหนก็ได้ ซึ่งเราก็ประกาศในโรงเรียนของเรา แล้วก็มีเด็กในโรงเรียนเราสนใจแล้วก็มา ก็ Workshop ให้เด็ก 10 คนนี้เกิดความเชื่อมันในตัวเอง ก็คืออยากให้เขาเป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะเป็น ผลก็คือใน 10 คนนี้ 5 คนก็คือปกติก็คือกลับมาแล้วใช้ชีวิตปกติ ซึ่งอันนี้ผมโอเค แต่อีก 5 คนนี้เกินกว่าที่เราต้องการ เขาสามารถเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบโรงเรียนได้

จากการที่เราแค่ Workshop ตรงนั้น แค่เดือนเดียวเอง เขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนได้เยอะมาก อย่างเมื่อก่อนนี้โรงเรียนจะมีการลุกนั่งถ้าคนมาสาย เด็กไม่โอเค เด็กก็ประกาศนโยบายหน้าเวที ผมจะไม่เอากฎระเบียบแบบนี้ เด็กก็เฮกันทั้งโรงเรียน แต่ปรากฏว่าก็คนที่ประกาศก็ไม่ได้ชนะ แต่เพื่อนในทีมหมายความว่าอีกเบอร์หนึ่งเป็นเพื่อนกัน ก็ช่วยกันผลักดันนโยบายนี้ต่อ แม้ว่าคนนั้นจะไม่ได้ชนะจนสุดท้ายเราสามารถเปลี่ยนกฎระเบียบโรงเรียนจากการที่ลุกนั่งเป็นไม่ต้องลุกนั่งก็ได้ ไปเปลี่ยนเป็นวิธีที่กระทรวงกำหนด เช่น การตัดคะแนนเข้ามาช่วยแทน

ผมรู้สึกว่าเราได้ทฤษฎีใหม่แล้ว เป็นการค้นพบอย่างหนึ่งที่ผมไม่รู้ว่ามีใครคิดทฤษฎีอะไรไว้หรือเปล่า แต่ผมค้นพบจากการทำงานว่าจากตอนแรกที่ผมเคยเชื่อว่า “ถ้าเราเปลี่ยนครูในโรงเรียนได้ เปลี่ยนผู้บริหารในโรงเรียนได้ โรงเรียนจะเปลี่ยน” มันไม่ใช่! จริง ๆ เราเริ่มจากเด็กก็ได้แล้วเด็กเปลี่ยนนักเรียนด้วยกัน สุดท้ายพอนักเรียนด้วยกันเห็นว่ามันไม่ควรที่จะเกิดแบบนี้ แล้วเขาเฮพร้อมกัน 1,000 กว่าคนมันก็สร้างแรงกระเพื่อม จนคุณครูต้องกลับมาถามกันว่า สิ่งที่ครูทำทุกวันนี้มันถูกต้องหรือเปล่า สุดท้ายมันก็เปลี่ยนได้

เราใช้ทั้งกระบวนการทางสังคม และกระบวนการทางสถิติมาช่วยในการเปลี่ยน คือพอเด็กบอกว่าขอเปลี่ยนไม่ให้มีการลุกนั่ง เด็กก็มาสายเยอะขึ้นจริง แต่เขามีการเข้าไปถามคือใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการรับฟัง แล้วก็จดเป็นสถิติว่ามาสายเพราะอะไร เหตุผลคืออะไร แล้วเอาเหตุผลทั้งหมดมาแก้ปัญหาร่วมกันกับโรงเรียน สุดท้ายเด็กก็มาสายน้อยลง ซึ่งมันก็ถือว่าแฟร์ ๆ เป็นผลดีเด็กได้เปลี่ยนกฎโรงเรียนที่ตัวเองไม่ชอบ โรงเรียนก็ได้ผลเด็กมาสายน้อยลงมันวิน ๆ ทั้งคู่ ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้มันประทับใจที่สุดตั้งแต่ที่เรามาทำงาน

5 ข้อที่ครูควรมี

  1. การฟัง : ขอการฟังแบบลึกซึ้ง การฟังแบบไม่อคติเลย ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเล่าเรื่องอะไรมาเราจะไม่สนใจว่าเด็กคนนั้นจะโกหกหรือไม่โกหก เพราะว่าผมว่าการฟังเป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่ทำให้ครูกับเด็กจูนกันติด
  2. ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง : อันนี้เราจบมหาวิทยาลัยมา ไม่มีใครมานั่งสอนแล้ว เราต้องรู้ว่า เราขาดอะไร เราจะต้องไปเรียนรู้เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีทักษะในการเก็บเกี่ยวความรู้ด้วยตัวเอง
  3. เท่าทันอารมณ์ : บางทีคุณครูปรี๊ดแตกง่าย คุณครูต้องเท่าทันอารมณ์ ส่วนใหญ่ถ้าเด็กผมโกรธในห้องน้อยมากที่จะใช้อารมณ์ ปีหนึ่งผมจะโกรธแค่ครั้งเดียว บางห้องไม่เคยโกรธเลย เพราะเราอยู่กับตรงนั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้ความกดดันเหมือนห้องเชียร์ ไม่รู้ว่าผ่านห้องเชียร์กันมาหรือเปล่า (หัวเราะ) ในการที่ต้องทำให้รักกันหรือฟังเรามันไม่จำเป็น เอาแค่เท่าทันอารมณ์แล้วก็จริงกับความรู้สึก เว้นแต่เรารู้สึกว่าพฤติกรรมแบบนี้มันไม่ไหวแล้วนะ ไม่ควรให้เขาไปทำแบบนั้นกับคนอื่น แต่ตัวเราเองไม่โกรธอันนี้ผมต้องบิ้วตัวเองว่าโกรธได้แล้ว เราต้องคุยอะไรกับเขาแล้ว อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมจะต้องฝึกขึ้นมา
  4. น่าจะเป็นความรู้เรื่อง intergenerational : หมายความว่าแต่ละวัยแต่ละช่วง gen เขามีความคิดความอ่านอย่างไรบ้าง อย่าง gen x เขาโตมาแบบไหน Baby boomer โตมาแบบไหน gen y คิดอย่างไร gen z คิดอย่างไร อันนี้ผมคิดว่าเราต้องรู้ว่าเราต้องทำงานกับคนแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานในชีวิตประจำวันหรือว่างานนอกทั้งหมดนี้เราต้องเจอหมดเลย เพราะฉะนั้นเราควรจะต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้เอาไว้
  5. อยากให้ทุกคนมีทักษะในการเรื่องความคิดสร้างสรรค์ : ต้องเรียนรู้ที่จะคิดสร้างสรรค์อย่างไง  คือมันมีหนังสือขายอยู่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ผมก็เคยซื้อมาอ่าน เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์สักเท่าไร ก็ถ้าครูมีความคิดสร้างสรรค์มันคือการหลุดออกจากคำ comfertzone หรือ save zone ก็ได้ คือกล้าที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ไปอีก ไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่หยุดที่จะโตแล้วเหมือนพอเราโตในอายุหนึ่งแล้วเรารู้สึกว่าเราเก่งทุกอย่างจริง ๆ เรายังโตได้อีก เราโตได้จนถึง90 100 เราโตได้มากกว่านั้นก็ได้ ไม่อยากจะให้หยุดที่จะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยเหล่านั้นให้คนด่าบ้างก็ดี แล้วก็กล้าที่จะยืนหยัดในความคิดที่เราเชื่อ ผมไม่ได้บอกว่ามันถูกต้องนะ แต่อย่างน้อยว่าเราต้องเชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้ เราเชื่อว่าเราสามารถทำให้นักเรียนของเราประสบความสำเร็จได้ คุณต้องเชื่อ ไม่ใช่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ

สุดท้าย “ถ้ามีโอกาสเปลี่ยนแปลงระบบได้ อยากเปลี่ยนอะไรไหม”

อยากให้สังคมมองว่าการเตรียมสอนไม่ใช่การอู้งาน คือการเตรียมสอนหรือการปล่อยให้ครูได้พักบ้าง มันเป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้ว ทุกประเทศเขาก็ทำอยู่แล้วมีเรานี้แหละที่ไม่ทำ นึกภาพนักกีฬาให้เขาเตะบอล 8 โมงถึง 4 โมงเย็นไหวไหม ก็ไม่ไหว ครูก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่ครูมีโอกาสได้พัก มีโอกาสได้คิด มีโอกาสได้เตรียมสอน เป็นเรื่องที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกที่ต้องให้คุณค่ากับเรื่องนี้มาก ๆ ผมรู้สึกว่าตอนปิดเทอมคือช่วงเวลาที่ดีมาก ครูมีเวลาเยอะ อย่างพอปิดเทอมไปได้อาทิตย์หนึ่งผมก็รู้สึกว่าผมว่างแล้ว ก็แต่งเพลงใหม่ เพราะด้วยความที่มันว่างเราถึงมีช่วงเสมองบางอย่างที่มันอยากที่จะสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา ให้กับงานของเรา ให้กับเด็กของเราที่จะเจอกันในเทอมต่อไป หรือว่าสิ่งที่เราจะเจอในอนาคต พอมันมีเวลาคิดเรื่องนี้มาก ๆ มันก็จะทำให้การศึกษามีคุณภาพได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ