ป่าแหว่ง:ไม่ผิดกฎหมายแต่ขึด
สมโชติ อ๋องสกุล
ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
1.ผืนป่าดอยสุเทพ
ดอยสุเทพเป็นดอยหนึ่งในทิวเขาถนนธงชัยสูง 1,601 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งวัฒนธรรมสำคัญของเชียงใหม่ และเป็นป่าเขตร้อนที่มีพืชไม้อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจในช่วงต้นทศวรรษ.2530 นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบพืชที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์จำนวน 1,926 ชนิด กล้วยไม้มี 253 พันธ์(7 พันธ์ไม่เคยพบในป่าอื่น) นกมี 320 ชนิด ผีเสื้อกลางวัน 500 ชนิด ผีเสื้อกลางคืน 300 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 50 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 28 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 50 ชนิด ( ดู รายงานการประชุมปฎิบัติการอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย :การจัดการและการอนุรักษ์ 14-15 มีนาคม2534 หน้า 1 )
พศ.2495 กรมป่าไม้เริ่มสำรวจเพื่อปักเขตแดนเตรียมจัดพื้นที่ป่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยก่อนหน้านั้นกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดสำคัญบนพื้นที่ดอยสุเทพแล้วตั้งแต่ พศ.2478 (ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีค.2478 ) ขณะที่ทหารบกที่ขึ้นมาประจำการในเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้กันเขตทหารบริเวณป่าเชิงดอยสุเทพเกือบตลอดแนวไปทางด้านอำเภอแม่ริม
ดังนั้นในการสำรวจพื้นที่ป่าดอยสุเทพช่วงตั้งแต่ พศ.2495 กรมป่าไม้จึงเว้นที่วัดที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกันเขตป่าสำหรับวัดนั้นๆ และเว้นที่เขตทหาร จัดผืนป่าที่เหลือประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ-ปุย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 25 พศ.2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 124 วันที่ 31 ธันวาคม 2507 และกฎหมายฉบับอื่นๆอีกในเวลาต่อมา ผืนป่าดอยสุเทพจึงถูกแบ่งกันครอบครองนั้นแต่นั้นมา
2.พื้นที่ป่าในเขตทหาร
พื้นที่ป่าในเขตทหาร ถือเป็นที่ราชพัสดุ ทหารบกเป็นผู้ครอบครอง มีกรมธนารักษ์เป็นผู้กำกับตามกฎหมาย ทหารบกประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งค่ายทหาร เช่นกองพันสัตว์ต่าง สนามฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ฯลฯโดยรักษาสภาพป่าผืนเดิมของดอยสุเทพ ตลอดช่วงกึ่งศตวรรษได้มีผู้ติดต่อขอใช้พื้นที่ป่าในเขตทหารดังนี้
2.1 เมื่อครั้งรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุมัติให้ตั้งโรงเรียนแพทยศาสตร์ แห่งที่สามของประเทศไทยที่เชียงใหม่ เมื่อปลายทศวรรษ 2490 คณะกรรมการสรรหาพื้นที่จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ศาสตร์ก็สนใจที่ดินบริเวณหนองฮ่อเขตป่าเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทยศาสตร์เชียงใหม่ แต่ฝ่ายทหารไม่อนุมัติ คณะกรรมการสรรหาพื้นที่จัดตั้งจึงซื้อใช้บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่และซื้อที่ดินเอกชนเพิ่มเติมเป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ดู สมโชติ อ๋องสกุล พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในป่าวิเศษ เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559)
2.2 .เมื่อครั้งรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อนุมัติให้ตั้งมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ เมื่อ 29 มีนาคม พศ.2503 คณะกรรมการสรรหาพื้นที่ตั้งมหาวิทยาลัยก็สนใจพื้นที่บริเวณหนองฮ่อ เขตป่าเชิงดอยสุเทพอีกครั้ง แต่ฝ่ายทหารไม่อนุมัติ คณะกรรมการสรรหาพื้นที่จึงต้องซื้อพื้นที่เอกชนรายรายบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน เริ่มต้นยุคพัฒนาเมืองเชียงใหม่ (รอบที่หนึ่ง) (ดู สมโชติ อ๋องสกุล พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในป่าวิเศษ เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559)
2.3 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (พศ.2504-2509)กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรขุดคลองชลประทานแม่แตง จากอำเภอแม่แตงผ่านอำเภอเมืองไปอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง แบ่งพื้นที่ป่าเขตทหารเชิงดอยสุเทพเป็น 2 ฝั่ง ต่อมาริมคลองชลประทานพัฒนาเป็นถนน เกิดบ้านจัดสรรในพื้นที่ของเอกชนตามลำดับ(ดู สมโชติ อ๋องสกุล เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร:อดีต ปัจจุบัน อนาคต เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559)
2.4. กลางทศวรรษ 2520 กระทรวงมหาดไทยขอใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของกองทัพสัตว์ต่าง เป็นที่ตั้งศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่แห่งใหม่ เปิดใช้ตั้งแต่ พศ.2527 เป็นต้นมา การเติบโตของภาคราชการก็เคลื่อนย้ายออกจากตัวเวียงเชียงใหม่สู่พื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพซึ่งเป็นเขตทหาร ตั้งแต่นั้นมา (คำบอกเล่าของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่)
2.5. ช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 (พศ. 2535-2539) เชียงใหม่พัฒนาครั้งใหญ่(รอบที่สอง)เตรียมรับกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 (18th SEA GAME ’95) สร้างสนามกีฬาเมืองหลัก 700 ปีเชียงใหม่ บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพในเขตทหาร 270 ไร่ ตั้งแต่ พศ.2536 พร้อมสร้างโครงข่ายถนนวงแหวน 3 วงโอบเมือง พื้นที่ป่าบริเวณนั้นได้กลายเป็นสนามกีฬาและบ้านพักข้าราชการในปัจจุบัน (ดู สมโชติ อ๋องสกุล เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร:อดีต ปัจจุบัน อนาคต เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559)
2.6.ช่วง พศ.2541-2557 เชียงใหม่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย(พศ.2541-2550)พรรคพลังประชาชน(พศ.2550-2553)และพรรคเพื่อไทย(พศ.2554-2557)พัฒนาเชียงใหม่ครั้งใหญ่(รอบที่สาม) รัฐบาลอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุและส่วนหนึ่งเป็นเขตทหารหลายโครงการเช่น โครงการสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ บริเวณหนองฮ่อหลังศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โครงการสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร บริเวณศูนย์ฝึกวิชาทหาร หนองฮ่อ โครงการสวนสัตว์กลางคืน (Night Safari) ที่ตำบลแม่เหียะ ฯลฯปัจจุบัน (ดู สมโชติ อ๋องสกุล เชียงใหม่ 60 รอบนักษัตร:อดีต ปัจจุบัน อนาคต เชียงใหม่:สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 2559)
2.7 ช่วง พศ.2540 กระทรวงยุติธรรมขอใช้ที่ดินเขตทหารเชิงดอยสุเทพเพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 กระทรวงกลาโหมไม่อนุมัติ ต่อมา พศ.2543 ศาลยุติธรรมแยกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรมตั้งสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานอิสระในฐานะนิติบุคคลเป็นหน่วยงานธุรการ ได้ทำหน้าที่เร่งรัดจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาคและบ้านพักผู้พิพากษาในแต่ละภาค (บทความของสุวิทย์ คุณกิตติ อดีต รมว.กระทรวงยุติธรรมใน Posttoday 23 เมษายน 2561 หน้า B 10)
พศ.2546 ช่วงนายกฯคนเมือง กองทัพบกก็ได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้พื้นที่เขตทหารก่อสร้างสำนักงานศาลอุทธรณ์ บนเนื้อที่ 58 ไร่ โดยอนุมัติให้สร้างบ้านพักตั้งแต่ พศ.2549 เริ่มทำสัญญาผูกพันก่อสร้างบ้านพักตั้งแต่ พศ.2556(Posttoday 2 เมษายน 2561)ซึ่งเวลานั้นมีผู้เห็นการแปลี่ยนแปลงของผืนป่าบริเวณนั้นได้ส่งเสียงค้านตั้งแต่เริ่มต้นแต่เสียงเบาและขาดแนวร่วม
ช่วงนั้นสถาบันการศึกษาที่ต้องการขยายพื้นที่ขนาดใหญ่ต่างได้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าตามขั้นตอนของกฎหมายและได้รับอนุมัติแล้วเช่นมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ได้ใช้เขตป่าที่แม่สะลวง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ใช้เขตป่าผืนใหญ่ใกล้ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด เป็นต้น โดยฝ่ายทหารเองก็ปรับปรุงพื้นที่เขตทหารใช้เพื่อสวัสดิการทหารเช่นบ้านพักนายทหาร สนามกอลฟ์ อาคารที่พักหลายชั้นในบริเวณรีสอร์ทในเขตทหารบริเวณข้างศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ
กล่าวได้ว่าทุกโครงการของหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในการขอใช้พื้นที่ป่าในเขตทหาร และพื้นที่ป่าทุกผืนป่า เมื่อได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าต่างก็มีงบประมาณรองรับ ดำเนินการตามโครงการ ทุกหน่วยงานของรัฐจึงยืนยันได้ว่าไม่ผิดกฎหมาย
3.การคัดค้านโครงการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม
เชียงใหม่ เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นหลายโครงการพัฒนาของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนที่ไม่เหมาะสมกับเมืองประวัติศาสตร์ ต้องพบกับการต่อต้านและการขอให้ทบทวนด้วยเหตุผลทางวิชาการ ซึ่งเชียงใหม่โชคดีมีสื่อท้องถิ่นและสื่อส่วนกลางขานรับกระแสต่อต้าน
บางกรณีส่วนราชการเจ้าของโครงการ “ใจกว้าง”รับฟังความคิดเห็นที่มีเหตุผลยอมทบทวนโครงการ เช่นกรณีขยายถนนซุปเปอร์ไฮเวย์บริเวณหน้าวัดเจ็ดยอด ซึ่งเดิมห่างจากเจดีย์กู่แก้ว 4 เมตร กรมทางหลวงได้ยอมขยับให้ห่างจากเจดีย์กู่แก้ว 17 เมตร (ดู สมโชติ อ๋องสกุล “เพื่อความเข้าใจการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่:กรณีขยายถนนช่วงวัดเจ็ดยอดเชียงใหม่” นิตยสารศิลปากร ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 หน้า 6-11)
บางกรณีส่วนราชการยอมไม่ทันก็ถือเป็นโครงการสุดท้าย เช่นหลังจากโครงการสร้างทางต่างระดับหรือสะพานลอยที่สี่แยก Airport เสร็จรูปแบบการก่อสร้างก็เปลี่ยนเป็นทางลอดแทนทุกแยก (ดู สมโชติ อ๋องสกุล “ทางต่างระดับบริเวณสี่แยกสนามบินเชียงใหม่:จดหมายเปิดผนึก” ประวัติศาสตร์ชุมชนเพื่อชุมชน 2544)
กรณีโครงการสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ ช่วงแรกทศวรรษ 2510 พระโพธิรังสี(บุญศรี ชัยบาล:พศ.2461-2545) ครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพันตองได้นำความแจ้งจอมพลถนอม กิตติขจรในวันมีพิธีเปิดโรงแรมรถไฟ จอมพลถนอมรับฟังก็ระงับโครงการรอบแรก ช่วงกลางทศวรรษ 2520 นายชัยยา พูนศิริวงศ์ (พศ.2476-2534) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่(พศ.2523-2530)รับฟังความคิดเห็นของกลุ่มคนรักเชียงใหม่ก็สั่งระงับโครงการรอบหลัง (ดู สมโชติ อ๋องสกุล “การต่อสู้ระหว่างเจ้า ถึงกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 9 ฉบับที่ 3-4 มค.-กพ.2531 )
บางกรณีหน่วยงานยอมเปลี่ยนแผนไปหาที่ตั้งอาคารแห่งใหม่ รักษาอาคารเดิมไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (ดู สมโชติ อ๋องสกุล “ไปรษณีย์แม่ปิงกับประวัติศาสตร์นครเชียงใหม่” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 7 พค.2528 หน้า 14-17)
บางกรณียับยั้งภาคธุรกิจเอกชนสร้างอาคารสูงไม่สำเร็จแต่ก็นำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมอาคารสูงในเวลาต่อมา แต่หลายกรณีการคัดค้านไม่มีผล เพราะมีคำสั่งให้เร่งดำเนินการจากนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นกรณีต้นพะยอม ถนนสุเทพ กรณีโครงการสนามกีฬารับซีเกมส์ และกรณีโครงการสวนสัตว์กลางคืน (Night Safari) เวลานั้นการต่อต้านทุกโครงการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม ยังต้องรอสื่อมวลชนเป็นพลังหนุนเสริม (ดู พลเมืองเหนือรายสัปดาห์)
- ยุคสื่อสารด้วยสมาร์ทโฟน
ปัจจุบันทุกคนมีสื่อทรงพลังในมือถือ ช่วงต้นปี พศ.2561 มีผู้ส่งภาพโครงการก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ของศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พร้อมบ้านพักผู้พิพากษาและข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งกำลังก่อสร้างในพื้นที่เขตทหาร แพร่ทั่วโลกออนไลน์ เกิดวาทะกรรม “ป่าแหว่ง” หรือ “บ้านป่าแหว่ง” อย่างเห็นเป็นรูปธรรม สังคมออนไลน์กระจายข่าวรวดเร็ว
สื่อใหญ่ทุกช่องขานรับ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทหารเปิดค่ายทหารรับฟังความคิดเห็นทันที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับภาคประชาชนหลายรอบ เป็นการดำเนินการสนองตอบท่าทีของภาคประชาชนอย่างรวดเร็วกว่าทุกยุคทุกสมัย พร้อมวินิจฉัยเบื้องต้นว่าส่วนของอาคารสำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ใช้ได้ตามโครงการ แต่ส่วนพื้นที่บ้านพักในบริเวณ “ป่าแหว่ง” ต้องหาทางออกร่วมกันต่อไป โดยเจ้าของโครงการไม่ขัดข้อง
5.มุมมองของล้านนา
ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า (1)ผืนป่าดอยสุเทพและเชิงดอยเป็นพื้นป่าเดียวกัน มีวัดและทหารยึดครองตั้งแต่ก่อนสำรวจเขตเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ พศ.2495 ดังนั้นป่านอกเขตวัดและเขตทหารเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย ตั้งแต่ พศ.2507 ป่าในเขตทหารเป็นพื้นที่ราชพัสดุอยู่ในกำกับของทหารและกรมธนรักษ์ โดยมีป่าไม้เป็นผืนเดียวกันกับป่าดอยสุเทพ (2)ส่วนราชการใดต้องการใช้พื้นที่ป่าตามขั้นตอนของกฎหมาย หากได้รับอนุมัติใช้พื้นที่ก็มีงบประมาณดำเนินการ บางส่วนราชการจึงได้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนราชการได้ใช้พื้นที่ป่าในเขตทหาร ในทางราชการถือว่าทุกโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วไม่ผิดกฎหมาย แต่กรณีกระทำสิ่งไม่เหมาะสมในเขตป่าและในบ้านเมือง ล้านนาเรียกว่า ขึด
5.1.ขึด ในระบบความเชื่อของล้านนา
คำว่า “ขึด” น่าจะมาจากคำว่า “กฤษณ์”หรือ “กฤตย์” ดังพบว่ามีการเรียกพระนารายณ์ว่า “พระขึดมือสี่” แต่จากระบบการเขียนและอ่านอักษรธรรมล้านนา เขียน“กร”อ่านว่า “ข” เขียน “ฤ”อ่านว่าออกเสียงเป็น “สระอึ”หรือสระอือ เขียน “กฤตย์”จึงออกเสียงเป็น “ขึด”
ขึดในระบบความเชื่อของคนในล้านนามีความหมายว่า “ต้องห้าม”คือห้ามประพฤติปฏิบัติ หากผู้ใดกระทำในสิ่งที่ต้องห้ามแล้วผู้กระทำนั้นจะ “ตกขึด”หรือเกิดความเป็นอัปมงคล อันเป็นสิ่งไม่ดีไม่งามมีแต่ความเสื่อม เป็นเสนียดจัญไร ความพินาศฉิบหาย เกิดความทุกข์ความกังวล ทำให้ร้อนทั้งกายและใจ คอยเผาผลาญจิตใจให้ผุกร่อน
5.2 ขึด 3 ระดับ 3 สถาน และ 2 จำพวก
ขึด 3 ระดับ
(1)การผิดป่า เช่นเมื่อเดินทางไปในป่า เมื่อจะนึ่งข้าวหุงแกงไปหาเอาไม้มาทำฝืนต้องตัดเอามาเป็นท่อนสั้นๆ ถ้าไปลากมาทั้งกิ่งทั้งต้นเป็นการผิดป่า หรือทานอาหารแล้วเอาถ้วยชามไปล้างในลำห้วยถือเป็นการผิดป่าทำให้เกิดอาเพท
(2)การผิดบ้าน คือการล่วงละเมิดกฎของหมู่บ้านเช่น ตันต้นไม้ประจำบ้านหรือไม้ศรีบ้าน ไม้นามบ้านเป็นการผิดบ้าน
(3)การผิดเมืองคือการประพฤติผิดรีตบ้านคลองเมือง
ขึด 3 สถาน
(1)ขึดตกตัวคือขึดตกต้องบุคคลผู้กระทำ (2)ขึดตกบ้านคือขึดตกต้องบุคคลทั้งหมู่บ้าน (3)ขึดตกเมืองคือขึดตกต้องคนในเมืองทั้งหมด
ขึด 2 จำพวก
(1)ขึดหลวงคือสิ่งที่บุคคลกระทำขึ้นแล้วสร้างความเดือดร้อนให้สังคมอย่างมาก (2)ขึดน้อย คือสิ่งที่บุคคลทำขึ้นแล้วสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว
5.3 ขึดหลวง
ตำราพิธีส่งขึดและอุบาทว์แบบพื้นเมืองที่รวบรวบเมื่อ พศ.2519โดยสงวน โชติสุขรัตน์(พศ.2473-2518)ระบุว่าพระมหาอุบาลีเถรเจ้ากล่าวกับพระยาพิษณุให้บอกคนทั้งหลายว่าสิ่งที่ถือว่าเป็นขึดหลวงนั้นมีดังนี้
(1)ถมสมุทร หมายถึงการถมบ่อน้ำ สระน้ำ หนอง บวก ร่องน้ำ คูเมืองเพื่อปลูกบ้าน ทำสวนทำนา (ทำถนน)
(2)ขุดกระแส หมายถึงการย้ายทางเดินของน้ำ
(3) แหม่รูทวารหรือแผ่ฮูตวาร หมายถึงการปิดหรือย้ายประตูบ้านเรือนหรือประตูเมือง รวมไปถึงการสร้างประตูใหม่แต่ไม่ดีเท่าของเดิมหรือปิดไม่ให้คนสัญจร
(4)รานสรี (อ่านว่า”ฮานละหลี”)คือตัดกิ่งต้นโพธิ์ (ต้นสรี)และไม้ที่เป็นศรีเมืองหรือต้นไม้ใหญ่ที่มีรุกขเทวดาสิงอยู่
(5)ม้างตีอก คือการรื้อทำลายทั่ง ค้อน คีมตีเหล็กหรือเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเปลี่ยนรีตบ้านคลองเมือง
(6)ปกกระโดง หมายถึงการตัดฟันกิ่งไม้หรือง่ามไม้เพื่อเอาธงตะขาบไปแขวน
(7)เก่าถมใหม่ คือขยายรั้วบ้าน รั้วคุ้ม กำแพงเมืองใหม่และปิดทางเก่า
(8)รานพนม เช่นการรื้อดอย รื้อภูเขา รื้อคันนา เพื่อปลูกเรือน ปลูกเรือนคร่อมตอไม้
(9)โจทก์ครู เช่นเรียนวิชาไปจากครูแล้วกลับพูดว่าไม่ได้เรียนจากครูผู้นั้น
ฯลฯ ทั้งหมดเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับคนที่โบราณาจารย์ในล้านนาเห็นว่าไม่ควรกระทำ โดยถือเป็นระบบความเชื่ออย่างหนึ่งในล้านนาที่สืบทอดต่อมาถึงปัจจุบัน (ดู มณี พยอมยงค์ ขึดขวง 2524 สารานุกรมวัฒนธรรมไทย(ภาคเหนือ)2542 เล่ม 2 หน้า 716-731 คมเนตร เชษฐพัฒนวานิช (บรรณาธิการ) ขึด:ข้อห้ามในล้านนา เชียงใหม่:สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2539)
ภาพ “บ้านป่าแหว่ง”ที่ปรากฎในสื่อ คือ “รานพนม” หนึ่งในขึดหลวง ตามคติความเชื่อของล้านนา เป็นการ “รื้อดอย”เพื่อปลูกเรือนอยู่ และ “สัพพะทุกกล้ำมารอม” (ห้ามปลูกเรือนที่ปากห้วย หรือปลูกเรือนด้านตะวันตกของเชิงดอย)
5.4 .ขึด:ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
เชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีเทวดาเมืองรักษา ดังเชื่อกันว่าพระอินทรส่งอินทขีลมาให้บูชา ให้สองกุมภัณฑ์เฝ้ารักษา มีดวงวิญญานพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายเป็น “อารักษ์เมือง” ดังปรากฎชื่อเทวบุตรประจำแต่ละประตูเมืองดังนี้ (1)สุรักขิโต เทวบุตรผู้รักษาประตูเชียงเรือกและประตูท่าแพ (2) ไชยภุมโม เทวบุตรผู้รักษาประตูเมืองเชียงใหม่และประตูเมืองด้านใต้ (3)สุรชาโต เทวบุตรผู้รักษาประตูสวนดอก (4)คันธรักขิโต เทวบุตรผู้รักษาประตูช้างเผือก ต้องบูชาเป็นประจำทุกปี (ดู มณี พยอมยงค์ “ประเพณีบูชาเทวดา สืบชะตาเมือง” ใน กำแพงเมืองเชียงใหม่ 2529 หน้า 34) และวิถีปฏิบัติที่เรียกว่า “รีต 12” “คลอง 14” “เกษมเมือง” “ประเวณีเมือง”ให้ถือปฏิบัติ และมีข้อห้ามที่เรียกว่า “ขึด”กำกับ ผู้ก่อขึดล้วนต้องประสบปัญหานานาในเวลาต่อมา
- ส่งขึด ฟื้นป่า
พลังสื่อทำให้คนทั่วไปได้เห็นภาพ “ป่าแหว่ง” แม้หน่วยงานเจ้าของโครงการยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายและมีมาตรการดูแลต้นไม้ทุกต้นอย่างดี มีแผนงานปลูกต้นไม้ คนล้านนาที่เชื่อในระบบคิดเรื่องขึดก็ถือว่าเป็น “ขึดหลวง” ข้อ “รานพนม” ทางออกเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมืองจึงต้องมี “พิธีส่งขึด”
ยุคนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษสุด นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทหารเปิดค่ายรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน-ภาคราชการ และให้ความเห็นในเชิงหลักการทันที โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนที่ตั้งสำนักงานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ที่ไม่เป็นปัญหาก็ให้ดำเนินการต่อไป ส่วนบริเวณที่ตั้งบ้านพักซึ่งเป็นปัญหาก็เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกันและดำเนินการฟื้นป่าบริเวณนั้นทันที โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการซึ่งเป็นสดมภ์หลักหนึ่งในสามของระบบประชาธิปไตยที่ไม่เคยยอมใครไม่ขัดข้อง แต่สงวนท่าทีด้วยตัวบทกฎหมาย “ปิดประตู” รื้อบ้านพัก
เป้าหมายหลักของภาคประชาชนผู้รักเชียงใหม่ครั้งนี้คือการ “ส่งขึด” “รานพนม” ด้วยการฟื้นสภาพป่าในบริเวณ “ป่าแหว่ง” ให้เกิดผืนป่าอีกครั้ง ภารกิจนี้ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวหลังการประชุม ครม.เมื่อ 24 เมษายน 2561 ว่าได้ตั้งคณะกรรมการจากทุกฝ่ายร่วมกันพิจารณาหาทางออกและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นป่าในบริเวณ “ป่าแหว่ง”โดยไม่ต้องรอปัญหายุติ
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้คงไม่ยุติโดยง่าย เมื่อถึงเทศกาลหาเสียงเพื่อเลือกตั้งทั่วไป ทุกพรรคการเมืองที่อาสาเข้าบริหารประเทศก็มีทางออกเสนอเพิ่มขึ้นอีกหลายทาง
อังคาร 24 เมษายน 2561
(วันที่ ครม.มีมติสลับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย)(บทความนี้จึงเป็นเสมือน “ช่อดอกไม้” มอบเป็นกำลังใจให้นายประวีณ ชำนิประศาสน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่(1 ตค.2558-24 เมย.2561) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นเสมือน “ช่อดอกไม้”ต้อนรับนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าฯเชียงใหม่ (ช่วง 2556) อดีตผู้ว่าฯพะเยา อดีตผู้ว่าฯพิษณุโลก อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย “ปิ๊ค”เชียงใหม่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รับภารกิจแก้ปัญหาพื้นที่ “ป่าแหว่ง”ที่ถูกกฎหมายแต่ขึด คนต่อไป )
//////////////////