ขอเชิญชวนชาวเชียงใหม่และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมพิธีใส่ขันดอกประจำปีกันได้ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่
เชียงใหม่เตรียมจัดพิธี ในงานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล ประกอบด้วยขันตั้ง 12 ขัน โดยขันประธานจะมีข้าวเปลือก เพื่อพอเสร็จพิธีก็แจกจ่ายเกษตรกรทำไปเป็นข้าวมงคลในการหว่านทำนา สำหรับโตกวางดอกไม้ จัดไว้ 32 โตกเท่ากับอวัยวะในร่างกายมนุษย์ เมื่อบูชาแล้ว จะเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง
.
งานประเพณีบูชาเสาอินทขีล เสาหลักเมืองเชียงใหม่ ซึ่งที่ตั้งอยู่ภายในวิหารจตุรมุข ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระอารามหลวง กลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 พฤษภาคม และวันออกอินทขีล 18 พฤษภาคม 2561 นั้น
.
พระครูโสภณกวีวัฒน์ ผู้เช่าเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร กล่าวว่าประเพณีใส่ขีนดอกอินทขิลเป็นประเพณีสำคัญ เป็นการสืบฮีตสานฮอยของบรรพชนชาวเชียงใหม่ในแต่ในอดีตหลายร้อยปีแล้ว โดยสิ่งที่จะขาดไม่ได้ ต้องจัดหามาให้ครบถูกต้องตามคติโบราณประเพณี เพื่อก่อเกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองก็คือ เครื่องสังเวยพลีกรรมหรือเครื่องบูชาเสาอินทขีลได้แก่ ขันตั้ง 12 ขัน (จัดใส่ในพานขันโตกจึงเรียก ขันตั้ง) เป็นขันหลวงขันประธาน 1 ขัน ขันบริวาร 11 ขัน
.
ทั้งนี้ ขันประธาน มีขนาดใหญ่กว่าขันบริวาร มีสรรพสิ่งประกอบ ดังนี้ หมากล้าน (หมากไหม) 3 มัดใหญ่เบี้ยล้าน (ผ้าห่อไว้) 1 ห่อผ้าขาว 3 ฮำ (พับ) ผ้าแดง 3 ฮำ ( 3 ฮำเท่ากับ 6 เมตร) เทียนเงิน 12 เล่มเทียนคำ 12 เล่ม (เทียนทั้งสองประเภทนี้ยาวราว 1 ฟุต) เหล้า 1 ขวดเทียนสุมา (ขมา) 48 เล่ม (ยาวคืบ) สวยหมากพลู 48 สวยสวยดอกไม้เทียนคู่ 48 สวยข้าวเปลือก 1 ต๋าง (1 ต๋างเท่ากับ 30 ลิตร)ข้าวสาร 1 แคง (1 แคง = 1 ลิตรกว่า ตั้งไว้บนต๋างข้าวเปลือก) เชือกบ่วงบาศ 1 ม้วนขอช้าง 2 อันกล้วยน้ำว้า 1 เครือมะพร้าว 1 ทะลาย ตามหลักโบราณประเพณีแล้ว จะต้องมีเครื่องประกอบช้าง/ม้าครบทุกอย่าง ของทั้งหมดนี้จัดไว้ในพานหรือขันโตกใบเดียวกันให้เป็นระเบียบสวยงาม ส่วนมะพร้าว 1 ทะลาย กล้วย 1 เครือ และต๋างข้าว วางไว้บนพื้นติดกับขันประธาน เพราะถือเป็นส่วนของขันประธาน
เพื่อความสะดวกในการยกขึ้นลงวิหารเสาอินทขีล จึงต้องแบ่งเบี้ยล้านเทียนเงินเทียนคำผ้าขาวผ้าแดงเทียนสุมาจากขันประธานใส่ขันโตกเล็ก สำหรับยกมาตั้งไว้หน้าวิหารเสาอินทขีลติดกับขันแก้วทั้งสามในเวลากลางวัน พอค่ำมืดยกเข้าข้างในตั้งไว้รวมกับขันประธาน โดยพระครูโสภณกวีวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูชาสังเวยด้วยข้าวเปลือกข้าวสารนั้น ก็เพื่อให้เป็นมงคล เมื่อเสร็จงานบูชาสังเวยแล้ว ทางบ้านเมืองก็จะแจกข้าวเปลือกให้คนละเล็กน้อย เพื่อนำไปผสมกับพันธุ์ข้าวที่จะปลูกในฤดูทำมาใหม่ที่กำลังมาถึง
.
ส่วนขันบริวารมี 11 ขัน จัดอย่างเดียวกับขันประธาน แต่มีสิ่งประกอบจำนวนน้อยและย่อมกว่าดังนี้ หมากหมื่น 1 มัดเล็กเบี้ยหมื่นผ้าขาว 1 ฮำผ้าแดง 1 ฮำ (1 ฮำ = 2 เมตร) เทียนเงิน 1 คู่เทียนคำ 1 คู่ (เทียนเล่มบาท) สวยดอกไม้เทียนคู่ 12สวยสวยหมากพลู 12 สวย ข้าวเปลือก 1 ต๋าง(ขนาดเล็ก 1/3 ของต๋างประธาน) ข้าวสาร 1 แคงเล็กวางไว้ บนต๋างข้าวเปลือกเหล้า 1 ขวด (เหล้า 12 ขวดนี้ เมื่อเสร็จงานพ่อครูจะมอบให้หัวหน้าพนักงานเทศบาลที่มาช่วยงานอินทขีลแจกลูกน้องนำติดตัวกลับไปบ้าน)
.
ในส่วนขันบริวารนี้ เมื่อก่อนจะมีศัตราอาวุธต่างๆ ที่ใช้ในยามสงคราม เช่น หอกดาบ ง้าว ปืน ร่วมด้วย โดยเอาพิงไว้รอบๆเสาอินทขีล เพื่อก่อเกิดอิทธิฤทธิ์ขลังและศักดิ์สิททธิ์ เมื่อต้องใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา บรรดาเครื่องพลีกรรมเหล่านี้ต้องจัดให้ครบตั้งให้เสร็จก่อนเปิดงานตอนเย็นของวันเข้าอินทขีล ใช้ชุดเดียวตลอดงาน 7 วัน เมื่อจัดใส่ขันเรียบร้อยแล้ว เอาตั้งเรียงรายรอบโคนเสาอินทขีล โดยตั้งขันประธานไว้ด้านทิศตะวันออก แล้วตั้งขันบริวารรายล้อมเสาอินทขีลเวียนขวามาบรรจบขันประธาน มีด้ายสายสิญจน์ที่โยงจากพระพุทธรูปเหนือเสาอินทขีลไปรอบวิหารเสาอินทขีล-กุมภัณฑ์ศาลด้านใต้-กุมภัณฑ์ศาลด้านเหนือ-รอบพระวิหารหลวงด้านเหนือ-รอบองค์พระธาตุเจดีย์หลวง-(โยงจากองค์พระเจดีย์สู่พระพุทธไสยาสน์)-รอบพระวิหารหลวงด้านใต้-เข้าสู่วิหารเสาอินทขีล-โยงเข้าหาขันประธานและขันบริวารจนครบแล้ว โยงเข้าหาอาสน์สงฆ์ที่อยู่ภายในวิหารเสาอินทขีล เพื่อให้พระสงฆ์จับขณะเจริญพระพุทธมนต์ และด้ายสายสิญจน์นี้ วันทำบุญออกอินทขีลเลี้ยงเพลพระ 108 รูปในพระวิหารหลวง ต้องโยงเข้าไปใช้ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ด้วย”
นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมสถานที่คือแคร่หรือแท่นไม้ไผ่สูงระดับอก สร้างไว้รอบวิหารเสาอินทขีลจำนวน 32 แคร่ 32 พาน/โตก เพื่อให้ประชาชนวางข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนที่นำมาสักการบูชาเสาอินทขีลตลอดงาน 7 วัน สำหรับพานโตกวางไว้บนม้ายาวด้านหน้าวิหารเสาอินทขีล วางกระจุกเป็นคู่ๆไว้ด้านหน้าวิหารเสาอินทขีลด้านทิศเหนือ หักมุมสู่ตะวันออก ต่อจากขันโกฐาก ขันแก้วทั้งสาม และขันประธานเล็กที่ตั้งเป็นอันดับแรก
.
พระครูโสภณกวีวัฒน์ กล่าวว่า สมัยก่อนจะมีการประโคมฆ้องกลอง ด้านหน้าวิหารเสาอินทขีลวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน ตอนเย็น เพื่อเป็นการบูชาเทพารักษ์และเสาอินทขีลด้วย ปัจจุบันมีการแสดงพื้นเมืองฟ้อนรำบนเวทีด้านเหนือ จ้อยซอที่ซุ้มด้านใต้สมโภช สมัยโบราณใส่ขันดอกเวลากลางวันพอค่ำมืดเมื่อประโคมฆ้องกลองย่ำค่ำก็จะหยุด เพราะไม่มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง แม้มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเวลาต่อมา แรกๆกระแสไฟฟ้าก็ยังไม่เพียงพออยู่นั่นเอง จึงใส่ขันดอกเฉพาะกลางวันไม่เหมือนสมัยนี้ ใส่ขันดอกกันจนเที่ยงคืนก็มี
.
ส่วนพ่อครูหมอพิธีผู้จัดหาเครื่องพลีกรรมและประกอบพิธี เป็นบุคคลที่ทางเทศบาลนครเชียงใหม่เชิญมา นอกจากทำพิธีบวงสรวงพลีกรรมเสาอินทขีลแล้ว พ่อครูยังมีภาระประจำวันที่จะต้องจัดหาขนมอาหารเจอย่างน้อยวันละ 6 อย่าง จัดใส่ถ้วยเล็กๆตั้งไว้บนถาดให้ได้ 7 สำรับ (7 ถาด) พร้อมพานใส่ข้าวตอกดอกไม้ เทียน 1 คู่ จุดขณะกล่าวคำสังเวย ธูป 8 ดอก (ไม่ต้องจุด) สังเวยเสาอินทขีล รูปปั้นพระฤาษี และรูปปั้นสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในซุ้มรายล้อมวิหารเสาอินทขีลจุดละ 1 สำรับ คือรูปช้างทิศตะวันออก รูปสิงห์ทิศเหนือ รูปพระฤาษีทิศตะวันตก รูปเสือทิศใต้ กุมภัณฑ์สองศาลทิศเหนือ/ใต้ ให้ทำพิธีสังเวยไปตามลำดับ ภารกิจนี้พ่อครูต้องตื่นเช้ามืดตีสามตีสี่ เพื่อไปหาซื้อเครื่องสังเวยที่ตลาดประตูเชียงใหม่ ให้ทันทำพิธีบวงสรวงในเวลา 6 โมงเช้า การทำพิธีสังเวยประจำวัน จะเริ่มวันที่สองของงานเข้าอินทขีล ไปสิ้นสุดลงวันทำบุญออกอินทขีลขึ้น 4 ค่ำเดือน 9 เหนือ ซึ่งในเช้าวันนี้ ต้องจัดอาหารคาวสังเวยเสือ กับกุมภัณฑ์ทั้งสองตนเป็นพิเศษด้วย
.
ซึ่งการจัดซื้อจัดหาเครื่องพลีกรรมขันตั้ง หรือเครื่องบูชาทุกรายการ พ่อครูจะเป็นผู้ดำเนินการเองในทุกขั้นตอน โดยพ่อครูที่นำประกอบพิธีมายาวนานที่สุด คือ พ่อครุภักดี อนันตกูล ปฏิบัติหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี 2493 พ่อครูเป็นชาวเมืองชลบุรี แต่มาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่วัยหนุ่ม จนถึงปี 2549 อายุ 78 ปีแล้ว ยังทำพิธีได้คล่องแคล่ว ส่วนงบประมาณเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้สนับสนุน และชาวเมืองบริจาคสมทบ เมื่อเสร็จงานบูชาเสาอินทขีลแล้ว สิ่งของอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในงานพิธี หากคงสภาพดีไม่ชำรุดเสียหาย พ่อครูจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่บ้าน เพื่อนำมาใช้ในปีต่อไป ส่วนที่เป็นของกินของใช้ ข้าวเปลือก ข้าวสาร จะแจกจ่ายให้ชาวบ้านไปปลูกไปกิน ถือเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้รับ
.
ส่วนพิธีสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และสวดคาถาขอฝนแบบพื้นเมืองวันละ 9 รูป จะมีในตอนเย็นเวลา 17.00 น.โดยประมาณทุกวัน สมัยก่อนนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์วันละ 28 ถึง 108 รูป หากมีกำลังพอ โดยจัดอาสน์สงฆ์รายล้อมเสาอินทขีล และระเบียงรอบวิหารเสาอินทขีล โดยการเจริญพระพุทธมนต์สมโภชเสาอินทขีล เริ่มต้นด้วยปู่จารย์นำไหว้พระอาราธนาศีลรับศีลอาราธนาพระปริตรพระสงฆ์องค์ที่สามขึ้นขันห้าโกฐาก-กล่าวชุมนุมเทวดา จากนั้นพระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และมนต์คาถาต่างๆ จบแล้วพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัยขอขมาพระเถระองค์ประะธานพิธี จากนั้นปู่จารย์กล่าวนำขอขมาเครื่องไทยทานแล้วถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์ ที่อาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์พระสงฆ์ให้พรเสร็จแล้ว ปู่จารย์กล่าวนำขอขมาคารวะพระรัตนตรัยขอขมาคารวะพระเถระที่มาร่วมงานพระสงฆ์เถระองค์ประธานพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์เสาอินทขีล และผู้มาร่วมพิธีที่อยู่ภายในวิหารเสาอินทขีล เป็นเสร็จพิธี