เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่
ขอบิณฑบาตคืนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพศูนย์รวมจิตใจชาวเชียงใหม่
วันนี้ 27 เมษายน 2561 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ “ขอบิณฑบาตคืนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ” สาระสำคัญ เจริญพร ระบุว่า “ดอยสุเทพ” มีคามสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่และคนไทยทั้งประเทศ เพราะเป็นป่าธรรมชาติที่ใกล้เมืองที่สุด มีความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์และแหล่งน้ำของเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งกำเนินของต้นน้ำลำธารลำห้วย เช่น ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน ห้วนแม่ปานเป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลสู่แม่น้ำปิง นักวิชาการด้านชีวภาพเคยกล่าวไว้ว่า พื้นที่ป่าธรรมชาติดอยสุเทพมีความหลากหลายทางชีวิภาพสูงกว่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะ อีกทั้งอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ 2 แห่งคือ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
ในทางประวัติศาสตร์ พญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ 722 ปีที่ผ่านมา ทรงเห็นความสำคัญของดอยสุเทพในฐานะเป็นปราการด้านตะวันตกของเมือง และเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงเมือง ในขณะที่ต่อมา ในรัชสมัยของพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 65 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ได้ทรงสถาปนาผืนป่าทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยพระองค์ทรงอฐิษฐานเสี่ยงทายช้างมงคลเพื่อหาสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระมหาสุมนได้นำมาจากสุโขทัย เพื่อประดิษฐานไว้ให้ชาวพุธได้สักการะบูชา ณ ยอดดอยสุเทพ พระบรมธาตุดอบสุเทพ จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่นับแต่นั้นมา คำขวัญของจังหวัดเชียงใหม่จึงเริ่มต้นว่า “ดอยสุเทพเป็นศรี”
การดำเนินการโครงการก่อสร้างสำนักงานและบ้านพักตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้มีเครือข่าย หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการ เช่น กลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กรรมาธิการสถาปนิกผังเมือง (ไทย)ล้านนา และกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมนิสิตเก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคเหนือ สภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ในขณะนี้ เป็นโครงการที่สร้างปัญหาความขัดแย้งในวงกว้างเป็นอย่างมาก โดยโครงการเองได้สร้างผลกระทบในหลายมิติ ทั้งมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคมวัฒนธรรม มิติด้านวิศวกรรมการออกแบบเมือง และมิติเศรษฐศาสตร์ ดังที่หลายกลุ่มได้ออกมาคัดค้านความไม่เหมาะสมของโครงการจำนวนมาก
เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายพระสงฆ์ที่ทำงานพัฒนาชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งประเด็นงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านเอชไอวี – เอดส์ ด้านวัฒนธรรม ด้านการพัฒนาเยาวชน ด้านการพัฒนาผู้สูงอายุเป็นต้น ได้หารือร่วมกันและมีความเห็นไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างสำนักงานและบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่เชิงป่าดอยสุเทพ
ดังนั้น เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ จึงใคร่ “ขอบิณฑบาตคืนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ” โดยขอให้ระงับโครงการในส่วนบ้านพักตุลาการและอาคารชุดข้าราชการตุลาการ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด พร้อมทั้งฟื้นฟูคืนสภาพป่าธรรมชาติดังเดิม เพื่อเยียวยาจิตใจของชาวเชียงใหม่และชาวพุทธ ส่วนพื้นที่ก่อสร้างสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ตั้งอยู่ตอนล่างนั้น ให้อยู่ในดุลยบพินิจของสำนักงานศาลยุติธรรมตามที่เห็นสมควรจะดำเนินการต่อไป
ลงนามโดย พระครูสมุวิเชียร คุณธมโม ในนามองค์กรเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดเชียงใหม่ ประธานศูนย์ประสานงาน กองงานเลขาพระนักพัฒนาชุมชนบนฐานพุทธธรรม จังหวัดเชียงใหม่ 27 เมษายน 2561