เครือข่ายสลัม 4 ภาค เลื่อนกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ไปวันที่ 6 พ.ย. ร้องรัฐดูแลคนจนเมือง แก้ปัญหาที่ดินทำกินในระดับนโยบาย
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
“นกต้องมีรัง คนต้องมีบ้าน” นี่คือสัจธรรมของมนุษย์ ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษยชาติ ทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยไว้พักพิง หลบแดด หลบฝน ขณะที่สถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรที่ดินทั่วทุกมุมโลกกับรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีคนจำนวนมากไม่มีที่ดินที่เอาไว้สร้างที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่อาศัยที่ไม่มีความมั่นคง เป็นชุมชนแออัด (Slum) หรือต้องหลับนอนตามข้างทาง ตามที่สาธารณะ เป็นคนไร้บ้าน (Homeless) ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1989 ( พ.ศ. 2532 ) ให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก ในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560 องค์การสหประชาติประกาศเพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตทั่วทุกสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมือง หรือสังคมชนบท
หากมองสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในประเทศไทย หลังจากที่มีการเข้ายึดอำนาจและบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างความห่างระหว่างคนจน กับ คนรวย แต่นโยบายที่ออกมา กับการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ กลับสวนทางกัน โดยกลุ่มคนจนชนบทได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. 64/2557 และนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่จะผลักดันผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าออกมา รวมทั้งการขีดแนวเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดต่างๆ เกิดขบวนการปั่นราคาที่ดิน กว้านซื้อที่ดิน เวนคืนที่ดิน เพื่อให้มีการลงทุนระยะยาวจาทุนใหญ่ในประเทศและทุนข้ามชาติ นโยบายเหล่านี้ล้วนแล้วส่งผลให้เกิดหมู่บ้านชนบทล่มสลาย กลุ่มชาติพันธ์ต่างๆแตกสลาย ต้องอพยพเข้ามาหาที่อยู่อาศัยในตัวเมืองในหลายจังหวัด หากจะดูในจังหวัดเชียงใหม่จะพบกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ มาพักอาศัยในชุมชนแออัดในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น
ในส่วนของชุมชนเมือง นโยบายที่อ้างถึงการพัฒนาประเทศ การจัดระเบียบต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของคนจนเมืองเป็นอย่างมาก
1. โครงการพัฒนาคมนาคมระบบราง ซึ่งมีหลายโครงการ แต่ที่กำลังจะดำเนินการและยังไม่ได้ข้อยุติข้อพิพาทด้านผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทาง สุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ – สงขลา, โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมือง สายสีแดง เส้นทาง ศิริราช – ตลิ่งชัน, โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม. – หนองคาย ซึ่งจะมีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ราว 7,000 ครัวเรือน
2. โครงการจัดระเบียบชุมชนริมคลอง, ริมแม่น้ำ รัฐบาลได้ออกนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคลองลาดพร้าว และริมคลองเปรมประชากร จำนวนกว่า 11,000 หลังคาเรือน และนโยบายการจัดระเบียบชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ราว 250 หลังคาเรือน รวมทั้งออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีบ้านเรือนปลูกสร้างริมน้ำอีกต่อไปในอนาคต ซึ่งกฎหมายดังกล่าวส่งผลต่อชุมชนริมน้ำทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมือง หรือ หมู่บ้านชาวเล ที่จะต้องรื้อย้ายที่อยู่อาศัยออกจากริมน้ำทั้งหมด
3. โครงการพัฒนาย่านเศรษฐกิจใหม่ โดยมีโครงการเขตเศรษฐกิจย่านสถานีแม่น้ำ โดยใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่กว่า 270 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท และโครงการคลองเตยคอมเพล็กซ์ โดยใช้ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เนื้อที่กว่า 2,300 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท โดยการลงทุนทั้งสองโครงการมีแนวโน้มจะเป็นการลงทุนของทุนข้ามชาติเป็นหลัก ซี่งส่งผลโดยตรงกับชุมชนแออัดที่อยู่บริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชุมชนย่านคลองเตย, ชุมชนย่านเขตพระราม 3 ล้วนได้รับผลกระทบทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากิน
4. การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่มีแนวนโยบายการพัฒนาด้านต่างๆ พาดผ่านตามแนวเส้นทางต่างๆ ส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงมีการเก็งกำไรด้านอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น จากชุมชนแออัดที่เคยอยู่กันมานานจากที่ดินไม่มีราคาเจ้าของที่ดินไม่สนใจปล่อยให้อยู่อาศัย เจ้าของที่ดินเริ่มประกาศขายที่ดิน หรือไม่ก็จะยกเลิกการให้อยู่อาศัยของชาวชุมชน เพื่อจะนำที่ดินมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เองส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดิน มีการแย่งชิงที่ดินรุนแรงขึ้น ยังไม่นับรวมถึงการใช้ที่ดินของรัฐเพื่อส่งเสริมการลงทุนของเอกชนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สปก. หรือที่ดินสาธารณะ ในขณะที่คนจนพยายามขอใช้ที่ดินเหล่านั้นเพื่อเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย กับต้องมาเจอเงื่อไขต่างๆจนไม่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งจะต่างจากเอกชนรายใหญ่ในการขอใช้ที่ดินที่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า และสามารถได้กรรมสิทธิที่ดินได้จริง
ดังนั้นเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้จัดการเดินรณรงค์เพื่อให้สาธารณะได้เข้าใจถึงความสำคัญต่อที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลทุกปี แต่เนื่องจากในปีนี้เดือนตุลาคม มีพระราชพิธีสำคัญยิ่งที่ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงเลื่อนกิจกรรมเดินรณรงค์ไปเป็นวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
โดยข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย มีดังนี้
1. รัฐบาลต้องสนับสนุนที่ดินของรัฐนำมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง เช่น ที่ดินสาธารณะ ที่ดินของการรถไฟฯ ที่ดินของการท่าเรือ มาแบ่งปันให้ชุมชนได้เช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงระยะยาว
2. รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณ และกระบวนการ ในการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการพัฒนาชุมชน อย่างต่อเนื่อง
3. ตั้งกลไกการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามหน่วยงานที่กำกับดูแลระดับนโยบาย เช่น กระทรวงคมนาคม หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีรัฐมนตรีประจำกระทรวงเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
4. แก้ไข, ยกเลิก, งดเว้น กฎหมายต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และวิถีความเป็นอยู่ของคนจนเมือง เช่น กฎหมายไล่รื้อจาก คณะปฎิวัติที่ 44 ปี 2502 ที่ตัดสิทธิ์การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประชาชน และคำสั่งจาก คสช. ฉบับต่างๆ ด้วย
5. ผ่อนปรน, งดเว้น กฎหมายต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ของคนจนเมืองในพื้นที่ขนาดเล็ก ตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคงที่คนจนมีศักยภาพในการมีที่ดินขนาดเล็ก แต่ทำให้ผิดกฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมการปลูกสร้างอาคาร
6. การสร้างความมั่นคงในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างสวัสดิการพื้นฐานทางชีวิตของประชาชนให้มั่นคงควบคู่ไปด้วยคือ
6.1 รัฐบาลต้องสนับสนุนหลักประกันสุขภาพอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ถ้วนหน้า
6.2 รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดบำนาญแห่งชาติ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย
6.3 รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดกองทุนการรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยที่ไม่มีบัตร อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังคงเชื่อมั่นในพลังการรวมกลุ่มเพื่อการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และจะติดตามการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากรัฐบาลมีความจริงใจในการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น รัฐบาลจะต้องมีนโยบาย และปฎิบัติการที่ทำได้จริงมาให้ประจักษ์